ศบค.ยะลา สั่งปิดเพิ่ม 6 หมู่บ้านใน 2 อำเภอเสี่ยงโควิด พร้อมประเมินผ่อนปรน 80 ร้านอาหารนั่งทานได้ ด้านเทศบาลนครยะลาเร่งตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุกคุมการระบาด ส่วน สสจ.นราฯ เตรียมแผนรับมือ หลังพบผู้ป่วยใหม่วันละ 100 ราย ขณะที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก เจอวิกฤติเตียงใกล้เต็ม
วันศุกร์ที่ 2 ก.ค.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลา มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงในทุกจังหวัด
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จ.ยะลา โดยนายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ในฐานะผู้กำกับการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จ.ยะลา เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขล่าสุดวันนี้ (2 ก.ค.64) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 201 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,190 ราย เสียชีวิตสะสม 15 ราย ขึ้นอันดับ 1 ของภาคใต้และระดับ 7 ของประเทศ
ทำให้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในเรื่องของการปิดพื้นที่เสี่ยงต่อการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด จำนวน 2 อำเภอ 6 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อ.เบตง 2 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านกาเป๊ะซาลัง หมู่ 3 ต.ธารน้ำทิพย์, บ้านอัยเอยร์ควีน หมู่ 8 ต.อัยเยอร์เวง ส่วน อ.รามัน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านจะรังตาดง หมู่ 2 ต.ท่าธง, บ้านมีดิง หมู่ 1 ต.เนินงาม, บ้านไม้แก่น หมู่ 2 ต.เนินงาม และบ้านจะกว๊ะ หมู่ 1 ต.จะกว๊ะ
@@ 80 ร้านยะลาผ่านประเมิน ไฟเขียว "นั่งทานในร้าน"
ส่วนศูนย์ปฏิบัติการอำเภอเมืองยะลา นายธราวุธ ช่วยเกิด นายอำเภอเมืองยะลา ได้มอบหมายให้ นายพิสาน บุญแก้ว ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบกิจการร้านค้า ร้านอาหาร ผู้ประกอบการ ธุรกิจโรงแรมในพื้นที่ อ.เมืองยะลา พร้อมเจ้าหน้าที่ร่วมลงพื้นที่ตรวจประเมินร้านค้าตามมาตรการผ่อนปรน ศบค.จังหวัดยะลา อนุญาตให้ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เปิดนั่งทานในร้านได้ ต้องผ่านการประเมินความพร้อมในมาตรการ
นายพิสาน บุญแก้ว ปลัดอำเภอเมืองยะลา กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการที่มายื่นขอ เพื่อเปิดให้นั่งกินในร้าน ขณะนี้มีจำนวนกว่า 250 ราย ที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ได้ลงตรวจประเมินร้านค้าไปแล้วกว่า 80 ราย ซึ่งผลการประเมินทุกรายได้ปฏิบัติตามมาตรการที่ตกลงไว้อย่างเคร่งครัด จึงมีมติร่วมกัน อนุญาตเปิดได้นั่งทานในร้านได้ แต่ยังคงมาตรการที่ต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างของโต๊ะ, การนั่งของลูกค้า, จุดยืน จุดคัดกรอง รวมถึงการสวมใส่หน้ากากอนามัยของพนักงานที่ให้บริการ ซึ่งต้องสวมตลอดเวลาในการให้บริการ อย่างไรก็ตาม จะเร่งดำเนินการให้กับผู้ประกอบการที่ยื่นคำขอมาแล้วให้เร็วที่สุด เพราะเข้าใจดีว่าผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ
@@เทศบาลนครยะลา เร่งตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุกคุมการระบาด
ด้านเทศบาลนครยะลาได้นำอุปกรณ์ชุดตรวจโควิด เร่งตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุก Active Case Finding กลุ่มเสี่ยงในชุมชนตลาดเก่า เขตเทศบาลนครยะลา หลังพบผู้ป่วยในพื้นที่ชุมชนตลาดเก่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อควบคุมการระบาด
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา กล่าวว่า เทศบาลนครยะลา จำเป็นต้องเร่งรีบตรวจผู้เสี่ยงให้ครอบคลุมอย่างรวดเร็ว เพื่อแยกคนมีเชื้อกับคนไม่มีเชื้อ ลดโอกาสในการระบาดและควบคุมให้เร็วที่สุด โดยชุดอุปกรณ์ของเทศบาลชุดนี้เป็นชุดตรวจแบบเร็ว (Rapid Test) ที่มีอุปกรณ์การตรวจเบ็ดเสร็จอยู่ในตู้นี้ โดยจะทราบผลการตรวจที่รวดเร็ว ถ้าหากพบว่ามีผลเป็นบวก Positive ก็จะเร่งนำตัวไปตรวจแบบ PCR เพื่อตรวจยืนยันต่อได้ทันที และสามารถส่งตัวผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาต่อไป รวมทั้งป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อต่อผู้อื่นในวงกว้าง โดยสามารถรองรับการตรวจเชื้อให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงเดินทางมาตรวจเชิงรุกวันละประมาณ 200 ราย
@@ สสจ.นราฯ เตรียมแผนรับมือ หลังพบผู้ป่วยใหม่วันละ 100 ราย
นายแพทย์วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า นราธิวาสมีการเตรียมแผนรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่า จะมีผู้ป่วยรายใหม่วันละประมาณ 100 ราย ซึ่งเป็นการแพร่กระจายลักษณะการติดเชื้อในครอบครัวและที่ทำงาน ทำให้ต้องใช้เตียง ประมาณ 1,400 เตียง โดยได้เตรียมการณ์ไว้ 1,500 เตียง รวมถึงยังมีโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 6 ที่กำลังจะเปิดมีเตียงรอรับ 150 เตียง
โดยจะแบ่งระดับผู้ป่วยเป็น 3 ระดับ ระดับแรก อาการไม่มาก ไม่มีปัจจัยเสี่ยง จะรับเข้าโรงพยาบาลสนามฯ ซึ่งเตรียมไว้ประมาณ 1,000 เตียง ระดับ 2 ผู้ป่วยอาการเล็กน้อย มีความเสี่ยง จะรับเข้าโรงพยาบาลชุมชนฯ มีประมาณ 220 เตียง ส่วนระดับ 3 ผู้ป่วยอาการหนัก เช่น สายเครื่องท่อหายใจ จะส่งตัวเข้าโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ซึ่งมีประมาณ 150 เตียง โดยคาดการณ์ว่า อาจต้องเตรียมเพิ่มเตียงในโรงพยาบาลสนามฯจำนวน 200 - 300 เตียง
@@ รพ.สุไหงโก-ลก วิกฤติเตียงรับผู้ป่วยโควิดใกล้เต็ม
นายแพทย์บรรยง เหล่าเจริญสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก กล่าวว่า โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก มีเตียงรองรับผู้ป่วยทั้งหมด 212 เตียง ปัจจุบันมีการเตรียมเตียงรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และที่เป็นกลุ่มเข้าข่ายผู้ป่วยสงสัย PUI และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่เข้ากักตัวดูอาการ จำนวน 90 เตียง โดยเป็นห้องความดันลบ จำนวน 1 ห้องสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง ห้องพักสำหรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการในระบบทางเดินหายใจ หรือเชื้อลงปอด จำนวน 17 เตียง ส่วนอีก 72 เตียง จะเป็นผู้ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ต้องกักตัวรอผลตรวจและสังเกตอาการ ซึ่งล่าสุดเตียงสำหรับรองรับบุคคลที่เข้าข่ายเกี่ยวข้องกับโควิด-19 เกือบเต็มแล้ว
สำหรับบุคลากรของโรงพยาบาลมีจำนวนจำกัด หากต้องถูกกักตัวจากการปกปิดข้อมูลของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จะส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ป่วยในโรงพยาบาลและผู้ที่จะเข้าทำการรักษาที่โรงพยาบาล ดังนั้นกรณีผู้ที่มีอาการคล้ายติดเชื้อโควิด-19 หรือมีประวัติเดินทางไปในพื้นที่พบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือมีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขอให้แจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาห้ามปกปิดข้อมูลอย่างเด็ดขาด
@@ ป่วยโควิดยะลาพุ่งกว่า 200 ราย สงขลาสะสมใกล้แตะ 6 พัน
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันศุกร์ที่ 2 ก.ค.64 มีดังนี้
