ล่วงเข้าปีที่ 3 ของสถานการณ์โควิด-19 การแพร่ระบาดที่กินเวลายาวนานซ้ำเติมชีวิตของผู้คนที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมาก
เพราะนอกจากความยากจนและความไม่สงบที่ต้องเผชิญในฐานะเป็นปัญหาพื้นฐานของดินแดนปลายด้ามขวานไปแล้ว พี่น้องที่นั่นยังต้องมาเจอกับปัญหาด้านสาธารณสุขที่ยืดเยื้อ ถูกสั่งปิดเมือง ปิดกิจการ ทำมาหากินไม่ได้ หลายครอบครัวล้มทั้งยืน
การช่วยเหลือของภาครัฐเป็นไปอย่างล่าช้า และไม่ทันการณ์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิกฤติครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ทำให้กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมต้องช่วยทำหน้าที่ทดแทนส่วนที่ขาด
กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ ซึ่ง “ทีมข่าวอิศรา” เคยรายงานความเป็นมาและกิจกรรมการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ไปหลายครั้ง วันนี้กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันฯ มี “ศูนย์ฝึกอาชีพ” เพื่อดูแลด้านอาชีพให้กับคนที่ต้องตกงาน ขณะที่คนในกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันฯเอง ก็ทำอาชีพเสริมเพื่อเป็นทุนรอนไปช่วยคนที่ลำบากกว่า
เครือข่ายร่วมด้วยช่วยกันฯ ขยายไปยังกลุ่มสื่อมวลชนในพื้นที่ ตลอดจนผู้มีจิตสาธารณะ ทำให้การทำงานของกลุ่มมีความเข้มแข็งมากขึ้นกว่าเดิม และยังมี “กลุ่มผู้ใหญ่ใจดี” ทั้งจากสมาชิกรัฐสภา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แพทย์ผู้มีน้ำใจจากส่วนกลาง และบุคคลสำคัญจากหลากหลายสาขาอาชีพ จับมือกันสนับสนุนช่วยเหลือ ทำให้กิจกรรมของกลุ่มแผ่ขยายไปในวงกว้าง
สถานการณ์ล่าสุด โควิดระบาดระลอกที่เท่าไหร่ไม่ได้นับ แต่เป็นการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีการแพร่กระจายเชื้ออย่างรวดเร็ว ทำให้ระบบสาธารณสุขในดินแดนชายขอบรับแทบไม่ไหว
ครัวเรือนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่มีสมาชิกหลายคน บางครอบครัวมากกว่า 10 หรืออาจพุ่งไปถึง 20 ชีวิต เมื่อมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในบ้าน จึงทำให้พวกเขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่มีที่กักตัว และมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อทั้งครอบครัว
บ้านใกล้เรือนเคียงก็ร้องเรียนขอความช่วยเหลือ เพราะเกรงว่าโควิดจะแพร่มาถึง ร้องหน่วยงานรัฐไม่ได้ ก็ร้องมาที่เครือข่ายร่วมด้วยช่วยกันฯ ให้ส่งหยูกยา อาหาร ให้กับครอบครัวที่ติดเชื้อ เพื่อไม่ให้ออกมาแพร่เชื้อนอกบ้าน
กลายเป็นวิกฤติชุมชนที่ลุกลามไปทั่ว...
