เหตุการณ์ยิงตัวเองในบริเวณศาลของ นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลานั้น กลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่สุดในสังคมเวลานี้ ทั้งในและนอกโซเชียลมีเดีย
ด้านหนึ่งมีกระแสยกย่องนายคณากรว่าเป็นวีรบุรุษที่ผดุงความยุติธรรม โดยเฉพาะความเป็นธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งยังลุกลามสร้างกระแสให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงรื้อคดีความมั่นคงทั้งหมดที่เกิดขึ้นที่ปลายด้ามขวาน นับตั้งแต่ไฟใต้ปะทุรุนแรงย้อนกลับไปถึงปี 2547 เลยทีเดียว
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เริ่มมีการเปิดข้อมูลเชิงตรวจสอบเกี่ยวกับพฤติกรรมของนายคณากร ในฐานะผู้พิพากษา ว่าเคยมีการแสดงความเห็นในโซเชียลมีเดียเชิงสนับสนุนพรรคการเมืองพรรคหนึ่งอย่างเปิดเผย ซึ่งน่าจะขัดกับจรรยาบรรณของผู้พิพากษา
นอกจากนั้นยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกหลายประเด็นเกี่ยวกับการไลฟ์สดในชุดครุยผู้พิพากษาบนบัลลังก์ในห้องพิจารณาคดี ตลอดจนเหตุการณ์การยิงตัวเอง แต่ไม่เสียชีวิต และเอกสารแถลงการณ์ที่ถูกเผยแพร่และขยายผลอย่างรวดเร็ว รวมไปเบื้องหลังของถึงคดีที่นายคณากรอ้างว่าถูกแทรกแซงด้วย
สรุป 4 ปมจากแถลงการณ์ 25 หน้า
มีประเด็นที่ทุกฝ่ายควรทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน เริ่มจาก "แถลงการณ์ 25 หน้า" ของนายคณากร "ทีมข่าวอิศรา" สรุปเนื้อหามาให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้
1. นายคณากรอ้างว่ามี "บันทึกลับ" ของผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นผู้บังคับบัญชา แทรกแซงสั่งการและข่มขู่ให้เปลี่ยนแปลงคำพิพากษาไปในทิศทางที่ตนต้องการ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะไม่ใช่ "การทำความเห็นแย้ง" ตามที่กฎหมายให้อำนาจผู้พิพากษาทีเป็นผู้บังคับบัญชา
2. นายคณากรยกตัวอย่างคดีที่อ้างว่าถูกแทรกแซง 2 คดี
คดีแรก คือคดีที่เพิ่งอ่านคำพิพากษาไปเมื่อวันศุกร์ที่ 4 ต.ค.62 นายคณากรเห็นว่าพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะลงโทษจำเลยได้ แต่ผู้พิพากษาที่เป็นผู้บังคับบัญชากลับต้องการให้ลงโทษสถานหนัก คือ ประหารชีวิต และจำคุกตลอดชีวิต
เหตุผลของนายคณากร ก็คือ พยานหลักฐานและคำให้การของจำเลยได้มาในช่วงถูกควบคุมตัวโดย "กฎหมายพิเศษ", คำซัดทอดจากพยานในคดีก็เป็นพยานที่ถูกควบคุมตัวตาม "กฎหมายพิเศษ" จึงไม่สามารถรับฟังได้, อาวุธปืนของกลาง ขนาด 9 มม.ที่ยึดได้จากการนำชี้จุดซุกซ่อนอาวุธของจำเลยบางคน ไม่เชื่อมโยงกับคดี และการชี้จุดซุกซ่อนเพื่อค้นหาอาวุธปืนกระทำช่วงถูกควบคุมตัวตาม "กฎหมายพิเศษ" จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง
ต่อมาเมื่อมีการเบิกความในชั้นศาล จำเลยอ้างว่าถูกบังคับให้รับสารภาพ และโจทก์ (อัยการ) ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่มีน้ำหนักมากพอมายืนยัน ทำให้นายคณากรเห็นว่าคดีนี้ควรยกฟ้อง
คดีที่สอง คือ คดีที่นายคณากรรับผิดชอบสมัยทำหน้าที่อยู่ที่ศาลจังหวัดปัตตานี เป็นคดีที่ทหารยิงประชาชนที่ไม่มีอาวุธ อ้างว่าเพื่อป้องกันตัว คดีนี้นายคณากรมีความเห็นว่าควรลงโทษสถานหนักกับเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ผู้บังคับบัญชาคนเดิมไม่เห็นด้วย และบังคับให้พิพากษาโทษที่เบากว่า (จำคุก 13 ปี 4 เดือน แทนที่จะสั่งจำคุกตลอดชีวิต)
ทั้งสองคดี นายคณากรอ้างว่า ผู้พิพากษาที่เป็นผู้บังคับบัญชาบังคับตน ทำเหมือนตนเป็น "นิติกรบริการ"
3. นายคณากรบรรยายความยากลำบากในการทำงานของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น งานหนัก รายได้น้อย ไม่มีเงินพิเศษให้ โดยยกตัวอย่างว่า ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นต้องเขียนคำพิพากษานอกเวลาราชการ (เพราะในเวลาราชการมีงานล้นมือ) จึงน่าจะมีค่าตอบแทนจากการเขียนคำพิพากษา เหมือนแพทย์ที่ทำงานนอกเวลาก็จะมีเงินเพิ่มให้ รวมถึงควรมีเงินพิเศษจากที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพเสริม
เหตุนี้จึงเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้เพิ่มค่าตอบแทนกับผู้พิพากษาศาลชั้้นต้น เพื่อจะได้ไม่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของผู้บังคับบัญชา ทั้งยังยกตัวเองเป็นตัวอย่างว่า ที่ต้องย้ายไปทำหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะต้องการค่าเสี่ยงภัยรายเดือน หากถูกย้ายออกจากพื้นที ก็จะไม่ได้รับค่าเสี่ยงภัยอีก
4. นายคณากร เรียกร้องให้แก้กฎหมายธรรมนูญศาลยุติธรรม ยกเลิกการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่าน และห้ามกระทำการใดๆ อันมีผลให้เกิดการแทรกแซงคำพิพากษา
6 ข้อสังเกตชนวนเหตุยิงตัวเอง
จาก 4 ประเด็นในเอกสารแถลงการณ์ของนายคณากร มีข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกตที่ "ทีมข่าวอิศรา" รวบรวมจากฝ่ายต่างๆ ได้ดังนี้
1. มีการยืนยันจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้หลายแหล่ง รวมทั้งญาติของจำเลยที่เข้ารับฟังคำพิพากษาเมื่อวันศุกร์ที่ 4 ต.ค.แล้วว่า คดีที่นายคณากรขึ้นนั่งบัลลังก์ที่ศาลจังหวัดยะลาก่อนยิงตัวเอง เป็นคดีคนร้ายบุกยิงประชาชนที่บ้านหลังหนึ่งในอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับที่นายคณากรอ้างในเอกสารคำแถลงการณ์ของตนเอง
สำหรับคดียิง 5 ศพที่อำเภอบันนังสตานี้ จับกุมผู้ต้องหาได้ 5 คน ทั้งหมดเป็นจำเลยถูกยื่นฟ้องต่อศาล โดยตั้งแต่หลังเกิดเหตุจนถึงชั้นจับกุม มีการให้ข่าวและแถลงข่าวจากผู้เกี่ยวข้องในคดี ทั้งตำรวจ ทหาร ว่าเป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจจากเรื่องยาเสพติด ไม่ใช่คดีความมั่นคง และคดีนี้ไม่มีการตั้งข้อหาก่อการร้าย ซึ่งก็ตรงกับที่นายคณากรอ้างในเอกสารคำแถลงการณ์ แต่ไม่ตรงกับที่มีการกระจายข่าวในโซเชียลมีเดีย
2. กระบวนพิจารณาคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคดีอาญาในศาลชั้นต้นทั่วไป จะมีองค์คณะผู้พิพากษา 3 คนร่วมกันพิจารณาและจัดทำคำพิพากษา สำหรับคดีที่นายคณากรอ้างว่าถูกแทรกแซงนั้น เป็นการแทรกแซงให้พิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 5 คนในสถานหนัก (ประหารชีวิต / จำคุกตลอดชีวิต) ซึ่งไม่ตรงกับการพิจารณาวินิจฉัยของนายคณากรที่เห็นควรให้ยกฟ้อง แต่เมื่อสุดท้ายปรากฏว่าผลคำพิพากษาคือ "ยกฟ้อง" แสดงว่ามีผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะอีกอย่างน้อย 1 คน หรือทั้ง 2 คน เห็นด้วยกับนายคณากร
3. เอกสารแถลงการณ์ของนายคณากร เป็นเอกสารที่ใช้ตัวพิมพ์ และใช้ฟอร์มเอกสารของศาล มีตราครุฑอยู่บนหัวกระดาษทุกหน้า ทำให้สังคมบางส่วนเข้าใจผิดว่าเป็นเอกสารคำพิพากษา แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่คำพิพากษา เป็นเพียงเอกสารแถลงการณ์ความเห็นส่วนตัวของนายคณากร โดยในเอกสารหน้าสุดท้ายก็ลงชื่อนายคณากรเพียงคนเดียว
4. เนื้อหาบางส่วนในเอกสารแถลงการณ์ เช่น การเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้แก้ไขกฎหมาย เพื่อไม่ให้มีการตรวจสำนวนโดยผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ก่อนอ่านคำพิพากษาในศาลล่างนั้น จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นระบบการตรวจสอบของศาล เพื่อให้กระบวนพิจารณาและการจัดทำคำพิพากษามีความถูกต้องเป็นธรรมมากที่สุด คล้ายๆ ให้มีผู้พิพากษาอาวุโสเป็นพี่เลี้ยง โดยผู้พิพากษาอาวุโส หรือผู้บังคับบัญชา ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาได้ ทำได้เพียงทำความเห็นแย้งกับองค์คณะเท่านั้น
5. ปัญหาการรับฟังพยานหลักฐานและคำสารภาพของผู้ต้องหา จำเลย หรือแม้แต่พยานในช่วงที่ถูกควบคุมตัวโดย "กฎหมายพิเศษ" มีกฎหมายและแนวปฏิบัติของศาลอยู่แล้วว่า "ห้ามรับฟัง" เพราะถือว่าผู้นั้นยังไม่ใช่ผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา)
6. การถูกแทรกแซงการพิจารณาคดีหรือการทำคำพิพากษา เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว และเป็นปัญหาหนึ่งในวงการศาลยุติธรรม ซึ่งที่ผ่านมาก็มีกรณีร้องเรียนให้ตรวจสอบ เช่น เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ก็มีการร้องเรียนกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต.รายหนึ่งว่ามีพฤติการณ์แทรกแซงการพิจารณาคดีของผู้พิพากษา สุดท้ายก็มีการลงมติถอดถอน ก.ต.รายนี้ จากการลงคะแนนของผู้พิพากษาทั่วประเทศ ปรากฏว่าคะแนนให้ถอดถอนท่วมท้นกว่า 70%
จากกรณีตัวอย่างนี้ ทำให้เห็นว่าศาลยุติธรรมวางระบบป้องกันการแทรกแซง และรับประกันเสรีภาพในการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาเอาไว้ตามสมควร ฉะนั้นเมื่อเกิดกรณีของนายคณากรขึ้น ทำให้คนในวงการตุลาการรู้สึกตกใจและแปลกใจว่าเหตุใดจึงเลือกใช้วิธีการยิงตัวเอง
3 ประเด็นรอการตรวจสอบ
จากข้อสังเกตและข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมมา เปรียบเทียบกับเอกสารคำแถลงการณ์ของนายคณากร ชัดเจนว่ามีประเด็นสำคัญที่ศาลยุติธรรม และคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ กต. ต้องตรวจสอบหลักๆ อยู่ 3 ประเด็น คือ
1. มีการแทรกแซง สั่งการ ข่มขู่ และทำ "บันทึกลับสั่งการ" จากผู้บังคับบัญชาให้ "เปลี่ยนคำพิพากษา" จริงหรือไม่
2. คดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับตำรวจ ทหาร มีรายการ "คุณขอมา" จริงหรือเปล่า
ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่บรรยายมาในเอกสาร เกือบทั้งหมดตรงตามข้อเท็จจริงและมีกฎหมายรองรับให้ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การห้ามรับฟังคำให้การของจำเลยในช่วงที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ
และ 3. ข้างฝ่ายนายคณากรเอง ก็จะต้องถูกสอบสวนเช่นกันในประเด็นการไลฟ์สดในชุดครุยผู้พิพากษาบนบัลลังก์พิจารณาคดี, การส่งคำพิพากษาหรือข้อมูลสำคัญในคดีไปยังบุคคลภายนอก โดยเฉพาะที่แกนนำพรรคการเมืองพรรคหนึ่งอ้างว่ามีข้อมูลลับในคดีพร้อมเปิดเผย และได้รับมาประมาณ 1 เดือนก่อนเกิดเรื่อง และที่สำคัญยังอาจจะต้องถูกสอบสวนด้วยว่าเคยแสดงความเห็นทางโซเชียลมีเดียในลักษณะฝักใฝ่พรรคการเมืองบางพรรคจริงหรือไม่
ข้อมูลอีกด้านของคดีความมั่นคงชายแดนใต้
สำหรับภาพรวมของการพิจารณาคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการขยายผลทางการเมืองว่าไม่มีความเป็นธรรม โดยอ้างคำแถลงการณ์ของนายคณากร และมีกระแสเรียกร้องให้รื้อคดีใหม่ทั้งหมดตลอด 15 ปีที่ผ่านมา จนถูกมองว่าอาจทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวในจังหวัดชายแดนภาคใต้บางกลุ่ม รวมถึงนักการเมืองบางพวกบางฝ่ายได้ประโยชน์นั้น
จริงๆ แล้วคดีที่นายคณากรอ้างว่าหลักฐานไม่ถึง และพิพากษายกฟ้อง ไม่ใช่คดีแรกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่สถิติคดีความมั่นคงในพื้นที่ชี้ชัดว่า ในช่วงต้นๆ ของไฟใต้ คดีที่ถูกนำขึ้นสู่ศาล มีการยกฟ้องมากถึงเกือบ 80% สะท้อนว่าศาลให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลย หากหลักฐานไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟัง ก็จะไม่พิพากษาลงโทษ
ย้อนสถิติข้อมูลปี 2557-2558 ศาลชั้นต้นยกฟ้องคดีความมั่นคงถึง 61.25% พิพากษาลงโทษ 38.75% นี่คือตัวอย่างที่ศาลใช้ดุลยพินิจในการอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้ถูกกล่าวหา
แต่เมื่อคดียกฟ้องเยอะ ก็มีคำถามเรื่องการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจ และการพิจารณาสั่งคดีของอัยการตามมาเช่นกัน ทำให้ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีการยกเครื่องใหม่ เน้นการใช้นิติวิทยาศาสตร์ในการรวบรวมพยานหลักฐาน ขณะที่ฝ่ายอัยการได้ตั้ง "สำนักงานอัยการพิเศษ" ขึ้นมาพิจารณาคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะ มีการกลั่นกรองหลักฐานดีขึ้น ทำให้คดีที่ "หลักฐานไม่ถึง" หรือ "ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ" อัยการจะทำความเห็น "สั่งไม่ฟ้อง" ไม่ปล่อยให้คดีขึ้นสู่ศาล เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องหาต้องติดคุกยาวระหว่างรอคำพิพากษา ส่วนคดีที่พยานหลักฐานชัดเจนจริงๆ ก็จะฟ้องขึ้่นไป
กระบวนการที่ยกเครื่องใหม่ทำให้่สุดท้ายในปีหลังๆ สถิติคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษสูงขึ้นเรื่อยๆ สูงกว่า 50-60% เพราะสำนวนมีความรัดกุมมากกว่าเดิม
บทสรุป...
อย่างไรก็ดี ตลอดหลายปีมานี้ก็ยังมีปัญหาในกระบวนการยุติธรรมชายแดนใต้อยู่ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมชั้นก่อนฟ้อง มีข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ข้อกล่าวหาการซ้อมทรมาน และการใช้อำนาจตาม "กฎหมายพิเศษ" มากเกินความจำเป็น ขณะที่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลก็มีปัญหาส่วนหนึ่งตรงกับที่นายคณากรแถลงการณ์เอาไว้ โดยเฉพาะการแทรกแซง และรายการคุณขอมา
กระแสข่าวและการขยายประเด็นผู้พิพากษายิงตัวเองจนสั่นสะเทือนไปทั้งวงการ ถือเป็นตัวอย่างที่สะท้อนชัดถึงความไม่เชื่อมั่นของประชาชนจำนวนไม่น้อยที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ
ทั้งหมดจึงเป็นโจทย์ย้อนกลับไปที่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเอง ว่าจะอาศัยโอกาสนี้ชำระล้างสิ่งไม่ดีให้หมดไป หรือจะเลือกหนทาง "นิ่ง" แล้วปล่อยให้เรื่องเงียบหาย แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นคลื่นใต้น้ำที่คอยบ่อนเซาะความน่าเชื่อถือให้น้อยลงไปอีก!