ช่วงนี้การเมืองคึกคักเหมือนใกล้เลือกตั้ง แม้แต่สำนักโพลล์ต่างๆ ก็พากันทำสำรวจความนิยมของพรรคการเมืองและนักการเมืองที่เปิดตัวเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใหม่
โดยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (16-17 ต.ค.) มีถึง 3 สำนักโพลล์หลักๆ ที่ทำสำรวจในประเด็นเหล่านี้ และผลสำรวจที่ออกมาก็ดูจะเป็นบวกกับพรรคประชาธิปัตย์
สองโพลล์แรกนั้นไม่มีปัญหา คือ "ซูเปอร์โพล" กับ "สวนสุนันทาโพล" ที่ผลปรากฏว่า ความนิยมของตัว "ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ" อย่าง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาแรงแซงโค้งขึ้นมา จนกลายเป็น "คู่ชิง" กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยู่ ณ เวลานี้
สาเหตุก็เนื่องมาจาก นายจุรินทร์ ได้คะแนนเรื่องความรู้ความสามารถทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่า พลเอกประยุทธ์ และแคนดิเดตคนอื่นๆ โดยมีการทำหน้าที่ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นปัจจัยเกื้อหนุน เพราะก็ต้องยอมรับว่านายจุรินทร์ทำผลงานในหน้าที่รับผิดชอบได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะดันตัวเลข "ส่งออก" ท่ามกลางวิกฤติโควิด
แต่ที่ยังเป็นคำถาม คือ "นิด้าโพล" กับผลสำรวจเรื่อง "วันวาน...วันนี้ ของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้" ที่มีข้อสังเกตว่า ผลสำรวจนี้เป็นบวกกับพรรคประชาธิปัตย์จริงหรือไม่ หรือเป็นสัญญาณให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเร่งทำการบ้านในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นดั่ง "ฐานที่มั่นหลัก" ของตนเองกันแน่
ผลสำรวจของนิด้าโพล สรุปออกมาประเด็นได้แบบนี้
ประเด็นแรก เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ : ประชาชนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 84.94 ระบุว่าเคยเลือก, ร้อยละ 13.08 บอกว่า ไม่เคยเลือก
ประเด็นที่ 2 ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา (วันที่ 24 มี.ค.62) คนที่เคยเลือกประชาธิปัตย์ ได้เลือกประชาธิปัตย์หรือไม่ : ประชาชนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.41 ระบุว่าเลือกพรรคประชาธิปัตย์, ร้อยละ 38.59 ระบุว่า ไม่ได้เลือกพรรคประชาธิปัตย์
และเฉพาะกลุ่มที่ไม่เลือกประชาธิปัตย์ ร้อยละ 39.68 เลือกพรรคพลังประชารัฐ
ประเด็นที่ 3 ในการเลือกตั้งครั้งหน้า จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ : ประชาชนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 48.14 ตอบว่า ยังไม่แน่ใจ, ร้อยละ 30.04 ยืนยันว่า จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 20.38 ระบุว่า จะไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์
ถ้าสรุปกันจริงๆ ต้องบอกว่า มีคนใต้ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30 เศษๆ เท่านั้นที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์แน่ๆ ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็น "แฟนพันธุ์แท้"
ฉะนั้นการบ้านของพรรคก็คือ จะดึงฐานเสียงอีกเกือบร้อยละ 50 ที่ยังลังเลไม่ตัดสินใจ ให้หันมาเลือกพรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างไร
ย้อนกลับไปพิจารณาผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.62 จะพบว่า ผลคะแนนที่ออกมาค่อนข้างสอดคล้องกับผลสำรวจของ “นิด้าโพล” พอสมควร กล่าวคือ ภาคใต้ทั้งภาคแบ่งเป็น 50 เขตเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ชนะไปเพียง 22 เขต ได้ ส.ส.มา 22 คน, พรรคพลังประชารัฐเบียดมาได้ถึง 13 เขต ได้ ส.ส.13 คน, พรรคภูมิใจไทย 8 เขต ได้ ส.ส. 8 คน,พรรคประชาชาติ 6 เขต 6 คน และพรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้มา 1 เขต 1 คน
ถือว่าในภาพรวม พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.ไม่ถึงร้อยละ 50 ทั้งๆ ที่ในอดีตเคยครองใจคนใต้ ได้ ส.ส.ร้อยละ 80 ขึ้นไปทุกครั้ง
ต่อมาเมื่อช่วงต้นปี 64 ยังมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครศรีธรรมราช แทน นายเทพไท เสนพงศ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกศาลสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังพ่ายแพ้ให้กับพรรคพลังประชารัฐอีก ทำให้ปัจจุบัน ประชาธิปัตย์มี ส.ส.ได้ 21 คน พลังประชารัฐ 14 คน
พื้นที่เปราะบางของพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากสงขลา สตูล พัทลุง นครศรีธรรมราช ภูเก็ตที่โดนเจาะไข่แดงแล้ว ยังมีพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 11 เขตที่ปรากฏว่าประชาธิปัตย์ชนะไปเขตเดียวที่ จ.ปัตตานี ส่วนที่เหลือเสียไปให้พรรคประชาชาติถึง 6 เขต พลังประชารัฐอีก 3 เขต และภูมิใจไทย 1 เขต
ส่วนแบ่งเก้าอี้ของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ชายแดนใต้ต้องบอกว่าแทบจะน้อยที่สุดตั้งแต่มีการเลือกตั้งมา โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุการณ์ตากใบเมื่อปี 47 เพราะการเลือกตั้งหลังจากนั้นทุกครั้ง พรรคในเครือข่ายของไทยรักไทย ทั้งพลังประชาชน และเพื่อไทย สูญพันธุ์ เช่นเดียวกับกลุ่มวาดะห์
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์กวาดเก้าอี้ ส.ส.ไป 70-90% ทุกครั้ง กระทั่งในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดต้องพ่ายให้กับพรรคประชาชาติอย่างหมดรูป ขณะเดียวกันก็แพ้ “พลังอำนาจรัฐ” เสียเก้าอี้ให้กับพรรคพลังประชารัฐไปอีกถึง 3 เก้าอี้
การเปิดตัว นักร้องนำวงลาบานูน นายเมธี อรุณ หรือ “เมธี ลาบานูน” เจ้าของเพลงฮิต “ยาม - เชือกวิเศษ” จึงถือเป็นการปลุกความคึกคัก นอกเหนือจากที่ นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค ขุนพลคู่กายของ นายจุรินทร์ เปิดดีลดึงอดีต ส.ส.และอดีตผู้สมัครของประชาธิปัตย์กลับบ้านถึง 9 คน หลังจากทิ้งพรรคไปอยู่ชายคาใหม่ เพื่อกลับมาสานฝันสร้างความยิ่งใหญ่ให้ประชาธิปัตย์ทวงคืนบัลลังก์อีกครั้ง
ตามแคมเปญ “เลือดใหม่ไหลเข้า เลือดเก่าไหลกลับ”
ขณะที่ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะมีขึ้น คาดว่าจะมี ส.ส.เขต 12 เขต เพิ่มจากเดิมอีก 1 เขต
การแก้โจทย์ความนิยมที่ภาคใต้ ถือว่าเป็นการบ้านข้อยากของผู้บริหารพรรคชุดปัจจุบัน ภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ทั้งภาคใต้ตอนล่างอย่าง “สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” และภาคใต้ตอนกลาง กับตอนบน เนื่องจากเครือข่ายของภูมิใจไทยและพลังประชารัฐฝังรากลึกในบางพื้นที่ โดยเฉพาะภูมิใจไทยในพัทลุง
ส่วนการจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมาเป็นพรรคอันดับ 1 เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เหมือนกับที่แกนนำบางคนประกาศเอาไว้ ดูจะเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นไปอีก เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ชนะเลือกตั้งเลยมาเป็นเวลานานถึง 29 ปีแล้ว
เพราะนับตั้งแต่ปี 2535 ที่มีการเลือกตั้งหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พรรคประชาธิปัตย์เอาชนะได้เพียงหนเดียว และได้จัดตั้งรัฐบาลชวน หลีกภัย สมัยที่ 1 ช่วงปี 2535-2538 ส่วนอีก 2 ครั้งที่ได้เป็นรัฐบาล คือ รัฐบาลชวน หลีกภัย สมัยที่ 2 ปี 2540 และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2551-2554 นั้น เป็นการพลิกขั้วจากฝ่ายค้านข้ามมาเป็นรัฐบาล
พร้อมสร้างตำนานงูเห่า และจัดรัฐบาลในค่ายทหาร...ไว้ให้กับประวัติศาสตร์การเมืองไทย!
-----------------------------
ขอบคุณ กราฟฟิกบางส่วนจากรายการข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี