นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ความร่วมมือกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ได้เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และในตอนนี้ภายใต้ผลกระทบที่คาดเดาได้ จีนกำลังตั้งเป้าที่จะขยายร่มเงาความมั่นคงของตนเข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทยมากขึ้นกว่าเดิมยิ่งไปอีก ถ้าหากมองจากเหตุการณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ข่าวต่างประเทศระดับโลกที่เชื่อมโยงกับประเทศไทยในช่วงเดือนที่ผ่านมา ก็คงหนีไม่พ้นกรณีการที่ไทยส่งตัวชาวอุยกูร์จำนวนมากกว่า 40 คนกลับไปยังประเทศจีน ทำให้เกิดแรงตอบโต้มาจากทางสหรัฐอเมริกา ที่ล่าสุดได้มีคำสั่งให้ดำเนินการคว่ำบาตรกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย และก็ยังไม่อาจจะคาดเดาได้ว่าผลกระทบที่มีต่อไทยจากกรณีนี้ในอนาคตนั้นจะมีอะไรตามมาอีกกันแน่
ทางด้านของนายมาร์ค เอส โคแกน (Mark S.Cogan) ที่ปรึกษาด้านโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และรองศาสตราจารย์ด้านสันติภาพและความขัดแย้งศึกษาที่มหาวิทยาลัยคันไซไกไดซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดโอซาก้าประเทศญี่ปุ่น จึงได้มีการนำเขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับกรณีประเทศไทยว่าสถานการณ์ของไทยนั้นอาจอยู่ภายใต้การแผ่ร่มเงาโดยอ้างความมั่นคงของจีน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอาบทความดังกล่าวมานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
ย้อนไปเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ได้มีการพบปะหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน โดยหนึ่งในหัวข้อการหารือก็คือเรื่องการแพร่กระจายของศูนย์ฉ้อโกงหลอกลวงใกล้กับพรมแดนไทยทั้งในฝั่งของเมียนมา,กัมพูชา และลาว
และจากการที่จีนได้มีแรงกดดันมาเมื่อเร็วๆนี้ ส่งผลทำให้ไทยได้ออกมาตรการหลายอย่างเพื่อมารับมือกับสแกมเมอร์ในพื้นที่ฝั่งเมียนมา มาตรการของไทยก็มีทั้งการคุมเข้มการออกวีซ่า การตัดไฟฟ้า และการตัดเชื้อเพลิงที่เข้าสู่เมียนมา
หลังจากที่ น.ส.แพทองธารได้พบกับประธานาธิบดีสี น.ส.แพทองธารได้ตกลงที่จะคุมเข้มการใช้กฎหมายและมีความร่วมมือกับทางจีนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อดำเนินการจัดการกับวิกฤตอาชญากรรมข้ามพรมแดน รวมถึงการพนันออนไลน์และการฉ้อโกง
อย่างไรก็ตามการที่ไทยได้มีข้อตกลงกับจีนมากยิ่งขึ้นเพื่อจะรับมือกับปัญหาอาชญากรรมข้ามพรมแดน ยังกลายเป็นอันตรายเพื่อว่าไทยอาจจะรับอิทธิพลจากจีนมากขึ้นตามไปด้วย โดยอิทธิพลของจีนนั้นเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาภายใต้โครงการริเริ่มด้านความมั่นคงระดับโลกหรือ GSI ภายใต้การดำเนินงานของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2565
สำหรับ GSI นั้นอ้างว่าได้สร้างกรอบการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศร่วมกันภายใต้กรอบหกประการ ซึ่งรวมถึงการไม่แทรกแซงอธิปไตยซึ่งกันและกัน การเคารพอํานาจอธิปไตยและความเชื่อใน "ความมั่นคงร่วมกัน"
อย่างไรก็ตามเป้าหมายร่วมกันของ GSI ที่ระบุว่าเช่น การแก้ไขความขัดแย้งและภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่แม้จะดูถูกต้อง แต่การปรับโครงสร้างความมั่นคงของภูมิภาคตามแนวของจีนอาจเป็นปัญหาสําหรับประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในวงกว้าง
อดีตนายกรัฐมนตรีไทยหลายคนเคยให้สัมภาษณ์ว่าการที่ไทยและจีนเป็นพี่น้องกันนั้นเป็นสิ่งที่รับรู้กันอยู่แล้ว อดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้เคยเรียกความสัมพันธ์สองชาติว่าเป็นพี่น้องสายเลือดเดียวกัน ซึ่งสิ่งนี้นายกรัฐมนตรีแพทองธารก็ได้ยืนยันถึงคำกล่าวนี้ด้วยการเดินทางไปเยือนปักกิ่งเมื่อเร็วๆนี้
ความพยายามร่วมกันในการปิดปฏิบัติการฉ้อโกงที่แพร่หลายในเมียนมาตะวันออกเป็นการทดสอบความร่วมมือด้านความมั่นคงที่เพิ่มขึ้นนี้ระหว่างไทยและจีน น่าแปลกที่การแพร่กระจายของศูนย์หลอกลวงในเมียนมาซึ่งส่วนใหญ่ดําเนินการโดยขบวนการอาชญากรจีนได้รับการตอบสนองที่ค่อนข้างอ่อนแอจากประเทศไทยในขณะที่ส่วนใหญ่ถูกละเลยโดยรัฐบาลทหารในกรุงเนปิดอว์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
มีแค่ประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์ที่มีดาราจีนเป็นเหยื่อเท่านั้น ที่ทำให้ประเด็นเรื่องการหลอกลวงฉ้อโกงกลายเป็นสิ่งที่ดูน่ากังวล และกลายเป็นเครื่องกระตุ้นให้ทั้งฝ่ายไทยและจีนดำเนินการอีกครั้ง
มีรายงานว่าความกลัวอาชญากรรมหลอกลวงได้ขัดขวางไม่ให้นักท่องเที่ยวชาวจีนมาเยือนประเทศไทยในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งนี้กระทบแง่ลบต่อภาคส่วนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่ประธานาธิบดีสียังคงกังวลเกี่ยวกับการแพร่หลายของอาชญากรรมข้ามชาติ
เรื่องนี้ได้ลามไปสู่ความกังวลที่ว่า น.ส.แพทองธาร ซึ่งต้องการจะเปิดอุตสาหกรรมคาสิโนแบบครบวงจรนั้นจะกลายเป็นสิ่งที่ซ้ำเติมปัญหาเรื่องการฉ้อโกงหลอกลวงหรือไม่
แต่ในขณะที่จีนและไทยต่างก็มีความสนใจที่เห็นจุดจบของของอาชญากรรมฉ้อโกงหลอกลวงที่ดําเนินงานในพื้นที่ชายแดน แต่ภัยคุกคามจากอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนในเรื่องความมั่นคงนั้นมาพร้อมกับค่าใช้จ่าย และเนื่องจากการพึ่งพาทางเศรษฐกิจของไทยกับจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของภาคการท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่สําคัญ จึงเป็นเรื่องยากที่ผู้นําไทยจะปฏิเสธความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
ข่าวสหรัฐฯคว่ำบาตรไทยกรณีอุยกูร์ (อ้างอิงวิดีโอจาก Good Morning News)
โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ไม่นานมานี้ที่นักท่องเที่ยวจีนจำนวนหมื่นคนได้ยกเลิกการมาไทยในช่วงตรุษจีน สิ่งนี้คุกคามเป้าหมายของไทยที่ต้องการจะให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวน 40 ล้านคนในช่วงก่อนสิ้นปี 2568 เป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม มีคำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบเกี่ยวกับความมั่นคงร่วมกันระหว่างไทยและจีน โดยผลกระทบจากความร่วมมือกันของทั้งสองประเทศนี้ไปไกลกว่าแค่ประเด็นเรื่องการปราบปรามศูนย์ฉ้อโกง ลามเข้าไปสู่ประเด็นเรื่องความมั่นคงในด้านอื่นๆ
ยกตัวอย่างเช่น อะไรจะเป็นก้าวต่อไปของความร่วมมือร่วมกัน จะมีหน่วยเฉพาะกิจร่วมระหว่างตำรวจหรือไม่ ซึ่งสิ่งนี้นั้นเคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2566 เมื่อจีน ไทย และเมียนมาได้มีการดำเนินการแบบไตรภาคีเพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์
โดยจีนได้ถือสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไทยซึ่งลงนามในปี 2536 ซึ่งเป็นที่รับรู้กันอย่างดี ดังนั้นความร่วมมือร่วมกันระหว่างจีนและไทยที่มากขึ้น จะหมายความว่าจีนจะเพิ่มอํานาจเหนือผู้ถูกคุมขังชาวอุยกูร์ที่ยังคงถูกคุมขังในประเทศไทยผ่านความร่วมมือที่เข้มข้นขึ้นภายใต้กรอบ GSI หรือไม่
กรณีความร่วมมือกันที่มากขึ้นระหว่างสองชาติ ซึ่งทำให้จีนมีอิทธิพลเหนือผู้ถูกคุมขังในต่างแดนนั้น มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วกับประเทศลาว โดยเป็นกรณีของนายหลู ซีเหว่ย (Lu Siwei) ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนของจีน ที่ปรากฎว่าเขาหนีจากจีนมาลาว แต่ปรากฏว่าเขาถูกส่งตัวกลับไปให้กับทางการจีนอีกครั้งหนึ่ง
ดังนั้นอาจจะพูดได้ว่าตอนนี้ไทยได้กลายเป็นสถานที่ไม่ปลอดภัยไปแล้วสำหรับผู้ลี้ภัย แล้วไทยก็มีความร่วมมือที่มากมายกับกรุงปักกิ่ง ในรูปแบบเดียวกับที่ไทยได้มีความร่วมมือกับเพื่อนบ้าน ดังนั้นนี่จึงตอกย้ำว่าสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยในไทยนั้นเลวร้ายลงไปอีก
ทางการจีนยืนยันว่าได้ปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ตามหลักสิทธิมนุษยชน (อ้างอิงวิดีโอจาก AP)
ในขณะที่จีนแม้จะดูมีความกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงที่ไม่ใช่ภัยคุกคามแบบดั้งเดิม แต่จีนก็ใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการปราบปรามนักวิจารณ์รัฐบาลจีนในต่างประเทศโดยอาศัยนโยบายข้ามชาติข้ามชาติ และจีนก็มักจะประสบความสำเร็ต โดยอาศัยความร่วมมือแบบเชิงรุกหรือเชิงรับกับรัฐบาลต่างประเทศ ความร่วมมือเพิ่มเติมกับรัฐบาลต่างประเทศภายใต้การอ้งร่มเงาของการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติอาจอำนวยความสะดวกในการที่ในอนาคต รัฐบาลประเทศต่างๆจะเนรเทศบุคคลคำขอของจีนมากขึ้นไปอีก เนื่องจากจีนมักอ้างโดยเชื่อมโยงเหตุผลในการใช้มาตรการรักษาความมั่นคงที่เข้มงวดกับกิจกรรมที่คาดว่าจะเป็นการก่อการร้ายตามพรมแดนหลายแห่งของจีน รวมถึงพรมแดนที่ติดกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพรมแดนที่มีช่องโหว่และจัดการได้ยาก
กรุงปักกิ่งเคยกล่าวถึงภัยคุกคามที่ “เชื่อมโยงกัน” ต่อความมั่นคงของตนอยู่บ่อยครั้ง และพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เริ่ม “ให้ความสำคัญเท่าเทียมกันกับความมั่นคงภายในและภายนอก”
จึงอาจสรุปได้ว่านับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ความร่วมมือกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ได้เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และในตอนนี้ภายใต้ผลกระทบที่คาดเดาได้ จีนกำลังตั้งเป้าที่จะขยายร่มเงาความมั่นคงของตนเข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทยมากขึ้นกว่าเดิมยิ่งไปอีก ถ้าหากมองจากเหตุการณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
เรียบเรียงจาก:https://thediplomat.com/2025/02/thailands-cooperation-with-china-on-cross-border-crime-comes-at-a-cost/