12 ก.ย.67 ชี้ชะตา ‘คดีตากใบ’ รอมฎอน-สส.พรรคประชาชน บี้ เพื่อไทย - ‘พล.อ.พิศาล’ อดีตแม่ทัพภาค 4 จำเลยที่หนึ่งไปศาล หวั่น คดีขาดอายุความ ‘ศ.(พิเศษ) จรัญ’ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ ‘มาตราพิเศษ’ พิจารณาคดีลับหลังจำเลยโทษประหารชีวิตใช้ไม่ได้
สำนักข่าวอิศรา ( www.isranews.org ) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 ที่อาคารรัฐสภา นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงข่าวกรณีจำเลยในคดีตากใบอาจไม่ไปปรากฏตัวต่อศาลตามนัดในวันที่ 12 กันยายน 2567 อาจจะส่งผลให้คดีขาดอายุความ 20 ปี หรือครบกำหนดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ว่า จำเลยในคดีมี 7 คน โดยมี พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นจำเลยที่หนึ่ง
นายรอมฏอนกล่าวว่า ในวันที่ 12 กันยายน 2567 จะเป็นนัดแรกที่ศาลจะมีการนัดเบิกความจำเลยและนัดตรวจพยานหลักฐาน ถือว่าเป็นนัดแรกที่สำคัญมาก ประเด็นอยู่ที่ว่าในวันที่ 12 กันยายนนี้ ทางจำเลยทั้ง 7 คนจะเดินทางไปที่ศาลจังหวัดนราธิวาสหรือไม่ เพราะหลักการของการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป จะต้องมีการพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลยด้วยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ดังนั้นนี่คือจุดชี้ขาด
นายรอมฎอนกล่าวว่าด้วยเหตุนี้ ตนจึงต้องขอเรียกร้องให้จำเลยซึ่งเป็นทั้งอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบทั้งต่อราชการและสังคม ได้ให้ความร่วมมือกับศาลในการไปร่วมพิจารณาคดีก่อนหมดอายุความด้วย นี่ไม่ใช่แค่การให้ความร่วมมือต่อกระบวนการในชั้นศาลเท่านั้น แต่นี่คือชะตากรรมของความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้
“ส่วนจำเลยที่หนึ่ง ต้องพูดกันตรงๆ ว่า พล.อ.พิศาล มีสถานะเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสมัยประชุมสภาฯ ซึ่งโดยบังเอิญว่าในวันที่ 12 กันยายนที่ศาลนัด ก็มีการประชุมร่วมสองสภาเพื่อฟังคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีก็อาจจะเป็นเหตุในการอ้างได้ว่าติดภารกิจ”นายรอมฎอนกล่าว
นายรอมฏอนกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคสี่ ที่พูดถึงการคุ้มครองสส.และสว.ในการพิจารณาคดีระหว่างที่มีการเปิดสมัยประชุม ก็ยังเปิดช่องให้กระบวนการพิจารณาในชั้นศาลสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยที่เป็นการแสดงเจตจำนงของทางสมาชิกว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ ซึ่งตนเชื่อว่าเพื่อนสมาชิกจะได้แสดงสปิริตในการเข้าร่วมการพิจารณาคดีครั้งนี้ด้วย
“หากอายุความสิ้นสุดลง คำถามใหญ่ๆ ไม่ใช่แค่จำเลยที่ตั้งใจจะไม่ปรากฏตัวเท่านั้น แต่อาจจะโยงไปถึงพรรคการเมืองและรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับจำเลยด้วย ถ้าเราปล่อยให้อายุความหมดไปทั้งที่คดีถึงมือศาลแล้ว ศาลประทับรับฟ้องแล้ว มันจะกลายเป็นปมปัญหาและเป็นแผลเป็นที่จะแก้ไขไม่ได้”นายรอมฎอนกล่าว
นายรอมฎอนกล่าวว่า ได้รับทราบว่าทางญาติของผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ได้ทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรผ่านทางนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โดยเรียกร้องให้ประธานและสมาชิกสภาฯ ได้ให้ความสำคัญกับการอำนวยความเป็นธรรมและอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เดินทางไปศาลในวันที่ 12 กันยายน ซึ่งคงต้องติดตามว่าทางประธานสภาฯ จะดำเนินการอย่างไร
