ทิศทางการเมืองบ้านเราวันนี้ คือ “บิ๊กตู่” สู้ต่อ
จริงๆ นักวิเคราะห์การเมืองก็ประเมินอยู่ตลอดว่า “บิ๊กตู่” สู้มานานแล้ว ถือว่าใจสู้มากเพราะเจอแต่เรื่องหนักๆ ทั้ง ม็อบ ทั้งโควิด เพียงแต่จังหวะก้าวทางการเมืองบางช่วงเวลาดูจะทำให้ไปต่อยาก
โดยเฉพาะปัญหาในพรรคพลังประชารัฐ จากเกมโหวตล้ม ต่อเนื่องถึงปลด “ผู้กอง-อาจารย์แหม่ม” ลามไปถึงความขัดแย้งที่มีกับ “พี่ใหญ่” เพราะ 2 รัฐมนตรีที่ถูกปลดคือ “กล่องดวงใจ” ทำให้อาการของนายกฯและรัฐบาลซวนเซ
แต่ผ่านมาไม่นาน สถานการณ์เปลี่ยน “กลุ่ม 3 ป.” ปิดห้องคุยกันหลายรอบ และน่าจะเคลียร์กันลงตัวว่า รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราไม่รอดแน่ เพราะแต่ละคนต้องหาทางลงที่สวยงาม
ในการประชุมหลายๆ วงที่เป็นการประชุมภายในของฝ่ายความมั่นคง มีสุ้มเสียงเล่าให้ฟังว่า “3 ป.” โดยเฉพาท่านนายกฯ เป็นห่วงเรื่องนี้มาก เพราะถ้าลงจากหลังเสือ แล้วเสือกัด หรือไม่มีใครระวังหลังให้ ก็เท่ากับว่าสิ่งที่เสียสละทำมานั้น “เสียเปล่า” และไม่แฟร์กับตนเอง
ด้วยเหตุนี้การเมืองจึงต้องเดินต่อไป เพราะถ้าลงตอนนี้มีสิทธิ์แพ้เลือกตั้งและมีแนวโน้มที่ฝ่ายตรงข้ามจะเข้ามามีอำนาจแทน และอาจมาเช็คบิล การอยู่ในอำนาจต่อจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
มีการพยายามปรับทัพ-แก้เกม ทั้งในและนอกพรรค ปิดจุดอ่อนเรื่องเสนอกฎหมาย ป้องกันอุบัติเหตุโหวตพ่ายกลางสภา เพื่อจุดหมายปลายทาง “อยู่ยาว”
แต่ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่เลิกราฉันใด การเป็นใหญ่บนถนนการเมืองก็ย่อมมีวันสิ้นสุดฉันนั้น จึงน่าสนใจว่า บทสรุป หรือบทจบตอนท้ายของเส้นทางการเมืองสายนี้ จะอยู่ที่ตรงไหน
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง และนักรัฐศาสตร์ชื่อดังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความเชิงประวัติศาสตร์การเมือง ย้อนดูอดีต เพื่ออธิบายปัจจุบัน และคาดการณ์อนาคต โดยเสนอชุดข้อมูลการเมืองไทย ว่าด้วยบทจบของผู้นำประเทศที่เป็นอดีตทหาร 8 ท่าน นับตั้งแต่ยุค จอมพล ป. คือ ยุค 2490 เป็นต้นมา
สาเหตุที่เลือกเฉพาะผู้นำที่เป็นทหาร เพราะเป็นจุดร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากกองทัพ และยึดอำนาจเข้ามา ก่อนจะลงเลือกตั้ง และได้เป็นนายกฯหลังเลือกตั้งต่ออีก 1 สมัยด้วย
โดยผู้นำทหารคนอื่นๆ มีทั้งที่รัฐประหารเข้ามา รับเชิญเข้ามา และเลือกตั้งเข้ามา...
ไปดูกันว่า “บทจบ” หรือทางลงจากอำนาจของอดีตผู้นำทั้ง 8 ท่านจะเป็นอย่างไร และ “ลุงตู่ - พล.อ.ประยุทธ์” มีโอกาสจะซ้ำรอยอดีตผู้นำคนไหน หรือจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้การเมืองไทย...
———————————
เซียมซีการเมือง!
หนึ่งในคำถามสำคัญหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลของผู้นำทหารที่เกิดขึ้นเสมอก็คือ อนาคตของ “ท่านผู้นำ” ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเมืองไทยจะเป็นเช่นไร ...
ชีวิตในทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีที่เป็นนายทหารจะคลี่คลายและจบลงอย่างไร
หากเราไม่ตอบคำถามนี้ในแบบของการ “ดูดวงชะตา” ผู้นำทหาร และหาคำตอบด้วยการเคลื่อนตัวของดวงดาวในทางโหราศาสตร์แล้ว นักรัฐศาสตร์อาจตอบด้วยการย้อนกลับไปพิจารณาอดีตจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย
เพราะคำตอบจากสถานการณ์จริงของปัญหาการเมืองไทย มีปรากฏให้เห็นจากประวัติศาสตร์เสมอ
และหากนำการสิ้นสุดวาระของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้นำทหารทั้งหลาย จาก “ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2” หรืออีกนัยหนึ่งนับจากรัฐประหารพฤศจิกายน 2490 อันเป็น “ยุคท่านจอมพล” จนถึง “ยุคสามทหาร” ในปี 2564 แล้ว
จะเห็นได้ว่าจุดสิ้นสุดทางการเมืองของผู้นำทหารไทยมีความแตกต่างกันในแต่ละแบบอย่างน่าสนใจ
ประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ให้เห็นถึงจุดสุดท้ายของเหล่าผู้นำทหารเช่นนี้ จึงเป็นเสมือน “ใบเซียมซีชีวิต” ซึ่งในที่สุดแล้ว ผู้นำทหารที่เป็นนายกรัฐมนตรีแต่ละคนต้องหยิบใบใดใบหนึ่งเสมอ เพื่อตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตทางการเมืองในอนาคต ฉะนั้นแม้พวกเขาจะมีสิทธิ์อันสมบูรณ์ที่จะเลือกหยิบได้
แต่เขาจะเลือกเซียมซีเบอร์ใด จึงเรื่องที่ชวนติดตามอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม บทความนี้จะไม่นับรวมกรณีของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ออกจากกองทัพไปนาน จนไม่มีนัยของการเป็นผู้นำทหารเช่นนายทหารที่มีบทบาททางการเมืองในปัจจุบัน
ถ้าสมมุติว่า “เซียมซีการเมือง” มีจำนวน 9 ไม้ ก็ไม่แน่ใจว่า หากผู้นำทหารที่เป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเลือกหยิบแล้ว เขาจะได้หมายเลขอะไร ...
แต่ถ้าเขาเลือกเองได้ตามใจปรารถนาแล้ว เขาอยากจะได้เซียมซีไม้ไหนเพื่อกำหนดชะตากรรมทางการเมืองของตนเอง
เพราะเซียมซีแต่ละใบที่เลือกหยิบนั้น จะเป็นเครื่องกำหนดชีวิตเขา (และยังมีนัยถึงครอบครัว) ในวันข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
เฉกเช่นเดียวกัน เซียมซีแต่ละไม้ที่ผู้นำทหารเลือกหยิบขึ้นมาย่อมมีผลต่อการเมืองไทยในทางหนึ่งทางใดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกันด้วย
เพราะการตัดสินใจที่เกิดขึ้นจะมีผลต่อการคลี่คลายในทางการเมืองของประเทศอย่างหนึ่งอย่างใดเสมอ
ชีวิตและจุดสิ้นสุดของผู้นำทหารแต่ละนายจึงเป็นดัง “เซียมซี” ให้ผู้นำทหารรุ่นหลังเลือก
ฉะนั้นหากเราจะทดลองดูจากประวัติศาสตร์แล้ว เซียมซีแต่ละเบอร์จะให้คำทำนายสำหรับผู้นำทหารได้อย่างน่าสนใจ
@@ เซียมซีใบที่ 1 ขอทำนายว่า: จะถูกประท้วงใหญ่ จนต้องลี้ภัย!
เซียมซีใบที่ 1 เป็นใบบอกที่เล่าถึงเหตุการณ์ตุลาคม 2516 เมื่อผู้นำหลักทั้งสามของรัฐบาลทหารคือ นายกรัฐมนตรี “จอมพลถนอม กิตติขจร” และคณะคือ จอมพลประภาส จารุเสถียร พันเอกณรงค์ กิตติขจร ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน และสูญเสียความชอบธรรมในหลายกรณี จนสุดท้ายนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนตัดสินใจลุกขึ้นก่อการประท้วงใหญ่ จนรัฐบาลและกองทัพพ่ายแพ้การต่อสู้บนถนน
สุดท้ายแล้วทั้งสามผู้นำต้องลงจากอำนาจ และลี้ภัยในต่างประเทศ
จอมพลถนอมจึงเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สองต่อจาก จอมพล ป. ที่ต้องจบชีวิตทางการเมืองด้วยการลี้ภัยต่างแดน แม้สุดท้ายแล้วจะได้เดินทางกลับมาเสียชีวิตในบ้านก็ตาม แต่การยุติบทบาทด้วยการถูกต่อต้านใหญ่จากสังคม
ถือเป็น “ประวัติศาสตร์แห่งความพ่ายแพ้” ครั้งสำคัญของทหารในการเมืองไทย
@@ เซียมซีใบที่ 2 ขอทำนายว่า: จะถูกต่อต้านอย่างหนัก จนต้องลาออก!
เซียมซีใบที่ 2 เล่าถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เมื่อผู้นำทหารคือ นายกรัฐมนตรี “พลเอกสุจินดา คราประยูร” ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน และรัฐบาลเสียความชอบธรรมอย่างมาก จนเกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลขนาดใหญ่ของนิสิต นักศึกษาอีกครั้ง
แต่ผู้นำทหารกลับยืนยันอย่างมั่นใจว่า “ไม่ลาออก” จนในที่สุด ผลของประท้วงใหญ่ย้อนรอยปี 2516 และประวัติศาสตร์ซ้ำรอยที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของรัฐบาลและกองทัพ จนนายกรัฐมนตรีต้องยอมลาออก และกลุ่มผู้นำทหารที่มีอำนาจขณะนั้นหายไปจากสังคมไทย
ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เป็น “ประวัติศาสตร์แห่งความพ่ายแพ้” อีกครั้งหลังการต่อต้านทหารครั้งใหญ่ในปี 2516
@@ เซียมซีใบที่ 3 ขอทำนายว่า: จะถูกรัฐประหาร และจบชีวิตนอกบ้าน!
เซียมซีใบที่ 3 บอกถึงเหตุการณ์เมื่อนายกรัฐมนตรี “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” และกลุ่มสายราชครูที่มี พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นแกนนำ พยายามที่จะอยู่ในอำนาจโดยอาศัยการเลือกตั้งเป็นการ “ฟอกตัว” อันนำไปสู่การใช้วิธีการโกงในรูปแบบต่างๆ จนกลายเป็นเหตุการณ์ “การเลือกตั้งสกปรก” ในปี 2500
ผลที่ตามมาคือ ประชาชนไม่ยอมรับ และเกิดการประท้วงขนาดใหญ่ของนิสิต นักศึกษา จนกลายเป็นช่องทางให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้เป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร และจอมพล ป.ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศในเดือนกันยายน 2500
และเขาเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ต้องลี้ภัย และไปจบชีวิตลงที่ญี่ปุ่น
@@ เซียมซีใบที่ 4 ขอทำนายว่า: ยึดอำนาจตัวเองวันนี้ แต่จะพ่ายแพ้ใหญ่วันหน้า!
