“...ดูเหมือนจะเป็นหน้าใหม่ทางการเมือง นามสกุลไม่ใช่บ้านใหญ่แต่ดั้งเดิม แต่เบื้องหลังนอกจากภูมิใจไทย ซึ่งกำลังรุกคืบในพื้นที่ภาคใต้ทั้งในสนามระดับชาติและระดับท้องถิ่น แต่ยังมีบ้านใหญ่เก่าที่อกหัก ตระกูลเสนพงศ์มาหนุน ฐานการเมืองที่แยกจากพรรคประชาธิปัตย์ ไปเป็นพรรคประชารัฐ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 62 ไปเป็นรวมไทยสร้างชาติเมื่อปี 66 มาหนุน จึงเกิด 3 พลังมารวมที่เบอร์สอง...”
สนามเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นกลายเป็นสนาม ‘วัดบารมี-เช็กเรตติ้ง’ ของ ‘ผู้ช่วยหาเสียง’ ที่มีดีกรีระดับอดีตนายกรัฐมนตรี-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จึง เป็น ‘ศึกแห่งศักดิ์ศรี’ โดยมีเดิมสูงพันสูง ด้วยคำว่า ‘แพ้ไม่ได้’
นอกจากการประลองกำลัง-วัดพลัง โดยมี ‘รักษาฐานที่มั่น’ เป็นเดิมพันไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าแล้ว อีกปรากฎการณ์แทรกซ้อนขึ้นมา คือ การ ‘ล้มช้าง’ ในสนามเลือกตั้งนายกอบจ.นครศรีธรรมราช อะไรคือจุดตัดของการ ‘ล้มบ้านใหญ่’ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พาไปหาคำตอบ
@ ‘วาริน ชินวงศ์’ Who are you ?
ชื่อ ‘วาริน ชินวงศ์’ ผู้สมัครนายกอบจ.นครศรีธรรมราช หมายเลข 2 แห่ง ‘ทีมนครเข้มแข็ง’ นักการเมืองหน้าใหม่ในสนามเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ทว่ากลายเป็น (ว่าที่) นายกอบจ.นครศรีธรรมราช ชนิดหักปากเซียน
เจ้าของคะแนนเสียง 328,823 คะแนน สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่สนามเลือกตั้ง ‘เมืองคอน’ ด้วยการโค่นแชมป์เก่า-กนกพร แห่ง ‘บ้านใหญ่เดชเดโช’ อดีตนายกอบจ.นครศรีธรรมราช และยังมีฐานการเมืองระดับชาติอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ‘หนุนหลัง’
พลิกประวัติ-เปิดโปรไฟล์ ‘วาริน’ เธอจบปริญญาตรีสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เป็นอดีตประธานชมรมไอทีจังหวัดนครธรรมราช ประสบการณ์ด้านธุรกิจ เป็นอดีตกรรมการหอการค้าไทย อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช
‘วาริน’ ยังเป็นอดีตผู้บริหาร ‘ชินวงศ์คอมพิวเตอร์’ ในฐานะ ‘หุ้นส่วนผู้จัดการ’ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ชินวงศ์ คอมพิวเตอร์ ที่มีหลานชาย-อรรณพ ชิณวงศ์ แลพนายเมธี ชิณวงศ์ เป็นผู้ถือหุ้น และอดีตผู้บริหารนครไอทีพลาซ่า
‘วาริน’ ยังเป็นเจ้าของสวนส้มโอ ‘ชิณวงศ์ฟาร์ม’ โดยเมื่อปี 63 นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยศึกษาธิการ เคยไปเยี่ยมชม ‘สวนส้มโอทับทิมสยาม’ ด้วยตัวเองถึง ปากพนัง นครศรีธรรมราช เพื่อไปเอาต้นส้มโอที่จองไว้เป็นคนแรก
ปัจจุบัน ‘วาริน’ เป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย และจะเห็นเธอมีบทบาทในคณะทำงานของ ‘โกเกี๊ยะ-พิพัฒน์ รัชกิจประการ’ รมว.แรงงาน จึงเห็นหน้า-เห็นตาที่กระกระทรวงแรงงานบ่อยครั้ง
@ วิเคราะห์ ปรากฎการณ์ล้ม ‘บ้านใหม่’
‘ดร.สติธร ธนานิธิโชติ’ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้าให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา วิเคราะห์ปรากฎการณ์ ‘ล้มบ้านใหญ่’ ว่า ตระกูลเดชเดโชเป็น ‘บ้านใหม่’ ขึ้นมาสยายปีกในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์อ่อนแอ แต่สร้างผลงานดี ยึดนายกอบจ.นครศรีธรรมราชรอบที่ผ่านมาได้ และต่อยอดการเลือกตั้งปี 66 ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เก้าอี้ สส.นครศรีธรรมราช 5-6 ที่นั่ง จึงสถาปนาเป็นบ้านใหญ่ และวันนี้ก็กุมอำนาจในพรรคประชาธิปัตย์
‘ดร.สติธร ธนานิธิโชติ’ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า
‘ดร.สติธร’ กล่าวว่า สมัยก่อนนายกอบจ.นครศรีธรรมราช คือ นามสกุลเสนพงศ์ ก่อนหน้าก็เป็นนามสกุลอื่น เช่น บุญยเกียรติ วิชัยกุล หากเอานักการเมืองระดับชาติเบอร์ต้น ๆ ในพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตก็มีหลายคน ดังนั้น การแพ้เลือกตั้งนายกอบจ.นครศรีธรรมราชรอบนี้ ไม่ได้แปลกอะไร
“ดูเหมือนจะเป็นหน้าใหม่ทางการเมือง นามสกุลไม่ใช่บ้านใหญ่แต่ดั้งเดิม แต่เบื้องหลังนอกจากภูมิใจไทย ซึ่งกำลังรุกคืบในพื้นที่ภาคใต้ทั้งในสนามระดับชาติและระดับท้องถิ่น แต่ยังมีบ้านใหญ่เก่าที่อกหัก ตระกูลเสนพงศ์มาหนุน ฐานการเมืองที่แยกจากพรรคประชาธิปัตย์ ไปเป็นพรรคประชารัฐ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 62 ไปเป็นรวมไทยสร้างชาติเมื่อปี 66 มาหนุน จึงเกิด 3 พลังมารวมที่เบอร์สอง”
‘ดร.สติธร’ กล่าวว่า ประกอบกับพรรคประชาชนไม่ส่งคนลงสมัครฯ ประชาชนหัวก้าวหน้าอยากเปลี่ยนนครศรีธรรมราช จากกลุ่มนักการเมืองเดิม เบอร์สองจึงเสนอตัวหาเสียงกับคนเมือง คนชั้นกลาง คนรุ่นใหม่ จึงกลายเป็นพื้นที่รองรับเสียงของกลุ่มคนนี้ เป็นความได้เปรียบสองชั้น
“ยิ่งไปเทียบกับการเลือกตั้งนายกอบจ.นครศรีธรรมราชเมื่อปี 63 เป็นสองกลุ่มนี้ที่แข่งกัน เป็นการเอาคืน เบื้องหน้าดูเหมือนคนใหม่ แต่เบื้องหลังคือกลุ่มเดิมที่สู้กันในพื้นที่ เป็นการสู้กันระหว่างขั้วใหญ่ในจังหวัด”
@ ภูมิทัศน์สนามเลือกตั้ง ‘เมืองคอน’
‘ดร.สติธร’ กล่าวว่า วันนี้จากผลตัวเลขการเลือกตั้งนายกอบจ.นครศรีธรรมราชที่ออกมา หนึ่ง สัดส่วนยังไม่ได้เปลี่ยน ตระกูลเดชเดโชอาจจะแพ้ แต่แพ้ไม่เยอะ สอง จำนวนอำเภอที่แพ้ชนะใกล้เคียงกันอยู่ แพ้ไม่มาก แต่ภาพใหญ่ที่แพ้ เพราะไปแพ้ที่ ‘อำเภอเมือง’ มากเกินไป แพ้ 2-3 หมื่นคะแนน แพ้ที่อำเภอทุ่งสงอีก 1.5 หมื่นคะแนน ภาพรวมจึงแพ้ 3 หมื่นคะแนน
“แต่เมื่อพูดถึงเขตเลือกตั้งระดับชาติ แพ้เยอะ แพ้น้อย แพ้เท่ากัน แปลว่าอำเภอต่าง ๆที่ชนะ รวมกันอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกันก็ยังเป็น 1 ที่นั่ง แปลว่าครึ่งหนึ่งของนครศรีธรรมราชยังเป็นของตระกูลเดชเดโชอยู่ ไม่ได้เปลี่ยนจากการเลือกตั้งเมื่อปี 66 แต่สิ่งที่เปลี่ยนมากกว่าก็คือ ขั้วการเมืองจับกันอย่างไร ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยึดขั้วเดิมไว้ได้ 4-5 เขตก็ยังได้”
‘ดร.สติธร’ กล่าวว่า ส่วนขั้วตรงข้ามต้องดูว่าจะจับมือกันแบบรอบนี้หรือไม่ หรือจะแยกเป็นหลายพรรคเหมือนเดิม หรือจะกลายเป็นพรรคภูมิใจไทยทั้งหมด “ประชาธิปัตย์ก็เสมอตัว ไม่โตขึ้น”
@ ฉายภาพสนามเล็กสะท้อนสนามใหญ่
‘ดร.สติธร’ วิเคราะห์การเลือกตั้งนายกอบจ.ที่ผ่านมาทั้งกระดาน ว่า ภาพรวมการเลือกตั้งนายกอบจ.ที่ผ่านมา พอจะเห็น Pattern อันหนึ่งที่จำเป็น สมัยก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเกมบ้านใหญ่ ที่พรรคการเมืองไม่ได้เป็นปัจจัยมากนัก แต่วันนี้เริ่มเห็นแล้วว่า ถ้าอยากประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งนายกอบจ. แค่ความเป็นบ้านใหญ่ไม่พอ ต้องบวกด้วยพรรคใหญ่ด้วย ร่วมมือกันสองขา ถึงจะผ่านด่านอบจ.ได้
‘ดร.สติธร’ บอกว่า ยกตัวอย่างเช่น การเลือกนายกอบจ.ขอนแก่น รอบนี้เป็นผู้สมัครที่เป็น ‘บ้านใหม่’ บวกกับฐานเสียงพรรคการเมือง บวกกันสองแรง ทำให้ทีมบ้านใหญ่อิสระแพ้ ทั้งที่เป็นแชมป์หลายสมัย
“หลาย ๆ พื้นที่แสดงให้เห็นว่า บ้านใหญ่มีสีตบท้าย บ้านนี้สีน้ำเงิน บ้านนี้สีแดง ได้เปรียบ ดังนั้น การเลือกตั้งนายกอบจ.ทั่วประเทศวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 จะได้เห็นว่า ใครที่เป็นบ้านใหญ่เก่าจะรักษาแชมป์ต้องมีพรรคการเมืองแบ็ค ไม่ว่าสีไหน จะมาอิสระโดด ๆ ไม่ได้แล้ว ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับการเลือกตั้งสนามระดับชาติมากขึ้น เกมมันบีบให้บ้านใหญ่ต้องเลือกอยู่กับพรรคใดพรรคหนึ่ง สนามใหญ่ก็จะผูกกันไปแบบนี้ วันนี้พรรคช่วยบ้านใหญ่ วันข้างหน้าบ้านใหญ่ก็ต้องมาช่วยพรรค หักหลังกันไม่ได้”
@ ไม่การันตีชนะสนามเลือกตั้งระดับชาติ
“เป็นเพียงแต้มต่อเท่านั้น ไม่ได้การันตี ว่าจะชนะเลือกตั้งสนามใหญ่ วันนี้สีน้ำเงินได้นครศรีธรรมราชไม่ได้แปลว่า ภูมิใจไทยจะชนะการเลือกตั้งถล่มทลายหลายเขตในการเลือกตั้งสนามใหญ่ เพราะการสู้ระดับเขตจะเป็นอีกสมการ
เครือข่ายใครแน่นขึงเอาไว้จะเป็นแต้มต่อ ต่อยอดสนามใหญ่เรื่องกระแส ซึ่งวัดกันที่นโยบาย แคนดิเดตนายกฯ เป็นตัวเติม แต่ถ้ามีต้นทุนหนาไว้ก่อน ไม่ต้องเติมกระแสเยอะ”
‘ดร.สติธร’ กล่าวว่า ส่วนผู้ช่วยหาเสียงที่มีนักการเมืองขาใหญ่-บิ๊กเนมลงไปตะลุมบอนในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ใช่ตัวชี้ขาดแพ้หรือชนะการเลือกตั้งนายกอบจ. ต่างฝ่ายเพียงต้องการเวที ระหว่างที่สนามใหญ่ยังไม่เปิด เพราะถูกตัดสิทธิ์การเมือง ไม่ได้ลงการเมือง เป็นเวทีปล่อยของ เป็นสนามซ้อมสำหรับการสู้กันจริงในสนามใหญ่ ใช้สถานะ (ผู้ช่วยหาเสียง) ตามกฎหมายเพื่อแสดงออก ไม่ให้พรรคถูกยุบ
“ไม่ถึงกับเป็นปัจจัยชี้ขาด สุดท้ายเป็นแค่ไปสร้างกระแสความสนใจ ประลองกระแส ประลองกำลังเท่านั้นเอง เพื่อจำลองสถานการณ์ทางอ้อมเวทีระดับชาติจะเกิดอะไรขึ้น ให้ได้ลองกำลังกันอย่างเช่น คุณทักษิณลองยกระดับประเด็นจากเรื่องแค่จังหวัดอุดรฯ เป็นเรื่องระดับชาติ ว่ารัฐบาลจะทำอะไร แหย่รังแตนให้แกนนำสีส้มมา ถ้าเปลี่ยนสนามนี้เป็นเกมระดับชาติผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร จะได้วางแผน วางเกมถูก ว่าจะเล่นอย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง”
@ เกมยากของ ‘ประชาชน’
‘ดร.สติธร’ ชี้จุดเสียเปรียบ-จุดอ่อนของพรรคประชาชน ที่จนถึงเวลานี้ก็ยังไม่ได้ประกาศชัยชนะในสนามเลือกตั้งอบจ.แม้แต่คนเดียว ว่า ตอนนี้เป็นเกมในสนามใหญ่ คือ สนามอบจ. โอกาสของพรรคประชาชนอยากอยู่แล้ว ด้วยปัจจัยและเงื่อนไขต่าง ๆ ระบบก็ไม่เอื้อ การเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไม่มี คนที่ออกมาใช้สิทธิ์คือคนที่ติดพื้นที่เป็นส่วนใหญ่
“คนที่ถือยุทธศาสตร์ใช้บ้านใหญ่ขับเคลื่อนได้เปรียบ เพราะมีฐานเสียง ต้นทุน แต่พรรคประชาชนเป็นพรรคที่ต้องการกระแส เกมจึงยังไม่เข้าทาง กระแสเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ”
‘ดร.สติธร’ กล่าวว่า พรรคประชาชนยังต้องไต่ระดับไปอีก ยังไม่ถึงขั้นเอาชนะในเกมเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะ หนึ่ง กติกาไม่เอื้อ สอง ฐานเสียงได้เปรียบคนรุ่นใหม่ คนในเมือง แต่พื้นที่ชนบทที่มีพื้นที่กว้างขวาง เช่น อุดรธานี ยังเป็นเกมยากสำหรับพรรคประชาชน
“อีกจุดอ่อน คือ การสรรหาตัวผู้สมัครฯ ระดับชาติใช้กระแส ผู้นำพรรค มองไปที่การตั้งรัฐบาล แต่สนามท้องถิ่นไม่พอ เสนอใครมาเป็นนายกอบจ. ทำงานอีก 4 ปี มีทีมทำงานหรือไม่ เชื่อถือ เชื่อมั่นได้หรือไม่ มีฝีมือพอหรือไม่ ทำงานกับคนพื้นที่ได้หรือไม่ แต่ภาพของพรรคประชาชนยังไม่ชัด รวมถึงจะมาบริหารอุดรธานีอย่างไรให้แตกต่างจากนายกอบจ.คนเดิม ภาพไม่ชัดเลยในทุกที่ที่แพ้กลับมา”ดร.สติธรทิ้งท้าย