เหตุการณ์ สจ. ลูก สส.คนดัง ส่งซิกให้ลูกน้องรุมตื้บ ตชด.ที่ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในหน่วยเลือกตั้ง กำลังกลายเป็น “ความกร่าง” ที่ถูกขุดหาเบื้องหลัง
โดยเฉพาะในบริบทของ “คนการเมืองสีเทา” ที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายครอบคลุมแทบทั้งจังหวัด ทั้งคนการเมืองท้องถิ่น ไปจนถึงนักการเมืองระดับชาติ
เครือข่ายที่เกี่ยวพันกันด้วยผลประโยชน์ทางการเงินและการเมืองนี้ “เหนียวแน่น และแข็งแกร่ง” จริงๆ ที่สำคัญ ทุกครั้งที่พลาดถูกจับ หรือมีเรื่องอื้อฉาว สุดท้ายกระบวนการยุติธรรมแทบจะเอาผิดอะไรไม่ได้เลย
เรื่องราวที่เราเล่าให้ฟังนี้ ไม่ได้เจาะจงว่าอยู่จังหวัดใด ภาคใด เอาเป็นว่าเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยก็แล้วกัน
นี่คือภาพเครือข่าย “คนการเมืองรุ่นใหม่” ของจังหวัดหนึ่งในเมืองไทย โดยคนกลุ่มนี้ไปถ่ายภาพอยู่ด้วยกัน ณ สถานที่ท่องเที่ยวยามค่ำคืนแห่งหนึ่ง
ความน่าสนใจของภาพนี้ก็คือ เป็น “คนรุ่นใหม่” ที่เกี่ยวพันกับการเมือง และที่สำคัญเกี่ยวพันกับธุรกิจผิดกฎหมายแทบทั้งสิ้น
- คนแรก เป็นลูกชายนักการเมืองระดับ สส. ของพรรคการเมืองเคยใหญ่ เคยถูกจับเพราะพัวพันคดียาเสพติดและการพนัน โดนยึดทรัพย์ตามกฎหมายฟอกเงินหลักร้อยล้าน
- คนที่ 2 ลูกชายนักการเมืองระดับ สส.ของพรรคการเมืองเคยใหญ่เช่นกัน คนนี้เป็นนักการเมืองท้องถิ่นอยู่ด้วย เคยถูกกล่าวหาเกี่ยวโยงกับคนแรก แต่หลักฐานสาวไปไม่ถึง ตอนหลังมาโดนคดีเพราะความกร่าง
- คนที่ 3 ลูกชายนักการเมืองท้องถิ่นระดับ “นายกเล็ก” สังกัดพรรคใหญ่ที่กำลังมาแรง และตัวเองก็เป็นนักการเมืองท้องถิ่น ประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งเพราะมีเงิน “แจกไม่อั้น” เนื่องจากทำธุรกิจสีเทา
จังหวัดที่ว่านี้มี “คนการเมืองสีเทา” แทบจะเดินชนกัน
- 3 ปีก่อน ลูกชายนักการเมืองระดับ สส. พรรคเคยใหญ่ ถูกจับและอายัดทรัพย์หลักร้อยล้าน เพราะพัวพันคดียาเสพติดและฟอกเงินพนัน ช่วงแรกถูกคุมขังในเรือนจำ แต่ไม่นานก็ได้อิสรภาพ เพราะอัยการสั่งไม่ฟ้องแบบค้านสายตา ปัจจุบันอัยการจังหวัดที่ว่านี้ถูกย้ายด่วน และถูกสอบสวน
- คนที่สอง “สจ.” ลูกชาย สส.พรรคเคยใหญ่ ตัวพ่อกับแม่เลี้ยงมีบริษัทรับเหมา ชนะประมูลโครงการรัฐนับไม่ถ้วน มูลค่ารวมหลายพันล้าน ทำให้ตัวลูกชาย มีลูกน้องมากมาย ล้วนพัวพันคดีเว็บพนันและยาเสพติด แม้ลูกน้องจะเคยถูกจับ แต่แปลกที่หลุดในชั้นตำรวจบ้าง อัยการบ้าง ศาลบ้าง ทั้งหมด