เครือข่ายร่วมด้วยช่วยกันฯ ทำงานประสานมือกับ นิแอ สามะอาลี นักประชาสัมพันธ์ ประจำสำนักประชาสัมพันธ์ จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นเลขานุการคณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิมนุษยชนและรับเรื่องร้องทุกข์ สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ปรากฏว่าตลอดเดือนเศษที่ผ่านมา นิแอและเครือข่ายร่วมด้วยช่วยกันฯ รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) และ 4 อำเภอชอ จ.สงขลา (จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี) รวมๆ แล้วกว่าหมื่นเรื่อง แยกเป็นกลุ่มปัญหาได้ดังนี้
1.ร้องเรียนพฤติกรรมเจ้าหน้าที่รัฐ บุคคลากรของรัฐ และอาสาสมัครของรัฐ จำนวน 4,261 เรื่อง
2.ร้องขอความช่วยเหลือ ปรับปรุงอาหาร การบริหารจัดการในศูนย์กักกันระดับต่างๆ จำนวน 4,537 ราย
3.ร้องขอเครื่องมืออุปกรณ์การเฝ้าระวังและป้องกันโควิด ตลอดจนรถยนต์เพื่อเข้าระบบการรักษา 6,980 ราย
4.ร้องขอความช่วยเหลือ โน้มนาวและจูงใจให้เกิดการรักษา และฉีดวัคซีน จำนวน 6,437 ราย
5.ร้องขอความช่วยเหลือด้านยาสามัญประจำบ้าน และยารักษาโควิดตามอาการ รวมทั้งอาหารแห้ง จำนวน 11,934 ราย
6.ขอความเป็นธรรมเรื่องการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายพลเรือน รวมทั้งข้าราชการการเมืองระดับท้องถิ่น จำนวน 69 ราย
7.เรื่องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องขังในเรือนจำ 15 ราย
8.เรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกโอนเงิน จำนวน 25 ราย
9.นักเรียนร้องเรียนขอให้ช่วยหาที่ฝึกงาน 18 ราย
จะเห็นได้ว่าการร้องขอยารักษาโควิดตามอาการ มีมากที่สุดเกือบ 12,000 ราย นี่คือความเดือดร้อนอันแสนสาหัสของคนในพื้นที่
“กว่า 2 ปีที่โควิดระบาดหนักในพื้นที่ มีพี่น้องร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก ไม่ว่าจะผ่านจิตอาสาของศูนย์พัฒนาอาชีพ กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันฯ และผ่านสื่อที่เปิดรับเรื่องร้องเรียน เรื่องที่เรารับมา หลายเคสไม่ได้อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดด้วยซ้ำ หรือบางเคนก็ไม่ได้เกิดในพื้นที่ เช่น คนยะลาไปประชุมที่เชียงใหม่แล้วติดโควิด ร้องขอความช่วยเหลือ เราก็หาทีมจิตอาสาไปให้ความช่วยเหลือ” นิแอ เล่าถึงการทำงานและเรื่องร้องเรียนจำนวนมากในทุกๆ วัน
สอดคล้องกับ รอกีเยาะ อาบู ประธานศูนย์พัฒนาอาชีพ กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันฯ ที่บอกว่า ตลอดกว่า 2 ปีที่โควิดบุกรุกพี่น้องประชาชน ทำให้ทางศูนย์ฯได้รับเรื่องร้องเรียนในมิติต่างๆทุกวัน กว่า 3 หมื่นเคส ซึ่งก็ได้พยายามช่วยเหลือทั้งหมด ภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน รวมทั้งน้ำใจจากพี่น้องชาวไทยอีกจำนวนมาก
“อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ได้รับการติดต่อให้ความช่วยเหลืออาหารเหลวสำหรับเด็กที่แม่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 16 คน เพียงพอเป็นเวลา 1 เดือน กลุ่มเด็กที่แม่ติดโควิดเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ในพื้นที่ เราได้รับร้องเรียนมาเยอะมาก ยังดีที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดี นอกจากอาหารเหลวแล้ว ยังได้มอบสิ่งของจำเป็นอีกบางส่วนเพื่อนำไปมอบให้กับเด็กๆ และแม่ที่ติดเชื้อโควิด-19 ด้วย” รอกีเยาะ กล่าว
การทำงานแบบ “ปิดทองหลังพระ” ของเครือข่ายร่วมด้วยช่วยกันฯ แม้จะเป็นเหมือน “เสียงเงียบ” แต่ก็ดังก้องไปถึงคนในรัฐบาลที่อยู่ส่วนกลาง อยู่ในทำเนียบรัฐบาล เพราะ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มอบข้าวสาร นมผง ชุดยาสามัญประจำบ้าน ชุด PPE และหน้ากากอนามัย ผ่านทางเทศบาลนครยะลา ทำให้ นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา สมทบเครื่องอุปโภคบริโภค และของใช้ที่จำเป็น เพื่อนำไปมอบให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อนทุกข์ยาก โดยผ่านเครือข่ายของกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันฯ
ที่ผ่านมา สถานีอนามัยประจำตำบลได้ร้องขอความอนุเคราะห์ เครื่องวัดความดันแบบสอด จำนวน 1 เครื่อง และยังมีชาวบ้านขอข้าวสาร อาหารแห้ง และยาสามัญประจำบ้าน อีก 326 ราย
ล่าสุดยังมีชาวบ้านร้องขอความช่วยเหลือเรื่องยารักษาโรค ทั้งที่เป็นของเด็กและของผู้ใหญ่ ข้าวสารอาหารแห้ง และนมผง รวมถึงผู้อมามัยสำหรับเด็กและผู้สูงอายุอีกจำนวนมาก
หลายครั้งความช่วยเหลือก็ไปไม่ทันการณ์ เช่น ชาวบ้านที่ปัตตานีร้องขอถังออกซิเจนสำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่ครอบครัวมีฐานะยากจน หาถังออกซิเจนไม่ได้ จึงติดต่อเข้ามาที่กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันฯ แต่ทางกลุ่มหาอุปกรณ์ให้ผู้ป่วยช้าเกินไป ทำให้ต้องสูญเสียท่ามกลางความเศร้าใจของสมาชิกในครอบครัว และเครือข่ายจิตอาสาฯที่ไม่สามารถหาออกซิเจนต่อชีวิตได้ทัน
สำหรับกิจกรรมของ “กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้” และองค์กรเครือข่าย นอกจากจับมือกับ “กลุ่มผู้ใหญ่ใจดี” จัดงานวันเด็กแบบ “นิวนอร์มอล” หรืองานวันเด็กสัญจร ในพื้นที่ปลายด้ามขวานแล้ว ยังยกคณะเดินทางไปที่ จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อนำสิ่งของจำเป็น ข้าวสาร อาหารแห้ง และเครื่องนุ่งห่ม ไปมอบให้กับผู้ลี้ภัยจากสถานการณ์ความไม่สงบ และการสู้รบในเมียนมาด้วย
แม้จะต่างศาสนิก และต่างภูมิภาคกัน ต้องเดินทางนับพันกิโลเมตร แต่ก็มิอาจขวางกั้นน้ำใจจากพี่น้องชายแดนใต้...