เซียมซีใบที่ 4 บอกถึงเหตุการณ์เมื่อนายกรัฐมนตรี “จอมพลถนอม กิตติขจร” ไม่สามารถทนแรงกดดันจากปัญหาต่างๆ ทั้งในพรรคและในสภา จนผู้นำทหารไม่สามารถควบคุมการเมืองได้ จนต้องตัดสินใจอย่างสำคัญด้วยการยึดอำนาจรัฐบาลตนเองในเดือนพฤศจิกายน 2514 จนต้องถือว่าเป็น “รัฐประหารที่ประหลาด” เพราะรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจเป็นรัฐบาลของเขาเอง
แต่การตัดสินใจ “ยึดอำนาจตนเอง” ก็อาจกลายเป็นทางเลือกของผู้นำทหารในอนาคตที่อยากอยู่ต่อในอำนาจเสมอ เพราะดูจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาทางการเมืองแบบง่ายๆ ด้วยการล้มระบอบเดิม แต่ก็ต้องเห็นผลกระทบที่เป็นความสืบเนื่องและตระหนักว่า สุดท้ายแล้วการยึดอำนาจตนเองเช่นนี้ไปจบลงด้วยการประท้วงใหญ่ในปี 2516 และนำไปสู่การต้องลี้ภัยนอกประเทศ
@@ เซียมซีใบที่ 5 ขอทำนายว่า: มาด้วยรัฐประหาร ก็ไปด้วยรัฐประหาร!
เซียมซีใบที่ 5 บอกถึงเหตุการณ์เมื่อนายกรัฐมนตรี “พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์” ซึ่งได้อำนาจมาจากการรัฐประหารในเดือนตุลาคม 2520 แม้จะเผชิญแรงกดดันทางการเมืองในรัฐสภาอย่างมาก อันเป็นอย่างสำคัญจากปัญหาเศรษฐกิจและวิกฤติพลังงาน แต่เขาก็ยังต้องการที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป จนสุดท้ายแล้วกลุ่มยังเติร์กที่พาพลเอกเกรียงศักดิ์ขึ้นสู่อำนาจ ได้ตัดสินใจทำ “รัฐประหารเงียบ” ด้วยการกดดันให้นายกรัฐมนตรียอมลงจากอำนาจ อันนำไปสู่การประกาศการลาออกกลางสภาในเดือนกุมภาพันธ์ 2523
แม้จะดูเป็นปรากฏการณ์ของการเปลี่ยนผู้นำในระบบรัฐสภาด้วยการประกาศการลาออก แต่เป็นที่รับรู้กันว่า เบื้องหลังของการลาออกคือ การ “จี้” ผู้นำรัฐบาลด้วยการใช้อำนาจทางทหารบังคับ
@@ เซียมซีใบที่ 6 ขอทำนายว่า: จะอยู่ต่อไปใย อยู่ไปก็ลำบาก!
เซียมซีใบที่ 6 บอกถึงเหตุการณ์เมื่อนายกรัฐมนตรี “พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ” เผชิญกับแรงต่อต้านจากการประกาศขึ้นภาษีน้ำมัน และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้เกิดการประท้วงจากกลุ่มนักธุรกิจ และภาคประชาสังคม ที่บริเวณย่านสีลม จนถูกเรียกว่า “ม๊อบสีลม” และขยายไปสู่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล จนในที่สุดนายกรัฐมนตรีได้ตัดสินใจประกาศการ “ลาออก” จากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน 2540 เพื่อไม่ให้การประท้วงลุกลามขยายตัวในสังคมไทย
ซึ่งเป็นการลาออกที่คล้ายคลึงกับกรณีของพลเอกเกรียงศักดิ์ แต่ไม่ใช่การถูกบังคับจากฝ่ายทหาร
ในการนี้รัฐบาลของพลเอกชวลิตไม่ได้ใช้อำนาจในการสลายการชุมนุมของผู้ประท้วงแต่อย่างใด และการลาออกในครั้งนี้เป็นตัวแบบของการตัดสินใจเพื่อยุติปัญหาทางการเมือง
@@ เซียมซีใบที่ 7 ขอทำนายว่า: อย่าสืบทอดอำนาจ!
เซียมซีใบที่ 7 บอกถึงเหตุการณ์เมื่อรัฐบาลทหารของนายกรัฐมนตรี “พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์” เข้ามารับหน้าที่หลังรัฐประหารกันยายน 2549 ซึ่งเป็นการยึดอำนาจครั้งแรกหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 รัฐบาลไม่ประสบความสําเร็จในทางนโยบาย และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในหลายเรื่อง พลเอกสุรยุทธ์จึงตัดสินใจยุติบทบาทของรัฐบาลทหารด้วยการเปิดการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550 เพื่อถ่ายโอนอำนาจ และเป็นรัฐบาลทหารที่มีอายุสั้นมากเพียง 1 ปีเศษเท่านั้น
แต่การตัดสินใจที่ไม่สืบทอดอำนาจ และไม่ตั้ง “พรรคทหาร” จึงกลายเป็นโอกาสให้เขารอดพ้นจาก “วิกฤตการเมือง” ของผู้นำทหารมาได้
@@ เซียมซีใบที่ 8 ขอทำนายว่า: จะลาออก หรือจะถูกไล่ออก!
เซียมซีใบที่ 8 บอกถึงการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี “พลเอกเปรม ติณสูลานนท์” ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐบาลที่มีอายุยืนยาวมากที่สุดชุดหนึ่งในการเมืองไทย (8 ปี 5 เดือน)
จนเมื่อเกิดการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2531 และสังคมเริ่มส่งสัญญาณถึงความต้องการนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งยังเกิดกรณี “ฎีกา 99 นักวิชาการ”
ที่ต้องการให้ผู้นำทหารลงจากอำนาจ พลเอกเปรมจึงตัดสินใจสุดท้ายที่จะยุติบทบาททางการเมืองของตนเอง ด้วยคำกล่าวว่า “ผมพอแล้ว” อันส่งผลในเวลาต่อมาให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกหลังเหตุการณ์ตุลาคม 2519
@@ เซียมซีใบที่ 9 ขอทำนายว่า: จะได้อยู่ในตำแหน่งจนตาย!
เซียมซีใบที่ 9 บอกถึงอายุขัยของนายกรัฐมนตรีไทยคนเดียวที่เสียชีวิตในตำแหน่ง “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” มีอาการป่วย และถึงแก่อสัญกรรมในต้นเดือนธันวาคม 2506
เขาจึงเป็นผู้นำทหารคนเดียวที่เสียชีวิตในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
แม้จะเป็นการเสียชีวิตในตำแหน่ง แต่เขาก็ทิ้งมรดกทั้งทางการเมืองและส่วนตัว จนกลายเป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสังคมไทย
แม้กระนั้นผู้นำทหารในสายอำนาจนิยมก็มักจะฝันถึงการเป็น “สฤษดิ์สอง” ที่มีอำนาจและความมั่งคั่งเสมอ ทั้งที่ในความเป็นจริง เงื่อนไขและบริบทของการเมืองไทยไม่เอื้อให้เกิดผู้นำในแบบจอมพลสฤษดิ์อีกแล้ว
@@ อยากได้เซียมซีไหน!
แน่นอนว่า ผู้นำทหารที่เป็นนายกรัฐมนตรีทุกคนมักต้องการที่จะอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานเสมอ แต่จากวาระสุดท้ายของ 8 ผู้นำทหารที่ปรากฏเป็นเซียมซี 9 ใบ คือคำตอบจากอดีตทางการเมืองที่เป็นจริงของ “สามจอมพลและห้าพลเอก” ได้แก่ จอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม พลเอกเกรียงศักดิ์ พลเอกเปรม พลเอกสุจินดา พลเอกชวลิต และพลเอกสุรยุทธ์
เซียมซีทั้ง 9 ให้คำตอบของการตัดสินใจเลือกอนาคตที่แตกต่างกันไป
และอาจจะต้องกล่าวในอีกมุมหนึ่งได้ว่า เซียมซีทั้งหมดนี้เป็นดัง “เครื่องเตือนใจ” แก่การตัดสินใจของนายทหารเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
และยังเตือนใจแก่บรรดานายทหารการเมืองในกองทัพอีกด้วย!
----------------
ภาพประกอบเรื่องจาก วิกิพีเดีย