“มะตะบะ” เกือบ 50 ร้าน และไก่อบ ไก่หมุนอีกสิบกว่าร้าน ยึดทำเลย่านชุมชนปูยุด ขายตลอดเดือนรอมฎอน แต่ละร้านสร้างรายได้นับแสนบาท
แม้เศรษฐกิจกำลังฝืดเคือง สินค้าแทบทุกอย่างถีบราคาสูงขึ้น แต่อาหารก็ยังเป็นสิ่งที่ผู้คนต้องการทุกวัน ยิ่งเดือนรอมฏอนยิ่งเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ทั้งไก่ ปลา เนื้อ และอาหารทะเล
อาหารปรุงสำเร็จบางอย่าง เช่น ไก่อบ ไก่หมุน ก็ไม่ได้มีให้ทานมากมายนักในเดือนอื่นๆ หากแต่ในเดือนนี้จะมีให้เลือกทานตามชอบ
@@ มะตะบะปูยุด...สูตรลับความอร่อยครึ่งศตวรรษ
ห่างจากเมืองตานีไปราว 10 กิโลเมตร ถิ่นนี้คือ “ชุมชนปูยุด” ชุมชนมุสลิมชานเมืองของอำเภอเมืองปัตตานี ที่นี่ขึ้นชื่อในการทำและขาย “มะตะบะ” ที่เป็นอาชีพและรสชาติเฉพาะถิ่นมาเนิ่นนาน ขายกันหน้าบ้านเป็นส่วนใหญ่ เป็นที่รู้กันว่า “ถ้าไม่ได้กินมะตะบะ มาไม่ถึงปูยุด”
“มะตะบะ” ที่นี่แผ่นบาง มีทั้งไส้เนื้อ ไส้กล้วย หอมใหญ่หั่นซอย เป็นสูตรเฉพาะตัวของแต่ละร้าน
ในวันปกติ ร้านมะตะบะที่มีทั้งสองฟากฝั่งถนน เปิดขายหน้าบ้านเรียงกันไปเป็นระยะหลายสิบร้าน มีห่อมะตะบะที่ทอดเสร็จตั้งเรียงให้เห็นเป็นที่สังเกตได้ง่าย พร้อมป้าย “มะตะบะ” และ “มะตะบะเจ้าเก่า”
ในเดือนรอมฎอนของทุกปี ทุกร้านพร้อมใจกันเปิดทำการกันตั้งแต่ 8 โมงเช้า ห่อมะตะบะวางเรียงกันเป็นตับ หาซื้อกันได้ง่ายกว่าเดือนอื่นๆ มีร้านขาจรมาเปิดขายอีกหลายร้าน เพราะเดือนนี้เป็นช่วงเวลาทองของผู้ประกอบการ บางร้านทำรายได้วันละหลายหมื่นบาทเลยทีเดียว
“มะตะบะไม่เหมือนโรตี เพราะโรตีไม่มีไส้ ความที่มีไส้ที่สุก ทำให้ยากต่อการคงคุณภาพเหมือนต้นตำรับ อย่างหอมใหญ่ก็ต้องใส่ช่องแช่แข็ง เพราะจะทำให้ไม่มีกลิ่น ต้องเก็บดีๆ เนื้อวัวก็ต้องใช้เนื้อสันหลังที่ไม่มีมัน ลูกค้าประจำเขาทำงานต่างจังหวัด ซื้อไปทีละ 30-40 ลูก ไปใส่ตู้เย็นไว้ เวลาจะกินก็เอาไปอุ่น ทำให้ได้มีมะตะบะกินตลอด”
เป็นเรื่องราวจาก “เสาะ” ลูกสาวของ “ครูเซ็ง” เจ้าของสูตรมะตะบะที่ใครๆ ต่างติดใจ บอกเล่าถึงมะตะบะของร้านเธอที่มีลูกสาวคนสุดท้องสืบทอดความอร่อย เป็นเรี่ยวแรงดูแลและปรุงรสชาติถูกปากให้กับลูกค้าอยู่ทุกวัน
ขณะที่หลายร้านมะตะบะเงียบเชียบ แต่ร้านของ “เสาะ” มีลูกค้ายืนรอเต็มหน้าร้าน เมื่อถามถึงรายได้ในแต่ละวันในเดือนรอมฎอน เสาะบอกว่าวันที่มีลูกค้ามาก รายได้ก็สูงทีเดียว แต่ไม่ขอบอกเป็นจำนวนเงิน เป็นรายได้ที่ดีมากๆ ในเดือนนี้ และคงทอดมะตะบะขายไปจนกว่าจะทำไม่ไหว
ติดกับร้านเสาะ คือร้านของ “เมาะจิ” เธอสืบทอดสูตรของ “ครูเซ็ง” เช่นกัน เปิดขายมาหลายปี เดือนนี้ในแต่ละวันขายได้ประมาณวันละ 500 แผ่น แผ่นละ 10 บาท รวมรายได้ถือว่าดีมากเช่นกัน ซึ่งจะทอดขายกันทั้งเดือน ค่อยหยุดหลังจากเดือนนี้
“สูตรเดียวกันกับครูเซ็งเพราะเป็นญาติกัน ปกติขายทุกวัน เดือนนี้ลูกค้าเยอะมาก แผ่นธรรมดา 10 บาท พิเศษ 30 บาท ตอนเย็นลูกค้าจะมารอเยอะมาก เพราะได้มะตะบะร้อนและอุ่นไปทันเปิดบวชได้อร่อย” เมาะจิ กล่าว
ร้านที่ต้องมีบัตรคิว คือ “กะดะห์มะตะบะ” ของ พารีดะห์ สะแลแม ขายมา 30 กว่าปี เดือนนี้ต้องมีบัตรคิว ขายทุกวันทั้งเดือน ขายได้วันละประมาณ 75 กิโลกรัม แผ่นละ 10 บาทเช่นกัน ขายมา 30 กว่าปี ช่วงเดือนปกติขายทุกวัน วันละ 20 กิโลฯ แต่เดือนรอมฎอนขายได้มากกว่าเดิมเกือบ 4 เท่า คูณรายได้เดือนนี้แล้วต้องบอกว่ามากกว่าขายทั้งปี
@@ ไก่อบ-ไก่หมุน...วิ่งวุ่นย่างไม่พอขาย
สิบกว่าปีที่ผ่านมา “ไก่อบโอ่ง-ไก่หมุน” เป็นอาหารประจำเดือนรอมฎอนเช่นกัน ขายกันจริงจังในย่านปูยุด บางรายขายได้วันละเป็นร้อยตัว สร้างรายได้อย่างงาม และความต้องการของลูกค้ามีสูง
“ขายได้วันละ 80-100 ตัวทุกวัน ขายกันทั้งเดือน ขายเฉพาะเดือนนี้ รายได้ดีมาก เวลาปกติทำงานประจำ” วันสุไลมาน แวสุหลง เจ้าของร้านไก่หมุนปูยุด ใกล้ตลาดนัดปูยุด บอกถึงยอดขายของเขา
วันสุไลมานและสมาชิกในครอบครัวจะเตรียมไก่สดพร้อมเครื่องหมักทุกเช้า หมักเตรียมไว้ ก่อนเที่ยงเขาจะมาตั้งเตา เสียบไก่ ราวละ 6 ตัว ใช้สองเตา แต่ละตัวใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในการหมุนให้สุกด้วยมอเตอร์และถ่าน หมุนไปขายไป ลูกค้ามารอและสั่งไว้ตลอดเวลา จนถึงหกโมงเย็น ไก่หมุนก็หมด
“เราขายมาปีนี้เป็นปีที่ 16 ก่อนนี้ช่วยที่บ้านขายกันในซอยตรงข้ามที่ขายตอนนี้ ปีนี้ย้ายออกมาขายริมถนนข้างตลาดนัด ลูกค้าหาง่ายขึ้น บางวันขายได้ถึง 100 ตัว ตัวละ 180 บาท ใช้ไก่สดทุกวัน ถ้าขายไม่หมด เราไม่เอามาขายต่อ เพราะถ้าเจอแค่ตัวเดียวจะทำให้ติดค้างใจลูกค้าไปเลย รวมทั้งรสเด็ดของน้ำจิ้มที่ร้าน ที่แม้ไก่หมด ลูกค้าก็ยังขอน้ำจิ้มไปทาน
“ปีนี้ราคาขึ้นทั้งไก่ ขึ้นกิโลละเป็นสิบบาท ถ่านเป็นกระสอบละ 400 บาท แต่ขายราคาเดิมมาหลายปี คือตัวละ 180 บาท รายได้ก็มากกว่าขายทั้งปี” วันสุไลมาน กล่าว
พ่อค้าไก่หมุน บอกด้วยว่า เดือนนี้เป็นเดือนที่มุสลิมทานไก่อบ ไก่หมุนกันจำนวนมากเพราะเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีที่ชดเชยพลังงานจากการถือศีลอดมาทั้งวัน