มีประเด็นเกาะติดของ “ทีมข่าวอิศรา” เป็นโครงการคล้ายๆ เสาไฟโซลาร์เซลล์ “ประติมากรรม” อันอื้อฉาว แต่โครงการนี้ดำเนินการหลายปีแล้ว มีปัญหาตั้งแต่เริ่ม จนถึงปัจจุบัน ผ่านมากว่า 4 ปีก็ยังมีปัญหาอยู่
โครงการที่ว่านี้ คือ “โครงการติดตั้งตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์” หรือ “ตู้กรองน้ำโซลาร์เซลล์” ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
ตู้กรองน้ำสีฟ้าๆ ที่ถูกติดตั้งตามชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ มีราคาถึงตู้ละ 549,000 บาท จนถูกขนานนามว่า “ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน”
@@ ครึ่งล้าน...ซื้ออะไรได้บ้าง
โครงการนี้ถูกวิจารณ์มาตั้งแต่ต้นว่าราคาแพงเกินจริงหรือไม่ และมีความจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องติดตั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเม็ดเงิน 549,000 บาทนั้น เทียบกับราคาของมีค่าอย่างอื่นแล้ว ต้องถือว่าเป็นเงินจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
โดย “ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน” 1 ตู้ สามารถซื้อรถกระบะแบบตอนครึ่ง (กระบะมีแค็บ) ได้ 1 คัน, ซื้อรถมอเตอร์ไซค์สำหรับใช้งานทั่วไปได้ 10 คัน, ซื้อบ้านมือสองในต่างจังหวัดได้ 1 หลัง, ซื้อสวนยางพาราติดถนน ในหลายพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนาภาคใต้ได้ถึง 5 ไร่, ซื้อตู้กดน้ำแบบหยอดเหรียญได้ 20 ตู้ และซื้อเครื่องกรองน้ำแบบติดตั้งตามบ้านได้ 200 ชุด
ด้วยเหตุนี้จึงมีบางฝ่ายเสนอว่า แทนที่จะติดตั้งตู้กรองน้ำตู้ละครึ่งล้านให้ชาวบ้านต้องไปกดน้ำ ทั้งเดินไป ขี่จักรยานไป หรือขี่มอเตอร์ไซค์ไป ถ้าราคาขนาดนี้ ซื้อเครื่องกรองน้ำแจกตามบ้านเลยไม่ดีกว่าหรือ ได้ถึง 200 หลังคาเรือน
ที่หนักกว่านั้นก็คือ โครงการนี้ดำเนินการเมื่อปี 60 ศอ.บต.ติดตั้งไป 93 ชุด 93 พื้นที่ ใช้งบประมาณทั้งหมด 58,730,800 บาท
@@ เตือนล่วงหน้า สารพัดปัญหาตามมา
องค์กรตรวจสอบในพื้นที่เคยประสานให้นักวิชาการมหาวิทยาลัยทำการศึกษาโครงการนี้ และพบปัญหาคือ เป็นโครงการที่ไม่ได้สอบถามความต้องการของประชาชนและท้องถิ่นต่างๆ ก่อน คือริเริ่มและดำเนินโครงการโดย ศอ.บต.ฝ่ายเดียว จากนั้นก็นำไปติดตั้ง โดยไม่มีแผนรองรับว่าใครจะเป็นผู้ดูแล เช่น นำไปตั้งในมัสยิด ก็ต้องใช้น้ำของมัสยิด บางทีแสงแดดไม่พอ เครื่องไม่ทำงาน ก็ต้องเสียบปลั๊กไฟ ก็มีค่าใช้จ่ายค่าไฟตามมาอีก แต่ไม่มีผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อตู้กรองน้ำหมดสัญญารับประกันกับบริษัทผู้ผลิตและติดตั้ง ถ้าเกิดการชำรุดเสียหายขึ้นมา ก็ไม่มีใครซ่อม
