คดีเลี่ยงภาษีหุ้นชิน738ล้านยังไม่จบ อสส.หน้าแตก กวฉ.สั่งเปิดข้อมูลไม่ยื่นฎีกา แต่ยังยึกยัก
แม้นายจุลสิงห์ วสันต์สิงห์ อัยการสูงสุดจะไม่ยื่นฎีกาในคดีเลี่ยงภาษีการโอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) มูลค่า 738 ล้านบาทที่ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาให้จำคุกนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ประธานคณะกรรมการบริษัทชินคอร์ป (พี่ชายบุญธรรมคุณหญิง พจมาน ดามาพงศ์ อดีต ภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี )2 ปี แต่ให้รอลงอาญา 1 ปี ปรับ100,000 บาท และให้ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน และนางกาญจนภา หงษ์เหิน เลขานุการคุณหญิงพจมาน จนทำให้คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วก็ตาม
แต่เรื่องดังกล่าวยังไม่จบ เมื่อนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์และคณะเดินหน้าตรวจสอบเรื่องดังกล่าวโดยยื่นขอเอกสารหลักฐานและความเห็นคณะทำงานของพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาว่า ยื่นถอดถอนอัยการสูงสุดหรือไม่ แต่ได้รับการปฏิเสธ นายถาวรและคณะจึงยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร(กวฉ.)สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย(ที่ สค 72/2555)มีคำวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการไม่ยื่นฎีกาเกือบทั้งหมด
ต่อไปนี้เป็นคำวินิจฉัยของ กวฉ.สาขาสังคมฯที่มีนายสมยศ เชื้อไทย เป็นหัวหน้าคณะ
ผู้อุทธรณ์มีหนังสือลงวันที่ 28 ธันวาคม 2554 ถึงอัยการสูงสุดขอเอกสารในคดีระหว่างพนักงานอัยการ สํานักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายบรรณพจน์ คุณหญิงพจมาน และนางกาญจนาภา คดีหมายเลขแดงที่ ุ6095 /2554ของศาลอุทธรณ์ซึ่งสํานักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นและคําสั่งไม่ฎีกา โดยขอเอกสาร ดังนี้
1. คําสั่งไม่ฎีกา
2.รายงานการประชุมหรือความเห็นในการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการทุกลําดับชั้น
3.ความเห็นสั่งฟ้องต่อศาลชั้นต้นของพนักงานอัยการ
สํานักงานอัยการสูงสุดถึงผู้อุทธรณ์ว่า สํานักงานคดีพิเศษพิจารณาแล้วเห็นว่า ความเห็นและคําสั่งฟ้องคดี ความเห็นและคําสั่งไม่ฎีกาของพนักงานอัยการ ตลอดจนรายงานการประชุมหรือความเห็นในการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการทุกลําดับชั้นในคดีที่ผู้อุทธรณ์ร้องขอให้จัดส่งให้นั้น เป็นข้อมูลข่าวสารของทางราชการที่มีลักษณะตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 15 (2) กล่าวคือ การเปิดเผยจะทําให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ หรือไม่อาจสําเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการฟ้องคดี การป้องกัน การปราบปราม การตรวจสอบ การทดสอบ หรือการรู้แหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารหรือไม่ก็ตาม สํานักงานคดีพิเศษจึงไม่อนุญาตให้คัดถ่ายเอกสาร
ในชั้นพิจารณาของ กวฉ.สาขาสังคม ผู้อุทธรณ์มอบหมายให้ผู้แทนมาชี้แจงด้วยวาจาเ สรุปได้ว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2554 อัยการสูงสุดมีความเห็นและคําสั่งไม่ฎีกา คดีระหว่างพนักงานอัยการ สํานักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายบรรณพจน์ จําเลยที่ 1 คุณพจมานจําเลยที่ 2 และนางกาญจนภา จําเลยที่ 3 ทั้งที่คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลยทั้งสามโดยไม่รอการลงโทษตามฟ้องของพนักงานอัยการ
ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคําพิพากษาศาลชั้นต้นยกฟ้องจําเลยที่ 2 และที่ 3 คงเหลือพิพากษาว่าจําเลยที่ 1 มีความผิดแต่ให้รอการลงโทษ ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์มีคําพิพากษายกฟ้องของอัยการสูงสุดนั้นยังไม่เป็นที่สุด และไม่อาจพิจารณาสรุปความเห็นได้ว่าจําเลยทั้งสามไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง และย่อมต้องการให้ศาลฎีกาพิจารณาตัดสินคดีนี้ในท้ายที่สุดเพื่อพิสูจน์ความจริงให้กระจ่างแจ้ง ซึ่งการวินิจฉัยสั่งฎีกาหรือไม่ฎีกาของอัยการสูงสุดก็คือ "การวินิจฉัยว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่" เพราะคําฟ้องนั้นหมายความถึง "คําฟ้องฎีกา" ด้วย
ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1 (3) ซึ่งศาลฎีกาได้เคยมีคําพิพากษาฎีกา ที่ 3509/2549 ว่า "การวินิจฉัยสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการนั้นมิใช่เป็นการวินิจฉัยว่าจําเลยมีความผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ดังเช่นกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล แต่เป็นเพียงการวินิจฉัยมูลความผิดตามที่กล่าวหาเท่านั้น ซึ่งเกณฑ์วินิจฉัยมูล
ความผิดของพนักงานอัยการที่วินิจฉัยสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาคือมีเหตุผลอันสมควรเพียงพอหรือไม่ที่จะนําผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อให้ศาลวินิจฉัยชั้นสุดท้ายว่าผู้ถูกกล่าวหากระทําความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่..."
สํานักงานคดีพิเศษ สํานักงานอัยการสูงสุด มีหนังสือ ลงวันที่ 27 มีนาคม 2555 ถึงประธานกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคมฯ และอธิบดีสํานักงานคดี
พิเศษ สํานักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงเพิ่มเติมสรุปได้ความว่า
1.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 146 บัญญัติให้เฉพาะผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอต่อพนักงานอัยการเพื่อขอทราบสรุปพยานหลักฐาน พร้อมความเห็นของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสั่งคดี ผู้อุทธรณ์กับพวกไม่ใช่ผู้ต้องหา ผู้เสียหาย หรือผู้มีส่วนได้เสียใดๆ ในคดี จึงไม่มีสิทธิที่จะขอเอกสารดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารทางคดีที่ดําเนินคดีกับผู้ต้องหาหรือจําเลย เอกสารข้อมูลเหล่านั้นจึงมิใช่ข้อมูลสาธารณะที่จะพึงเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปที่มิใช่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดี การเปิดเผยอาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล
การดําเนินคดีอาญาย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ ชื่อเสียงของบุคคลที่เกี่ยวข้องประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 146 จึงบัญญัติให้เฉพาะผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือผู้มีส่วนได้เสียเท่านั้นร้องขอต่อพนักงานอัยการเพื่อขอทราบสรุปพยานหลักฐานพร้อมความเห็นของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสั่งคดี บุคคลทั่วไปไม่อาจขอได้
ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้อุทธรณ์ย่อมเป็นการกระทํา ที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 146 และหากอนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารในคดีนี้ จะเป็นกรณีตัวอย่างให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีร้องขอให้เปิดเผยข้อมูลเช่นเดียวกับผู้อุทธรณ์ และจะเป็นภาระอย่างยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ
2.พนักงานอัยการมีอิสระพิจารณาสั่งคดี ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 255 และ พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21 และมาตรา 22
ดังนั้น การที่ผู้อุทธรณ์ขอให้ส่งรายงานการประชุมหรือความเห็นในการพิจารณาคดีของพนักงานอัยการทุกลําดับชั้น หากมีการเปิดเผยเอกสารในลักษณะดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อความเป็นอิสระของพนักงานอัยการในการให้ความเห็น ซึ่งอาจมีผลกระทบและใช้ไปอ้างอิงในคดีอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นคดีทางการเมืองเช่นเดียวกับคดีนี้ไม่รู้จบสิ้น ทําให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่อาจสําเร็จตามวัตถุประสงค์ได้
นอกจากนั้น ความเห็นของพนักงานอัยการมีหลายขั้นตอน เป็นความเห็นโดยอิสระของพนักงานอัยการซึ่งผู้บังคับบัญชาอาจไม่เห็นด้วย เป็นการดําเนินการภายในของส่วนราชการซึ่งยังไม่ถึงที่สุด หากมีการเปิดเผยขั้นตอนการดําเนินงานโดยละเอียดในทุกขั้นตอนย่อมกระทบต่อความเป็นอิสระของพนักงานอัยการอย่างแน่นอน
3.อย่างไรก็ตาม แม้ผู้อุทธรณ์จะไม่มีสิทธิในการทราบข้อมูลข่าวสารตามข้อ 1 แต่เนื่องจากคดีนี้เป็นที่สนใจของประชาชน สํานักงานคดีพิเศษไม่ขัดข้องที่จะส่งเอกสารที่อัยการสูงสุดชี้แจงต่อประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามบริหารงบประมาณ วุฒิสภา ซึ่งประกอบด้วยสรุปความเห็นคําสั่งฟ้องของพนักงานอัยการ คําสั่งไม่ฎีกาของอัยการสูงสุดตามที่ผู้อุทธรณ์ประสงค์แล้ว ซึ่งได้ส่งให้คณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาแล้ว ส่วนรายงานการประชุมหรือความเห็นในการพิจารณาคดีในทุกลําดับชั้น ไม่อาจส่งให้ผู้อุทธรณ์ได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลข่าวสารของทางราชการที่มีลักษณะตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 15
คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม ฯเห็นว่า ข้อมูลข่าวสารตามอุทธรณ์รายการที่ 1 และรายการที่ 3คือ คําสั่งไม่ฎีกาและความเห็นสั่งฟ้องต่อศาลชั้นต้นของพนักงานอัยการ เป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ เมื่อการพิจารณาเรื่องดังกล่าวได้ดําเนินการเสร็จสิ้นแล้ว การเปิดเผยจะเป็นการตรวจสอบความถูกต้องโปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐซึ่งจะก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือของหน่วยงาน ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจึงเป็นข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยให้ผู้อุทธรณ์ทราบได้
ส่วนข้อมูลข่าวสารตามอุทธรณ์รายการที่ 2 คือ รายงานการประชุมหรือความเห็นในการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการทุกลําดับชั้นเห็นว่า เฉพาะรายงานการประชุมหรือความเห็นในการพิจารณาสั่งคดีของคณะทํางานพิจารณาสํานวนคดีที่ดําเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เป็นข้อมูลที่เป็นส่วนประกอบ
สําคัญในการใช้ดุลพินิจของอัยการสูงสุดในการมีคําสั่งไม่ฎีกา
เมื่อการมีคําสั่งไม่ฎีกาของอัยการสูงสุดทําให้คดีถึงที่สุดจึงมีความจําเป็นที่จะต้องเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้การใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องเป็นไปโดยอําเภอใจ
แต่ขณะเดียวกันก็ต้องปกป้องหรือต้องรักษาความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการแต่ละคนด้วยและกรณีนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการพิจารณาดังกล่าวเป็นไปโดยไม่สุจริต
ดังนั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ ประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว จึงเห็นว่า ความเห็นและรายชื่อของคณะทํางานเป็นข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยให้ผู้อุทธรณ์ทราบได้ โดยไม่เปิดเผยให้ทราบว่าผู้ให้ความเห็นแต่ละคนมีความเห็นในกรณีดังกล่าวอย่างไร
สําหรับข้อมูลความเห็นในการสั่งคดีในขั้นตอนอื่นๆ ไม่เป็นสาระสําคัญในการพิจารณาสั่งไม่ฎีกาของอัยการสูงสุด จึงไม่จําเป็นต้องนํามาพิจารณา
ส่วนที่พนักงานอัยการอ้างว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 146 บัญญัติให้สิทธิเฉพาะผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอต่อพนักงานอัยการเพื่อขอทราบสรุปพยานหลักฐานพร้อมความเห็นของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสั่งคดี ในกรณีนี้ ผู้อุทธรณ์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือผู้มีส่วนได้เสียนั้น เห็นว่าผู้อุทธรณ์มิได้ใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ผู้อุทธรณ์ใช้สิทธิตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ฯ ซึ่งรับรองสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญจึงต้องพิจารณาว่า หน่วยงานนั้นใช้ดุลพินิจตามมาตรา 15 แห่งพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ฯหรือไม่
สําหรับข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานเห็นว่าเปิดเผยได้คือ ข้อมูลที่อัยการสูงสุดชี้แจงต่อประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามบริหารงบประมาณ วุฒิสภา นั้น คณะกรรมการฯ ได้ตรวจดูแล้วเห็นว่า ไม่ใช่ข้อมูลข่าวสารที่ผู้อุทธรณ์ร้องขอจึงไม่จําเป็นต้องนํามาพิจารณา
ฉะนั้น อาศัยอํานาจตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ฯคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม ฯจึงวินิจฉัยให้สํานักงานอัยการสูงสุดเปิดเผยข้อมูลข่าวสารรายการที่ 1 รายการที่ 3 และรายการที่ 2 เฉพาะรายงานการประชุมหรือความเห็นในการพิจารณาสั่งคดีของคณะทํางานพิจารณาสํานวนคดีที่ดําเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยให้เปิดเผยเฉพาะความเห็นและรายชื่อของคณะทํางานฯ แต่ไม่เปิดเผยให้ทราบว่าผู้ให้ความเห็นแต่ละคนมีความเห็นในกรณีดังกล่าวอย่างไร
นายถาวร เสนเนียมกล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ได้นำคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯไปขอรับเอกสารรข้อมูลข่าวสารจากอัยการสูงสุด แต่ทาวงอัยการสูงสุดอ้างว่า หาสำนวนดังกล่าวไม่เจอ หากทางอัยการสูงไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่คณะกรรมการวินิจฉัยฯสั่งให้เปิดเผยจะดำเนินตามกฎหมายกับอัยการสูงสุดต่อไป