โควิดชายแดนใต้ยังไม่พ้นวิกฤติ ยอดป่วยใหม่ 3 จังหวัดติดท็อป 10 ประเทศ ศบค.ยะลา มีมติปิดหมู่บ้านเสี่ยง 3 แห่ง ทั้งให้ตรวจ ATK บุคคลจากพื้นที่สีแดงทุกรายก่อนเข้าเมือง ด้านนายกเล็กเบตง หารือผู้ประกอบการเตรียมเปลี่ยนโรงแรมเป็นโรงพยาบาลสนาม
วันอังคารที่ 21 ก.ย.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา ยังน่าเป็นห่วง ผู้ติดเชื้อใหม่แต่ละวันเพิ่มในอัตราที่สูงมาก โดยมีจังหวัดที่ติดอยู่ใน 1 อันดับของจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดของประเทศถึง 3 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส อันดับที่ 4, ยะลา อันดับที่ 6 และสงขลา อันดับที่ 9
รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันอังคารที่ 21 ก.ย.64 มีดังนี้
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 383 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.เมือง 36 ราย, อ.ตากใบ 10ราย, อ.ยี่งอ 3 ราย, อ.แว้ง 40 ราย, อ.สุคิริน 16 ราย , รือเสาะ 2 ราย , อ.บาเจาะ 65ราย, อ.ระแงะ 26 ราย, อ.ศรีสาคร 16 ราย, อ.เจาะไอร้อง 45 ราย อ.สุไหงปาดี 104 ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 20 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 20,500 ราย รักษาหายสะสม 16,946 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 5 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 236 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 4,131 ราย, อ.ระแงะ 2,213 ราย, อ.รือเสาะ 1,168 ราย, อ.บาเจาะ 1,471 ราย, อ.จะแนะ 959 ราย, อ.ยี่งอ 1,356 ราย, อ.ตากใบ 1,903 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 1,503 ราย, อ.สุไหงปาดี 1,723 ราย, อ.ศรีสาคร 1,007 ราย, อ.แว้ง 1,434 ราย, อ.สุคิริน 594 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 1,042 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 284 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 18,261 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 4,134 ราย รักษาหายแล้ว 13,965 ราย มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 162 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 117 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 6,560 ราย, อ.กรงปินัง 1,377 ราย, อ.เบตง 1,235 ราย, อ.รามัน 2,103 ราย, อ.บันนังสตา 3,317 ราย, อ.กาบัง 510 ราย, อ.ธารโต 1,317 ราย และ อ.ยะหา 1,824 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 4,134 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลยะลา 200 ราย, โรงพยาบาลเบตง 157 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 498 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 106 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 627 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 204 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 412 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 203 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 63 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 56 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 161 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 24 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 377 ราย , ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 231 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 815 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 267 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 253 ราย, กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 14 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 26,990 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 26,967 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 4,851 ราย รักษาหายแล้ว 21,997 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 142 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 205 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 7,008 ราย, อ.เมืองสงขลา 4,009 ราย, อ.สิงหนคร 3,158 ราย, อ.จะนะ 2,687 ราย, อ.สะเดา 2,334 ราย, อ.สะบ้าย้อย 1,541 ราย, อ.เทพา 1,397 ราย, อ.รัตภูมิ 892 ราย, สทิงพระ 529 ราย, อ.นาทวี 454 ราย, อ.บางกล่ำ 449 ราย, อ.ระโนด 443 ราย, อ.นาหม่อม 358 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 178 ราย, ควนเนียง 158 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 26 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,104 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 244 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 233 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 19,653 ราย รักษาหายแล้ว 13,814 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 281 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 151 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 181 ราย, โรงพยาบาลประจำอำเภอ 788 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 492 ราย, โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 1 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 56 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 184 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 124 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน 24 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์โรงยิมบานา 35 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 195 ราย และ Home Isolation จำนวน 16 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 2,797 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 640 ราย, อ.