กรณี ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม หรือ “เจ๊นุช” ทำร้ายอดีตทหารหญิงรับใช้ในบ้าน กำลังเป็นข่าวดังและได้รับความสนใจจากสังคม มีคลิปแฉพฤติกรรมความรุนแรง และชะตากรรมของอดีตทหารหญิง จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
นอกเหนือจากประเด็นดราม่าเรื่องการทำร้าย และข้อมูลที่ว่า ส.ต.ท.หญิง รายนี้เป็นภรรยาของสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.รายหนึ่งแล้ว ยังมีข้อมูลเส้นทางการรับราชการของ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ที่กำลังถูกตรวจสอบเชิงลึกอยู่เช่นกัน
เพราะเจ้าตัวสังกัดกองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 กองบัญชาการตำรวจสันติบาล แต่กลับมีชื่อไปปฏิบัติหน้าที่ช่วยราชการอยู่ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า ส.ต.ท.หญิง รายนี้ลงไปทำงานจริงหรือไม่ ถ้าจริง ได้ไปทำหน้าที่อะไร
สาเหตุของความสงสัย เนื่องจากต้นสังกัดที่กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ผู้บังคับบัญชาก็ยังยอมรับกับสื่อมวลชนว่า ไม่ทราบมาก่อนว่ามีชื่อ ส.ต.ท.หญิง รายนี้อยู่ในหน่วย
@@ ยอมรับช่วยราชการ กอ.รมน.ใต้ - “ตอนนี้เขาพักอยู่”
ในประเด็นที่เกี่ยวกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพน้อยที่ 4 และรอง ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เคยให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า จากการตรวจสอบรายชื่อพบว่า “ส.ต.ท.หญิง” ช่วยราชการอยู่ใน กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้าจริง ซึ่งพฤติกรรมการทำร้ายอดีตทหารหญิง สร้างความเสื่อมเสียให้กับหน่วย จึงสั่งตั้งกรรมการสอบสวน หากเป็นเรื่องจริงก็ให้พ้นหน้าที่ ส่งตัวกลับต้นสังกัด สำหรับการลงทัณฑ์ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยต้นสังกัด
ส่วน ส.ต.ท.หญิง ปกติไปทำงานอยู่ที่ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า หรือแค่นำชื่อไปใส่ไว้เท่านั้น พล.ต.ปราโมทย์ ตอบประเด็นนี้ว่า “ต้องมาทำงาน เพราะบรรจุ แต่รู้สึกว่าช่วงนี้เขาพักอยู่”
@@ สั่งพ้นหน้าที่ - ไม่ต้องเรียกสอบ - โยนกลับต้นสังกัด
ต่อมา พล.ต.ปราโมทย์ ได้ให้สัมภาษณ์เรื่อง ส.ต.ท.หญิงอีกครั้งว่า แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตำรวจหญิงที่ทำร้ายร่างกายอดีตทหารหญิง แต่ไม่จำเป็นต้องเรียกเจ้าตัวมาสอบ สามารถยึดจากข้อมูลหลักฐานที่ผู้เสียหายเข้าแจ้งความได้เลย
โดยขณะนี้สำนักงานข่าวกรอง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ร่างหนังสือคำสั่งให้ "พ้นจากหน้าที่ช่วยราชการ" เสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะให้รองแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ดูแลงานด้านกำลังพล ลงนาม ซึ่งจะส่งผลให้ตำรวจหญิงรายนี้ต้องกลับไปปฏิบัติหน้าที่ที่สังกัดเดิม คือ "สันติบาล" ส่วนจะมีการสอบสวนลงโทษอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับต้นสังกัด
เป็นที่น่าสังเกตว่า การสั่งตั้งกรรมการสอบสวน แต่ไม่เรียกตัวมาสอบ ทำให้ไม่มีใครทราบว่า ส.ต.ท.หญิง เคยลงพื้นที่ทำงานใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจริงหรือไม่ ตำแหน่งอะไร การสั่งพ้นจากหน้าที่ช่วยราชการ แล้วส่งเรื่องกลับต้นสังกัด คือ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ทำให้เรื่องนี้คล้ายถูกตัดตอนจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
@@ ไขปริศนาเป็นตำรวจ แต่ช่วยราชการ กอ.รมน.
ทั้งนี้มีข้อมูลอีกว่า “ส.ต.ท.หญิง” ได้บรรจุเข้ารับราชการตำรวจในตำแหน่งผู้บังคับหมู่ สังกัดกองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล เมื่อปี 2560 จากนั้นย้ายมาสังกัดกองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 ก่อนจะมีการขอตัวไปช่วยราชการที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
คำถามเกิดขึ้นในวันนี้ว่า ตำรวจหญิงชั้นนายสิบ ผู้ต้องหาคดีทำร้ายอดีตทหารหญิงรับใช้ เหตุใดจึงต้องมีชื่อไปช่วยราชการที่กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าด้วย หญิงคนนี้เป็นตำรวจ เหตุใดจึงไปอยู่ที่ กอ.รมน.ได้ แล้วการช่วยราชการใน กอ.รมน. ทำให้ได้ผลประโยชน์อย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมคาใจ
ในเรื่องนี้ทีมข่าวได้ทำการสรุปรายละเอียดและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของข้าราชการต่างสังกัดที่ไปปฏิบัติหน้าที่ช่วยราชการในสังกัดของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ดังนี้
1.อัตรากำลังใน กอ.รมน. ไม่ได้จำกัดเฉพาะทหาร แต่รวมถึง ฝ่ายตำรวจ และ ฝ่ายพลเรือน หรือฝ่ายปกครองด้วย พูดง่ายๆ คือ ข้าราชการทุกสีไปอยู่ในโครงสร้าง กอ.รมน.ได้
2.การไปช่วยราชการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งถือเป็นการ “ปฏิบัติราชการสนาม” ในพื้นที่ที่มีภัยความมั่นคงอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะมีเบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัย และสิทธิพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติมจากเงินเดือนที่ได้รับปกติทุกเดือนอยู่แล้ว
@@ เงินพิเศษเพิ่มเดือนละเฉียดหมื่นบาท
จากการเทียบเคียงข้อมูลรายได้ของข้าราชการตำรวจยศ “สิบตำรวจตรี” ซึ่งมีตำแหน่งหลักอยู่ในพื้นที่ “ภาคใต้ตอนบน” แต่ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พบว่า จะได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 11,000 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 3,000 บาท รวมเป็น 14,000 บาท เงินส่วนนี้หน่วยต้นสังกัดจ่ายและยังได้เงินเพิ่มในการมาปฏิบัติหน้าที่ช่วยราชการ เป็นเงินเบี้ยเลี้ยง 6,700 บาท และเบี้ยเสี่ยงภัย 2,500 บาท รวมเป็น 9,200 บาท
นอกจากนั้น กำลังพลที่ลงใต้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สามจังหวัดชายแดน ยังมีโอกาสได้วันทวีคูณ (รับราชการ 1 ปี คิดเป็นอายุราชการ 2 ปี ซึ่งจะส่งผลต่อการคำนวณบำเหน็จบำนาญได้เพิ่มขึ้น) แต่แหล่งข่าวซึ่งเป็นตำรวจชั้นประทวนรุ่นหลังๆ บรรจุได้ไม่นาน บอกว่า ปัจจุบันฝ่ายตำรวจไม่ได้รับแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่า ไม่ได้รับเฉพาะชั้นประทวนหรือไม่
แต่สิ่งที่ได้รับแน่ๆ คือคุณสมบัติในการพิจารณาปรับย้าย ปรับตำแหน่ง เพราะการผ่านราชการสนามสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้สิทธิพิเศษในการพิจารณาก่อน ส่วนเงิน พสร. หรือ “เงินเพิ่มสู้รบ” ตำรวจชั้นผู้น้อยนายนี้ยืนยันว่า ไม่ได้รับ
@@ ชำแหละ 4 กลุ่ม จนท.ลงใต้ “รักชาติด้วยใจ vs รักชาติปากมัน”
เป็นที่ทราบกันดี และมีข่าวโจษขานกันมายาวนานว่า เจ้าหน้าที่สีต่างๆ ที่ลงไปปฏิบัติราชการสนามในกรอบอัตรากำลังของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หรืออยู่กับหน่วยต้นสังกัด แต่ถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสนั้น แบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
กลุ่มแรก - อยากไปทำงานในพื้นที่จริงๆ เพราะรักชาติ อยากปกป้องแผ่นดิน ทำงานเพื่อบ้านเมือง กลุ่มนี้จะอาสาลงไปในพื้นที่ และทำงานอย่างเต็มที่ด้วยความเต็มใจ
กลุ่มที่ 2 - อยากไปทำงานในพื้นที่จริงๆ เพราะได้เงินเพิ่ม ทั้งเบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัย และโอกาสก้าวหน้าในชีวิตราชการ
กลุ่มที่ 3 - มีชื่อถูกส่งลงไป แต่ตัวไม่ไป เพราะหวาดกลัวอันตราย หรือไม่ไปด้วยเหตุผลอื่นๆ ถ้าอยู่ในหน่วยที่สามารถเจรจากับผู้มีอำนาจในหน่วยนั้นๆ ได้ ก็จะส่งไปแต่ชื่อ แต่จะไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัย และสิทธิประโยชน์อื่นๆ โดยส่วนนั้นหักให้ “นาย” หรือ “ผู้มีอำนาจในหน่วย” เจ้าตัวจะได้เฉพาะเงินเดือน ซึ่งโอนเข้าบัญชีอยู่แล้ว ขณะที่ตัวของกำลังพลคนนั้น จะไปทำอะไรที่ไหนก็ได้ กรณีของตำรวจหญิงที่ก่อเหตุทำร้ายทหารหญิงรับใช้ ถ้าไม่ได้ลงไปปฏิบัติงานจริง ก็น่าจะอยู่ในกลุ่มนี้
กลุ่มที่ 3 นี้ยังมีพวกที่จ้างคนอื่นลงไปปฏิบัติหน้าที่แทน โดยยกค่าตอบแทนทั้งเบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัยให้ หรือไม่ก็มีการขายสิทธิ์ให้เจ้าหน้าที่คนอื่นไปแทน (คือไม่ไป ยังแถมได้เงิน เพราะคนที่ไปหวังได้สิทธิประโยชน์มากกว่า) กลุ่มที่มีพฤติกรรมแบบนี้ มีข่าวว่าทางหน่วยงานต้นสังกัดพยายามจัดการ ลงโทษ เพื่อไม่ให้มีการหาประโยชน์จากการลงไปปฏิบัติราชการสนาม
กลุ่มที่ 4 กลุ่มที่มีบ้านเกิดอยู่ในพื้นที่ จึงอยากไปทำงานที่บ้านเกิดของตัวเอง ตำแหน่งอยู่ที่อื่น ก็ขอไปช่วยราชการ ได้อยู่ใกล้ครอบครัว บางกรณีกลุ่มนี้ก็เป็นพวกซื้อสิทธิ์จากบุคคลอื่นเพื่อลงไปปฏิบัติหน้าที่ก็มีเหมือนกัน
แต่ต้องเข้าใจว่า กลุ่มที่หาประโยชน์น่าจะมีเป็นเพียงส่วนน้อย เพราะกลุ่มที่ตั้งใจทำงานเพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นมีมากกว่า และคนเหล่านี้เองที่ออกลาดตระเวน ดูแลพื้นที่อย่างเสียสละ จนหลายๆ ครั้งตกเป็นเป้าโจมตี ทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตไปจำนวนไม่น้อย
ส่วนกลุ่มที่ลงใต้เพื่อหาประโยชน์ โดยเฉพาะพวกลงไปแต่ชื่อ หน่วยงานต้นสังกัด และ กอ.รมน. คงต้องเร่งจัดการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยด่วน
@@ ย้อนข้อมูล “เด็กนาย” ลงใต้แต่ชื่อ
กรณี “ตำรวจหญิงช่วยราชการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” สรุปบทเรียนสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้
1.ตำรวจหญิงได้ลงไปทำงานจริงหรือไม่ ถ้าไม่จริง ได้มีการตรวจสอบการลาราชการหรือเปล่า หรือว่าลงไปแต่ชื่อ ตัวไม่ได้ลงไปจริง แบบนี้ถือว่ามีความผิดหรือไม่
2.เหตุการณ์รุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ปะทุขึ้นมาอีก และยืดเยื้อมากว่า 18 ปีแล้ว สาเหตุหนึ่งมาจากมีข้าราชการมีชื่อลงใต้ แต่ตัวไม่ได้ลงไปจริง กลายเป็นช่องทางหาผลประโยชน์หรือไม่ แล้วแบบนี้เมื่อไหร่ภาคใต้จะสงบ
ยกตัวอย่าง ตำรวจสันติบาล มีหน้าที่หาข่าว แต่กลับไม่ลงไปทำงานจริง แบบนี้ทำให้การป้องกันเหตุร้ายเป็นไปอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพหรือไม่ ทำให้เหตุรุนแรงเกิดขึ้นไม่หยุด
3.ในอดีตเคยมีข่าว ข้าราชการสีต่างๆ “มีแต่ชื่อลงไปทำงาน” แต่ “ตัวไม่ได้ลงไป” บางคนเส้นใหญ่ ไม่เคยลงไปแม้แต่วันเดียว เช่น อดีตตำรวจติดตามอดีตนายกฯคนดัง เคยมีคำสั่งลงไปปฏิบัติราชการที่ สภ.กรงปินัง จ.ยะลา แต่ตัวไม่เคยลงไปจริงๆ เลย จนกระทั่งเปลี่ยนตัว ผบ.ตร. กลายเป็นพวกตัวเอง ก็มีคำสั่งย้ายชื่อกลับไป
หรือหนึ่งในผู้ต้องหาคดียิง นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งสื่อเครือผู้จัดการ ซึ่งผู้ต้องหารายนี้เป็นทหาร ก็มีชื่อลงไปปฏิบัติราชการสนามกับหน่วยทหารพรานในพื้นที่ มีชื่อรับเบี้ยเลี้ยง แต่โยกไปช่วยราชการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และพอมีคดียิงนายสนธิ ก็หาตัวไม่เจอ สอบถามทหารพรานในหน่วย ก็บอกไม่เคยเห็นหน้า
นี่คือตัวอย่างของความไม่โปร่งใสที่เคยเกิดขึ้นในอดีต คำถามคือมีการตรวจสอบกันจริงจังหรือไม่ และกรณีตำรวจหญิงสันติบาล จะเกิดปัญหาซ้ำรอยขึ้นมาอีกหรือเปล่า?