ประวัติของลูกชายไม่ค่อยโสภานัก เรียนไม่จบ ต้องส่งไปชุบตัวถึงปีนัง แต่ก็ไปมีเรื่องมีราวจนอนาคตพัง สุดท้ายกลับบ้าน เป็นนักการเมืองดีกว่า
- คนที่สาม “นาย อ.” ลูกชายนักการเมืองท้องถิ่นดนดัง จากพรรคการเมืองใหญ่ในรัฐบาล ชาวบ้านรู้กันดีว่าเป็นหัวโจกขบวนการ “เงินเทา” เพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นนักการเมืองท้องถิ่น โดยมาแบบ “ทุ่มไมอั้น” ขณะที่ผู้เป็นพ่อ เพิ่งพลาดเก้าอี้ผู้บริหารท้องถิ่นระดับจังหวัด เพราะแพ้ในสนามหย่อนบัตรลงคะแนน
- เรื่องเทาๆ ของจังหวัดนี้ไม่มีแผ่ว ยังมีระดับ สส. ชื่อย่อ “ก.” เคยทำทีมฟุตบอลด้วย
ก่อนจะเป็น สส. “นาย ก.” เคยถูกจับคาสนามบิน เพราะตำรวจมีหลักฐานพัวพันเว็บพนันออนไลน์ แต่เจ้าตัวให้การภาคเสธ อ้างเคยทำ แต่ถอยห่างออกมาแล้ว พอข่าวเงียบ อัยการสั่งไม่ฟ้อง ในที่สุดก็มาชุบตัวและได้รับการเลือกตั้งเป็น สส.ในที่สุด
เจ้าตัวก็อ้างว่า เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะฉะนั้น “ผมคือผู้บริสุทธิ์” ซึ่งก็ไม่ผิด วันนี้เจ้าตัวยังเป็น สส.ของพรรคการเมืองขนาดกลางกำลังมาแรงพรรคหนึ่ง ซึ่งแกนนำพรรคเป็น “คนโต” ที่ทุกคนเกรงใจ
น่าสังเกตว่า ทั้ง 4 คน จัดเป็น “คนรุ่นใหม่” อายุอานามไม่มากนัก ถือเป็น “นักการเมืองเลือดใหม่” แต่เป็น “สายบ้านใหญ่” และล้วนพัวพันธุรกิจสีเทา แต่ก็เข้าสู่แวดวงการเมือง แถมรู้จักกัน เป็นเครือข่ายเดียวกัน กินเที่ยวด้วยกัน สยายปีกคุมทั้งจังหวัด
ที่น่าตกใจก็คือ จังหวัดที่ว่านี้ สส.หัวขบวนใหญ่ของจังหวัด มีดีกรีรัฐมนตรี ซึ่งเจ้าตัวก็ถูกกล่าวหาเรื่องจริยธรรม เพราะเคยถูกแฉภาพความสนิทสนมกับอาชญากรข้ามชาติ เจ้าพ่อพนันออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน มีหมายจับจากอินเตอร์โพล หรือตำรวจสากล
ขณะที่ตัว สส. ซึ่งมีดีกรีถึงรัฐมนตรี ก็ยังมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับธุรกิจสีเทาอยู่เป็นประจำ แถมคนในครอบครัวยังมีคดีบุกรุกสถานที่อันเป็นสมบัติของชาติ โดนศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วว่ามีความผิด แต่ก็ยังส่งลูก (มีศักดิ์เป็นหลาน สส.หัวขบวนใหญ่) ลงสนามเลือกตั้งท้องถิ่น แถมชนะอีกต่างหาก
@@ สร้างเครือข่ายการเมือง ฮั้วประมูลงาน - ฟอกเงิน!
มีประเด็นที่น่าขุดค้นว่า เหตุใดกลุ่มคนที่ได้เงินมหาศาลจากธุรกิจสีเทา โดยเฉพาะพนันออนไลน์ จึงเบนเข็มเข้าสู่ “เส้นทางการเมือง”
มีทั้งเล่นเอง และสนับสนุนให้คนอื่นเล่น เป็นเครือข่าย แถมร่วมแจมทุกระดับ ตั้งแต่ อบต. เทศบาล อบจ. ไปจนถึง สส.
