หลังรัฐบาลคลายล็อก และเตรียมเปิดประเทศ ตามคำประกาศของนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่าเมืองต่างๆ หลายเมือง ทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ ต่างพากันแสดงความพร้อม “เปิดการท่องเที่ยว”กันอย่างคึกคัก
ที่ฮือฮาที่สุด ก็คือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เดิมมีแผนจะเปิดรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 15 ต.ค.ที่จะถึงนี้ แต่ล่าสุดถูกเบรกหัวทิ่ม ทั้งจากผู้ว่าฯกทม.เอง และ ศบค.
ปัญหาคือความเสี่ยงของการแพร่ระบาดระลอก 5 ที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยืนยันว่า “มันมาแน่ๆ” ประกอบกับอัตราการฉีดวัคซีนของประชาชนยังไม่เป็นไปตามเป้า
โดยเฉพาะในเรื่องวัคซีน ระยะหลังมาตรฐานสูงขึ้น ไม่ใช่แค่ฉีดเข็มแรก แต่ต้องฉีดครบ 2 เข็ม แต่ยังต้องมีแผนกระตุ้นเข็ม 3 เพราะเริ่มชัดเจนว่าไม่มีวัคซีนชนิดใดป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างแท้จริง
@@ เปิด 4 สเต็ป แผนเปิดเมืองท่องเที่ยว
จะว่าไปกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประกาศแผนเปิดการท่องเที่ยว 4 สเต็ป หรือ 4 ขั้นตอนมาระยะหนึ่งแล้ว ประกอบด้วย
ระยะที่หนึ่ง
1 ก.ค.64 เปิด “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ มีเงื่อนไขต้องได้รับวัคซีนครบโดส และตรวจ RC-PCR 3 ครั้ง ต่อมามีการขยายพื้นที่เป็น “สมุยพลัส” ครอบคลุมพื้นที่ท่องเที่ยวประเภทเกาะบางเกาะในอ่าวไทย
ระยะที่ 2
1 ต.ค.64 เป็นต้นไป เปิดเพิ่มอีก 5 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเชียงใหม่ แต่ขณะนี้เริ่มมีเสียงคัดค้าน
ระยะที่ 3
15 ต.ค.64 เป็นต้นไป เปิดเพิ่มอีก 21 จังหวัด ครอบคลุมทั้งประเทศ
ภาคเหนือ - ลำพูน แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงราย สุโขทัย
ภาคอีสาน - อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ อุบลราชธานี
ภาคตะวันตก - กาญจนบุรี ราชบุรี
ภาคตะวันออก - ระยอง จันทบุรี ตราด
ภาคกลาง - พระนครศรีอยุธยา
ภาคใต้ - นครศรีธรรมราช ระนอง ตรัง สตูล สงขลา
ระยะที่ 4
1-15 ม.ค.65 เปิดการท่องเที่ยวแบบ bubble (จับคู่) กับประเทศเพื่อนบ้านตามพื้นที่ชายแดน
ฝั่งชายแดนกัมพูชา - สุรินทร์ สระแก้ว เกาะกง จ.ตราด
ฝั่งชายแดนเมียนมา - เปิดด่านที่แม่สอด จ.ตาก เชื่อมกับท่าขี่เหล็ก และเกาะสอง จ.ระนอง
ฝั่งชายแดนลาว - นครพนม หนองคาย มุกดาหาร
ฝั่งชายแดนมาเลเซีย - อ.เบตง จ.ยะลา, อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส, ด่านนอก ปาดังเบซาร์ จ.สงขลา, อ.วังประจัน จ.สตูล
สำหรับระยะที่ 4 ต้องให้ประเทศเพื่อนบ้านยอมรับ โดยให้กระทรวงต่างประเทศประสานเพื่อเปิดด่านพรมแดน และการเปิดทุกระยะ พื้นที่ที่เปิด มีเงื่อนไขประชาชนต้องได้รับวัคซีนเกิน 70%
@@ เบตงกระตุ้นผู้ประกอบการสร้างมาตรฐาน SHA
ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอที่โดดเด่นในแง่ของการเตรียมความพร้อม คือ อ.เบตง จ.ยะลา เมืองใต้สุดแดนสยาม โดยนายอำเภอเบตงตั้งเป้าเปิดเมืองท่องเที่ยวหลังประชาชนได้รับวัคซีนแล้วกว่า 80% พร้อมปฏิบัติตามมาตรฐาน SHA เน้นความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ หรือ new normal
สำหรับ SHA เป็นความร่วมมือระหว่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ดำเนินโครงการมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย คือ Amazing Thailand Safety & Health Administration ซึ่งเป็นโครงการเพื่อกระตุ้นให้สถานประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้เตรียมความพร้อม และดำเนินการปรับปรุงสถานประกอบการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวควบคู่กับมาตรการด้านสุขอนามัย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจในการใช้สินค้าและบริการต่างๆ
ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการท่องเที่ยว และกิจการที่เกี่ยวข้องทั้งภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก โฮมสเตย์ ยานพาหนะ รถเช่า หรือแม้แต่บริษัทนำเที่ยว กิจการเกี่ยวกับสปา นวดสุขภาพ รวมไปถึงร้านขายของที่ระลึกต่างๆ ได้รับตรามาตรฐาน SHA ของ จ.ยะลา หลายสิบแห่ง
@@ “ด่านนอก” แทบร้าง เอกชนร้องเปิด “ด่านนอกแซนด์บ็อกซ์”
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ยาวนานเกือบ 2 ปี ทำให้บรรยากาศเมืองที่เคยเต็มไปด้วยแสงสี อย่าง “ด่านนอก” เงียบเหงา ซบเซา ไม่ต่างจากเมืองร้าง
"ด่านนอก" หรือ "ด่านไทยจังโหลน" อยู่ในพื้นที่ ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา ในห้วงราวๆ สิบกว่านี้มานี้ ได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งบันเทิงยามค่ำคืนแห่งใหม่ของภาคใต้ตอนล่าง
ความโด่งดังและความเจริญอย่างรวดเร็วของด่านนอก ส่งผลให้ "หาดใหญ่" กลายเป็นดาวอับแสง เพราะทุกอย่างไปรวมอยู่ที่ด่านนอก แถมลูกค้าหลักคือคนมาเลย์ ข้ามด่านเข้ามาก็เจอแหล่งท่องเที่ยวเลย ไม่ต้องต่อรถเข้าหาดใหญ่อีกกว่า 50-60 กิโลเมตร
ความเจริญของด่านนอก พิสูจน์ได้ด้วยจำนวนร้านสะดวกซื้อชื่อดังอย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น พื้นที่ไม่ใหญ่นัก เพียงตำบลเดียว แต่มีเซเว่นฯมากกว่า 10 แห่ง
ทว่าในยุคโควิด ทำให้ความเงียบเหงามาเยือน ถึงขั้นเซเว่นฯยังเจ๊ง ยิ่งด่านพรมแดนไทย-มาเลเซีย คือ “ด่านไทยจังโหลน” ถูกปิดเพราะโควิด ทำให้ร้านอาหารหลายร้านปิดให้บริการ เจ้าของเดินทางกลับภูมิลำเนา ส่วนที่ยังเปิดก็แทบไม่มีคนเข้าใช้บริการ ตลาดก็มีคนไปจับจ่ายใช้สอยบางตา
สภาพที่ “ด่านนอก” ทั้งเมืองกลายเป็นเมืองร้าง ไม่มีนักท่องเที่ยวแม้แต่คนไทยที่เคยแห่ไปกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องราตรี ทำให้ร้านค้าที่อยู่หน้าด่านพรมแดนปิดตายเกือบทั้งหมดเพราะไม่มีลูกค้า เนื่องจากทั้งมาเลเซียและไทยปิดประเทศห้ามเข้าออก โรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องปิดกิจการหมด ร้านคาราโอเกะหรือสถานบันเทิงต่างๆ ล็อกประตู ลั่นดาล ทำให้เมืองด่านนอกที่เต็มไปด้วยสีสันยามค่ำคืนแทบไม่มีคนเดิน ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจเมืองนี้ 90% ต้องพึ่งพาการจับจ่ายจากนักท่องเทียว
นายสุวิทย์ แก้วห่อทอง ผู้ประกอบการในพื้นที่ด่านนอก กล่าวว่า ได้เวลาต้องทำ “ด่านนอก แซนด์บ็อกซ์” แนวคิดนี้มีความเป็นไปได้สูง ไม่ใช่เรื่องคาดฝัน และไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมาย เนื่องจากภูเก็ตและสมุยพล้สก็เปิดเป็นตัวอย่างมาแล้ว
“เมืองเราเล็กและควบคุมง่าย เรามีทางเข้าเมืองด้านเดียว ความเป็นไปได้ตรงนี้เกิดจากความพร้อม ถึงเวลาที่จะต้องเปิดได้แล้ว เพราะถ้าไม่เปิด ร้านค้าของทั้งสองประเทศก็อยู่ไม่ได้ การค้าขายชายแดนพังพินาศหมด สองปีที่ผ่านมารายได้เป็นศูนย์ ขายไม่ได้สักบาท โชคดีมีเงินเก็บบ้าง ปัญหาหนักเรื่องหนี้ สองปีที่ผ่านมาแบงก์ไม่ได้พักดอกเบี้ย ไม่ได้พักหนี้ให้เราเลย เราจำเป็นต้องหาทางช่วยเหลือตัวเอง เพื่อกลับมาเข้าสูระบบ หาเงินชำระหนี้ให้ได้” นายสุวิทย์ กล่าว
ตัวแทนผู้ประกอบการด่านนอก บอกด้วยว่า โครงการ “ด่านนอกแซนด์บ็อกซ์” ถ้าภาครัฐสนับสนุน จะเปิดโครงการได้ช่วงต้นเดือน พ.ย.64
“ผมคิดว่ามันก็อยู่ช่วงคาบเกี่ยวที่รัฐบาลจะเปิดประเทศอยู่แล้ว ถึงตอนนั้นคนไทยในพื้นที่ตรงนี้ (ด่านนอก) ก็น่าจะฉีดวัคซีนครบ 100% ขณะที่มาเลเซียเองก็ฉีดเกิน 70% เราอยากให้เป็นเรื่องของการค้าชายแดนก่อนที่จะไปถึงเรื่องของการท่องเที่ยว วันหนึ่ง 100-200 คนมาซื้อข้าวสาร มาซื้อข้าวเหนียวก็ยังดี ส่วนภาคบันเทิง ถ้าเห็นว่าคนมาเที่ยวมากขึ้น ภาคบันเทิงก็จะขยับเอง อันนี้ก็อยู่กับ ศบค..ว่าจะให้เปิดได้หรือเปล่า” ตัวแทนผู้ประกอบการ ระบุ
@@ “สมุยพลัส” นำร่องระยะ 2 ยอดจองห้องพักน่าพอใจ
การเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวที่เดินหน้า “นำร่อง” ไปก่อนแล้ว ไม่ได้มีแค่ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” แต่ยังมี “สมุยพลัส โมเดล” เป็นเป้าหมายสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของหมู่เกาะทะเลใต้ ทั้งเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ตลอดจนพื้นที่อื่นๆ โดยดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ที่เปิดโครงการไปเมื่อวันที่ 1 ก.ค.64
“สมุยพลัส” คือการขยายพื้นที่ของ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ให้กว้างขึ้น โดยให้นักท่องเที่ยว “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” สามารถเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่าง จ.ภูเก็ต กับพื้นที่นำร่องอื่นๆ ในลักษณะ 7+7 โดยมีเกาะสมุย เกาะพะงัน และเก่าเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เข้าร่วมในโครงการด้วย
ประกอบกับเที่ยวบินภูเก็ต-สมุย ได้เปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อวันที่ 25 ส.ค.64 ที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวให้ความสนใจจองที่พักบนเกาะสมุยเพิ่มมากขึ้น
นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การให้บริการต่างๆ แก่นักท่องเที่ยวใน “สมุยพลัส โมเดล” มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างมาตรฐานตามที่รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้ ซึ่งที่ผ่านมาทางจังหวัดได้มีการจัดทำมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีความมั่นใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวในโครงการนี้ โดยได้มอบหนังสือรับรองมาตรฐานให้กับรถโดยสารประจำทาง และผู้ประกอบการเรือนำเที่ยวโครงการสมุยพลัส โมเดล ในพื้นที่ อ.เกาะสมุยจำนวน 22 ราย จาก 40 กว่าราย
ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้เข้ารับหนังสือรับรองมาตรฐานเรือหางยาวสำหรับรับ-ส่งนักท่องเที่ยว ตามเกาะแก่ง ต่างๆ และสติกเกอร์เรือนำเที่ยว SAMUI+ PHA-NGAN TAO VERIFIED TRANSPORT เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวว่าเรือดังกล่าวมีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน
สำหรับการเดินทางเข้ามาใช้บริการของนักท่องเที่ยวตามโครงการสมุยพลัสโมเดลนั้น พบว่า หลังกลับมาเปิดน่านฟ้าให้บริการเที่ยวบินแก่นักท่องจากสนามบินภูเก็ต มายังสนามบินเกาะสมุย เมื่อวันที่ 25 ส.ค.64 มีการจองห้องพักในช่วงวันที่ 25-27 สค. เฉพาะในพื้นที่เกาะสมุยถึงกว่า 900 รูมไนท์ ประกอบกับรัฐบาลโดย ศบค. ได้มีมติให้การท่องเที่ยว 4 จังหวัด หลังการเก็บตัวตามโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ครบ 7 วันแล้ว สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวต่อในพื้นที่ จ.กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานีได้ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่าง จ.ภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องอื่นในลักษณะ 7+7 จึงมั่นใจได้ว่าโครงการนี้จะสามารถกกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้