@ โทษประหาร พิจารณาคดีลับหลังจำเลยไม่ได้
ศ. (พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายข้อกฎหมายว่า ว่า อายุความอาญาของไทยมี 3 ระดับ ระดับที่หนึ่ง ต้องยื่นภายในอายุความ หรือ อายุความยื่นฟ้อง ระดับที่สอง เมื่อประทับรับฟ้องแล้ว ต้องได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีภายในอายุความเดียวกันเพื่อสอบคำให้การ
“ถ้าวันที่ 12 กันยายน 2567 ตามที่ศาลนัดให้มา ถ้ามาสู้คดี ศาลก็ดำเนินคดีต่อไปได้ อยู่กำหนดอายุความฟ้อง และได้ตัวมา ภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 หรือ ภายในอายุความ 20 ปี”ศ.(พิเศษ) จรัญกล่าว
ศ.(พิเศษ) จรัญกลาวว่า ระดับที่สาม เมื่อศาลพิพากษาถึงที่สุดลงโทษไปแล้ว แล้วหนี ศาลก็ต้องออกหมายจับและต้องได้ตัวกลับมาบังคับลงโทษภายในอายุความ ถ้าจำคุก 1 ปี อายุความ 5 ปี เกิน 1 ปี แต่ไม่ถึง 7 ปี อายุความ 10 ปี
ศ.(พิเศษ) จรัญกล่าวว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 33) พ.ศ.2562 มาตรา 172 ทวิ/1 มีเงื่อนไขพิเศษสองข้อถึงจะสามารถพิจารณาลับหลังจำเลยได้ เงื่อนไขข้อแรก ต้องได้ตัวมาเพื่อให้ศาลอ่านคำฟ้องและสอบถามคำให้การก่อน ถ้ายังไม่ได้ตัวมาสอบถามคำให้การ มาตราพิเศษ ที่ไม่ให้นับอายุความระหว่างหลบหนีใช้ไม่ได้
“ดังนั้น จึงมีการเรียกร้องขอให้วันที่ 12 กันยายน 2567 ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อศาลเพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลง หรือ ไม่มีอายุความ”ศ.(พิเศษ) จรัญกล่าว
ศ.(พิเศษ) จรัญกล่าวว่า เงื่อนไขข้อที่สอง ถึงแม้ว่าจำเลยจะมาหรือไม่มา พิจารณาลับหลังได้ตามมาตรา 172 ทวิ/1 ต้องไม่ใช่โทษประหารชีวิต แต่คดีนี้ข้อหาฆ่าโดยเจตนาโดยทารุณมีโทษถึงประหารชีวิต เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถใช้ข้อยกเว้นนี้ได้ จึงเป็นข้อจำกัด
“ดังนั้น โอกาสที่จะพิจารณาและลงโทษจำเลยไม่ได้ เพราะประเด็นเรื่องอายุความ ยังไม่ได้ตัวมาภายในอายุความ 20 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 25 ตุลาคม 2567”ศ.(พิเศษ) จรัญกล่าว
ศ.(พิเศษ) จรัญกล่าวว่า ถ้าในวันที่ 12 กันยายน 2567 ตามที่ศาลนัดจำเลยไม่มีใครมาศาล ศาลก็จะออกหมายจับและแจ้งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำนเนินการจับตัวมาให้ได้ภายในกำหนดอายุความวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ถึงจะพิจารณาคดีต่อไปได้
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 33) พ.ศ.2562 มาตรา 172 ทวิ/1 ระบุว่า ภายหลังที่ศาลได้ดำเนินการตามมาตรา 172 วรรคสอง (จำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาล) แล้ว เมื่อศาลเห็นว่าจำเลยหลบหนีหรือไม่มาฟังการพิจารณาและสืบพยานโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ศาลออกหมายจับจำเลย หากไม่ได้ตัวจำเลยมาภายในสามเดือนนับแต่วันออกหมายจับ เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะให้การพิจารณาเป็นไปโดยไม่ชักช้า และจำเลยมีทนายความให้ศาลมีอำนาจพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยได้ และเมื่อศาลพิจารณาคดีเสร็จแล้ว ให้ศาลมีคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไป