มัสยิดยะลาเริ่มเปิดละหมาดวันศุกร์ ตามวิถีใหม่ “นิว นอร์มอล” หลังจุฬาราชมนตรีมีประกาศผ่อนปรน ด้านชาวปัตตานีดีใจได้ละหมาดวันศุกร์ ชวนทุกคนเร่งฉีดวัคซีน ส่วนผู้ประกอบการร้านค้าเบตงรับการตรวจ ATK ก่อนเปิดกิจการ ขณะที่นราธิวาสอ่วมติดโควิดใหม่เกือบ 500 ราย
วันศุกร์ที่ 3 ก.ย.64 หลังจาก นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ได้มีประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การละหมาดญะมาอะห์ และการละหมาดวันศุกร์ (ญมอะห์) ที่มัสยิด ฉบับที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งได้พิจารณาเห็นควรผ่อนปรนให้ปฏิบัติศาสนกิจ การละหมาดญะมาอะห์ และการละหมาดวันศุกร์ (ญมอะห์) ที่มัสยิดได้ โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
1.ประชากรที่อยู่ในชุมชนมีอัตราการได้รับการฉีดวัคซีนแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนประซากรที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป หรือในพื้นที่ที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้พิจารณาร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วสามารถผ่อนปรนให้ปฏิบัติศาสนกิจดังกล่าวได้
2.คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดและผู้มาปฏิบัติศาสนกิจที่มัสยิด ทั้งละหมาดญะมาอะห์ และละหมาดวันศุกร์ ควรได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว อย่างน้อย 1 เข็ม
3.ใช้เวลาในการปฏิบัติศาสนกิจละหมาดญะมาอะห์ ไม่เกิน 30 นาที และละหมาดวันศุกร์ เริ่มตั้งแต่อะซานจนกระทั่งเสร็จสิ้นการละหมาด ไม่เกิน 45นาที
4.ต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขและประกาศจุฬาราชมนตรีด้วยความเคร่งครัด ได้แก่ การตรวจวัดอุณหภูมิ การสวมใส่หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างแถวการละหมาด 1.5-2 เมตร การจัดจุดล้างมือ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ การอาบน้ำละหมาดจากที่บ้าน การนำผ้าปูละหมาดของตนเองมาด้วย และการลงทะเบียนทุกครั้งที่มาปฏิบัติศาสนกิจที่มัสยิด
5.การปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว ให้คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดประสานแจ้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพื่อจะได้ประสานหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด และสำหรับมัสยิดที่อยู่ในจังหวัดที่ไม่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ให้อิหม่ามประจำมัสยิดประสานหารือกับฝ่ายปกครองในพื้นที่ในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ออกโดยภาครัฐและประกาศจุฬาราชมนตรีด้วยความเคร่งครัด
ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวข้างต้นให้ถือปฏิบัติจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติหรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น
@@ มัสยิดยะลาเริ่มละหมาดวันศุกร์วิถีใหม่
หลังจากที่สำนักจุฬาราชมนตรีได้ประกาศให้มีการผ่อนปรนให้มีการละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะห์ที่มัสยิด เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 ก.ย. ทำให้ที่มัสยิดโรงเรียนพัฒนาวิทยาและมัสยิดยาแมะหัวสะพานสะเตง อ.เมืองจ.ยะลา เริ่มมีการละหมาดวันศุกร์เป็นวันแรก แต่ได้เปิดให้ละหมาดเฉพาะสัปบุรุษที่อาศัยอยู่ในรัศมีบริเวณมัสยิดเพียงเท่านั้น ทำให้บรรยากาศการละหมาดวันศุกร์ในวันนี้ค่อนข้างบางตา
ภายหลังจากละหมาดวันศุกร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางคณะกรรมการของมัสยิดก็ได้ชี้แจงถึงมาตรการต่างๆ ให้แก่ผู้ที่มาละหมาด โดยทุกคนจะต้องนำหลักฐานการฉีดวัคซีน อย่างน้อย 1 เข็ม เพื่อแสดงให้กับผู้เกี่ยวข้องและต้องปฏิบัติตามมาตรการ DMHTTA ทั้งนี้มัสยิดโรงเรียนพัฒนาวิทยาและมัสยิดยาแมะหัวสะพานสะเตง จ.ยะลา จะเปิดให้กับบุคคลทั่วไปมาละหมาดวันศุกร์อย่างเป็นทางการ ในวันศุกร์ที่ 10 ก.ย.64 นี้
นายรุสดี บาเกาะ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา กล่าวว่า ทางคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา จะร่วมประชุมมาตรการป้องกันและอนุญาตละหมาดวันศุกร์ ตามคำสั่งจุฬาราชมนตรี หากเปิดละหมาดวันศุกร์ได้ ประชาชนในพื้นที่ต้องฉีดวัคซีนเกิน 70% นั้น ซึ่งทุกพื้นใน จ.ยะลา มีน้อยที่ผ่านเกณฑ์นี้ ไม่สามารถที่จะเปิดละหมาดวันศุกร์ทุกพื้นที่ได้ แต่เราต้องอยู่กับสถานการณ์โรคระบาดนี้อีกนาน ฉะนั้นต้องหามาตรการอื่นๆ เช่น ทุกคนต้องมีวัคซีนในตัวเองโดยเร็ว ในพื้นที่มีสัปบุรุษมัสยิดฉีดวัคซีนแล้วกี่คน พร้อมให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันโรคระบาดตามกระทรวงสาธารสุขทุกอย่าง น่าจะเอาตรงนี้มาเป็นเกณฑ์ดีกว่า ทั้งนี้พร้อมจะเสนอทาง ศบค.ยะลา ต่อไป
ด้านผู้มาร่วมละหมาดวันศุกร์ กล่าวว่า สำหรับมุสลิมชายที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นภาคบังคับของศาสนาอิสลามต้องละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด ทางคณะกรรมการมัสยิด จะต้องให้ความสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด ห่วงเยาวชนที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปีที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หากมัสยิดปล่อยให้ละหมาดโดยที่ไม่มีระบบป้องกันก่อนเข้ามัสยิด เชื่อว่า การติดเชื้อกลุ่ม หรือคลัสเตอร์กิจกรรมศาสนา อาจจะกลับมาเกิดอีกครั้ง
@@ ชาวปัตตานีดีใจได้ละหมาดศุกร์ ชวนเร่งฉีดวัคซีน
นายรอมลี ฮรง ชาว จ.ปัตตานี กล่าวว่า ดีใจมากที่สามารถเปิดมัสยิดละหมาดวันศุกร์ร่วมกันได้ วันนี้บรรยากาศชการละหมาด ทุกคนได้ปฏิบัติตามมาตรการที่ทางจังหวัด สาธารณสุข และจุฬาราชมนตรีกำหนดอย่างเคร่งครัด แม้ยังไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ เชื่อว่าอาทิตย์นี้น่าจะมีชาวบ้านไปฉีดวัคซีนมากขึ้น และจะมีการมาละหมาดศุกร์เป็นจำนวนมากด้วย อยากชวนทุกคนที่ยังไม่ได้ฉีด ร่วมกันฉีดวัคซีน เพื่อที่ทุกคนจะได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติอย่างปลอดภัยจากโควิดโดยเร็ว
@@ ผู้ประกอบการร้านค้าเบตง ตรวจ ATK ก่อนเปิดกิจการ
ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอเบตงและโรงพยาบาลเบตง ให้บริการตรวจโควิดเชิงรุกด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เน้นกลุ่มพนักงานภาคบริการที่กำลังจะกลับมาเปิดทำการหลัง ศบค.ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยมีกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร พนักงานเสิร์ฟ พนักงานขาย ร้านนวด ร้านตัดผม/เสริมสวย และประชาชนกลุ่มเสี่ยงมารับการตรวจได้ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเบตง
นายวงศ์วิทย์ อัครวโรทัย สาธารณสุขอำเภอเบตง กล่าวว่า การตรวจ ATK เป็นการดำเนินการเพื่อให้สอดรับกับนโยบายของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) หลังได้มีการผ่อนคลายตามมาตรการล็อกดาวน์ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา อาทิ การเปิดให้นั่งรับประทานอาหารในร้านได้ ร้านเสริมสวย สถานเสริมความงาม ให้เปิดบริการได้ รวมถึงเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเมืองเบตงในอนาคต หากพร้อมจริงๆ ก็ขอเชิญชวนให้เสียสละเป็นร้านนำร่อง ในการขึ้นป้ายประกาศว่า พนักงานฉีดวัคซีนครบ ขึ้นป้ายแสดงผลการตรวจ ATK เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า
@@นราธิวาสติดเชื้อพุ่ง 461 – ปัตตานีป่วยดับ 5
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันศุกร์ที่ 3 ก.ย.64 มีดังนี้
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 176 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 16,113 ราย รักษาหายแล้ว 11,875 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 5 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 250 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 140 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 139 ราย, โรงพยาบาลสนามเรือนจำ 12 ราย, โรงพยาบาลประจำอำเภอ 591 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 487 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 40 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 125 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 96 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน 0 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์โรงยิมบานา 71 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 150 ราย และ Home Isolation จำนวน 21 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 2,487 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 696 ราย, อ.หนองจิก 289 ราย, อ.โคกโพธิ์ 54 ราย, อ.ยะหริ่ง 255 ราย, อ.สายบุรี 258 ราย, อ.ไม้แก่น 8 ราย, อ.แม่ลาน 19 ราย, อ.ยะรัง 263 ราย, อ.ปะนาเระ 126 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 95 ราย, อ.มายอ 228 ราย และ อ.กะพ้อ 107 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 201 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 12,461 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 2,336 ราย รักษาหายแล้ว 10,002 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 123 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 220 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 4,661 ราย, อ.กรงปินัง 996 ราย, อ.เบตง 646 ราย, อ.รามัน 1,204 ราย, อ.บันนังสตา 2,385 ราย, อ.กาบัง 382 ราย, อ.ธารโต 960 ราย และ อ.ยะหา 1,227 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,336 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 212 ราย, โรงพยาบาลเบตง 81 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 473 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 97 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 700 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 24 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 92 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 131 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 57 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 18 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 106 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 17 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) จำนวน 78 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 8 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 242 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 467 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.เมือง 70 ราย, อ.ตากใบ 73 ราย, อ.ยี่งอ 100 ราย ,อ.จะแนะ 20 ราย, อ.แว้ง 10 ราย, อ.สุคิริน 1 ราย, อ.รือเสาะ 1 ราย, อ.บาเจาะ 42 ราย, อ.ระแงะ 6 ราย, อ.ศรีสาคร 63 ราย อ.เจาะไอร้อง 61 ราย, อ.สุไหงปาดี 7 ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 13 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 14,724 ราย รักษาหายสะสม 11,876 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 168 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 3,005 ราย, อ.ระแงะ 1,721 ราย, อ.รือเสาะ 720 ราย, อ.บาเจาะ 1,064 ราย, อ.จะแนะ 753 ราย, อ.ยี่งอ 979 ราย, อ.ตากใบ 1,635 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 1,047 ราย, อ.สุไหงปาดี 963 ราย, อ.ศรีสาคร 628 ราย, อ.แว้ง 1,077 ราย, อ.สุคิริน 413 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 719 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 279 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 230 ราย, กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 49 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 21,081 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 21,058 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 3,276 ราย รักษาหายแล้ว 17,687 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 118 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 458 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 5,622 ราย, อ.เมืองสงขลา 3,099 ราย, อ.สิงหนคร 2,625 ราย, อ.จะนะ 2,098 ราย, อ.สะเดา 1,672 ราย, อ.เทพา 1,148 ราย, อ.สะบ้าย้อย 951 ราย, อ.รัตภูมิ 593 ราย, สทิงพระ 453 ราย, อ.บางกล่ำ 379 ราย, อ.นาหม่อม 325 ราย, อ.นาทวี 297 ราย, อ.ระโนด 235 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 132 ราย, ควนเนียง 133 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 20 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,103 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 173 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
@@ โรงพยาบาลชายแดนใต้ เตียงยังว่างเพียบ
ด้านรายงานข้อมูลเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูล ณ เวลา 16.00 น. ของวันที่ 3 ก.ย.64 มีข้อมูลดังนี้
จ.สงขลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 1,053 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 896 เตียง คงเหลือ 157 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 3,827 เตียง ใช้ไป 2,679 เตียง คงเหลือ 1,148 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:191
จ.ปัตตานี โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 1,546 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 995 เตียง คงเหลือ 551 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,970 เตียง ใช้ไป 796 เตียง คงเหลือ 2,174 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม อยู่ที่ 1:7
จ.ยะลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 791 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 766 เตียง คงเหลือ 25 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,088 เตียง ใช้ไป 724 เตียง คงเหลือ 364 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:103
จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 918 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 824 เตียง คงเหลือ 94 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 3,000 เตียง ใช้ไป 1,289 เตียง คงเหลือ 1,711 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:257