————————————
สำหรับกลุ่มผู้ใหญ่ใจดีที่ร่วมสนับสนุนกิจกรรมของเครือข่ายฯ ร่วมด้วยช่วยกันฯ
กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ - พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4, พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต., พล.ต.ต.อรรถวุฒิ อ่อนทรัพย์ ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4 (ผบก.ตชด.ภาค 4) พ.อ.รณชัย เวียงวงษ์ ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 42 สำนักงานพัฒนาภาค 4 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา, น.ส.ซาราห์ บินเย๊าะ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ, นายชนธัญ แสงพุ่ม หรือ "ดร.เจ๋ง" รองเลขาธิการ ศอ.บต.
กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ - ครอบครัวเตชะไพฑูรย์ นพ.ชัยวัฒน์ - พญ.สุรางคณา เตชะไพฑูรย์ พร้อมด้วยลูกสาวและลูกชาย คุณภัทรตา และ คุณเตชะทัตต์ เตชะไพฑูร, นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา, นายกษิดิศ อาชวคุณ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะคณะกรรมการประสานงานเพื่อสนับสนุนโครงการกองทุนการศึกษา คณะอนุกรรมการสร้างเสริมอาชีพและการออม
น.ส.สุนิสา รามแก้ว ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี, น.ส.กรกฏ รามชัยเดช, ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ จากจุฬาลงกรนณ์มหาวิทยาลัย, นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, น.ส.บุษบงลาวัณย์ พัฒโร และฝ่ายสื่อมวลชน สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
ภาคเอกชน - นายลุกมัน ลาเต๊ะ ผู้จัดการสาขายะลา, นายธีระเชษฐ์ ประชุม ผู้จัดการเขต 11, น.ส.อัยเสาะ เงาะตาลี ผู้จัดการสาขา, นายดลเหลาะ ชูสวัสดิ์ ผู้จัดการภาค 7 เขต 11, น.ส.สาฟีนะ นาแว ผู้จัดการสาขาปาลัส บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน), นายกันต์พงษ์ ลิ่มกาณจนา ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา
ภาคประชาสังคม - นายฮัสบูเล๊าะ หิเล นายกสมาคมผู้นำอิสลามชายแดนใต้, น.ส.วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง), นายสุริยา ดาโอ๊ะ และร้านค้า ประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้
กลุ่มสื่อสารมวลชน - นายอับดุลหาดี เจ๊ะยอ ข่าวสดยะลา, สำนักข่าวอิศรา, เนชั่นทีวี
กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น - นายศิระ บุญฤทธิ์ และ นายอับดุเลาะ หวังหนิ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลโคกโพธิ์
กลุ่มผู้บริจาคเพิ่มเติม : คุณฐกร รัตนกมลพร, คุณจันทิมา ภมรบุตร, คุณจำเนียร รัตนมณี, คุณยุทธภูมิ รัตนมณีฅ, คุณปริญญากร สามัคคี, คุณขวัญเรือน สุขศาสตร์ศิริ, คุณอมรรัตน์ ครองมณีรัตน์, คุณวัลลภา เทิดธรรมสถาพร, คุณทัศนีย์ โพธิถาวรนันท์, คุณวรรณา ชมแก้ว, คุณจุไร ตระกูลนิตย์, นายภวินท์สรรค์ องอาจพสุ, คุณหมวย หรือ ซีนตีคอรีเยาะ อูเซ็น, คลองเตยดีจัง, คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม