“...การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้ ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ...”
หลังจากเขียนตั้งคำถามเกี่ยวกับการออกตั๋วสัญญาใช้เงินมูลค่ากว่า 4,400 ล้านบาทของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเพื่อใช้ชำระค่าหุ้น 9 บริษัทให้แก่มารดา ญาติพี่น้องไป 3 ตอนในทำนองว่า เป็นการทำนิติกรรมอำพราง ‘สัญญาให้หุ้น’เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่
จนบัดนี้ยังไม่มีคำตอบจาก น.ส.แพทองธารหรือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการทำนิติกรรมดังกล่าว
@แค่จ่ายค่าหุ้นหรือนิติกรรมอำพราง? 'แพทองธาร’ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 4,400 ล.ให้ญาติพี่น้อง
@'แพทองธาร' : ตั๋วสัญญาใช้เงิน 4,400 ล.หนี้ปลอม? นิติกรรมอำพราง? เจริญรอยตามผู้พ่อหรือไม่
@'แพทองธาร' โอนหุ้นอัลไพน์-ประไหมสุหรีให้ 'แม่-พี่สาว' ซื้อขายเหมือน 9 บ.4.4พันล.หรือไม่?
หลังจากได้ค้นคว้าข้อกฎหมายเพิ่มเติมโดยเฉพาะประมวลรัษฎากรแล้ว น่าจะได้คำตอบเกี่ยวกับการออกตั๋วสัญญาใช้เงินมูลค่ากว่า 4,400 ล้านบาทของ น.ส.แพทองธารแล้วว่า ทำเพื่ออะไร
ก่อนอื่นอยากให้ทำความเข้าใจกับคำว่า “เจตนาลวง”และ “นิติกรรมอำพราง”ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 155 ที่บัญญัติว่า
“การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้”
ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ”
อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ บุคคลสองฝ่ายมีการทำสัญญา 2 ฉบับ
ฉบับแรกเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก แต่ไม่ประสงค์ให้มีผลบังคับตามกฎหมาเพื่อปกปิดหรือ‘อำพราง’สัญญาฉบับที่สองซึ่งเป็นสัญญา‘ลับ’ที่รับรู้กันเพียงสองฝ่าย
สัญญาฉบับแรกถือเป็นโมฆะ สัญญาฉบับที่สองมีผลบังคับตามกฎหมาย
ในกรณีของการออกตั๋วสัญญาใช้เงินมูลค่ากว่า 4,400 ล้านบาทของ น.ส.แพทองธารเพื่อชำระค่าหุ้นที่มารดาและญาติพี่น้องโอนให้ มีรายละเอียดดังนี้
1.นางสาวพินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ จำนวน 4 ฉบับ ลงวันที่ 8 ก.ย.2559 (8/9/2559) รวมเป็นเงิน 2,388,724,095.42 บาท ชำระค่าหุ้นบริษัท พี.ที.คอร์ปอเรชั่น จำกัด ,บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด,บริษัท เอสซี ออฟฟิซ พลาซ่า จำกัด และ บริษัท เอส ซี เค เอสเทต จำกัด
2.นายพานทองแท้ ชินวัตร จำนวน 1 ฉบับ ลงวันที่ 8 ก.ย.2559 (8/9/2559) เป็นเงิน 335,420,541 บาท ชำระค่าหุ้น บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด
3.นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่ 9 ม.ค.2566 (9/1/2566) , 8 พ.ค.2566 (8/5/2566) รวมเป็นเงิน 1,315,460,000 บาท ชำระค่าหุ้น บริษัท โอเอ ไอ แมนเนจเม้นท์ จำกัด และ บริษัท บี.บี.ดี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
4.นางบุษบา ดามาพงศ์ จำนวน 1 ฉบับ ลงวันที่ 8 พ.ค.2566 (8/5/2566) เป็นเงิน 258,400,000 บาท ชำระค่าหุ้น บริษัท บี.บี.ดี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
5.คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ จำนวน 1 ฉบับ ลงวันที่ 8 ก.ย.2559 (8/9/2559) เป็นเงิน 136,517,701.60 บาท ชำระค่าหุ้น บริษัท โอเอไอ คอนซัลแต้นท์ แอนด์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด
ถ้าดูรูปแบบการโอนหุ้นภายในครอบครัว เครือญาติรวมถึงคนรับใช้ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและคนขับรถของตระกูลชินวัตรตั้งแต่อดีตจนถึงปี 2543 ซึ่งเป็นปีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ได้โอนหุ้นชินคอร์เปอเรชั่นและหุ้นอื่นๆให้นายพานทองแท้ ลูกๆและเครือญาติรวมหลายหมื่นล้านบาทได้มีการใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินประเภทครบกำหนดเมื่อทวงถามและไม่มีดอกเบี้ยในการชำระค่าหุ้นเหมือนกับ น.ส.แพทองธารทำอยู่ในปัจจุบัน
แม้ต่อมาจะมีเสียงเรียกร้องให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีการให้หุ้น(สัญญาให้)ดังกล่าวโดยเฉพาะรายนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ แต่ผู้บริหารกรรมสรรพากรขณะนั้นนิ่งเฉย อ้างว่า เป็นการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือ ให้โดยเสน่หาฯซึ่งตามประมวลรัษฎากรได้รับการยกเว้นภาษี
แต่เมื่อตรวจสอบกฎหมายประมวลรัษฎากรในปัจจุบัน พบว่า มาตรา 42 ว่าด้วยเงินได้ที่รับยกเว้นภาษี มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 40) พ.ศ.2558(29 กรกฎาคม 2558) ดังนี้
(27) เงินได้ที่ได้จากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดานหรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน20 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น
(28) เงินได้ที่ได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดานหรือคู่สมรสเฉพาะเงินได้ในส่วนไม่เกิน 10 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น
สำหรับเหตุผลในการแก้ไขประมวลรัษฎากรในส่วนนี้ เนื่องจากมีการตรากฎหมายการจัดเก็บภาษีจากการรับมรดก แต่ประมวลรัษฎากรยังมีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งธรรมเนียมประเพณี...เป็นการไม่สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีการรับมรดก สมคารปรับปรุงบทบัญญัติให้สอดคล้องกัน
จากการแก้ไขระมวลรัษฎากรดังกล่าว หมายความว่า เมื่อพ่อแม่ หรือบุตร รวมทั้งเครือญาติให้ทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นการอ้างอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา โดยเสน่หาฯ ทรัพย์สินส่วนที่เกินกว่า 10 ล้านบาทหรือ 20 ล้านบาทแล้วแต่กรณี ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมด
เมื่อดูข้อมูลจากที่คุณพจมานและเครือญาติโอนหุ้น 9 บริษัทให้ น.ส.แพทองธาร และ น.ส.แพทองธารออกตั๋วสัญญาใช้เงินมูลค่ากว่า 4,400 ล้านบาทเพื่อชำระราคาค่าหุ้นในปี 2559 และปี 2566 แล้วล้วนเกิดขึ้นหลังจากจากมีการแก้ไขประมวลรัษฎากรดังกล่าวข้างต้น
ดังนั้น ถ้าตระกูลชินวัตร ยังยึดรูปแบบการโอนหุ้นไปมาในรูปแบบเดิม ต้องเสียภาษีการรับหรือการให้ร้อยละ 5 ซึ่งเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท
ในช่วงปี 2559 หรือ ปี 2566 ที่มีการถ่ายโอนหุ้นระหว่างคุณหญิงพจมานและเครือญาติให้กับ น.ส.แพทองธาร ยังไม่มีใครคาดหมายว่า น.ส.แพทองธารจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)และสาธารณะ
การโอนหุ้นให้กันในหมู่ญาติพี่น้องอาจทำแบบเงียบๆได้ แต่เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรี บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น
การให้ น.ส.แพทองธารออกตั๋วสัญญาใช้เงินมูลค่ากว่า 4,400 ล้านบาทเพื่อชำระราคาค่าหุ้นเป็นทางออกทำให้ไม่ต้องถูกตรวจสอบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเท่ากับการ ‘ซื้อขาย’หุ้นไม่ใช่ได้รับหุ้นมาฟรีๆโดย ‘การให้’ แม้ผู้ให้จะเป็นบุพากรีหรือญาติพี่น้องโดยอ้างอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือโดยเสน่หาฯ แต่ก็เกินกว่าจำนวนที่จะได้รับการยกเว้นภาษี
เหมือนกับที่เคยอ้างว่า คุณหญิงพจมานได้โอนหุ้นชินคอร์ปมูลค่า 738 ล้านบาทให้แก่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เมื่อปี 2543 ว่า เป็นการอุปาระโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือให้โดยเสน่หาได้รับการยกเว้นภาษี แต่มีการทำนิติกรรมอำพรางซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ จนถูกดำเนินคดีซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดทั้งสามคน แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า นายบรรณพจน์มีความผิดเพียงคนเดียว ให้รอลงอาญา แต่อัยการสูงสุดในขณะนั้นไม่ยอมยื่นฎีกา
@คดีเลี่ยงภาษีหุ้นชิน738ล้านยังไม่จบ อสส.หน้าแตก กวฉ.สั่งเปิดข้อมูลไม่ยื่นฎีกา
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารูปแบบการออกตั๋วสัญญาใช้เงินของ น.ส.แพทองธารซึ่งอ้างว่า เพื่อชำระราคาค่าหุ้นแล้ว พบว่า เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้หรือที่เรียกว่า ชำระเมื่อทวงถาม และไม่มีดอกเบี้ย
น.ส.แพทองธารจะชำระหนี้เมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าคุณหญิงพจมาน นายพานทองแท้ น.ส.พิณทองทา หรือนายบรรณพจน์ไม่ทวงถาม และไม่มีความเดือดร้อนใดๆเพราะไม่มีดอกเบี้ย อาจมีคนประชดประชันว่า อาจชำระหนี้ชาติหน้าหรือจนกว่าจะหมดอายุความภาษี หนี้ก้อนนี้อาจเลิกไปโดยปริยาย
จากรูปแบบการออกตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามว่า เป็นการทำสัญญาที่ไม่มีความประสงค์ให้มีผลบังคับตามกฎหมายหรือเข้าข่าย ‘เจตนาลวง’หรือไม่
เพราะคุณหญิงพจมานและนายทักษิณ มีเจตนาที่แท้จริงที่ในการให้หุ้น(สัญญาให้)เหล่านี้แก่ น.ส.แพทองธารอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการโอนหุ้นให้เปล่าๆในรูปแบเดิมได้เพราะไม่ต้องการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหลายร้อยหรือนับพันล้านบาท
ในฐานะนายกรัฐมนตรี คงต้องตอบคำถามอย่างองอาจผ่าเผยว่า การออกตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว เป็นเจตนาลวง นิติกรรมอำพรางหรือ การวางแผนภาษี?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ไขที่มาหนี้ 4,434.5 ล. ‘แพทองธาร’ ที่แท้ตั๋วสัญญาใช้เงินค่าหุ้น 9 บ.ครอบครัว-ไม่มีดอกเบี้ย
- ตามเจาะลึก ‘แพทองธาร’ รับโอนหุ้น 7 บ.เครือญาติ ที่มา ‘หนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน’ 4,434.5 ล.
- ก่อน‘แพทองธาร’กู้คนใกล้ชิด 4,434.5 ล! ‘ทักษิณ-พจมาน’ทำมาแล้ว ให้‘โอ๊ค’ยืม 5,485.5 ล.