มีรายงานจากฝ่ายความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า มีการยิงเลเซอร์ หรือฉายข้อความจากเครื่องโปรเจคเตอร์ บริเวณอาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถนนสิโรรส ในเขตเทศบาลนครยะลา และมีการถ่ายภาพนำไปแชร์ในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะไลน์กลุ่มต่างๆ ในพื้นที่
อาคารนี้เดิมเป็นอาคารโรงแรมชางลีที่ถูกทิ้งร้างเพราะสถานการณ์ความไม่สงบ ต่อมาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ซื้อมาปรับปรุงเพื่อใช้เป็นศูนย์รวมของส่วนราชการทุกหน่วยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาท เพิ่งปรับปรุงเสร็จเมื่อปีที่แล้ว โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารเมื่อวันที่ 7 ส.ค.62 แต่ที่ผ่านมามีเพียงไม่กี่หน่วยงานเท่านั้นที่ไปร่วมใช้สถานที่ ทำให้พื้นที่อาคารส่วนใหญ่เป็นที่ทำการของ ศอ.บต. และในความรับรู้ของประชาชนทั่วไปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เข้าใจว่าอาคารหลังนี้เป็นสำนักงานแห่งใหม่ของ ศอ.บต. (อ่านประกอบ : เสร็จแค่ครึ่งอาคาร! ศูนย์บริหารราชการภาคใต้ตอนล่าง...อดีตโรงแรมร้างชางลี)
ภาพการยิงเลเซอร์หรือฉายข้อความจากเครื่องโปรเจคเตอร์ที่มีการแชร์กันนี้ มีอยู่ 3 ภาพ 3 ข้อความ คือ #หยุดเขตอุตสาหกรรมจะนะ #ทบทวนโครงการใหม่ และ #ปกป้องทะเล
จากภาพที่ปรากฏ สันนิษฐานได้ว่าเหตุการณ์ฉายข้อความเกิดขึ้นในเวลากลางคืน แต่ไม่ทราบวัน-เวลาที่แน่ชัด ส่วนนัยของข้อความทั้งหมดเป็นการคัดค้านโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่ง ศอ.บต.เป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อให้ อ.จะนะ เป็น "เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคัง ยั่งยืน" ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และ ศอ.บต.มุ่งใช้แนวทางการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบและปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ โดย อ.จะนะ เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาลำดับที่ 4 ต่อเนื่องจาก 3 เมืองแรก คือ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
โครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ ตามแผนที่วางไว้จะมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่รองรับอุตสาหกรรมหนัก มีท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 โรงไฟฟ้า และโครงการถนนกับทางรถไฟ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 พ.ค.63 กลุ่มที่คัดค้านโครงการนี้ ทั้งภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ และนักวิชาการ ได้เคลื่อนไหวรวมตัวกันยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อให้ ศอ.บต.ล้มเลิกการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 14-20 พ.ค. โดยอ้างว่าเป็นกระบวนการที่รวบรัด และขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการนี้ เพราะมีการเสนอ ตัดสินใจ และออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีโดยที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่รู้เรื่อง
ต่อมา ศอ.บต.ได้ประกาศเลื่อนการจัดเวทีออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่ก็มีกลุ่มประชาชนที่อ้างตัวเป็นคนในพื้นที่เช่นกัน ออกมารวมตัวกันสนับสนุนโครงการ พร้อมยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาให้เร่งจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน เพื่อให้คนในพื้นที่ตัวจริงได้พูดบ้าง (อ่านประกอบ : นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไฟสุมขอนรอวันปะทะ?)
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีความชัดเจนว่าการยิงเลเซอร์หรือฉายข้อความที่มีนัยคัดค้านโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ เกี่ยวข้องกับกลุ่มที่ออกมาคัดค้านโครงการหรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่กำลังเร่งตรวจสอบ
มีการตั้งข้อสังเกตว่า วิธีการสื่อสารหรือสร้างกระแสโดยการยิงเลเซอร์หรือฉายข้อความจากเครื่องโปรเจคเตอร์ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ แบบนี้ มีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ "คณะก้าวหน้า" หรืออดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ที่โดนยุบพรรคไป เคลื่อนไหวสร้างกระแส "#ตามล่าหาความจริง" ในโอกาสครบรอบ 10 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 53 โดยมีการยิงเลเซอร์แล้วถ่ายภาพนำไปขยายผลในโซเชียลมีเดียจนเป็นข่าวดังในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ตำรวจกำลังพยายามรวบรวมพยานหลักฐาน แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าการกระทำนี้ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายจนสามารถดำเนินคดีได้หรือไม่
เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ที่กระทำการยิงเลเซอร์ข้อความคัดด้านโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ เลือกฉายข้อความไปที่อาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสิโรรส ใจกลางเมืองยะลา โดยไม่ไปฉายข้อความที่อาคารสำนักงานใหญ่ของ ศอ.บต. บนถนนสุขยางค์ อ.เมืองยะลาเช่นกัน คาดว่าเป็นเพราะอาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งอยู่ในที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน ทำให้สะดวกต่อการดำเนินการมากกว่า เพราะไม่เป็นที่ผิดสังเกต ส่วนอาคารสำนักงานใหญ่ของ ศอ.บต.ตั้งอยู่นอกเมือง เป็นพื้นที่ค่อนข้างเปลี่ยว และต้องผ่านด่านตรวจ เนื่องจากบริเวณด้านหน้าสำนักงานใหญ่ ศอ.บต.เพิ่งถูกลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์ เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : ระเบิดหน้า ศอ.บต.ขณะถกสู้โควิด เจ็บระนาว) หากไปทำอะไรลับๆ ล่อๆ บริเวณนั้นอาจถูกเจ้าหน้าที่จับกุมได้
-----------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
ภาพชุดที่ 1 เปรียบเทียบบริเวณหน้าอาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเวลาปกติ กับช่วงเวลาที่มีการฉายแสงเป็นข้อความ
ภาพชุดที่ 2 ภาพการฉายแสงข้อความคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งแชร์กันในโซเชียลมีเดีย