“ทีมข่าวอิศรา” ลงพื้นที่ตรวจสอบ “ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน” ที่หมู่ 2 ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา ปรากฏว่าน้ำไม่ไหล สภาพตู้กรองน้ำแห้งสนิท มีหญ้าขึ้นรก และมีการปลูกต้นอ้อยใกล้ๆ กับตู้กรองน้ำด้วย สอบถามชาวบ้านบอกว่า ตู้กรองน้ำชำรุดมานานแล้ว ไม่มีใครมาซ่อม จึงไม่มีใครไปกดน้ำเลย
@@ มามุกใหม่...ให้ อบต.เซ็นยืมตู้กรองน้ำครึ่งล้าน
ล่าสุด มีปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก เมื่อมีหนังสือจาก ศอ.บต. ส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งที่มีการติดตั้งตู้กรองน้ำครึ่งล้าน โดยให้ลงนามในหนังสือ “ยืม” ตู้กรองน้ำไปใช้ และต้องส่งคืนในสภาพที่สมบูรณ์ ทั้งๆ ที่ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านั้นไม่เคยมีความต้องการตู้กรองน้ำครึ่งล้านเลย และไม่เคยส่งหนังสือไปขอยืมจาก ศอ.บต.ด้วย
หนึ่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับหนังสือ คือ อบต.บาโระ อ.ยะหา จ.ยะลา ทีมข่าวจึงไปสอบถาม นายอับดุลรอซิ ทาเนาะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บาโระ ได้ความว่า ตนไม่ทราบเรื่อง “ยืมตู้กรองน้ำ” มาก่อน ทราบแต่เพียงว่าตู้กรองน้ำที่ติดตั้งที่มัสยิดชำรุด ชาวบ้านโทรให้ ศอ.บต.มาซ่อม ศอ.บต.ก็ส่งเจ้าหน้าที่มาซ่อมจนเสร็จ จากนั้นก็ส่งหนังสือให้นายก อบต.เซ็นรับ
“ทีแรกผมก็นึกว่าเป็นเอกสารเซ็นรับอุปกรณ์หลังซ่อมแซม แต่พอมาอ่านดูดีๆ ถึงเพิ่งรู้ว่าเป็นเอกสาร ‘ยืมตู้กรองน้ำ’ และยังมีข้อความให้ อบต.ต้องรับผิดชอบ หากตู้กรองน้ำชำรุด เสียหาย หรือสูญหายไปด้วย”
นายก อบต.บาโระ ย้ำว่า “เราไม่ได้ต้องการยืม เขาจะมอบให้เรา มันคนละเรื่องเลย เรื่องจริงเขาจะมอบ แต่ในเอกสาร มันกลายเป็นว่าเราต้องการยืม มันสลับกันเลย ถ้ายืมเราไม่เอา ที่จะเซ็นรับเป็นเรื่องซ่อมตู้กรองน้ำ ไม่ใช่เรื่องยืม”
@@ ถามกลับ ศอ.บต.โยนความรับผิดชอบ?
ทีมข่าวได้ตรวจสอบไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง ทราบว่าได้รับหนังสือ “ยืม” ตู้กรองน้ำครึ่งล้านเช่นกัน โดยที่ทางองค์กรปกครองท้องถิ่นไม่อยากได้ เพราะเป็นของเก่าแล้ว ติดตั้งมานานหลายปี ถ้าเซ็นรับไปก็มีแต่เสียงบซ่อมแซม
“ล่าสุดประมาณปลายเดือน ส.ค. ทาง ศอ.บต.ให้เราทำเรื่องยืมตู้กรองน้ำ เพื่อจะให้ อบต.รับผิดชอบงานต่อจาก ศอ.บต. ทางเราก็ไม่ยอม ของพังไม่รู้กี่ครั้งแล้ว ทาง ศอ.บต.เขาซ่อมจริง และเครื่องเสียก็เรื่องจริง ได้ถามชาวบ้าน ทุกคนบอกว่าตอนมาติดตั้งใหม่ๆ ใช้ได้ไม่ถึงครึ่งปีก็เสีย พอแจ้งซ่อม 4-5 เดือนกว่าจะมาซ่อม ซ่อมเสร็จสักพักเสียอีก” เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรายหนึ่ง กล่าว
และว่า “ตู้กรองน้ำที่เขาจะให้เราทำเรื่องยืมครั้งนี้ คือตู้กรองน้ำชุดเดียวกันกับที่เคยเป็นข่าว ตอนนี้จะโยนให้ อบต.รับแทนแล้ว แบบนี้เราต้องรับผิดชอบเต็มๆ ถ้า ศอ.บต.ซ่อมก่อน แล้วเอางบมาให้เราสักก้อนเพื่อดูแล แบบนี้พอได้ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีคำตอบ ทางเราก็ไม่เซ็น”
เจ้าหน้าที่รายนี้ บอกอีกว่า หนังสือที่ส่งมาคือ “ใบยืมครุภัณฑ์” มีหมายเหตุให้ผู้ยืมจ่ายค่าซ่อมแซมเอง ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ติดตั้งมาหลายปีแล้ว แบบนี้ถือว่าโยนให้ท้องถิ่นรับผิดชอบ จู่ๆ อบต.เบิกเงินไปซ่อมก็ไม่ได้ กรณีแบบนี้ต้องเอาเข้าสภา อบต.ก่อน
เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นอีกราย กล่าวคล้ายๆ กันว่า เดิมตู้กรองน้ำเหล่านี้ ศอ.บต.ไปติดตั้งที่โรงเรียนตาดีกา หรือมัสยิด แล้วให้ตาดีกากับมัสยิดบริหาร แต่จู่ๆ จะมาให้ท้องถิ่นรับผิดชอบ แบนี้ไม่ใช่แล้ว
“ตู้กรองน้ำเขาติดตั้งมาตั้งแต่ปี 60 แถมของที่ซื้อมาราคาสูงมาก เครื่องละครึ่งล้าน ให้ท้องถิ่นซื้อเองได้ 10 เครื่อง แถมไม่ใช่เครื่องเล็กๆ ด้วย ไม่เหมือนตู้กรองน้ำที่ชาวบ้านได้มานี้ ชาวบ้านบอกใช้ได้ไม่ถึงครึ่งปีก็พัง กว่าจะมาซ่อมอีกครึ่งปี”
เขาบอกด้วยว่า เข้าใจว่าโครงการนี้เป็นของผู้บริหารคนเก่าทำเอาไว้ แล้วคนปัจจุบันที่อยู่ในอำนาจต้องมารับผิดชอบ แต่ก็ควรหาทางออกให้ดีกว่านี้หน่อย มีความจริงใจบ้าง ไม่ใช่โยนกันไปมา
@@ โยนผู้บริหารชุดเก่า ถูก ป.ป.ช.สอบ ยุ่งไม่ได้
ด้านผู้บริหาร ศอ.บต.ซึ่งมีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน ชี้แจงเรื่องนี้เพียงว่า เป็นเรื่องเก่า ในความรับผิดชอบของผู้บริหารชุดเก่า ทราบว่า ป.ป.ช.สอบอยู่ และยังสอบไม่เสร็จ ผู้บริหารชุดปัจจุบันจึงไม่อยากยุ่ง
“ก่อนหน้านี้ทางผมก็แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ในเรื่องเร่งด่วนจำเป็น เช่น เสียก็ซ่อมให้ ส่วนทางคดีเราเกี่ยวข้องไม่ได้เลย กรณีที่ทำอยู่ในปัจจุบันก็เพียงแค่ส่งคนไปซ่อมเพื่อให้ใช้งานได้ จ่ายค่าไฟ ค่าซิมโทรศัพท์ หากเสียหายทางพื้นที่ก็จะต้องส่งเรื่องแจ้งเข้ามา ทางเราก็มีทีมงานที่ส่งไปตรวจสอบ โครงการนี้มีการช่างไฟฟ้าเอาไว้สำหรับรองรับงานซ่อมแซมหลายสิบคน”
ผู้บริหาร ศอ.บต. บอกด้วยว่า การทำโครงการแบบนี้ ประชาชนได้ประโยชน์ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงคิดว่าต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน
“ดีที่สุดคือการส่งเงินให้ถึงมือประชาชนน่าจะดีกว่าทางส่วนราชการใช้กันเองอย่างที่เป็นอยู่ และการทำงานต้องดึงเครือข่ายภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบทุจริตด้วย” ผู้บริหาร ศอ.บต. กล่าวทิ้งท้าย