หลังข่าวใหญ่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ข้าราชการระดับ 7 ที่เกี่ยวข้องกับ “โครงการเสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน” พร้อมภรรยา และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในประเด็น “เรียกรับ” และ “จ่าย” สินบน มีผู้อยู่ในข่ายถูกกล่าวหากระทำความผิด 4 ราย เป็น ข้าราชการ, ภรรยาข้าราชการ, เอกชน และนิติบุคคลนั้น
ปรากฏว่าประเด็นนี้ได้รับความสนใจจากคนในพื้นที่ ทั้งข้าราชการ หน่วยงานรัฐ และชาวบ้านร้านตลาดอย่างกว้างขวาง
“ทีมข่าวอิศรา” ติดต่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหาร ศอ.บต. ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับ นายพิทยา รัตนพันธ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. ที่ถูกชี้มูล และเป็นข้าราชระดับ 7 ระดับ ผอ.ศูนย์ หรือ ผอ.กอง
ผู้บริหาร ศอ.บต.บอกว่า ยังไม่ทราบเรื่องเลย ปกติหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว จะแจ้งเป็นเอกสารมา ตอนนี้ก็รอเอกสาร และต้องดูการชี้แจงข้อกล่าวหามาก่อน ก็ยังไม่แน่ใจว่า โดนชี้มูลความผิดประเด็นไหนบ้าง
โดยปกติก็จะต้องให้เจ้าตัวรับทราบข้อกล่าวหาก่อน และหากมีข้อมูลที่สามารถชี้แจงได้ ก็ต้องส่งข้อมูลไปยัง ป.ป.ช. และต้องดูว่า จะสามารถอุทธรณ์มติกรรมการ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลได้หรือไม่ อย่างไร
ด้านเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. รายหนึ่ง กล่าวว่า ปัจจุบัน นายพิทยา เป็นผู้อำนวยการฝ่ายอาคารสถานที่และยานพาหนะ ศอ.บต. ยังทำงานและรับราชการอยู่ตามปกติ แต่ไม่ค่อยมีใครได้เจอหน้าเท่าใดนัก
@@ เปิดชื่อ - ข้อหา ผู้ถูก ป.ป.ช.ชี้มูล 4 จาก 7 ราย
“ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบรายชื่อผู้ถูกกล่าวหา มีทั้งหมด 7 ราย แต่ ป.ป.ช.ลงมติชี้มูลความผิด 4 ราย ประกอบด้วย
1. นายพิทยา รัตนพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต.
2. นางศลิษา รัตนพันธ์ ภรรยาของนายพิทยา
3. บริษัท แสงมิตร อีเลคตริค จำกัด
4. นางอุรุวัลย์ ฤดีพิพัฒนพงศ์ กรรมการ บริษัท แสงมิตร อิเลคตริค จำกัด
ข้อหาของ นายพิทยา คือ เป็นเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และ 157
นางศลิษา รัตนพันธ์ ภรรยาของนายพิทยา มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86
บริษัทแสงมิตรฯ และนางอุรุวัลย์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 คือ ให้สินบนเจ้าพนักงาน และสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86
@@ ผู้ร้องแฉ “งานล้มแพะ - ฟันปลาซิว”
คดีนี้มีการริเริ่มร้องเรียนจากภาคประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ กระทั่งมีการไต่สวน และ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด
ผู้ที่มีบทบาทร้องเรียนโครงการเสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน บอกกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า การชี้มูลความผิด นายพิทยา ภรรยา และเอกชน เป็นการชี้มูลความผิดเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น และจำกัดเฉพาะประเด็นรับสินบน แต่ไม่ได้เอาผิดกับคณะผู้บริหารที่ร่วมดำเนินโครงการ ซึ่งมีความไม่โปร่งใสแทบทุกขั้นตอน
ฉะนั้นหลังจากนี้จะมีการสอบถามไปยังสำนักงาน ป.ป.ช.ว่า กระบวนการไต่สวนและแสวงหาข้อเท็จจริงทำกันอย่างไร เหตุใดจึงชี้มูลเฉพาะคดีสินบน ทั้งที่คำว่า “เรียกรับสินบน” ก็ต้องสืบต่อให้ได้ว่า มีการเรียกรับสินบนเพื่ออะไรและทำไมถึงให้คนคนเดียว ถ้ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย จะให้สินบนเพื่ออะไร
@@ แฉ 4 เงื่อนงำ “ฮั้ว-คู่เทียบเสนอราคาเทียม”
ข้อมูลเชิงลึกของฝ่ายผู้ร้องเรียนและองค์กรตรวจสอบในพื้นที่ พบปัญหาของ “โครงการเสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน” ที่ ป.ป.ช.อาจยังไม่ได้หยิบไปไต่สวน ประกอบด้วย
1.ส่อฮั้วประมูล ซึ่งแม้จะไม่มีการประมูลจริง แต่ใช้วิธีเทียบราคา เพราะเป็นพื้นที่พิเศษชายแดนใต้ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดประมูล แต่ก็มีปัญหาเรื่องการเทียบราคา และการกำหนดราคากลางที่แพงเกินจริง เนื่องจากเสาไฟต่อต้น มีราคาถึง 63,000 บาท โดยไม่มีประติมากรรมใดๆ
2.บริษัทคู่เทียบที่ใช้ยื่นเสนอราคาเทียบกับบริษัทที่ได้งาน ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ บางบริษัทอยู่ถึงเชียงใหม่ นครราชสีมา และกรุงเทพฯ
3.บริษัทที่รับงานติดตั้งในพื้นที่ ไม่ได้มีประสบการณ์และความสามารถในงานประเภทนี้ มีสถานะเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด สถานที่ตั้งก็เป็นบ้านพักอาศัย ไม่เคยรับงานด้านโซลาร์เซลล์ ขณะที่อีกหลายบริษัทที่เป็นคู่เทียบ เป็นเพียงบริษัทรับเหมาก่อสร้าง
4.ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ถูกไต่สวนด้วย แต่รอดการถูกชี้มูล เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนแจ้งวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ปี 56-57 ไม่มีรายได้ ปี 58 มีรายได้เพียง 19,500 บาท
ประเด็นที่ทุกฝ่ายข้องใจก็คือ เงื่อนงำเหล่านี้ไม่ถูกตรวจสอบเลยหรือ?