วันที่ 10 ธันวาคม ตรงกับวันรัฐธรรมนูญ
ปีนี้ประเทศไทยของเรามีรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยมาแล้ว 92 ปี แต่ดูเหมือนทั้งอย่างจะยังลุ่มๆ ดอนๆ ทั้งๆ ที่เกือบจะครบ 1 ศตวรรษอยู่รอมร่อ
แม้แต่ “วันรัฐธรรมนูญ” ก็ดูกร่อยๆ ชอบกล...
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักรัฐศาสตร์ และนักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง เขียนบทความสะท้อนปัญหาของรัฐธรรมนูญและการเมืองไทย ในวาระ “วันรัฐธรรมนูญ”
@@ วันรัฐธรรมนูญอีกแล้วหรือ! @@
วันรัฐธรรมนูญไทยเดินทางมาครบรอบอีกครั้งแล้ว แต่ก็ดูจะเป็นการเดินทางมาถึงวาระครบรอบในปี 2567 อย่างอ้อยอิ่ง และไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น
ภาวะเช่นนี้ทำให้อดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า วันรัฐธรรมนูญจะมีความหมายก็ต่อเมื่อการเมืองไทยไม่มีรัฐธรรมนูญ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ความหมายและคุณค่าสำคัญเกิดจากภาวะ “ไร้รัฐธรรมนูญ” อันเป็นผลของการเมืองในยุคหลังรัฐประหาร
แต่เมื่อการเมืองก้าวเข้าสู่สภาวะที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หลังจากเกิดการเลือกตั้งแล้ว เสียงเรียกร้องเรื่องรัฐธรรมนูญดูจะอ่อนแรงลง เพราะไม่ว่ารัฐธรรมนูญที่มีอยู่จะดีหรือไม่ … จะถูกใจเราหรือไม่ แต่อย่างน้อยการเมืองไทยมีรัฐธรรมนูญที่ผ่านกระบวนการร่างเป็นกฎหมายแม่บท ไม่ใช่ในแบบของ “ธรรมนูญการปกครอง” ที่มีสภาพเป็นรัฐธรรมนูญของคณะทหาร เนื่องจากรัฐธรรมนูญดังกล่าวถูกร่างเพื่อรองรับการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารเป็นด้านหลัก
ถ้าเช่นนั้นแล้ว หากการเมืองไทยสามารถหลุดพ้นจาก “วงจรรัฐประหาร” ได้จริง เราอาจต้องช่วยกันคิดกันจริงๆ ว่า เราจะฉลองวันรัฐธรรมนูญอย่างไรให้มีความหมายและคุณค่ากับกระบวนการสร้างประชาธิปไตยที่จะเกิดในอนาคต
มิเช่นนั้น วันรัฐธรรมนูญจะเป็นเพียง “วันหยุดประจำปี” อย่างที่เราทั้งหลายได้หยุดนอนเล่นอยู่บ้านอีกวันหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม บทความนี้อาจจะไม่มีคำตอบที่จะนำเสนอว่าในวาระที่ไม่มีรัฐประหารนั้น เราจะฉลองรัฐธรรมนูญกันใหม่อย่างไร และแน่นอนว่าคงไม่ใช่เป็นเพียงการจัด “งานรำลึก” ที่มีลักษณะเป็น “งานประจำปี” ตามปฏิทินราชการไทย
ในอีกด้านหนึ่ง ในการเมืองที่ไม่ใช่ยุครัฐประหารนั้น ความสนใจของผู้คนต่อการเปิดประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ชวนฟังมากเช่นในยุครัฐบาลทหาร เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่มี “รัฐธรรมนูญจริง”
ภาวะเช่นนั้นส่งผลให้ “วันรัฐธรรมนูญ” เป็นวาระของการจัดเวทีการเมืองเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ระบอบทหารได้ดีที่สุด เนื่องจากระบอบรัฐธรรมนูญในอีกมุมหนึ่งนั้น มีนัยโดยตรงถึงการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง
ฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า วันรัฐธรรมนูญคือ “วันวิจารณ์รัฐบาลทหาร” ในตัวเอง และเป็นวันที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านและ/หรือฝ่ายต่อต้านสามารถหยิบฉวยวันนี้มาใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารได้เป็นอย่างดี
กระนั้น มีปัญหาอีกส่วนที่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับของการเมืองไทย ล้วนแต่เป็นผลผลิตของคณะรัฐประหารเกือบทั้งสิ้น หากพิจารณาในช่วงเวลาของยุคใกล้ปัจจุบันแล้ว จะเห็นได้ว่ามีเพียง “รัฐธรรมนูญ 2540” เท่านั้น ที่ไม่ได้มาจากการร่างของคณะรัฐประหาร …
ฉบับปี 2550 และต่อมาฉบับปี 2560 ล้วนเป็นผลผลิตจากการออกแบบของคณะรัฐประหารอย่างชัดเจน ดังจะเห็นถึง “กลไกและกับดัก” ที่ถูกวางทิ้งไว้ให้กับการเมืองในอนาคต โดยเฉพาะประเด็นเรื่องบทบาทและอำนาจของวุฒิสภากับกระบวนการเมืองไทย
ประกอบกับโดยหลักการทางกฎหมายแล้ว กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องผ่านความเห็นชอบจาก “วุฒิสภา” ซึ่งผลจากการเลือกตั้งวุฒิสภาชุดใหม่ที่เกิดขึ้นในปีปัจจุบัน เป็นคำตอบในตัวเองว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะเป็นเหมือนการเมืองไทยเข้าไปติดอยู่ใน “ถ้ำขุนน้ำนางนอน” ที่ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เท่าใดนัก
ในอีกส่วนหนึ่งก็ออกมารับกับวันรัฐธรรมนูญคือ ความพยายามของพรรคเพื่อไทยที่จะเสนอแก้ไขกฎหมายกระทรวงกลาโหม ซึ่งน่าสนใจว่าจะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม สิ่งนี้เป็นการผลักดันออกมาสอดรับกับช่วงเวลาของวันรัฐธรรมนูญพอดี และมองไม่เห็น “ทางสะดวก” ของการแก้กฎหมายฉบับนี้ เมื่อต้องผ่านวุฒิสภา
สาระของการแก้ไขนั้น ดูจะมีปัญหาและข้อถกเถียงอยู่พอสมควร …
ไม่ว่าประเด็นนี้จะจบ หรือไปต่ออย่างไรก็ตาม แต่ก็เป็นประเด็นที่ชวนให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและนักคิดฝ่ายประชาธิปไตยต้องคิดและให้ความสำคัญกับเรื่องของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพ (หรือที่วิชารัฐศาสตร์เรียกประเด็นนี้ว่า “ความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร”) และทั้งยังต้องพิจารณาประเด็นนี้ด้วยความใคร่ครวญเสมอ เพราะความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพจะเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองในระบอบรัฐธรรมนูญ
โดยหลักการแล้ว ระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ไม่เคยปฏิเสธต่อการดำรงอยู่ของสถาบันกองทัพ เพราะการสร้างทหารอาชีพเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประชาธิปไตย และประเด็นเรื่องกองทัพยังเป็นประเด็นการเมืองที่สำคัญของรัฐธรรมนูญทุกประเทศ และสำคัญยิ่งสำหรับการออกแบบรัฐธรรมนูญไทย
นอกจากนี้ หากมองออกไปนอกบ้านในวันรัฐธรรมนูญไทยปีนี้ เราจะเห็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยจาก 3 เหตุการณ์สำคัญของโลกในปัจจุบัน ได้แก่
1.ความพยายามของประธานาธิบดียุน ซอกยอล ในการประกาศกฎอัยการศึก แต่ก็เป็นกฎอัยการศึกที่มีอายุสั้นมากเพียง 3 ชั่วโมง ส่งผลให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ที่เริ่มต้นในปี 2530 (ค.ศ. 1987) นั้น ไม่สะดุดลง และระบอบรัฐธรรมนูญสามารถดำรงอยู่ต่อไป…
ความเข้มแข็งของรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยของเกาหลีใต้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ
2.การเลือกตั้งในประเทศจอร์เจีย ผลการเลือกตั้งได้ผู้นำที่เป็นสายนิยมรัสเซีย แต่ประชาชนเป็นจำนวนมากต้องการให้ประเทศไปทางสหภาพยุโรป (ไม่ต่างจากการประท้วงในยูเครนก่อนการบุกของรัสเซีย) ถ้าเช่นนั้น จะทำอย่างไรกับอนาคตทางการเมืองของจอร์เจีย เมื่อประชาชน (รวมถึงประธานาธิบดี) มีความเห็นต่างจากผลการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าผลนี้เกิดจากการแทรกแซงของรัสเซีย …
การเมืองภายในกับบริบทของการเมืองภายนอกมีโอกาสที่จะเชื่อมต่อกันได้เสมอ
3.การโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการของ “ระบอบอัล-อัสซาด” ที่ปกครองซีเรียมาอย่างยาวนานถึง 53 ปี จนอาจต้องเรียกว่าเป็น “ฤดูใบไม้ผลิที่ซีเรีย” หรือ “ซีเรียสปริง” แต่ก็ไม่มีใครให้หลักประกันได้ว่า ผลจากการโค่นล้มระบอบเผด็จการแล้ว การเมืองซีเรียในอนาคตจากนี้จะเดินไปในทิศทางใด …
ความฝันของการสร้างประชาธิปไตยยังมีอยู่เสมอ แม้จะไม่มีหลักประกันว่าจะเกิดประชาธิปไตยในซีเรียได้เพียงใด
การนำเสนอเรื่องราวทั้งหมดนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นถึงความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิด
อีกทั้งเป็นการเสนอที่อยากชวนคิดเรื่องงานฉลองวันรัฐธรรมนูญในมิติใหม่ๆ ที่มิใช่เป็นเพียง “งานแซยิด” ประจำปีเท่านั้น!