ช่วงนี้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มและองค์กรต่างๆ รวมทั้งนักศึกษาอย่างคึกคัก โดยมีประเด็นเคลื่อนไหวหลักๆ 2 ประเด็น
หนึ่ง คือ คัดค้านกรณีที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ส่งตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (ยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง) กับแกนนำ 7 พรรคฝ่ายค้าน นักวิชาการ และภาคประชาสังคมที่ร่วมเวทีรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันเสาร์ที่ 28 ก.ย.62 และมีข้อเสนอบนเวทีให้แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ซึ่งฝ่ายทหารมองว่ากระทบกับความมั่นคงของชาติ
สอง คือ เรียกร้องให้มีการสอบสวนและสั่งย้ายผู้ที่เกี่ยวข้องกับแถลงการณ์ของ นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา ที่ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ต.ค.62 โดยอ้างว่าถูกผู้พิพากษาที่เป็นผู้บังคับบัญชาแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดี
คนส.ชี้ทหารก้าวก่ายพื้นที่พลเรือน
เริ่มจากกรณีแรกก่อน ดร.เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) และ ดร.อัญธิฌา แสงชัย อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี พร้อมด้วยตัวแทนนักวิชาการของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ คนส. และนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี จำนวน 20 คน เดินทางไปที่ สภ.เมืองปัตตานี เพื่อยื่นแถลงการณ์คัดค้านการดำเนินคดีกับแกนนำ 7 พรรคฝ่ายค้าน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ที่ร่วมเวทีรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมี พ.ต.อ.ญาณพงศ์ อุบลบาน ผู้กำกับการ สภ.เมืองปัตตานี ออกมารับหนังสือ
ดร.เอกรินทร์ อ่านแถลงการณ์สรุปว่า
1. การเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้อยู่ในครรลองประชาธิปไตยมากขึ้น เป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ รัฐควรเปิดโอกาสและให้เสรีภาพทางความคิด
2. การอภิปรายเพื่อให้ได้มาซึ่งฉันทามติย่อมครอบคลุมทุกส่วนของรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การอภิปรายยังอยู่ในครรลองของการใช้เสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง แม้จะเป็นการใช้เสรีภาพเพื่อวิพากษ์บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็ตาม เพราะไม่มีหลักการใดสูงส่งกว่าหลักอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
3. เมื่อการอภิปรายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเป็นเสรีภาพทางความคิดและได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ การนำบทบัญญัติของกฎหมายอาญามาจำกัดเสรีภาพจึงต้องกระทำอย่างระมัดระวังและไม่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งข้อเท็จจริงชัดเจนว่าการอภิปรายบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอย่างสันติวิะ ไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 116 การแจ้งความดำเนินคดีในข้อหานี้จึงถือเป็นการบิดเบือนการใช้กฎหมายอาญาเพื่อสร้างความเกรงกลัวและข่มขู่ประชาชน เข้าลักษณะเป็นการใช้การฟ้องคดีเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือ SLAPP
4. คนส. เห็นว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้ กอ.รมน.ได้ขยายบทบาทของตนเข้าสู่พื้นที่ของพลเรือน ทำให้การอภิปรายเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลายเป็นประเด็นความมั่นคง และเปิดโอกาสให้กองทัพสามารถเข้ามาแทรกแซงในประเด็นที่ต้องการได้ สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของกองทัพที่มีเหนือการเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง
จากเหตุทั้งหมดนี้ คนส. จึงมีข้อเสนอต่อสถาบันในกระบวนการยุติธรรมและสังคมไทย สรุปว่า
1. องค์กรชั้นต้นในกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ พึงแสดงความกล้าหาญและซื่อสัตย์ต่อหลักวิชาชีพด้วยการทำคดีนี้อย่างซื่อตรงและเป็นอิสระจากการชี้นำของผู้มีอำนาจ โดยการสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ตั้งแต่ในชั้นของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ เพื่อไม่ให้การฟ้องคดีเพื่อปิดปากประชาชนประสบผลสำเร็จ
2. สถาบันการศึกษาทางนิติศาสตร์พึงนำกรณีนี้และกรณีอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นการนำกฎหมายปกติที่มีเจตนารมณ์คุ้มครองสังคมมาบิดเบือนในการสร้างความมั่นคงในอำนาจของผู้ปกครองและกำจัดฝ่ายที่เห็นต่าง มาเป็นกรณีศึกษาในการเรียนการสอน
3. สังคมไทยควรตระหนักถึงอันตรายจากการให้สถาบันทางทหารเข้ามาก้าวก่ายในกิจการของพลเรือน โดยเฉพาะในพื้นที่ทางการเมืองซึ่งควรเปิดกว้างทางความคิดเห็นและปลอดจากความเกรงกลัวในผลกระทบใดๆ และช่วยกันผลักดันให้ทหารออกไปจากพื้นที่ของพลเรือน กลับไปปฏิบัติภารกิจหลักของตนดังเช่นทหารอาชีพในนานาอารยประเทศที่ยึดมั่นในหลักอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
ผู้กองปูเค็มโผล่ - ลั่นห้ามแตะมาตรา 1
ในช่วงที่คณะอาจารย์และนักศึกษากำลังอ่านแถลงการณ์อยู่นั้น ปรากฏว่า ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือ "ผู้กองปูเค็ม" นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และอดีตนายทหาร ได้เดินทางมากับคณะ 4-5 คน เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ของกลุ่มอาจาารย์และนักศึกษา ด้วยการเปล่งเสียงดังลั่นว่า "ไม่แก้มาตราที่ 1 ไม่แบ่งแยกแผ่นดิน"
เมื่อคณะอาจารย์และนักศึกษายื่นหนังสือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้กองปูเค็มยังเดินเข้าไปหากลุ่มนักศึกษา เพื่อต่อว่าพร้อมตั้งคำถามว่า ที่มาเคลื่อนไหวในวันนี้เพราะเป็นตัวแทนแนวร่วมของขบวนการ หรือตัวแทนกลุ่มเปอร์มัสใช่หรือไม่
นายฟาห์เรนน์ นิยมเดชา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี จึงกล่าวตอบโต้ว่า "อย่ามาปรักปรำพวกเราว่าเป็นแนวร่วม พวกเราไม่ใช่แนวร่วม วันนี้ที่เรามาร่วมแถลงการณ์ เรามาให้กำลังใจอาจารย์ ไม่มีการพูดถึงกลุ่มการเมืองใดกลุ่มการเมืองหนึ่งเป็นหลัก พวกเราเชื่อว่าเสรีภาพในการพูด ไม่ว่ามาตราไหนก็แล้วแต่ ในทางวิชาการยังมีโอกาสแสดงออกได้ ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เรื่องนี้เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล"
นักศึกษา ม.อ.แห่ให้กำลังใจ อ.อสมา
นอกจากที่ สภ.เมืองปัตตานีแล้ว ยังมีการรวมตัวกันของนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี นับร้อยคน ที่อาคารเรียนรวม 19 เพื่อเปิดกิจกรรม แสดงเจตจำนง และแสดงออกการมีส่วนร่วมร่วมเรื่อง "รัฐธรรมนูญและความเป็นประชาธิปไตย" พร้อมให้กำลังใจและมอบช่อดอกไม้แด่ อาจารย์อสมา มังกรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ที่ถูก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ด้วย
อาจารย์อัสมา กล่าวสั้นๆ เพื่อขอบคุณนักศึกษาที่มาให้กำลังใจ และบอกว่านักศึกษาได้แสดงพลังแห่งการแสดงออกตามครรลองประชาธิปไตยที่ถูกต้องแล้ว แต่เจ้าตัวปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่องคดีความ
มูลนิธิผสานฯ จี้สอบปมผู้พิพากษาคณากร
อีกเรื่องหนึ่ง คือเหตุการณ์ยิงตัวเองของผู้พิพากษาคณากร และมีการออกแถลงการณ์ล่วงหน้าเอาไว้ว่าถูกแทรกแซงการพิพากษาคดี ทำให้ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้
เรื่องนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ย้ายบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคำแถลงของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ และตรวจสอบอำนาจพิเศษในทุกรูปแบบที่ส่งผลการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
ข้อเรียกร้องในรายละเอียด ระบุว่า
1. ขอให้มีคำสั่งย้ายบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคำแถลงนี้โดยเร็ว เพื่อให้เกิดการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระจากหน่วยงานภายในที่พึงมีบุคลากรจากภายนอกของศาลยุติธรรมเข้าร่วมด้วย โดยให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายเพื่อให้ได้ความจริงและแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์การแทรกแซงความเป็นอิสระของตุลาการเช่นนี้อีก
2. ขอให้มีการตรวจสอบอำนาจพิเศษในทุกรูปแบบที่ส่งผลต่อการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งในคดีความมั่นคงและคดีอาชญากรรมปกติ เช่น การตั้งข้อหาเกินจริง การควบคุมตัวบุคคลโดยอำนาจกฎอัยการศึกแล้วนำตัวมาเป็นพยานในคดีอาชญากรรม การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยคดีอาชกรรมและซักถามด้วยอำนาจกฎหมายพิเศษก่อนการทำสำนวนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ ฯลฯ รวมทั้งการมีคำสั่งให้เขียนคำพิพากษาให้ขังระหว่างอุทธรณ์ หากไม่ยอมเปลี่ยนจากคำพิพากษายกฟ้องให้เป็นลงโทษ เป็นต้น
3. บทเรียนครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ระบบตุลาการของไทยและระบบศาลยุติธรรม โดยการนำของประธานศาลฎีกาท่านใหม่ด้วยว่า เราไม่อาจข้ามผ่านปรากฏการณ์ไปได้ด้วยคำชี้แจงว่ากรณีของผู้พิพากษาคณากรเป็นเรื่องส่วนตัว รวมทั้งต้องตรวจสอบการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมและนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุง และต้องไม่ทำให้เรื่องนี้จบลงท่ามกลางความสับสนและการสูญเสียความเชื่อมั่นต่อระบบตุลาการที่เป็นที่พึ่งสุดท้ายประชาชน
--------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
ผู้พิพากษาศาลยะลายิงตัวเองหน้าบัลลังก์ หลังยกฟ้องคดีความมั่นคง
เปิดสำนวนคดีชนวนเหตุผู้พิพากษายะลายิงตัวเอง
ชง ก.ต.สอบปมผู้พิพากษาศาลยะลายิงตัวเอง
คลี่ 4 ปมคำแถลง"ผู้พิพากษาคณากร" กับข้อสังเกตชนวนเหตุยิงตัวเอง
เตือนเลิกตรวจคำพิพากษาผลร้ายหนักกว่า - แฉยิงกระสุนซ้อมก็ตายได้
กระสุนซ้อมหรือจริง...โดนยิงจุดสำคัญก็ตาย!