"...โรงเรียนทำเช่นนี้มานานกว่า 20 ปีแล้ว ครูหลายรุ่นแล้วที่พยายามต่อสู้กับเรื่องนี้ แต่ได้แค่พูดคุยเจรจา ไม่มีใครกล้าแจ้งความ ลูกชายของผู้ได้รับใบอนุญาตเจ้าของโรงเรียน ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบุคคลมีการพูดว่า มีครูหลายรุ่นแล้วพยายามที่จะต่อสู้กลับแต่ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ ทำให้ครูบางคนต้องโดนไล่ออก โดยที่ทางโรงเรียนไม่จ่ายค่าชดเชย ไม่จ่ายเงินค่าประกัน ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เสียเปรียบอย่างไม่มีความเป็นธรรมกับครูเหล่านั้น..."
กรณี นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดตรัง มอบหมายให้ นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง พร้อมด้วยหัวหน้ากลุ่มงานตรวจสอบทรัพย์สิน สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง และนักสืบสวนฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบการบริหารจัดการงบประมาณโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งเปิดการเรียนการสอนสายสามัญควบคู่กับศาสนา ในพื้นที่ อ.เมือง จ.ตรัง โดยเป็นโรงเรียนที่ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐ ซึ่งทาง สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำ จ.ตรัง ได้มีการเชิญ นายอดิศร แก้วเซ่ง รองศึกษาธิการ จ.ตรัง เจ้าหน้าที่สำนักงานศึกษาธิการ จ.ตรัง ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับจังหวัดที่กำกับดูแลโรงเรียนดังกล่าว รวมทั้งสื่อมวลชน และเครือข่ายภาคประชาชน ชมรมตรังต้านโกง ร่วมเข้าตรวจสอบด้วย เมื่อวันที่ 11 ก.ย.67 ที่ผ่านมา ตามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวพิเศษสำนักข่าวอิศราประจำจังหวัดตรัง รายงานความคืบหน้าว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ป.ป.ช.ตรัง ได้รับแจ้งเบาะแสเพิ่มเติมว่า นอกจากปัญหาเรื่องอาหารกลางวันนักเรียนระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษาของโรงเรียน รวมจำนวน 132 คน ที่ทางภาครัฐได้ให้เงินอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวันอยู่ที่หัวหรือรายละ 22 บาทต่อวัน ในรายชื่อเมนูอาหารที่ทางโรงเรียนระบุไว้มีเมนู ไข่พะโล้, องุ่นเขียว, ปูอัดทอด แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมนูอาหารไม่ตรงตามที่โรงเรียนได้ระบุไว้ โดยนักเรียนระดับชั้นอนุบาลได้รับเพียงแค่ ข้าวสวย ผัดถั่วงอกใส่เต้าหู้และแครอท ไม่ปรากฏพบเห็นเนื้อสัตว์ กับขนมอบกรอบไส้ช็อกโกแลตคนละ 1-2 แท่ง ส่วนเมนูอาหารนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ตามที่ติดระบุไว้มีเมนู ไข่พะโล้, ผัดเผ็ดลูกชิ้น เมื่อเข้าไปตรวจสอบถึงภายในครัวพบว่า มีเมนูไข่พะโล้ แต่ไม่ได้มีการนำมาให้เด็กระดับชั้นอนุบาลได้รับประทานด้วยแล้ว
โรงเรียนสอนแห่งนี้ ยังถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องโอนเงินเดือนให้กับครูไม่ตรงตามจำนวนจริงที่รัฐมีการจ่ายให้มา ไม่เป็นไปตามระเบียบ โดยโรงเรียนได้มีการหักเงินเดือนครูที่รัฐได้อุดหนุนให้ จ่ายจริงให้กับครูเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น อีกส่วนโรงเรียนหักเก็บเอาไว้เอง
นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง กล่าวเรื่องการจ่ายเงินเดือนครูดังกล่าว ว่า “เงินเดือนครู” ประเภทเงินอุดหนุนรายบุคคล ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้โอนตรงมาให้กับทางโรงเรียนและให้ทางโรงเรียนเป็นผู้โอนต่อไปให้กับครูในทุกเดือน ตามระเบียบโรงเรียนจะต้องจ่ายเงินเดือนครูโดยผ่านระบบธนาคารเป็นรายบุคคลทุกเดือน และเก็บเอกสารหลักฐานการจ่ายเงินเดือนครูไว้ พร้อมให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ
"แต่ในการลงพื้นที่ตรวจสอบของ ป.ป.ช.ตรัง พบข้อสังเกตว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตของโรงเรียน แจ้งคณะที่เข้าไปตรวจสอบ อ้างว่าได้จ่ายเงินเดือนครูเป็นเงินสดเต็มจำนวน แต่เมื่อมาตรวจดูตามเอกสารหลักฐาน พบว่ามีการโอนเงินจากบัญชีของบุตรชายของผู้รับใบอนุญาตเจ้าของโรงเรียน และไม่เต็มตามจำนวนที่รัฐให้มา เมื่อขอรายการเดินบัญชี (Statement) มาจากโรงเรียน ว่าได้โอนเงินเดือนให้กับครูไปจำนวนเท่าไร ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการโอนเงินเดือนให้กับครูไปเพียงแค่รายละประมาณ 9,000 กว่าบาท ทั้งที่ครูส่วนใหญ่ที่รัฐจ่ายเงินเดือนมาให้กว่า 15,000 บาท" นายยุทธนาระบุ
นายยุทธนา ยังระบุด้วยว่า ในการลงพื้นที่ตรวจสอบครั้งที่ 2 ทางโรงเรียนได้ส่งเอกสารหลักฐานไปให้กับทางศึกษาธิการ จ.ตรัง เพื่อตรวจสอบ เป็นใบขวางรายการเดินบัญชี (Statement) ที่โรงเรียนโอนเงินเดือนให้กับครูเต็มจำนวน โดยที่เอกสารดังกล่าวทางโรงเรียนจัดทำขึ้นมาเอง พร้อมทั้งมีการนำไปประทับตราของธนาคาร แต่ไม่ได้มีการทำนิติกรรมทางการเงินดังกล่าวเกิดขึ้นมา และยังจำนวนไม่ตรงกับความเป็นจริงที่มีการจ่ายให้กับครูด้วย หลังจากมีการตรวจสอบ ทางเจ้าหน้าที่ธนาคารได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำไว้เป็นหลักฐานไว้แล้ว ที่ สภ.เมืองตรัง ว่าทางโรงเรียนมาหลอกให้ประทับตราธนาคาร
"มีข้อมูลจากธนาคาร ระบุว่า โรงเรียนได้เข้าไปกล่าวอ้างว่าทางธนาคารจะต้องปั้มตราให้ เพื่อที่จะต้องนำไปให้ศึกษาธิการ จ.ตรังตรวจสอบ ธนาคารจึงได้ปั้มตราให้โดยที่ไม่ได้มีการโอนเต็มจำนวนเกิดขึ้นจริง และปรากฏข้อเท็จจริงว่าหลังจากที่ทาง ป.ป.ช.ตรัง เข้าไปตรวจสอบติดตามทางโรงเรียนได้มีการโอนเงินเดือนครูเข้าบัญชีรายบุคคลเต็มจำนวนตามที่รัฐได้มีการอุดหนุนเข้ามา" นายยุทธนากล่าว
นายยุทธนา ยังกล่าวย้ำว่า "ประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตและพบเจอทั้งหมด อยู่ในขบวนการภาระหน้าที่ของศึกษาธิการ จ.ตรัง ซึ่งกำหนดในระเบียบว่าหากพบว่าโรงเรียนเอกชนมีการเบิกจ่ายที่ไม่ถูกต้องหรือทุจริต จะต้องเรียกเงินคืน และดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการในส่วนของโรงเรียนที่เบิกจ่ายเงินอุดหนุนไม่เป็นไปตามระเบียบ ขณะนี้ทาง ป.ป.ช.ตรัง ก็ยังคงรอผลการตรวจสอบจาก ศึกษาธิการ จ.ตรัง ที่อ้างว่ายังดำเนินการไม่แล้วเสร็จอยู่เช่นกัน ว่าจะมีผลการตรวจสอบออกมาอย่างไรบ้าง"
ต่อกรณีดังกล่าว ผู้สื่อข่าวพิเศษสำนักข่าวอิศรา ได้ลงพื้นที่พูดคุยสอบถามกับแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้และทราบข้อมูพฤติการณ์โรงเรียนเพิ่มเติมว่า โรงเรียนเปิดสอนในระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แบ่งจำนวนนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 31 คน ระดับชั้นประถม 101 คน และระดับชั้นมัธยม 422 คน มีคณะครูทั้งหมด 40 คน แบ่งเป็นครูที่ได้รับเงินเดือนอุดหนุนจากรัฐจำนวน 24 คน และโรงเรียนจัดจ้างเองอีก 16 คน
แหล่งข่าวกล่าวอ้างว่า ในส่วน “เงินเดือนครู” พฤติการณ์ของโรงเรียน คือ เมื่อมีครูเข้ามาสมัครสอนในตำแหน่งครูอัตราจ้างทั่วไป ทางโรงเรียนจะแจ้งว่ารับได้หรือไม่ หากทางโรงเรียนจ้างเองโดยจ่ายเงินเดือนให้ในจำนวน 10,000 บาท ครูบางรายก็รับได้ จนต่อมาเมื่อครูได้ทำการสอนมาได้ระยะหนึ่ง โรงเรียนจะพิจารณานำชื่อครูบางรายส่งไปขอรับเงินเดือนอุดหนุนจากรัฐ ซึ่งภาษาที่โรงเรียนใช้กันคือ “ครูที่ได้รับการแต่งตั้งบรรจุ” โดยที่โรงเรียนจะไม่ต้องเป็นผู้จ่ายเงินเดือนให้กับครู รัฐจะเป็นผู้จ่ายให้ ทางโรงเรียนจะมีการแจ้งกับทางครูว่าจะบรรจุหรือไม่ หากบรรจุจะได้รับสวัสดิการเพิ่ม สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ สามารถรับเงินสมทบได้
"ทางหัวหน้าฝ่ายบุคคลของโรงเรียน ซึ่งเป็นบุตรชายของผู้ได้รับใบอนุญาตและเจ้าของโรงเรียน แจ้งให้ทราบว่า ในส่วนของเงินเดือนก็จะได้รับในจำนวน 10,000 บาทเท่าเดิม ซึ่งครูบางรายก็พยายามที่จะสอบถามซ้ำ ๆ ว่าได้จำนวนเท่าเดิมจริงหรือไม่ หัวหน้าฝ่ายบุคคลก็ยังคงยืนยันคำพูดเดิมมาตลอด ทำให้ครูบางรายต้องรับขอเสนอในการที่ได้รับการแต่งตั้งบรรจุ" แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าว ยังกล่าวอ้างอีกว่า หลังจากนั้นทางโรงเรียนได้เรียกครูไปทำสัญญาจ้าง แต่ปรากฏในสัญญาจ้างในส่วนเงินเดือนครูที่รัฐอุดหนุนเป็นจำนวน 15,xxx บาท แต่ละรายจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับใบประกอบวิชาชีพ วุฒิการศึกษาบางรายจบหลักสูตรครู 4 ปี ครูบางรายจบหลักสูตร 5 ปี จึงทำให้มีการตั้งข้อสงสัย และได้มีการสอบถามทางโรงเรียนถึงได้รับเงินในส่วนนี้ได้ไม่เต็มจำนวน ทางหัวหน้าฝ่ายบุคคลของโรงเรียน ให้คำตอบว่าโรงเรียนจะต้องนำเงินส่วนที่หักนี้ เอาไปไว้ในการจ่ายให้กับครูที่ไม่ได้บรรจุ แต่ในความเป็นจริงเป็นครูที่โรงเรียนต้องจ้างเอง สร้างความสงสัยให้กับครูหลายๆคน
"โรงเรียนทำแบบนี้ ใช้ระเบียบแบบนี้มานานแล้ว และโรงเรียนเอกชนทุกโรงเรียนก็ทำแบบนี้ และหากทางครูคนใดที่ไม่พอใจ หรือไม่ยอมรับการที่จะได้เงินเดือนแค่ส่วนนี้ ทางโรงเรียนก็จะแจ้งว่า “ไม่เป็นไร เดี๋ยวจะถอดถอนรายชื่อจากการบรรจุให้” ทำให้ครูบางรายต้องยอมรับสารภาพที่ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม แลกกับมีงานทำต่อไป" แหล่งข่าวรายนี้กล่าวย้ำ
ขณะที่ อดีตครูรายหนึ่ง ยืนยันเช่นกันว่า โรงเรียนทำเช่นนี้มานานกว่า 20 ปีแล้ว ครูหลายรุ่นแล้วที่พยายามต่อสู้กับเรื่องนี้ แต่ได้แค่พูดคุยเจรจา ไม่มีใครกล้าแจ้งความ ลูกชายของผู้ได้รับใบอนุญาตเจ้าของโรงเรียน ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบุคคลมีการพูดว่า มีครูหลายรุ่นแล้วพยายามที่จะต่อสู้ แต่ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ ทำให้ครูบางคนต้องโดนไล่ออก โดยที่ทางโรงเรียนไม่จ่ายค่าชดเชย ไม่จ่ายเงินค่าประกัน ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เสียเปรียบอย่างไม่มีความเป็นธรรมกับครูเหล่านั้น
"สำหรับเงินเดือนครูที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐก็ยังคงได้รับจำนวน 10,000 บาท ส่วนที่เป็นเงินเดือนจริงนอกเหนือจาก 10,000 บาท ดังกล่าวแล้ว เช่น บางราย 15,xxx บาท 16,xxx บาท 17,xxx บาท 18,xxx บาท โรงเรียนได้มีการหักไปทั้งหมด โดยครูที่บรรจุไม่เคยได้รับในส่วนนั้นเลย อีกทั้งโรงเรียนยังมีการหักเงินหากครูมาสายเกินเวลา 07.20 น. หักนาทีละ 50 บาท ทางโรงเรียนจะใช้บัญชีธนาคารของบุตรชายเจ้าของโรงเรียนในการโอนเงินเดือนให้กับครู โดยที่บุตรชายจะเป็นคนหักและจัดการเองทั้งหมด ทางครูไม่สามารถเรียกร้องหรือขอเงินคืนได้เลย คงเหลือบางเดือนหากโดนหักก็อยู่ที่ 9,xxx บาท ส่วนเงินเดือนจริงนอกเหนือจาก 10,000 บาท หายเข้าโรงเรียนไปเลย" อดีตครูรายนี้ระบุ
@ หลักฐานการรับเงินเดือนของครูบางรายที่เหลือจำนวนแค่ 9,900 บาท
อดีตครูรายนี้ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่ ป.ป.ช.ตรัง พร้อมด้วยนักข่าวลงพื้นที่สุ่มตรวจโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าโรงเรียนเตรียมตัวตั้งรับไม่ทัน ในระหว่างที่มีการประชุมกัน ทางโรงเรียนได้บังคับให้ครูรายหนึ่งรีบไปเดินบอกครูทุก ๆ คนที่กำลังสอนว่า หากมีใครถามอะไรเกี่ยวกับโรงเรียน ให้พูดแบบนี้ แบบนั้น โดยไม่ต้องพูดความจริง ทำให้หลังจากที่ ป.ป.ช.ตรัง ลงตรวจสอบทางโรงเรียนได้มีการโอนเงินเดือนเต็มจำนวนจริงให้กับทางครู โดยที่ไม่ได้ผ่านบัญชีของบุตรชายเจ้าของโรงเรียนแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเป็นบัญชีของใคร คิดว่าเป็นบัญชีที่จ่ายผ่านจากธนาคารเอง ทางโรงเรียนได้มาแจ้งยอดเงินเดือนครูที่เข้าบัญชี และบังคับให้ครูที่มีการโอนเงินเดือนจำนวนเต็มเข้าบัญชีแล้วนั้น กดเงินสดออกมาคืนให้กับทางโรงเรียนในส่วนต่างที่นอกเหนือไปจากจำนวน 10,000 บาท ที่โรงเรียนกำหนดให้
"หากครูบางรายไม่ยอมคืนเงินกลับให้ ทางโรงเรียนจะใช้วิธีข่มขู่ กดดัน กลั่นแกล้งสารพัด เพื่อที่จะให้ครูเกิดความเครียดและยอมคืนเงินในส่วนนั้นกลับให้ทางโรงเรียน ทั้งการเรียกไปพบพูดคุยกดดันให้คืนเงิน การบังคับเพิ่มจำนวนชั่วโมงสอนให้มากกว่าเดิม และเพิ่มรายวิชาที่ครูไม่ถนัดไปอีก 2-3 วิชา และไม่ใช่สายที่จบมาเพิ่มไปอีก เช่น ปกติครูแต่ละคนสอนกันอยู่ 27 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถือว่าเยอะแล้ว ทั้งที่โรงเรียนอื่นๆสอนกันแค่ 18 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ล่าสุดก็มาเพิ่มเป็น 30 กว่าชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งส่วนใหญ่จะกระทำกับครูที่ไม่คืนเงิน ทำให้ครูต้องสอนเต็มแทบไม่ได้พักเพื่อเป็นการกดดัน กลั่นแกล้งเพื่อให้ทำงานไม่ได้ และอาจจะให้ลาออกไปเองในที่สุด แต่ก็ยังมีการทวงเงินอยู่ตลอด" อดีตครูรายนี้กล่าวย้ำ
อดีตครูรายนี้ ยังระบุว่า ที่ผ่านมาครูที่บรรจุได้รับเงินเดือนอุดหนุนจากรัฐจำนวน 24 คนในปัจจุบัน โรงเรียนหักส่วนต่างนอกเหนือจากจำนวน 10,000 บาท ไปแทบทุกคน เหลือแค่เพียงครูที่เป็นญาติพี่น้องกับทางโรงเรียนจะไม่หักไปทั้งหมดในส่วนต่างนั้น ครูบางรายสภาพความเป็นอยู่น่าสงสารมาก ครูบางรายที่บรรจุทำงานมาหลายปี แทบไม่รู้เลยว่าตัวเองได้เงินเดือนมากกว่าที่โรงเรียนจ่ายให้อยู่เพียงแค่ 10,000 บาท และต่ำกว่า 10,000 บาทก็มี เมื่อมารู้เงินเดือนจริง ๆ ที่ตัวเองสมควรได้รับถึงกับต้องร้องไห้ แต่ก็ยังถูกโรงเรียนบีบบังคับให้กดเป็นเงินสดมาคืนอีก
"อยากฝากเรื่องนี้ไปถึง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ช่วยติดตามเรื่องนี้ และกำชับการทำงานอย่างโปร่งใสของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) นางอรทัย เกิดภิบาล ศึกษาธิการ จ.ตรัง เกี่ยวกับการจัดสรรเงินอุดหนุน เมื่อปรากฏว่าโรงเรียนดำเนินการเกี่ยวกับการขอรับเงินอุดหนุนรายบุคคลไม่เป็นไปตามระเบียบ จะต้องดำเนินการเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย และพิจารณาดำเนินการทางคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแก่ผู้กระทำความผิด ซึ่งเหตุการณ์นี้ผ่านมาเกือบ 2 เดือนแล้ว แต่ยังไม่มีการรายงานผลการติดตามตรวจสอบมายัง ป.ป.ช.ตรัง หรือดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดที่ยักยอกเอาเงินเดือนที่ครูสมควรได้รับ เอางบประมาณแผ่นดินเข้ากระเป๋าตัวเอง ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณผิดจากไปวัตถุประสงค์และระเบียบไปจำนวนมากน้อยขนาดไหน ใครได้ แล้วใครเสียผลประโยชน์" อดีตครูกล่าวย้ำ
สำหรับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการติดตามตรวจสอบโรงเรียนสอนศาสนาแห่งนี้ยังไม่จบ ยังมีเงื่อนปมเกี่ยวกับการปรากฏรายชื่อนักเรียนผี ซึ่งไม่มีตัวตน และไม่ได้ศึกษาอยู่ภายในโรงเรียน กรณีอาหารกลางวัน ไม่เป็นไปตามระเบียบและหลักโภชนาการ เงินอุดหนุนเรียนฟรี 15 ปี มีข้อสังเกตบิลใบเสร็จออกจากร้านเดียว และคล้ายกับเพิ่งจัดทำมาใหม่ รวมไปถึงการส่งนักเรียนบางส่วนไปเรียนศาสนากับสถานที่แห่งหนึ่งที่อ้างว่าเป็นโรงเรียน ทั้งที่ไม่ได้มีการขออนุญาตและเปิดสอนถูกต้องตามกฎหมาย
รายละเอียดเป็นอย่างไรติดตามตอนต่อไป