หนองจิก 228 ราย, อ.โคกโพธิ์ 82 ราย, อ.ยะหริ่ง 283 ราย, อ.สายบุรี 378 ราย, อ.ไม้แก่น 72 ราย, อ.แม่ลาน 36 ราย, อ.ยะรัง 218 ราย, อ.ปะนาเระ 129 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 201 ราย, อ.มายอ 287 ราย และ อ.กะพ้อ 133 ราย
@@ ยะลาสั่งปิด 3 หมู่บ้านเบตง ตรวจ ATK ก่อนเข้าพื้นที่
ที่ จ.ยะลา มีการประชุมคณะกรรมการและคณะทำงานเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 44/2564 ที่ประชุมมีมติให้ปิดพื้นที่เสี่ยงเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ในพื้นที่ อ.เบตง จำนวน 3 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านนาข่อย (คุ้มบ้านนาข่อย/คุ้มบ้านทรัพย์อนันต์) หมู่ 1 ต.ยะรม, บ้านบันนังสิแน (คุ้มบ้านสิแน) หมู่ 7 ต.ยะรม และ บ้านสามร้อยไร่ (คุ้มบ้านชุมชนไทยพุทธ) หมู่ 11 ต.อัยเยอร์เวง
ขณะเดียวกันได้ประกาศยกเลิกพื้นที่เสี่ยงต่อการควบคุมโรค เนื่องจากไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ติดต่อกันมากกว่า 14 วัน ในพื้นที่ อ.เบตง จำนวน 1 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านอัยเยอร์ควีน (คุ้มบ้านกูแบซาแม/คุ้มบ้านเมาะโง) หมู่ 8 ต.อัยเยอร์เวง
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติให้กลุ่มเสี่ยงที่มาจากจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ให้ทำการตรวจ ATK ทุกราย และพิจารณาเข้า Home Isolation และ Community Isolation ในกลุ่มของผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ให้เข้าสถานกักกันของรัฐ หรือ State Qudrantine ทุกราย คือศูนย์พัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา
@@ นายกเล็กเบตงถกเปลี่ยนโรงแรมเป็น รพ.สนาม
นายสกุล เล็งลัคน์กุล นายกเทศมนตรีเมืองเบตง พร้อมด้วย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิโรรสจังหวัดยะลา, ผู้จัดการโรงแรมการ์เด้นวิวเบตง, ประธานชุมชนคชฤทธิ์ และประธานชุมชนแกรนด์วิลล่า ร่วมปรึกษาหารือแนวทางการเปลี่ยนโรงแรมเป็นโรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ป่วยโควิด-19 ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง ตลอดจนขยายการรักษาให้เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน หลังจากยังคงพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ อ.เบตง อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอในการรองรับผู้ป่วย
สำหรับ Hospitel หรือที่เรียกว่า “หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ” คือสถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อย และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลแม่ข่าย ไม่สามารถจัดตั้งขึ้นมาเองโดยไม่มีการขออนุญาต ลักษณะของ Hospitel มีดังนี้
1. อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลแม่ข่ายที่เข้ารับการรักษา โดยเป็นผู้ป่วยใหม่ หรือผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นแล้วย้ายมา (Step Down) อาจเป็นหอพัก หรือโรงแรมที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก
2. อาคารของ Hospitel ต้องได้รับการตรวจสอบลงทะเบียนตามแนวทางของกรมการแพทย์ โดยต้องเป็นอาคารที่มีโครงสร้างที่เหมาะสม และมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์คอยสนับสนุนอย่างถูกหลักป้องกันโรคระบาด พร้อมทั้งมีเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลแก่เจ้าหน้าที่ด้วย ผู้ป่วยต้องเข้ารับการสังเกตอาการด้วยการเอกซเรย์ปอดก่อน แล้วมีห้องปฏิบัติการตรวจพื้นฐาน (CBC) เพื่อรายงานผลสู่โรงพยาบาลแม่ข่าย
3.ผู้เข้ารับการรักษาได้รับการติดตามผลสัญญาณชีพ และ Oxygen set เป็นระยะ อย่างน้อยวันละ 2-3 ครั้ง
4. หากมีอาการผิดปกติ แพทย์เป็นผู้พิจารณาย้ายโรงพยาบาลในเครือข่ายเพื่อการรักษาที่เหมาะสม
@@ผู้สูงอายุเมืองเบตงแห่รับวัคซีน
ด้านบรรยากาศจุดบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่โรงพยาบาลเบตง อ.เบตง จ.ยะลา ยังคงมีประชาชนเดินทางไปเข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มเป็นจำนวนมาก โดยทางโรงพยาบาลเบตงเปิดเป็นจุดบริการฉีดวัคซีน มีประชาชนทั้งที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีนไว้ และประชาชนที่ walk in เข้าไปรับวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ และผู้พิการที่ต้องนั่งในรถเข็นมารอคิว บางรายต่อคิวไม่ไหว ต้องให้ญาติมายืนคิวแทน
จากการสอบถามผู้เข้ารับการฉีดวัคซีน ยืนยันว่า มารับการฉีดวัคซีนตามนัดที่ได้ลงทะเบียนไว้ โดยเป็นการฉีดเข็มหนึ่งและเข็มสอง ที่ต้องเดินทางมาแต่เช้า เนื่องจากกลัวว่าจะไม่ทันเวลา หลังมีประชาชนแห่มาฉีดวัคซีนกันเป็นจำนวนมาก ขณะที่บางรายบอกว่า เห็นยอดผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง กลัวว่าตัวเองจะติดเชื้อ จึงเดินทางเข้ารับวัคซีน หวังให้เกิดภูมิคุ้มกัน