ร้านอาหารคึกคัก แม่ค้าเฮหวังขายดีขึ้น หลังผ่อนปรนนั่งทานได้ ส่วนชาวบ้านบุดีนับพันแห่ปักแขน หลังทราบฉีดวัคซีนไปฮัจย์ได้ ด้านยะลาตั้ง CCR Team ตรวจเชิงรุก ATK หวั่นผ่อนคลายมาตรการทำยอดติดโควิดเพิ่ม ขณะที่นราธิวาสป่วยใหม่พุ่ง 431 - ดับ 4
วันพฤหัสบดีที่ 2 ก.ย.64 หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดจังหวัดชายแดนใต้ หลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งยังมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด โดยเฉพาะการอนุญาตให้ร้านอาหารสามารถเปิดให้บริการนั่งทานภายในร้านได้ตามมาตรการที่ ศบค.กำหนด
ทำให้บรรยากาศร้านอาหารในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองนราธิวาส อ.เมือง จ.นราธิวาส ภายหลังที่ปิดร้านมาเป็นเวลากว่า 2 เดือน เนื่องจากเป็น 1 ใน 29 จังหวัดที่ในพื้นที่สีแดงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มกลับมาคึกคัก มีลูกค้าเริ่มทยอยมาใช้บริการเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ที่เริ่มเปิดให้ประชาชนเข้าไปนั่งรับประทานอาหารในร้านได้ ซึ่งร้านอาหารส่วนใหญ่ ในขณะนี้มีทั้งที่ให้บริการนั่งรับประทานในร้านได้ และสามารถซื้อกลับไปรับประทานได้ด้วยเช่นกัน โดยร้านอาหารที่เปิดเครื่องปรับอากาศ สามารถรับลูกค้าได้ร้อยละ 50 ส่วนร้านค้าทั่วไปหรือร้านที่เปิดโล่งสามารถรับลูกค้าได้ร้อยละ 75 ของจำนวนที่นั่งปกติ และสามารถนั่งรับประทานภายในร้านได้ไม่เกิน 20.00 น.และห้ามจำหน่ายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดตามมาตรการของ ศบค.กำหนด
อย่างไรก็ตามในส่วนของประชาชนผู้ที่เข้ามาใช้บริการร้านอาหาร ยังคงปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน ทั้งการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา รวมถึงพกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือส่วนตัวมาด้วย
เช่นเดียวกับที่ร้านอาหารในพื้นที่ จ.ปัตตานี ก็เริ่มเปิดให้ลูกค้าเข้ามานั่งรับประทานอาหารภายในร้าน
นางปาตีเมาะ ขาเดร์ แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวร้านปากไม่แดงไม่มีแรงเดิน อ.โคกโพธิ์ กล่าวว่า ดีใจมากทีสามารถให้ลูกค้านั่งทานในร้านได้ แม้เศรษฐกิจไม่ค่อยดี คนลดการซื้อมากกว่าเมื่อก่อน แต่โดยรวมถือว่าดีกว่า อย่างน้อยมีโอกาสมากกว่า หลังจากเปิดให้นั่งทานในร้านได้ เชื่อว่า ลูกค้าจะออกมามากขึ้น อย่างน้อยขายได้ วันละ 3-5 ร้อยก็พออยู่ได้
แม้ว่าตอนนี้โควิดยังมีอยู่ ผู้ว่าปัตตานีได้ปลดล็อคแล้ว พวกเราเองก็จะไม่ลืมที่จะระวังและป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่ ลูกค้าจะเข้ามาที่ร้าน จะต้องล้างมือและใส่หน้ากากอนามัยทุกคน และก่อนออกจากร้านก็จะต้องล้างมือด้วย ที่นี้ถือว่าโชคดี ชาวบ้าน 70 เปอร์เซ็นต์ ฉีดวัคซีนแล้ว ที่เหลือกำลังทยอยไปฉีด ก็ถือว่า ทุกคน เห็นความสำคัญ และให้ความร่วมมือกับ อสม.เป็นอย่างดี ที่สำคัญ สิ่งดีๆก็จะกลับมาสู่ชุมชนของเรา
นางแจ๋ม เอียดผอม แม่ค้าขายขนมหวานรถเข็น ใน จ.ปัตตานี กล่าวว่า รู้สึกดีมากที่ปลดล็อค แม้ว่าลูกค้าของเราจะไม่ได้นิยมนั่งที่ร้าน แต่มันรู้สึกดีขึ้นกว่าเดิม ทุกคนก็อึดอัดที่นั่งในร้านไม่ได้ พอปลดล็อคบรรยากาศมันดีขึ้น คนออกมาเยอะขึ้น ขนมหวานก็ขายดีขึ้นกว่าปกติ
@@ชาวบุดีนับพันแห่คนรับวัคซีน หลังทราบให้ทำฮัจย์ได้
ด้านเทศบาลตำบลบุดี อ.เมือง จ.ยะลา นำโดยนายมะสากี สาและ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบุดี ได้นำเครือข่ายในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา รุกลงพื้นที่สร้างความตระหนัก และความรู้ในการรับฉีดวัคซีนให้กับประชาชน เพื่อเป็นการป้องกันการระบาดของโรคระบาดใหม่ ซึ่งตำบลบุดี มีประชาชนรับฉีดวัคซีนน้อยที่สุด จากจำนวนประชากรเป้าหมายการฉีดวัคซีน 6,694 ราย ฉีดแล้ว 2,067 คนคิดเป็นร้อยละ 30.88 ยังไม่ได้ฉีดอีก 4,627 ราย
นายซูการ์นอ มะตีมัน ผอ.กองสาธารสุขฯเทศบาลตำบลบุดี กล่าวว่า สำหรับวันนี้ มีประชาชนชาวตำบลบุดี มาฉีดวัคซีนเข็มแรกซิโนแวค จำนวน 850 ราย และมารอ Wolk in อีก 300 คน เป็นการทำงานเชิงรุกของกองสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อมเทศบาลตำบลบุดี ที่ร่วมกับเครือข่ายและผู้นำในพื้นที่ สร้างต้นแบบด่านหน้ารับการฉีดวัคซีน และเดินเชื่อมสร้างสัมพันธ์ทุกประตูบ้าน ให้ประชาชนตระหนักและเข้า ฉีดวัคซีนป้องกันตัวเราและป้องกันเชื้อร้ายลงปอดได้ ซึ่งหากใครไม่ผ่านวัคซีนจะประกอบพิธีฮัจย์ไม่ได้
นางมีเนาะ บือราเฮง ชาวบุดี กล่าวว่า หลังเจ้าหน้าที่มาให้ความรู้เรื่องวัคซีน ทำให้ทราบด้วยว่า ประเทศซาอุดีอาระเบีย อนุมัติให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค เข้าประเทศทำพิธีฮัจย์ได้และวัคซีนอื่นๆที่รัฐบาลจัดหาให้ จึงทำให้ประชาชนตื่นตัว พร้อมที่จะรับการฉีดวัคซีน
@@ตั้ง CCR Team ยะลา ตรวจเชิงรุก ATK หวั่นผ่อนปรนทำยอดติดโควิดเพิ่ม
ส่วนที่อาคาร 4 ตลาดสดเมืองใหม่ เทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ทางเครือข่ายบริการ อ.เมืองยะลา(สำนักงานสาธารณสุข อ.เมืองยะลา รพ.ยะลา ) และเทศบาลนครยะลา ได้จัดให้ทีม CCR Team (Comprehensive Covid-19 Response Team/ทีมเคลื่อนที่เร็วแบบเบ็ดเสร็จ) จำนวน 50 คน ดำเนินการเชิงรุกตรวจคัดกรองด้วย ATK และฉีดวัคซีน เป้าหมายเป็นประชาชน พ่อค้า แม่ค้าและผู้ที่มาจับจ่ายซื้อของ จำนวน 500 คน มีทั้งตั้งจุดบริการและมีทีมที่เดินตามจุดต่างๆ
นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวว่า การแพร่ระบาดโควิด-19ในพื้นที่ จ.ยะลา ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อรายใหม่ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการติดเชื้อร่วมบ้าน ร่วมชุมชน และอัตราป่วยตาย ร้อยละ 1 อีกทั้งการผ่อนคลายมาตรการ การเดินทาง การเปิดกิจกรรมและกิจการ อาจส่งผลต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเชื้อเดลต้า ที่ทำให้ติดเชื้อง่ายและเร็วขึ้น ซึ่งจากการคาดการณ์ปัจจัยดังกล่าวในช่วงปลายเดือน ก.ย.- พ.ย.64 จังหวัดยะลาอาจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงขึ้นถึง 300 ราย/วัน ส่งผลกระทบต่อการจัดหาทรัพยากรในระบบการดูแลรักษา (โรงพยาบาลสนาม บุคลากรทางการแพทย์ เตียง เวชภัณฑ์ ) ให้เพียงพอและทันท่วงที
จากการคาดการณ์ดังกล่าว จึงได้ปรับยุทธศาสตร์การควบคุมป้องกันโรคโควิด โดยใช้ยุทธวิธีการตรวจหาเชื้อให้เร็ว โดยใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ทราบผลเร็วไม่เกิน 20 นาที หากพบผลเป็นบวก จะได้รับการตรวจยืนยันด้วยวิธีตรวจ RT-PCR ทุกราย และถ้าผลยืนยันเป็นบวก จะเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา และต้องติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงตามระบบการสอบสวนโรคต่อไป หากผลการตรวจ ATK เป็นลบ และยังไม่ได้ฉีดวัคซีน จะได้รับการฉีดวัคซีนทันที โดยทีม CCR Team จะประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เภสัชกรรม และสหวิชาชีพครอบคลุมทุกอำเภอ ดำเนินการเชิงรุกในชุมชน
@@นราธิวาสอ่วมติดเชื้อ 431 - ป่วยดับ 4
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันพฤหัสบดีที่ 2 ก.ย.64 มีดังนี้
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 121 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 15,937 ราย รักษาหายแล้ว 11,738 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 245 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 143 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 154 ราย, โรงพยาบาลสนามเรือนจำ 12 ราย, โรงพยาบาลประจำอำเภอ 609 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 490 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 40 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 115 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 78 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน 1 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์โรงยิมบานา 75 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 169 ราย และ Home Isolation จำนวน 20 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 2,594 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 703 ราย, อ.หนองจิก 337 ราย, อ.โคกโพธิ์ 48 ราย, อ.ยะหริ่ง 267 ราย, อ.สายบุรี 261 ราย, อ.ไม้แก่น 8 ราย, อ.แม่ลาน 19 ราย, อ.ยะรัง 281 ราย, อ.ปะนาเระ 120 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 95 ราย, อ.มายอ 246 ราย และ อ.กะพ้อ 119 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 276 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 12,260 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 2,293 ราย รักษาหายแล้ว 9,845 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 122 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 305 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 4,607 ราย, อ.กรงปินัง 960 ราย, อ.เบตง 637 ราย, อ.รามัน 1,178 ราย, อ.บันนังสตา 2,358 ราย, อ.กาบัง 379 ราย, อ.ธารโต 947 ราย และ อ.ยะหา 1,194 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,293 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 170 ราย, โรงพยาบาลเบตง 72 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 402 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 97 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 712 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 24 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 92 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 131 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 57 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 18 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 117 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 22 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) จำนวน 58 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 8 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 313 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 431 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.เมือง 53 ราย, อ.ตากใบ 20 ราย, อ.ยี่งอ 28 ราย ,อ.จะแนะ 7 ราย, อ.แว้ง 80 ราย, อ.สุคิริน 18 ราย, อ.รือเสาะ 49ราย, อ.บาเจาะ 3 ราย, อ.ระแงะ 47 ราย, อ.ศรีสาคร 2 ราย อ.เจาะไอร้อง 1 ราย, อ.สุไหงปาดี 54 ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 69 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 14,257 ราย รักษาหายสะสม 11,346 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 165 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 2,935 ราย, อ.ระแงะ 1,715 ราย, อ.รือเสาะ 719 ราย, อ.บาเจาะ 1,022 ราย, อ.จะแนะ 733 ราย, อ.ยี่งอ 879 ราย, อ.ตากใบ 1,562 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 1,034 ราย, อ.สุไหงปาดี 956 ราย, อ.ศรีสาคร 565 ราย, อ.แว้ง 1,067 ราย, อ.สุคิริน 412 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 658 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 254 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 224 ราย, กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 30 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 20,802 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 20,779 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 3,240 ราย รักษาหายแล้ว 17,444 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 118 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 1,797 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 5,549 ราย, อ.เมืองสงขลา 3,056 ราย, อ.สิงหนคร 2,546 ราย, อ.จะนะ 2,098 ราย, อ.สะเดา 1,642 ราย, อ.เทพา 1,143 ราย, อ.สะบ้าย้อย 934 ราย, อ.รัตภูมิ 585 ราย, สทิงพระ 450 ราย, อ.บางกล่ำ 379 ราย, อ.นาหม่อม 320 ราย, อ.นาทวี 297 ราย, อ.ระโนด 229 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 132 ราย, ควนเนียง 127 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 18 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,103 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 171 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
@@ โรงพยาบาลชายแดนใต้ เตียงยังว่างเพียบ
ด้านรายงานข้อมูลเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูล ณ เวลา 15.30 น. ของวันที่ 2 ก.ย.64 มีข้อมูลดังนี้
จ.สงขลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 1,047 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 914 เตียง คงเหลือ 133 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 3,791 เตียง ใช้ไป 2,629 เตียง คงเหลือ 1,162 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:187
จ.ปัตตานี โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 1,545 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 988 เตียง คงเหลือ 557 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,970 เตียง ใช้ไป 795 เตียง คงเหลือ 2,175 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม อยู่ที่ 1:7
จ.ยะลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 791 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 644 เตียง คงเหลือ 147 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,088 เตียง ใช้ไป 736 เตียง คงเหลือ 352 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:105
จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 918 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 816 เตียง คงเหลือ 102 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 3,000 เตียง ใช้ไป 1,417 เตียง คงเหลือ 1,583 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:283