“ข้าวยำโจร” หรือ “ข้าวยำคลุกสมุนไพร” รับเลือกเป็นเมนูเชิดชูอาหารถิ่นจังหวัดยะลา อาหารจานด่วนโบราณจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน มีส่วนผสมจากสมุนไพรหลากหลายที่ดีต่อสุขภาพ ด้านวัฒนธรรมจังหวัดแจง คำว่า “โจร” ไม่ใช่โจรผู้ร้าย แต่หมายถึงกินง่าย รวดเร็ว
จากกรณีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ประกาศผลการคัดเลือก “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ภายใต้โครงการการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ...ที่หายไป The Lost Tastes” ประจำปี 2566 เพื่อเป็นการรวบรวมเมนูอาหารถิ่นที่กำลังจะเลือนหาย ที่หารับประทานได้ยาก เพื่อยกระดับ พัฒนา สร้างสรรค์ เป็นอาหารประจำจังหวัด
โดยจังหวัดยะลา อาหารที่ได้รับการคัดเลือกมีชื่อว่า “ข้าวยำโจร” (ข้าวยำคลุกสมุนไพร)
แต่เมื่อมีการประกาศชื่อ "ข้าวยำโจร" เป็นเมนูอาหารเชิดชูประจำถิ่นของยะลา ก็เกิดมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และข้อสงสัยเกี่ยวกับชื่ออาหาร เพราะคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่คุ้นและไม่รู้จัก
วันที่ 3 ก.ย.66 ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง นางอภิญญา สุวรรณ วัฒนธรรมจังหวัดยะลา เพื่อสอบถามถึงที่มาของชื่ออาหารดังกล่าว พร้อมทั้งลงพื้นที่ค้นหาต้นกำเนิดแหล่งที่มาของเมนูอาหารชนิดนี้ ที่หมู่ 4 บ้านสาเมาะ ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา ซึ่งเป็นบ้านของนางหนู คงศรีพุฒิ คุณยายอายุ 74 ปี ซึ่งได้สาธิตการทำเมนูอาหาร “ข้าวยำโจร” หรือ “ข้าวยำคลุกสมุนไพร” ให้ได้ชม
การทำเมนูอาหาร “ข้าวยำโจร” หรือ “ข้าวยำคลุกสมุนไพร” จะต้องเตรียมพืชผักสมุนไพรเพื่อใช้เป็นส่วนผสม ประกอบด้วย 1.ขมิ้นโขกละเอียด 2.สมุนไพรเจ็ดมูลเพลิง 3.พริกไทยสด 4.พริกไทยแห้งโขลกละเอียด 5.ใบพาโหม 6.ใบมะกรูด 7.ใบมะนาว 8.ใบขมิ้น 9.ดอกดาหลา 10.น้ำบูดู 11.ปลาต้มสุกแกะเนื้อ 12.ข้าวสวย 13.หัวกระชาย
โดยวิธีการทำการเริ่มจากนำพืชผักสมุนไพรมาล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นบางๆ ส่วนสมุนไพรประเภทหัว ขมิ้น กระชาย สมุนไพรเจ็ดมูลเพลิงและพริกไทยแห้ง ล้างน้ำสะอาดโขลกให้ละเอียด
จากนั้นเตรียมภาชนะขนาดใหญ่ นำข้าวสวยมาคลุกรวมกับสมุนไพรและผักผสมเข้าด้วยกัน เติมน้ำบูดู ปรุงรสชาติตามความต้องการ ก็จะได้ “ข้าวยำโจร” หรือ “ข้าวยำคลุกสมุนไพร” ที่มีสีสันโทนสีเหลืองของขมิ้น สวยงาม น่ารับประทาน
นายปรีชา บุญเนื่อง ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลท่าธง เปิดเผยว่า “ข้าวยำโจร” หรือ “ข้าวยำคลุกสมุนไพร” บางพื้นที่เรียกว่า “ข้าวยำยา” เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่นำเครื่องเคียง สมุนไพรหลากหลายชนิดมาประกอบเป็นอาหาร ไม่ปรากฏว่าจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนมีมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ชาวบ้านนิยมประกอบอาหารเมนูดังกล่าวในช่วงฤดูฝน เพราะรสชาติของอาหารเผ็ดร้อนด้วยเครื่องสมุนไพร มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้เกิดความอบอุ่น
นางอภิญญา สุวรรณ วัฒนธรรมจังหวัดยะลา บอกว่า “ข้าวยำโจร” หรือ “ข้าวยำคลุกสมุนไพร” เป็นการตามหาอาหารที่กำลังจะเลือนหายในท้องถิ่น “รสชาติ...ที่หายไป The Lost Tastes” ภายใต้การคัดเลือก 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยทางจังหวัดยะลาได้ส่ง 3 เมนูอาหารเข้าประกวด ประกอบด้วย ขนมใบเหลียง, ข้าวยำโจร หรือ ข้าวยำคลุกสมุนไพร และ แกงแพะ ซึ่งผลการคัดเลือก กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ประกาศให้ “ข้าวยำโจร” เป็น 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่นของจังหวัดยะลา ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ด้วยส่วนผสมจากสมุนไพรหลากหลายชนิด เพื่อยกระดับรสชาติที่หายไปให้กลับคืนมา
ส่วนกระแสวิพากษ์วิจารณ์และข้อสงสัยในชื่ออาหารที่มีในโซเชียลมีเดียนั้น “ข้าวยำโจร” ไม่ใช่โจรผู้ร้ายแต่อย่างใด ความหมายของ “โจร” จะเป็นในลักษณะที่กินง่าย รวดเร็ว คลุกส่วนผสมเข้าด้วยกัน เปรียบเทียบคนสมัยก่อน เวลาจะไปทำนา ทำสวน ทำไร่ ถางป่า ก็จะเร่งรีบทานอาหาร เพื่อทำงานต่อ “ข้าวยำโจร” ก็จะตอบโจทย์คนสมัยก่อน ด้วยเครื่องสมุนไพรหลากหลายชนิด ส่งผลต่อพละกำลัง ความสะดวกรวดเร็วในการทำงานนั่นเอง
ทั้งนี้ทั้งนั้น “ข้าวยำโจร” ก็จะเป็นอีกหนึ่งเมนูอาหาร ที่ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดได้นำกลับมาเป็นเมนูที่สร้างสรรค์ในยุคปัจจุบัน ที่พร้อมตอบโจทย์ผู้บริโภค สามารถรับประทานควบคู่กับเครื่องเคียงต่างๆ ได้ตามความชอบ
สำหรับความแตกต่างของ “ข้าวยำโจร” หรือ “ข้าวยำคลุกสมุนไพร” กับ “นาซิกาบูดาระ” ของพี่น้องชาวไทยมุสลิม คือ “ข้าวยำโจร” จะใส่ขมิ้นทำให้ได้ความเป็นเอกลักษณ์และรสชาติที่แตกต่างออกไป