โดยเจ้าพ่อพนันออนไลน์ หรือหัวเรือใหญ่ธุรกิจสีเทา จะใช้วิธี “ทุ่มไม่อั้น” เพราะเงินได้มาง่าย เป้าหมายก็เพื่อให้คนของตนเองเข้าไปนั่งในองค์กรปกครองท้องถิ่นทุกระดับ รวมถึงในสภาระดับชาติ
เจตนาก็เพื่อเข้าไปดึงงานโครงการก่อสร้างต่างๆ มาทำด้วยวิธีฮั้วประมูล ก็จะได้งบรัฐมาฟันกำไรต่อ และฟอกเงินเทา เงินดำ เป็นเงินสะอาดไปในตัว
ยิ่งได้งานมาก ก็ยิ่งสร้างรายจ่ายเท็จได้มาก ฟอกเงินได้มากตามไปด้วย
นี่คือสาเหตุเชิงประจักษ์ที่ทำให้เครือข่ายธุรกิจผิดกฎหมาย พาเหรดเล่นการเมือง โดยเฉพาะระดับท้องถิ่น เพราะทุจริตง่าย ยิ่งเป็นเบอร์ใหญ่ มีอิทธิพลในจังหวัด ย่อมไม่มีใครกล้าหือ
@@ แฉ “คนการเมืองนับร้อย” พัวพันธุรกิจสีเทา
“ทีมข่าวอิศรา” ได้ข้อมูลน่าตกใจจาก “เจ้าหน้าที่หน่วยไซเบอร์” ที่ทำงานด้านปราบปราม “เว็บพนันออนไลน์” และ “คอลเซ็นเตอร์” โดยเฉพาะในมิติของความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันระหว่าง “คนการเมือง” กับ “ธุรกิจสีเทา”
- นักการเมืองไทยมีส่วนรู้เห็นกับ “ธุรกิจสีเทา” เป็นส่วนใหญ่ หากคิดสัดส่วนอาจจะหลักร้อยคน ทั้งเกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม
- แต่หลักฐานสาวไปไม่ถึง เหมือนผี “รู้ว่ามี แต่ไม่เคยเห็น”
- เคยมีข่าวเกี่ยวกับนักการเมืองหรือเครือข่ายเกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ แต่เมื่อดำเนินคดีจริงๆ มักมีข้อจำกัด สาวไม่ถึงตัวการใหญ่ เพราะมีอำนาจพิเศษเข้ามาแทรกแซงคดี
- สาเหตุที่มี “คนการเมือง” เกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทา โดยเฉพาะพนันออนไลน์ที่มากขึ้นเยอะในระยะหลัง เพราะการเป็น “นักการเมือง” คือช่องทางลัดที่ทำให้สังคมยอมรับง่ายที่สุด
- เป็นธรรมดาของคน เมื่อมี “ปัจจัยสี่” ครบแล้ว ย่อมต้องการการยอมรับจากสังคม
- ระยะหลังประเทศไทยมีเศรษฐีใหม่ คือ ทำธุรกิจสีเทาแล้วร่ำรวยเยอะมาก โดยเฉพาะพนันออนไลน์หรือเปิดบ่อน เพราะเป็นธุรกิจที่มีช่องโหว่กฎหมาย สาวถึงตัวยาก เมื่อรวยแล้วก็วิ่งหาอำนาจ เพื่อปกป้องตัวเอง และฟอกขาวตัวเอง
@@ 4 ทฤษฎีชี้พลวัต “นักการเมืองหุ้นส่วนนักธุรกิจเทา”
ในทางอาชญาวิทยา มีความเชื่อมโยงระหว่าง “นักการเมือง” กับ “ธุรกิจสีเทา” อธิบายตามทฤษฎีได้ 4 ข้อ คือ
1. ทฤษฎีผลประโยชน์ส่วนตน
- ทฤษฎีนี้เชื่อว่าบุคคลจะตัดสินใจโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก
- พนันออนไลน์ เป็นช่องทางที่ให้ผลตอบแทนสูง รวดเร็ว และยากต่อการตรวจสอบ โดยเฉพาะหากควบคุมผ่าน proxy หรือเครือข่ายใต้ดิน
- นักการเมืองบางกลุ่มจึงใช้อำนาจรัฐในการคุ้มครองธุรกิจเถื่อน
2. ทฤษฎีรัฐมาเฟีย
- บางประเทศไม่มีกลไกควบคุมอาชญากรรม หรือกลไกรัฐกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมเสียเอง
- เกิดภาวะ “รัฐอ่อนแอ” นักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงมีอำนาจเกินควบคุม สามารถเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมได้ ทำให้ธุรกิจผิดกฎหมายอยู่ได้สบาย
- สุดท้ายนักการเมือง กับนักธุรกิจสีเทา กลายเป็นหุ้นส่วนกัน
3.ทฤษฎีการครอบงำทรัพยากรของรัฐ
- ธุรกิจสีเทามีแนวโน้มพยายามสร้างอิทธิพลในหน่วยงานรัฐ เช่น เสนอสินบนหรือสนับสนุนนักการเมือง
- เมื่อนักการเมืองได้อำนาจแล้ว ก็ตอบแทนโดยการเอื้อประโยชน์ทางนโยบายให้กับธุรกิจสีเทา เช่น ละเว้นการบังคับใช้กฎหมาย
- บางกรณีนักการเมืองก็เข้าไปทำธุรกิจสีเทาเอง หรือทำผ่านนอมินี
4. ช่องว่างในระบบเศรษฐกิจและกฎหมาย
- ธุรกิจพนันออนไลน์ทำเงินหมุนเวียนหลายหมื่นล้านบาทต่อปี
- กฎหมายเมืองไทยยังล้าหลัง โดยเฉพาะในพื้นที่ออนไลน์
- นักการเมืองที่เข้าใจระบบหรือมีอำนาจ จึงอาศัยช่องโหว่กฎหมายเพื่อดำเนินธุรกิจโดยไม่ถูกตรวจสอบ
-------------------------
หมายเหตุ : ภาพกราฟฟิกจากรายการข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี