สั่งปิดห้างบิ๊กซีปัตตานี 14 วัน หลังมีพนักงานติดเชื้อ 68 ราย เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ขณะที่ติดเชื้อสะสมในจังหวัดใกล้แตะหมื่นราย ด้าน ศบค.นราธิวาสต่อล็อกดาวน์ เคอร์ฟิวไปถึง 31 ส.ค. พร้อมไฟเขียวตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มใน 3 อำเภอ
วันจันทร์ที่ 2 ส.ค.64 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ที่ยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นตำนวนมากว่า 300 ราย ต่อวัน รวมถึงยอดผู้เสียชีวิตสะสมมากถึง 120 กว่าราย
ล่าสุดทางนายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้มีหนังสือคำสั่งจังหวัดปัตตานีที่ (พิเศษ) 59/2564 เรื่อง ปิดบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซนเตอร์ จำกัด (มหาชน) สาขาปัตตานี เพื่อให้การป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เนื่องมาจากทางบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซนเตอร์ จำกัด (มหาชน) สาขาปัตตานี มีพนักงาน 376 คน พบว่า มีผู้ป่วยยืนยัน 68 คน คิดเป็นร้อยละ 18 ซึ่งเกินเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 10 ถือว่ามีการระบาดของโรคฯ ในระดับสูงและมีความเสี่ยงสูงต่อการระบาดเป็นวงกว้าง
ทำให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปัตตานี มีคำสั่งให้ปิดบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซนเตอร์ จำกัด (มหาชน) สาขาปัตตานี เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.64 - 16 ส.ค.64 และห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว เว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าพนักงาน และให้ทางบริษัทดำเนินการทำความสะอาดพร้อมพ่นยาฆ่าเชื้อโรคภายในบริเวณสถานที่ที่สั่งปิด
@@ศบค.นราธิวาสต่อล็อกดาวน์เคอร์ฟิวไปถึง 31 ส.ค. - ไฟเขียวตั้ง รพ.สนามเพิ่มใน 3 อำเภอ
ส่วนที่ห้องประชุมพระนราภิบาลชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานการประชุม ศบค.จังหวัดนราธิวาสและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนราธิวาส ครั้งที่ 76/2564 โดยมี คณะรองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ปลัดจังหวัดนราธิวาส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมฯ
ในที่ประชุมทางแต่ละอำเภอมีการขอจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม 3 แห่ง ในพื้นที่ อ.จะแนะ อ.สุคิริน อ.แว้ง รวมถึงศูนย์พักคอย(Community Isolation ) 8 แห่ง ในพื้นที่ อ.แว้ง ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนราธิวาสฯ เห็นชอบให้สามารถจัดตั้งโรงพยาบาลสนามได้และอนุญาตให้รถขนส่งสาธารณะสามารถเดินรถได้ ทั้งมีการขยายมาตรการล็อกดาวน์เคอร์ฟิว ตั้งแต่เวลา 21.00 - 04.00 น. ไปจนถึงวันที่ 31 ส.ค.64
ส่วนประเด็นการรับผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนาตามโครงการ “คนนราห่วงใย...เราไม่ทิ้งกัน” มีการประสานเดินทางกลับทั้งหมด 102 ราย กลับมาแล้ว 43 ราย ยังคงเหลือ 59 ราย ที่ยังเดินทางมาไม่ถึงจังหวัดนราธิวาส
@@คลัสเตอร์โรงงานยางไทยปักษ์ใต้ เข้าสู่ระบบสาธารณสุขแล้ว
นายอาชวิน ปุจฉากาญจน์ แรงงานจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า สถานการณ์คลัสเตอร์โรงงานของจังหวัดนราธิวาสที่เกิดขึ้นในบริษัทยางไทยปักษ์ใต้ จำกัด สาขานราธิวาส มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปดูแลเรียบร้อยแล้ว โดยมีการคัดแยกผู้ป่วยและทางโรงงานก็ปิดกิจการชั่วคราว เพื่อนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษา
สำหรับข้อมูลผู้ติดเชื้อในบริษัทยางไทยปักษ์ใต้ นราธิวาส มีประมาณ 40 กว่าราย จากจำนวนพนักงานทั้งหมด 216 คน โดยทราบว่าการติดเชื้อเริ่มมาจากฝ่ายผลิต เมื่อทางสาธารณสุขทราบข้อมูลก็ได้ทำการ Swab ทุกคนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการกักตัวผู้ที่มีความเสี่ยงและนำเข้าสู่กระบวนการรักษา ล่าสุดทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนราธิวาสได้ประสานหน่วยงานเข้าไปทำความสะอาดภายในโรงงานแล้ว ในส่วนของโรงงานที่ไม่ได้รับผลกระทบก็จะมีการเดินเครื่องการผลิตต่อไปเมื่อได้รับอนุญาต
นอกจากนี้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน จะมีการติดตามสถานประกอบการใน จ.นราธิวาส ที่มีจำนวนพนักงาน 50 คนขึ้นไป เพื่อสอบถามเรื่องการฉีดวัคซีนว่า สถานประกอบการที่มีความประสงค์จะฉีดวัคซีนขอให้แจ้งรายชื่อ เพื่อส่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อนัดหมายวันที่จะฉีดวัคซีนอีกครั้ง และขอให้สถานประกอบการให้ความร่วมมือ เพื่อลดผลกระทบการแพร่ระบาดในสังคมและครอบครัว
@@มอบเตียงสนามโรงพยาบาลสนามบันนังสตา 80 เตียง
ส่วนที่โรงพยาบาลบันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา นายอมร ชุมช่วย นายอำเภอบันนังสตา พร้อมด้วย พ.อ.ชาตินักรบ พรศิริรัตน์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 30 นายแพทย์วิกฤตนรากรณ์ คงแดง ผอ.โรงพยาบาลยะลา และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ได้เร่งนำเตียงสนามที่ได้รับการสนับสนุนจากชมรมพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พสบ) จำนวน 80 เตียง มาประกอบ เพื่อนำไปใช้งานในโรงพยาบาลสนาม (ภายในโรงเรียนบันนังสตาวิทยา) และโรงพยาบาลบันนังสตา
นายแพทย์วิกฤตนรากรณ์ คงแดง ผอ.โรงพยาบาลบันนังสตา เผยว่า ปัจจุบัน อ.บังนังสตา พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบผู้ติดเชื้อจำนวน 1,341 ราย เป็นอับดับสอง รองจากอำเภอเมืองยะลา ซึ่งโรงพยาบาลบันนังสตา มีเตียงทั้งสิ้น 135 เตียง ใช้ไปแล้ว 110 เตียง ซึ่งมีผู้ป่วยรายใหม่ที่ยังค้างอยู่อีก 46 ราย ส่วนที่โรงพยาบาลสนาม มีเตียงทั้งสิ้น 132 เตียง มีผู้ครองเตียงไปแล้ว 100 เตียง แม้จะยังมีเตียงที่ว่างอยู่ แต่ก็เป็นเตียงที่ใช้งานนานแล้ว บางส่วนก็เกิดการชำรุด จึงได้วางแผนที่จะขยายอีกประมาณ 100 เตียง โดยได้รับการสนับสนุน จากชมรมพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(พสบ) จำนวน 80 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน จึงเป็นประโยชน์ต่อการใช้งานในโรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลบันนังสตา
@@ตำรวจเบตงปลูกพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพรสู้ภัยโควิด-19
พ.ต.อ.เอกชัย พราหมณกุล ผกก.สภ.เบตง นำข้าราชการตำรวจสภ.เบตง ร่วมพัฒนาสร้างโรงเรือนปลูกพืชสมุนไพรตามโครงการ หนึ่งโรงพักหนึ่งสวนเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ร่วมกันปลูกผักสวนครัว และพืชสมุนไพร พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ ทุกครัวเรือน ร่วมขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง สร้างแหล่งอาหารและยารักษาโรค ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยลงมือปลูกผักสวนครัว และพืชสมุนไพร อย่างฟ้าทะลายโจร และกระชายขาว และขิง ลงในและปลูกในถุงดำ จำนวน 300 ถุง เมื่อออกผลผลิตจะได้นำมารับประทานในครัวเรือนแล้ว จะได้นำออกแจกจ่าย แบ่งปัน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับประชาชนทั่วไปผู้มาติดต่อราชการอีกด้วย
@@โรงพยาบาลนราฯ เตียงติดลบ 67 เตียง
ด้านรายงานข้อมูลเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูล ณ เวลา 15.30 น. ของวันที่ 2 ส.ค.64 มีข้อมูลดังนี้
จ.สงขลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 1,041 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 883 เตียง คงเหลือ 158 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 3,451 เตียง ใช้ไป 2,526 เตียง คงเหลือ 925 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:180
จ.ปัตตานี โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 933 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 708 เตียง คงเหลือ 228 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,715 เตียง ใช้ไป 1,329 เตียง คงเหลือ 386 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:12
จ.ยะลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 791 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 596 เตียง คงเหลือ 195 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,088 เตียง ใช้ไป 728 เตียง คงเหลือ 360 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:104
จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 593 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 660 เตียง คงเหลือ -67 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,680 เตียง ใช้ไป 748 เตียง คงเหลือ 932 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:150
@@ปัตตานีติดเชื้อโควิดสะสมใกล้แตะหมื่นราย
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันจันทร์ที่ 2 ส.ค.64 มีดังนี้
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 359 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 9,968 ราย รักษาหายแล้ว 6,621 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 127 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 170 ราย โรงพยาบาลสนามจังหวัด 647 ราย โรงพยาบาลสนามเรือนจำ 99 ราย โรงพยาบาลประจำอำเภอ 902 ราย โรงพยาบาลชุมชน 538 ราย โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 10 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 33 ราย สิโรรส-ปาร์ควิว Hospitel 147 ราย Home Isolation 126 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาแอดมิท 541 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) 7 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 3,424 ราย, อ.หนองจิก 1,255 ราย, อ.โคกโพธิ์ 508 ราย, อ.ยะหริ่ง 1,067 ราย, อ.สายบุรี 490 ราย, อ.ไม้แก่น 141 ราย, อ.แม่ลาน 207 ราย, อ.ยะรัง 1,092 ราย, อ.ปะนาเระ 486 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 216 ราย, อ.มายอ 861 ราย และ อ.กะพ้อ 123 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 177 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 7,461 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 2,082 ราย รักษาหายแล้ว 5,317 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 62 ราย อยู่ระหว่างรอผล 698 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 2,895 ราย, อ.กรงปินัง 636 ราย, อ.เบตง 398 ราย, อ.รามัน 646 ราย, อ.บันนังสตา 1,341 ราย, อ.กาบัง 244 ราย อ.ธารโต 637 ราย และ อ.ยะหา 664 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,082 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 171 ราย โรงพยาบาลเบตง 61 ราย รพช.6 แห่ง 363 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 24 ราย โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 718 ราย โรงพยาบาลสนามเบตง 10 ราย โรงพยาบาลสนามรามัน 2 แห่ง 221 ราย โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 120 ราย โรงพยาบาลสนาม อ.ยะหา 55 ราย ศูนย์อนามัยแม่และเด็ก 6 ราย Bubble & Seal 4 ราย รักษาตัวที่บ้าน 13 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 334 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยรายใหม่ 296 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.เมือง 15 ราย, อ.ตากใบ 7 ราย, อ.ยี่งอ 11 ราย, อ.จะแนะ 9 ราย, อ.แว้ง 15 ราย, อ.สุคิริน 17 ราย, อ.รือเสาะ 20 ราย, อ.บาเจาะ 7 ราย , อ.ระแงะ 91 ราย, อ.ศรีสาคร 10 ราย, อ.สุไหงปาดี 75 รายและ อ.สุไหงโก-ลก 19 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 6,673 ราย รักษาหายสะสม 4,903 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 71 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 1,514 ราย, อ.ระแงะ 796 ราย, อ.รือเสาะ 343 ราย, อ.บาเจาะ 456 ราย, อ.จะแนะ 376 ราย, อ.ยี่งอ 366 ราย, อ.ตากใบ 862 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 362 ราย, อ.สุไหงปาดี 376 ราย, อ.ศรีสาคร 300 ราย, อ.แว้ง 385 ราย, อ.สุคิริน 208 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 330 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 318 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 259 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 58 ราย และผู้ติดเชื้อจากโครงการคนสงขลาไม่ทิ้งกัน 1 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 12,662 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 12,639 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 3,133 ราย รักษาหายแล้ว 9,463 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 66 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 379 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 3,252 ราย, อ.เมืองสงขลา 2,051 ราย, อ.จะนะ 1,435 ราย, อ.สิงหนคร 1,157 ราย, อ.เทพา 782 ราย, อ.สะเดา 740 ราย, อ.สะบ้าย้อย 540 ราย, สทิงพระ 309 ราย, อ.บางกล่ำ 279 ราย, อ.รัตภูมิ 248 ราย, อ.นาทวี 209 ราย, อ.นาหม่อม 209 ราย, อ.ระโนด 91 ราย, ควนเนียง 77 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 62 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 12 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,101 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 85 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย