ยังคงมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเหตุการณ์ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา นายคณากร เพียรชนะ ยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี โดยในช่วงบ่ายของวันอังคารที่ 8 ต.ค.62 อดีตประธานศาลอุทธรณ์เตรียมเปิดแถลงข่าวเปิดเบื้องลึกเบื้องหลัง
กรณีนายคณากร ยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดีภายในศาลจังหวัดยะลา และมีการออกแถลงการณ์ความยาว 25 หน้า โดยใช้หัวหนังสือและกระดาษแบบฟอร์มของศาล บรรยายความคิดตนเองต่อการพิพากษาคดีฆ่า 5 ศพในอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่งเจ้าตัวอ่านคำพิพากษายกฟ้อง แล้วยิงตัวเองเมื่อวันศุกร์ที่ 4 ต.ค.นั้น
คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. ได้ประชุมพิจารณาเรื่องนี้เมื่อวันจันทร์ที่ 7 ต.ค. และมีมติตั้งอนุ ก.ต.วิสามัญ 3 ท่าน ซึ่งเป็นผู้พิพากษาระดับประธานแผนก และหัวหน้าคณะ เป็น "อนุ ก.ต.วิสามัญ" เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้รายงานกลับมายัง ก.ต.ชุดใหญ่ภายใน 15 วัน
ขณะที่ตัวนายคณากร ยังคงพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา อาการพ้นขีดอันตรายแล้ว แต่ยังไม่ได้ให้สัมภาษณ์อะไรกับสื่อมวลชน และอนุญาตเฉพาะบางคนเท่านั้นที่สามารถเข้าเยี่ยมอาการได้
แต่เรื่องนี้จะยังไม่เงียบหายเพื่อรอการตรวจสอบจาก ก.ต.เท่านั้น เพราะล่าสุดในช่วงบ่ายวันอังคารที่ 8 ต.ค. เวลาประมาณ 14.00 น. นายศิริชัย วัฒนโยธิน อดีตประธานศาลอุทธรณ์ จะเปิดแถลงข้อเท็จจริงเบื้องลึกเกี่ยวกับผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ยิงตัวเองหลังตัดสินคดีความ โดยใช้ชื่องานว่า "คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน" ที่โรงแรมแลงคาสเตอร์ กรุงเทพฯ ถนนเพชรบุรี ตรงข้ามที่ทำการพรรคเพื่อไทย
สำหรับ นายศิริชัย เป็นอดีตประธานศาลอุทธรณ์ และเคยเป็นแคนดิเดตอาวุโสอันดับ 1 ที่จะขึ้นเป็นประธานศาลฎีกา เมื่อปี 60 แต่ไม่ผ่านการพิจารณาของ ก.ต. ด้วยเหตุผลความไม่เหมาะสมบางประการ ทำให้ นายชีพ จุลมนต์ ขึ้นเป็นประธานศาลฎีกาแทน หลังจากนั้นนายศิริชัยลาออกจากการเป็นประธานศาลอุทธรณ์ และเดินสายให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายแขนง เคยประกาศว่าจะเล่นการเมือง และอ้างว่ามีการเมืองแทรกแซงศาลตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา
นักข่าวดังเปิดเอกสารอาจเป็น "บันทึกลับ"
ส่วนประเด็นที่นายคณากร อ้างในเอกสารแถลงการณ์ 25 หน้าของตนเอง ว่ามีผู้พิพากษาที่เป็นผู้บังคับบัญชาทำ "บันทึกลับ" ส่งตรงถึงตน เพื่อให้เปลี่ยนแปลงคำพิพากษาคดีฆ่า 5 ศพที่ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา โดยให้ลงโทษสถานหนักกับจำเลย แต่นายคณากรเห็นควรยกฟ้องนั้น
ล่าสุดในเพจเฟซบุ๊คของ นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสสายความมั่นคงชื่อดัง และอดีตบรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ได้โพสต์ภาพเอกสารที่ตีตรา "ลับ" เกี่ยวกับคดีที่นายคณากรอ้างถึง โดยเนื้อหาในเอกสารเป็นการให้ความเห็นแย้งในคดี ตามที่ผู้พิพากษาอาวุโสรายงานถึงผู้บังคับบัญชา และมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงกว่า เขียนข้อความด้วยลายมือให้นายคณากร ปรับปรุงคำวินิจฉัยตามที่เสนอมานี้ แต่ไม่ได้บังคับให้ต้องเปลี่ยนคำพิพากษา เพราะมีข้อความชัดเจนว่าหากผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนไม่เห็นด้วย ก็ให้ทำบันทึกแย้งกลับมา
สำหรับเอกสารดังกล่าวแม้จะตีตราลับ แต่เหมือนเป็นเอกสารสื่อสารกันภายในศาลมากกว่า ส่วนที่ตีตรา "ลับ" เพราะข้อมูลในสำนวนต้องเป็นความลับตามกฎหมาย และยังไม่ชัดว่าเอกสารและข้อความที่เขียนเพิ่มขึ้นมานี้ คือ "บันทึกลับ" ที่นายคณากรอ้างถึงหรือไม่
ยกเลิกตรวจคำพิพากษา ผลร้ายหนักกว่า
ขณะที่ข้อเรียกร้องของนายคณากร ที่ต้องการให้มีการแก้ไข "พระธรรมนูญศาลยุติธรรม" เพื่อให้ยกเลิกการตรวจร่างคำพิพากษาโดยผู้พิพากษาอาวุโส หรือผู้พิพากษาที่เป็นผู้บังคับบัญชา ก่อนอ่านให้ลูกความฟังนั้น
เรื่องนี้ แหล่งข่าวระดับสูงในศาลฎีกา อธิบายว่า ศาลยุติธรรมใช้ระบบตรวจสำนวนและร่างคำพิพากษามาตั้งแต่ดั้งเดิม โดยถือว่าเป็นการตรวจสอบภายในองค์กรเพื่อให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรมแก่คู่ความ และเป็นการช่วยดูแลมาตรฐานของคำพิพากษาที่จะมีผลกระทบต่อประชาชน อีกทั้งยังเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้พิพากษาผู้ใหญ่ไปยังผู้พิพากษารุ่นต่อๆ มาด้วย
แต่การตรวจร่างคำพิพากษายังคงให้อิสระแก่องค์คณะผู้พิพากษาที่จะยืนยันคำตัดสินของตน โดยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามความเห็นที่มีลักษณะเป็นข้อทักท้วงของผู้พิพากษาผู้ใหญ ซึ่งผู้พิพากษาผู้ใหญ่ต้องมีความรับผิดชอบในการทำความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร และสามารถตรวจสอบได้ด้วย
ต่อมามีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มีแนวคิดให้องค์คณะผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยปราศจากการตรวจสอบ จึงห้ามผู้พิพากษาที่เป็นผู้บริหารศาลตรวจสำนวนและร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง ปรากฏว่าหลังจากนั้นมีสถิติซึ่งรวบรวมไว้ปรากฎชัดแจ้งว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นถูกกลับ (หมายถึงพิพากษากลับ) และแก้ไขโดยศาลสูงมากขึ้นเป็นลำดับจนน่าตกใจ (ตามรายงานการศึกษาของคณะทำงานเพื่อพิจารณาผลกระทบจากการปรับโครงสร้างศาลตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ) ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากผลคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงตกแก่ประชาชน เพราะมีความผิดพลาดเกิดมากขึ้น แม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นจะถูกแก้ไขโดยศาลสูงให้ถูกต้องสมบูรณ์ก็ตาม
กระทั่งมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 จึงมีการแก้ไขกฎหมายกลับมาใช้ระบบตรวจคำพิพากษาแบบเดิม และใช้อยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้นจึงไม่ได้ถือว่าเป็นการแทรกแซงการตัดสินคดี แต่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ถูกต้อง และให้เกิดความละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น ดังนั้นข้อเสนอให้ยกเลิกการตรวจร่างคำพิพากษา อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการพิจารณาพิพากษาคดี ความเสียหายย่อมตกแก่ประชาชนในที่สุด เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
แฉกระสุนซ้อม ยิงเข้าจุดสำคัญก็เสียชีวิต
อีกเรื่องหนึ่งคือข้อสงสัยเรื่องอาวุธปืนและกระสุนที่นายคณากรใช้ยิงตัวเอง มีการอ้างข้อมูลว่าเป็นกระสุนซ้อม และไม่ได้ตั้งใจยิงตัวเองให้ตาย
ประเด็นนี้ "ทีมข่าวอิศรา" ได้พูดคุยกับอดีตตำรวจที่เชี่ยวชาญงานนิติวิทยาศาสตร์ และมีความรอบรู้เรื่องอาวุธปืนจนเป็นที่ยอมรับ ได้ข้อสรุปว่า ปืนที่นายคณากรใช้ยิงตัวเองนั้น เป็นปืนพกสั้น ยี่ห้อ LAMA ขนาด 9 มม. เป็นปืนสัญชาติสเปน ส่วนกระสุนจะเป็นกระสุนจริงหรือกระสุนซ้อมนั้น เป็นความลับในสำนวนการสอบสวน ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่แม้จะใช้กระสุนซ้อม หากยิงโดนอวัยวะสำคัญก็เสียชีวิตได้เช่นกัน คงไม่เป็นไปอย่างที่บางคนออกมาให้ความเห็นว่า กระสุนซ้อมยิงหมายังไม่ตาย เพราะถ้าโดนจุดสำคัญ ไม่ว่าสุนัขหรือคนก็ตายเหมือนกัน
ส่วนวิถีกระสุน จากข้อมูลทางการแพทย์ที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ยะลาแถลง ว่าเป็นการยิงเข้าหน้าอก แสดงว่ากระสุนเบี่ยงลงล่าง และไม่โดนอวัยวะสำคัญ ทำให้รอดชีวิต ส่วนจะจงใจยิงให้ไม่ตายหรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ แต่การยิงตัวเองโดยไม่หวังให้ถึงชีวิต เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เป็นเคสสามีทะเลาะกับภรรยา แล้วยิงตังเองประชดภรรยา โดยเลือกยิงจุดไม่สำคัญ เพื่อให้ตนเองไม่เสียชีวิต
--------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (บน) บรรยากาศหน้าศาลจังหวัดยะลา (ล่างซ้าย) เลขาธิการศาลยุติธรรมเข้าเยี่ยมอาการผู้พิพากษาคณากร (ล่างกลาง) ผอ.โรงพยาบาลศูนย์ยะลา (ล่างซ้าย) นายศิริชัย วัฒนโยธิน อดีตประธานศาลอุทธรณ์
อ่านประกอบ :
ผู้พิพากษาศาลยะลายิงตัวเองหน้าบัลลังก์ หลังยกฟ้องคดีความมั่นคง
เปิดสำนวนคดีชนวนเหตุผู้พิพากษายะลายิงตัวเอง
ชง ก.ต.สอบปมผู้พิพากษาศาลยะลายิงตัวเอง
คลี่ 4 ปมคำแถลง"ผู้พิพากษาคณากร" กับข้อสังเกตชนวนเหตุยิงตัวเอง