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 201 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 2,190 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 1,407 ราย รักษาหายแล้ว 768 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 15 ราย อยู่ระหว่างรอผล 4,139 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 1,407 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 152 ราย โรงพยาบาลเบตง 119 ราย โรงพยาบาลบันนังสตา 79 ราย โรงพยาบาลธารโต 6 ราย โรงพยาบาลรามัน 56 ราย โรงพยาบาลยะหา 74 ราย โรงพยาบาลกาบัง 2 ราย โรงพยาบาลกรงปินัง 28 ราย โรงพยาบาลสนามยะลา 432 ราย โรงพยาบาลสนามเบตง 49 ราย รพ.สนามชั่วคราว 195 รายและรอเข้าโรงพยาบาล 215 ราย ส่วนจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 882 ราย, อ.กรงปินัง 253 ราย, อ.เบตง 239 ราย, อ.รามัน 122 ราย, อ.บันนังสตา 300 ราย, อ.กาบัง 83 ราย อ.ธารโต 164 ราย และ อ.ยะหา 147 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยรายใหม่ 124 ราย ในพื้นที่ อ.ยี่งอ 15 ราย อ.บาเจาะ 19 ราย อ.สุไหงปาดี 4 ราย อ.เมือง 50 ราย อ.ตากใบ 4 ราย อ.ระแงะ 8 ราย อ.ศรีสาคร 7 ราย อ.เจาะไอร้อง 2 ราย อ.สุไหงโก-ลก 3 ราย อ.รือเสาะ 7 ราย และ อ.แว้ง 5 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 2,335 ราย รักษาหายสะสม 1,557 ราย มีผู้เสียชีวิตรายใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสีชีวิตสะสม 9 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 717 ราย, อ.ระแงะ 151 ราย, อ.รือเสาะ 110 ราย, อ.บาเจาะ 236 ราย, อ.จะแนะ 161 ราย, อ.ยี่งอ 86 ราย, อ.ตากใบ 459 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 48 ราย, อ.สุไหงปาดี 96 ราย, อ.ศรีสาคร 104 ราย, อ.แว้ง 60 ราย, อ.สุคิริน 39 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 67 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 130 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2,723 ราย รักษาหายแล้ว 1,298 ราย ทำให้ผู้เสียชีวิตสะสม 14 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 129 ราย โรงพยาบาลสนาม 718 ราย โรงพยาบาลประจำอำเภอ 334 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 41 ราย สิโรรส-ปาร์ควิว Hospitel 90 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาแอดมิท 90 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) 9 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 924 ราย, อ.หนองจิก 401 ราย, อ.โคกโพธิ์ 123 ราย, อ.ยะหริ่ง 358 ราย, อ.สายบุรี 131 ราย, อ.ไม้แก่น 86 ราย, อ.แม่ลาน 51 ราย, อ.ยะรัง 206 ราย, อ.ปะนาเระ 95 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 66 ราย, อ.มายอ 183 ราย และอ.กะพ้อ 77 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 167 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่ 167ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 60 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 5,902 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 5,879 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,439 ราย รักษาหายแล้ว 3,441 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย เป็นชายวัย 61 ปี ชาว อ.เทพา เป็นโรคเบาหวาน ความดันสูง และโรคไต ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 22 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยัน 1,022 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 1,545 ราย, อ.เมืองสงขลา 977 ราย, อ.จะนะ 602 ราย, อ.เทพา 392 ราย, อ.สะเดา 309 ราย, อ.สิงหนคร 241 ราย, สทิงพระ 217 ราย, อ.บางกล่ำ 151 ราย, อ.สะบ้าย้อย 103 ราย, อ.นาทวี 75 ราย, อ.รัตภูมิ 57 ราย, อ.ระโนด 56 ราย, อ.นาหม่อม 60 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 26 ราย, อ.ควนเนียง 23 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 11 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 998 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 36 รายและจากต่างประเทศ 23 ราย