เหตุการณ์คนร้ายบุกยิงนายกเทศมนตรีตำบลรือเสาะ ซึ่งมีพิธีพระราชทานเพลิงศพไปเมื่อวันที่ 14 พ.ย.67
โดยอาวุธปืนที่คนร้ายใช้เป็น “ปืนเวียน - ปืนกลาง” ของ “กลุ่มก่อความไม่สงบ” เนื่องจากเคยก่อคดีความมั่นคงมาแล้วไม่น้อยกว่า 24 คดี
ขณะที่ในวันเดียวกันนั้นก็ยังเกิดเหตุ “มอเตอร์ไซค์บอมบ์” ที่อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ทำให้มีกำลังพลของตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ได้รับบาดเจ็บถึง 5 นาย
นี่คือตัวอย่างเหตุรุนแรง 2 เหตุการณ์ ซึ่งเราได้รับการเปิดเผยจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่คุมงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ว่า กระทบกับแผนยุทธศาสตร์การถอนกำลังพลของ “ทหารหลัก” ออกจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เคยปักหมุดกันเอาไว้ในปี 2570
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์และแผนถอนกำลังทหารเพื่อส่งมอบพื้นที่ให้ “กองกำลังประจำถิ่น” จากฝ่ายปกครองรับผิดชอบแทน ถูกพูดถึงมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากมีการประเมินกันว่าสถานการณ์ความรุนแรงเริ่มลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับแรงกดดันจากฝ่ายการเมือง เอ็นจีโอ นักสิทธิมนุษยชน และองค์กรภาคประชาสังคม ก็เรียกร้องมาโดยตลอด และเสียงดังมากขึ้นเรื่อยๆ แถมมีการใช้องค์กรระหว่างประเทศมากดดัน
ทำให้ “แผนถอนทหารปี 70” ถูกพูดถึงบ่อยครั้งขึ้น และจริงจังขึ้น จนเหมือนสัญญาประชาคมระหว่างกองทัพกับสังคมไปแล้ว
ทว่าในระยะหลัง ตัวเลขสถิติเหตุร้ายทุกประเภทได้ดีดกลับขึ้นมา ทั้งปริมาณการก่อเหตุและความสูญเสีย ทำให้ฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ เป็นรอง ผอ.รมน.โดยตำแหน่ง กำลังพิจารณาทบทวนเรื่องนี้
อย่างไรก็ดี นโยบายของ พล.อ.พนา ยังคงยึดมั่นเดินหน้าการส่งมอบพื้นที่ให้กองกำลังประจำถิ่น ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยต่อไป ซึ่งก็คือกำลังของ “กองอาสารักษาดินแดน” หรือ อส.นั่นเอง
โดยที่ผ่านมามีการทำเอ็มโอยู หรือ บันทึกความตกลงร่วมกัน ว่าจะทยอยส่งมอบภารกิจที่ไม่มีความซับซ้อนในเชิงยุทธการมากนักให้ อส.รับผิดชอบแทน เช่น ภารกิจ รปภ.ครู, รปภ.หมู่บ้าน และ รปภ.สถานที่ต่างๆ
แต่ในห้วงหลายเดือนมานี้ สถิติเหตุรุนแรงดีดกลับ จึงมีการเสนอปรับแผน ด้วยการสลับให้นำกองกำลัง อส. ไปทดแทนกำลังของ “ทหารพราน” ที่บรรจุจากหน่วยนอกพื้นที่ชายแดนใต้ไปพลางก่อน
โดยทหารพรานกลุ่มนี้ จะเป็นหน่วยเฉพาะกิจที่ใช้รหัสตัวเลขอื่นที่ไม่ใช่เลข 4 เพราะถ้าเป็นหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ขึ้นต้นด้วยเลข 4 จะหมายถึงทหารพรานของกองทัพภาคที่ 4 เอง ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ และบรรจุจากคนในพื้นที่เป็นหลักอยู่แล้ว
ส่วนกำลังทหารหลัก หรือ “ทหารเขียว” จะยังคงอยู่ในพื้นที่ต่อไปก่อน เพียงแต่จะอยู่ในกรมกอง โดยเฉพาะกองพลทหารราบที่ 15 (พล.ร.15)และจะปรับภารกิจเป็น “หน่วยทางยุทธวิธี” ออกปฏิบัติการเมื่อมีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ หรือต้องการใช้กำลังทหารเท่านั้น
เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่คุมงานความมั่นคงชายแดนใต้ ยังยืนยันด้วยว่า กอ.รมน.ยังคงมุ่งมั่นแนวทางลด-เลิกการใช้ “กฎหมายพิเศษ” โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดยจะมีการจัดทำกฎหมายฉบับใหม่มารองรับการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ชายแดนใต้แทน
ส่วนกฎอัยการศึก ยังมีความจำเป็นในบางอำเภอที่ติดกับชายแดน เพราะต้องใช้กำลังทหารในการป้องกันประเทศตามแนวชายแดน ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ชายแดนภาคอื่นๆ ก็ไม่สามารถยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกได้เช่นกัน
ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายเกี่ยวกับการใช้กำลังที่ชายใต้ที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง!