“มลายู ลิฟวิ่ง” ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดตัว 23 ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาภายใต้โครงการ BLOOM DEEP SOUTH IDENTITY PRODUCT ในรูปแบบ Virtual เสมือนจริง และนิทรรศการแบบ Onsite
กิจกรรมจัดที่ “มลายู ลิฟวิ่ง” ถนนปัตตานีภิรมย์ อ.เมือง จ.ปัตตานี ระหว่างวันที่ 11-12 ก.ย.64 และเปิดให้ชมตลอดทั้งเดือน ก.ย.
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) จัดหลักสูตรพัฒนาสร้างโอกาสทางด้านธุรกิจนวัตกรรมจากอัตลักษณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับประเทศ โดยมีเป้าหมายในการยกระดับสินค้า สร้างโอกาสทางด้านธุรกิจ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ ร่วมกับ “มลายู ลิฟวิ่ง” กลุ่มคนรุ่นใหม่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับ มลายู ลิฟวิ่ง (Melayu Living) เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รวมตัวกันทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ในพื้นที่มาตั้งแต่เดือน ต.ค.58 “มลายู ลีฟวิ่ง” มีความหมายว่า “ห้องรับแขกของมลายู” เริ่มจากกลุ่มสถาปนิกของภูมิภาค อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกระจายศูนย์ย่อยที่ดำเนินการโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในชื่อ “กรรมาธิการสถาปนิกทักษิณเขตภาคใต้ตอนล่าง” มีสถาปนิกเป็นสมาชิกหลัก
มลายู ลีฟวิ่ง ตั้งเป้าหมายไว้คือการสร้างความเคลื่อนไหว โดยอาศัยความถนัดทางวิชาชีพของตน และความร่วมมือของคนในพื้นที่มาเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ สร้างการรับรู้ด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมเฉพาะของท้องถิ่น สร้างพื้นที่สร้างสรรค์ขึ้นในพื้นที่ จนมีผู้ร่วมอาสาทำงานตามที่ตัวเองถนัด ทั้งสถาปนิก ช่างภาพ กราฟิกดีไซเนอร์ คอลัมนิสต์ มาร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมกันในที่ทำการ ณ บ้านเก่าทรงจีนริมแม่น้ำ ซึ่งเดิมเคยเป็น “นายอากร” ผู้ทำหน้าที่เก็บภาษีแทนรัฐบาลของดินแดนแห่งนี้ ฟื้นชีวิตให้มีชีวา เชื่อมสัมพันธ์ทุกศาสนิกมาอยู่ร่วมกัน
กิจกรรมหลากหลายของกลุ่ม เช่น การจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย, งานบรรยายด้านสถาปัตยกรรม, งานประกวดการออกแบบ, จัดฉายภาพยนตร์ ภายใต้ชื่อ “มลายูรามา” ทำแผนที่ชุมชนเพื่อการพัฒนา และเทศกาลถอดรหัสปัตตานี ร่วมมือกับชุมชนเปลี่ยนพื้นที่ในเขตเมืองเก่า จ.ปัตตานี ให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เปลี่ยนภาพลักษณ์ในจินตนาการของผู้คนที่มีเสียงระเบิด “บูม” (Boom) มาเป็น “บลูม” (Bloom) พวกเขาปรารถนาให้สังคมภายนอกได้รับรู้แง่มุมดีๆ ของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ราชิต ระเด่นอาหมัด หนึ่งในทีมงานมลายู ลิฟวิ่ง ในฐานะผู้ร่วมพัฒนาสินค้าและจัดงาน กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการดีมีประโยชน์ต่อพื้นที่ปลายด้ามขวานว่า BLOOM DEEP SOUTH IDENTITY PRODUCT หรือกิจกรรมการพัฒนาและสร้างโอกาสทางด้านธุรกิจนวัตกรรม สำหรับผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สนับสนุนโดย สนช. ดำเนินการมาตั้งแต่เดือน เม.ย.64 ด้วยเป้าหมายในการกระตุ้นการรับรู้ การสร้างโอกาสทางด้านธุรกิจ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการขยายผลเชิงพาณิชย์ของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มี 23 ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับโอกาสในครั้งนี้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และยังได้ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม
ในปีนี้เราไม่ได้จัดกิจกรรมใน มลายู ลิฟวิ่ง เลยจากสถานการณ์โควิด แต่มีโปรเจคที่ได้ทำงานร่วมกับ สนช. เป็นโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สมัครมาเกือบ 50 ทีม ผ่านการคัดเลือกจำนวน 23 ทีม โดยแบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ 1.หมวดอาหารและสมุนไพร 2.หมวดเครื่องดื่ม 3.หมวดท่องเที่ยวชุมชน 4.หมวดงาน Craft ซึ่งมีภูมิหลังอันแตกต่างหลากหลายทั้งความเชื่อ แนวทางการทำงาน รูปแบบของการประกอบการ เพื่อมุ่งหวังที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถยกระดับเพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ
เมื่อผ่านการคัดเลือก อบรม จากวิทยากรและอาจารย์มากฝีมือในแต่ละด้าน สร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ จัดทำวีดีโอประชาสัมพันธ์ และนำเสนอผลงานรวมจัดแสดงสินค้า ทางทีมออกแบบของกลุ่มได้ร่วมพัฒนา โดยการพูดคุยถึงความต้องการของผู้ประกอบการ และออกแบบให้ตรงที่สุด บางรายเพียงต้องการเปลี่ยนแพคเกจจิ้ง ลวดลาย โลโก้ อบรมการตลาด และการขายออนไลน์ สร้างเรื่องราวให้ผลิตภัณฑ์ จนถึงกิจกรรมปิดท้ายโครงการ คือนิทรรศการที่จะจัดแสดงผลงานที่ร่วมทำกับทางผู้ประกอบการใน “มลายู ลิฟวิ่ง” หากผลิตภัณฑ์ไหนโดนใจ อยากจะสั่งซื้อหรือติดต่อผู้ประกอบการโดยตรงใน Virtual Exhibition เราจะมีรายละเอียดของผู้ประกอบการทุกท่านไว้ให้เรียบร้อย
สำหรับ 23 ผลิตภัณฑ์ที่เตรียมเปิดตัวในนิทรรศการ ได้แก่ beesukhirin, BARAHOM, kattalee, น้ำพริกตราจันทร์เสวย, บ้านขนมบุหงาตานี, adelkraft, raskkayii, สภากาแฟ36, ส้มแขกบ้านทรายขาว, centralphamacybetong, concurpatchwork, sureeya, riddygoatsteak, Bangpuamazingtour, thegardencamp, ทุเรียนกวนบังเลาะ, lavalaweng kalabhai, designbyfur, nanahandcraft, kresekbettafarm, กระจูดรายา และ befishm
การจัดนิทรรศการในรูปแบบ Virtual Exhibition ครั้งแรกของปัตตานีครั้งนี้ เป็นช่วงเดียวกับที่มีการเริ่มปลดล็อกพื้นที่ ผ่อนคลายมาตรการสกัดโควิด ทำให้ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชมงานได้ด้วย ณ มลายูลิฟวิ่ง ในวันที่ 11-12 ก.ย.64 โดยมีมาตรการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดไม่เกิน 25 คน