ชาวพุทธ-ชุมชนชาวมอญที่ยะลา ร่วมตักบาตรออกพรรษาที่วัดถ้ำ สืบสานประเพณีชักพระ ขณะที่คนเบตงพร้อมใจตักบาตรเทโว ร่วมงานประเพณีชักพระ 2 แผ่นดินกับชาวพุทธในมาเลเซียสุดยิ่งใหญ่
วันอังคารที่ 11 ต.ค.65 เป็นวันออกพรรษา ที่ จ.ยะลา พุทธศาสนิกชนและชุมชนชาวมอญในพื้นที่ร่วมสืบสานประเพณีที่วัดคูหาภิมุขหรือ วัดถ้ำยะลา โดยมีนายอำนาจ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัด นำชาวพุทธในพื้นที่ ต.หน้าถ้ำ และตำบลใกล้เคียงร่วมตักบาตรเทโว ข้าวสาร อาหารแห้ง ดอกไม้ และปัจจัย เพื่อสืบทอดประเพณีสำคัญทางพุทธศาสนา ปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้รู้จักการทำบุญ ขณะที่ผู้สูงอายุและชุมชนชาวได้ร่วมกิจกรรม สร้างความสมัครสมานสามัคคี ลดอบายมุข และหันหน้าเข้าวัด
กิจกรรมตักบาตรเทโว ยังเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของชุมชนตำบลหน้าถ้ำ โดยทางวัดได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หน้าถ้ำ ร่วมกับสภาวัฒนธรรมตำบล จัดพื้นที่คล้ายๆ นิทรรศการขึ้นมา มีการจำลองเทวดา นางฟ้า แห่เสลี่ยงพระพุทธรูป นำพระภิกษุสงฆ์เดินลงมาจากถ้ำ รับบิณฑบาตที่บริเวณเชิงบันไดนาค
ขณะที่ตามวัดต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดยะลา เช่น วัดนิโรธสังฆาราม ชาวพุทธร่วมตักบาตรวันออกพรรษาอย่างเนืองแน่น หลังจากเว้นว่างมาหลายปีเพราะการระบาดของโควิด-19
โอกาสนี้ พี่น้องชาวพุทธได้ร่วมพิธีชักพระ โดยทางวัดได้จัดทำเรือพระอย่างสวยงาม เพื่อเข้าร่วมงานชักพระที่เทศบาลบาลนครยะลาจัดขึ้น ที่ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา ระหว่างวันที่ 11-14 ต.ค.65 ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยเข้ม
@@ นายอำเภอเบตงนำชาวบ้านตักบาตรเทโว
ที่วัดพุทธาธิวาส พระอารามหลวง อ.เบตง จ.ยะลา นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง เป็นประธานในพิธีตักบาตรเทโวโรหณะ ในโครงการอนุรักษ์สืบสานและเรียนรู้วัฒนธรรมเทศกาลออกพรรษา เพื่อเป็นการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี วัฒนธรรมตามขนบธรรมเนียมไทย และส่งเสริมความรู้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนให้เล็งเห็นความสำคัญ เกิดความรัก ความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจของคนในท้องถิ่น ชุมชนต่างๆ เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ตลอดจนเพื่อให้พุทธศาสนิกชนออกมาร่วมทำบุญ บำรุงศาสนาให้เจริญสืบไป
กิจกรรมนี้มี นายสกุล เล็งลัคน์กุล นายกเทศมนตรีเมืองเบตง หัวหน้าส่วนราชการ และพุทธศาสนิกชน เข้าร่วมอย่างเนืองแน่น
สำหรับประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ ตามพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพระมารดา เมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จึงเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ประชาชนพากันไปต้อนรับพระพุทธองค์ และทำบุญตักบาตรอย่างเนืองแน่น ซึ่งมีชาวพุทธส่วนหนึ่งได้คิดค้นการห่อข้าวต้มลูกโยน เพื่อให้สามารถใส่บาตรในระยะไกลได้อย่างแม่นยำ แล้วได้นำข้าวต้มลูกโยนไปทำบุญใส่บาตรในวันเทโวโรหณะ ฉลองการเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์ของพระพุทธเจ้าด้วย จึงถือเป็นประเพณีปฏิบัติกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน
@@ งานประเพณีชักพระ 2 แผ่นดิน สุดคึกคัก
ขณะเดียวกัน บรรดาเรือพระจากวัดใน อ.เบตง และวัดตาเซะ รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย จำนวน 12 ลำ ได้ทยอยเคลื่อนขบวนเรือพระ ไปตามถนนภายในเขตเทศบาลเมืองเบตง สู่พื้นที่การจัดงานประเพณีชักพระ ที่บริเวณสวนน้ำและหน้าอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ โดยมี พ.จ.ท.อนันต์ บุญสำราญ ปลัดจังหวัดยะลา พร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายปกครอง และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำพุทธศาสนิกชนชาวไทยและมาเลเซียร่วมกันชักลากเรือพระ
โดยในขบวนมีการประชันการรำกลองยาว รำวงพื้นเมือง มีการแต่งกายเป็นหุ่นทองโย่ง เงาะป่าซาไก สร้างสีสันความสนใจจากประชาชนอย่างมาก รวมถึงมีพี่น้องชนเผ่าลาหู่ที่อาศัยใน อ.เบตง มาร่วมขบวนในครั้งนี้ด้วย ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงอย่างเข้มงวด
นายอำเภอเบตง กล่าวว่า ประเพณีชักพระเป็นประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญของภาคใต้ เป็นประเพณีที่มีการอัญเชิญพระพุทธรูปออกแห่รอบเมืองในวันหลังออกพรรษา
สำหรับงานประเพณีชักพระ 2 แผ่นดินไทย-มาเลเซีย ประจำปี 2565 จัดขี้นระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค. เพื่อสืบสานอนุรักษ์ประเพณีชักพระ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาชนและกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจและกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ พร้อมทั้งได้ร่วมทำบุญเรือพระ เพื่อความเป็นสิริมงคล