ป.ป.ช.ตรัง-ศึกษาธิการจังหวัดตรวจ รร.เอกชนได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ มีรายชื่อนักเรียนทิพย์-อาหารกลางวันไม่ตรงปก พบแยกนักเรียนไปสอนศาสนานอกโรงเรียน-ศึกษาธิการจังหวัดเตรียมตรวจสอบทำผิดกฎหมายหรือไม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำ จ.ตรัง มอบหมายให้ นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง พร้อมด้วย หัวหน้ากลุ่มงานตรวจสอบทรัพย์สิน สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง เจ้าหน้าที่สำนักงานศึกษาธิการ จ.ตรัง นายอดิศร แก้วเซ่ง รองศึกษาธิการ จ.ตรัง และเครือข่ายภาคประชาชน ชมรมตรังต้านโกง ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบการบริหารจัดการของโรงเรียนแสงธรรมวิทยาตรังมูลนิธิ หมู่ 1 ต.ควนปริง อ.เมืองตรัง ซึ่งเป็น 1 ในโรงเรียนเอกชนใน จ.ตรัง ที่ได้รับเงินอุดหนุนสนับสนุนจากภาครัฐ หลังจากที่สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง พบเบาะแสว่าโรงเรียนดังกล่าว มีนักเรียนไร้ซึ่งตัวตน แต่มีรายชื่อขอเบิกงบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐ การบริหารจัดการการเรียนการสอนและการจ่ายเงินเดือนครูไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงฯ รวมทั้งอาหารกลางวันไม่เป็นไปตามหลักโภชนาการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงเรียนดังกล่าวเปิดสอนในระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แบ่งจำนวนนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 31 คน ระดับชั้นประถม 101 คน และระดับชั้นมัธยม 422 คน มีคณะครูทั้งหมด 40 คน ครูที่ได้รับเงินเดือนสนับสนุนจากภาครัฐจำนวน 24 คน และโรงเรียนจัดจ้างเอง 16 คน
เจ้าหน้าที่สุ่มตรวจสอบอาหารกลางวันนักเรียนระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษาของโรงเรียน รวมจำนวน 132 คน ที่ทางภาครัฐได้ให้เงินอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวันอยู่ที่หัวหรือรายละ 22 บาทต่อวัน ในรายชื่อเมนูอาหารของวันนี้ที่ทางโรงเรียนได้ติดระบุไว้มีเมนู ไข่พะโล้, องุ่นเขียว, ปูอัดทอด แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมนูอาหารไม่ตรงไปตามที่โรงเรียนได้ระบุไว้ โดยนักเรียนระดับชั้นอนุบาลได้รับเพียงแค่ ข้าวสวย ผัดถั่วงอกใส่เต้าหู้และแครอท ซึ่งไม่ปรากฏพบเห็นเนื้อสัตว์ กับขนมอบกรอบไส้ช็อกโกแลตคนละ 1-2 แท่ง ส่วนเมนูอาหารนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ตามที่ติดระบุไว้มีเมนู ไข่พะโล้, ผัดเผ็ดลูกชิ้น ซึ่งเมื่อเข้าไปตรวจสอบถึงภายในครัวกลับพบว่ามีเมนูไข่พะโล้ แต่ไม่ได้มีการนำมาให้เด็กระดับชั้นอนุบาลได้รับประทานด้วย
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจภายในห้องเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา เป็นห้องระดับชั้นมัธยมศึกษาปี 2 ห้อง 3 (ม.2/3) มีนักเรียนซึ่งเรียนอยู่เป็นประจำ ทั้งหมดเป็นนักเรียนหญิง จำนวน 15 คน ขาดลา 3 คน แต่กลับพบว่ารายชื่อของนักเรียนทั้งหมดของห้อง ม.2/3 ที่มีการส่งชื่อของบอุดหนุนจากภาครัฐจริงมีจำนวนถึง 30 คน ส่วนห้องเรียนระดับชั้น ม.2/2 มีนักเรียนที่เรียนอยู่เป็นประจำจำนวน 13 คน แต่มีรายชื่อในระบบจริงจำนวน 31 คน และระดับชั้น ม.1/2 มีนักเรียนเรียนจริงอยู่จำนวน 14 คน แต่ในรายชื่อกลับมีถึง 31 คน รวมในแต่ละห้อง มีนักเรียนที่มีรายชื่อแต่ไม่ได้เรียนในโรงเรียนหายไปจำนวนกว่าครึ่งห้องเรียน
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่พยายามขานชื่อและให้นักเรียนยกมือหากปรากฏชื่อตัวเอง ส่วนที่มีรายชื่อแต่ไม่มีตัวตนนั้น นักเรียนที่เรียนประจำอยู่ภายในห้องเรียน บอกว่า ไม่เคยพบเจอ ไม่ทราบชื่อ ไม่รู้จัก หรือเห็นหน้านักเรียนเหล่านั้นมาก่อน โดยทางโรงเรียนฯ อ้างเหตุผลว่านักเรียนที่มีชื่อแต่ไม่อยู่ในห้องเรียนนั้น ได้ไปเรียน “ฮาฟิร” ซึ่งเป็นการเรียนการสอนของศาสนาอิสลาม เช่นการท่องจำคัมภีร์อัลกุรอาน รวมทั้งโรงเรียนจำนวนประมาณ 150 คน ที่สถาบันมัดรอซะฮ์ อารอบียะห์ ชัมซุลอูลูม พื้นที่ หมู่ 1 ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ส่วนวันเสาร์ และอาทิตย์จะมาเรียนสายสามัญที่โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนยังอ้างเหตุผลว่าเป็นเจตนารมณ์ของผู้ปกครองของนักเรียนที่จะเน้นให้นักเรียนได้ศึกษาเกี่ยวกับศาสนาโดยตรง ส่วนนักเรียนที่ยังคงเรียนอยู่ภายในห้องเรียนก็เรียนเฉพาะวิชาสามัญ
ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำ จ.ตรัง และเจ้าหน้าที่ สำนักงานศึกษาธิการ จ.ตรัง ได้เดินทางไปตรวจสอบตามที่โรงเรียนอ้างเหตุผลว่าได้ส่งนักเรียนไปเรียน “ฮาฟิร” ที่สถานที่ซึ่งอ้างว่าเป็นสถาบันมัดรอซะฮ์ อารอบียะห์ ชัมซุลอูลูม พื้นที่ หมู่ 1 ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ซึ่งระยะทางห่างกับโรงเรียนไปกว่าประมาณ 40 กิโลเมตร พบว่าสถานที่ดังกล่าวถูกปลูกสร้างอยู่ติดกับมัสยิด ลักษณะเป็นคล้ายๆห้องแถวถูกปลูกติดกันจำนวนหลายห้อง มีทั้งห้องพักนักเรียน ห้องพักครู ห้องเรียน มีห้องโถง มีสนามหญ้า ลานกิจกรรมกลางแจ้ง และพบว่ามีการแขวนชุดเสื้อผ้าทั้งกลางแจ้งและในที่ร่ม
เบื้องต้นจากการสอบถามผู้ที่ระบุว่าตนเองเป็นครูผู้สอนศาสนาอิสลามในสถานที่ดังกล่าว ให้ข้อมูลว่า ครูใหญ่ของที่นี่ได้ไปแสวงบุญที่ต่างประเทศ นักเรียนที่มาเรียนที่นี่ ส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งมาจากโรงเรียนแสงธรรมวิทยาตรังมูลนิธิเป็นผู้ส่งมา เมื่อสอบถามว่าการเปิดสถานที่แห่งนี้มีการรับรองจากหน่วยงานใด การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นอย่างไร แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ขณะเดียวกันยังพบว่าทางสถานที่แห่งนี้ไม่ได้มีรายชื่อ สกุลจริงของนักเรียน มีเพียงแค่เลขประจำตัว และชื่อเล่นอิสลามเท่านั้น และยังไม่พบหลักฐานเอกสารการส่งตัวจากทางโรงเรียนแสงธรรมวิทยาตรังมูลนิธิมาด้วยแต่อย่างได
ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้มีการสุ่มเรียกรายชื่อนักเรียนที่ทางโงเรียนอ้างเหตุผลว่าได้มาเรียนที่แห่งนี้ โดยพบว่านักเรียนที่มีอยู่ประมาณ 90-100 คน บางส่วนมีชื่อตรงกับทางโรงเรียน บางส่วนอ้างว่ากลับบ้านไปแล้ว และบางส่วนก็ไม่มีตัวตนอยู่จริงทั้งสองสถานที่ โดยนักเรียนให้ข้อมูลว่า มาเรียนที่แห่งนี้วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ ส่วนวันเสาร์ และอาทิตย์ จะกลับไปเรียนวิชาสามัญที่โรงเรียนแสงธรรมวิทยาตรังมูลนิธิ แต่บางส่วนก็ไม่ได้กลับไปเรียนแต่อย่างได ส่วนการเดินทางก็จะนั่งไปกับรถครูหรือชาวบ้านเป็นบางครั้ง
นายอดิศร แก้วเซ่ง รองศึกษาธิการ จ.ตรัง กล่าวว่า ในฐานะของสำนักงานศึกษาธิการ จ.ตรัง ซึ่งรับผิดชอบดูแลโรงเรียนเอกชนในจังหวัด วันนี้ได้ลงมาดูโรงเรียนแสงธรรมวิทยาตรังมูลนิธิ พร้อมกับ ป.ป.ช.ตรัง ซึ่งผลที่พบเจอ ก็คิดว่านักเรียนทั้งหมดของโรงเรียนแสงธรรมวิทยาฯ ก็มีบางส่วนที่มาเรียนกับศูนย์การเรียนข้างนอก คิดว่าโรงเรียนในระบบก็สามารถที่จะเปิดการเรียนการสอนได้ 3 ระบบ ด้วยกัน 1.ในระบบโรงเรียน 2. นอกระบบโรงเรียน 3.ตามอัธยาศัย คิดว่านักเรียนบางส่วนที่มาเรียนอยู่ที่ศูนย์การศึกษาที่ อ.ปะเหลียน ก็น่าจะเป็นการเรียนนอกระบบ โดยเฉพาะในเรื่องของศาสนา แต่จากที่สอบถามคุณครูอยู่ที่ศูนย์การเรียน ที่ อ.ปะเหลียน ก็พบว่าเด็กมาเรียนศาสนาตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ส่วนวันเสาร์ และอาทิตย์ จะกลับไปเรียนสายสามัญที่โรงเรียนแสงธรรมวิทยาฯ การที่โรงเรียนมีการเรียนการสอนแบบนี้ ทางสำนักงานศึกษาธิการ จ.ตรัง ก็จะไปศึกษารายละเอียดอีกรอบว่าจะทำได้หรือไม่ ว่ามาเรียนที่ศูนย์ข้างนอกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ไกลับไปเรียนในระบบวันเสาร์ วันอาทิตย์จะได้หรือไม่ จะไปดูรายละเอียดของข้อกฎหมายอีกรอบหนึ่ง
"ถามว่าสัดส่วนการเรียน 5:2 จะเหมาะสมหรือไม่ วันทำการมาอยู่ที่นี่ทั้งหมด มองว่าจริงๆ ถ้าโรงเรียนขอระบบทำการสอนในระบบโรงเรียนอย่างเดียวได้หรือไม่ ตอบว่าไม่ได้ จริง ๆ แล้วเด็กต้องอยู่ในโรงเรียนเท่านั้น เผอิญว่าโรงเรียนแสงธรรมวิทยาฯ เขาสอนแบบควบคู่สอนศาสนาอิสลามคู่กับสายสามัญก็มีบางส่วนที่เขาจะเรียนข้างนอกได้ เขาเรียนแบบตามอัธยาศัย ซึ่งข้อกฎหมายดังกล่าวจะไปดูรายละเอียดอีกรอบว่าจะได้หรือไม่ การที่อ้างว่าเป็นความประสงค์ของผู้ปกครองไม่สามารถอ้างได้ การอ้างได้ต้องอ้างด้วยข้อกฎหมายเท่านั้นเองว่าจะเปิดการเรียนการสอนตามอัธยาศัยได้หรือไม่ ในส่วนหลักเกณฑ์หลักการเรื่องจำนวนเด็กที่หายไป มีบางส่วนเหมือนกันที่เรามาตรวจสอบดูแล้วว่าไม่มีชื่อของเด็กที่อยู่ในระบบ เดี๋ยวอย่างไรก็แล้วแต่เราจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนต่อไปว่านักเรียนที่หายไปเป็นอย่างไร" นายอดิศร กล่าว
นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงเรียนเอกชนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ก็ปรากฏในเรื่องของอาหารกลางวัน ในเรื่องปริมาณและคุณภาพเพราะว่าเด็กอนุบาลได้รับการจัดสรรงบประมาณหัวละ 22 บาท ดูเบื้องต้นน่าจะไม่คุ้มค่าตามหลักโภชนาการ ก็ต้องให้ทางศึกษาธิการจังหวัด ที่เป็นผู้จ่ายเงินอุดหนุนต้องตรวจสอบต่อไป ส่วนเรื่องของจำนวนนักเรียนจากการตรวจสอบเบื้องต้น ก็ไม่ปรากฏชื่อนักเรียนที่อยู่ในห้องของโรงเรียนแสงธรรมวิทยามูลนิธิ ซึ่งทางโรงเรียนได้ให้ข้อมูลว่าได้ส่งเด็กนักเรียนมาเรียนโรงเรียนศาสนา แต่ตามระเบียบแล้วเด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนก็ต้องเรียนทุกวันที่โรงเรียนเอกชน ที่รับเงินอุดหนุน ไม่สามารถที่จะส่งไปเรียนที่อื่นได้ พอมาสุ่มตรวจที่โรงเรียนสอนศาสนาก็พบว่ามีบางรายที่ไม่ปรากฏชื่ออยู่ในโรงเรียนที่โรงเรียนแสงธรรมส่งมา ตามระเบียบแล้วต้องเรียนที่โรงเรียนแสงธรรมฯเอง ไม่สามารถที่จะไปส่งต่อเรียนที่อื่นได้ และในเรื่องของการสอนหลักสูตรสามัญต่าง ๆ ที่จะต้องมีการเรียนการสอนการสอบการประเมิน ทางศึกษาธิการต้องไปตรวจสอบต่อไปอีกครั้ง เงินอุดหนุนเป็นเงินของรัฐ ทางศึกษาธิการก็ต้องตรวจสอบว่าอุดหนุนต่าง ๆ ไปเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่อย่างไร
"รวมทั้งรายบุคคลที่รับเงินอุดหนุนเงินเดือนของครูที่เขาชี้แจงมาว่ามีการจ่ายเงินเดือนครูเป็นเงินสด ซึ่งตามระเบียบต้องจ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ไม่สามารถที่จะจ่ายเป็นเงินสดได้ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของศึกษาธิการจังหวัดจะต้องไปดำเนินการตามระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป หากไม่ดำเนินการ ปรากฏว่ามีการเบิกเท็จมีหัวไม่ตรงกับรายชื่อจำนวนต่างๆ ก็ต้องมีการเรียกเงินคืนต่อไปหรือดำเนินการทางอาญาต่อไป" นายยุทธนา กล่าว
ว่าที่พันเอกหญิง ส้าหลี้เฝาะ โต๊ะหลี ผู้รับใบอนุญาตและผู้อำนวยการโรงเรียนแสงธรรมวิทยามูลนิธิ กล่าวว่า ประเด็นที่ 1. กรณีมีรายชื่อเด็กนักเรียน แต่ไม่ปรากฏตัวตนนั้น ตามปกตินักเรียนอยู่กันครบ และนักเรียนไปเรียนวิชาศาสนาไปเข้าคอร์สเหมือนกับเราไปเรียนสารพัดช่างหรือการอาชีพ แต่ทางโรงเรียนให้เรียนชดเชย เสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้เวลาได้ครบและได้สอบได้เป็นนักเรียนปกติ แต่นักเรียนอยู่ปกติที่นี่ ซึ่งเด็กนักเรียนมาอยู่ที่นี่ประจำ แต่ไม่ได้เรียนร่วมกับเพื่อนร่วมชั้น คนที่ไปเรียนศาสนาจะมาเรียนอีกห้อง เฉพาะคนที่ไปไม่ได้เกี่ยวข้องกับเพื่อนร่วมชั้น และครูที่สอนนักเรียนเหล่านี้เป็นครูต่างหาก
"ส่วนรายชื่อนักเรียนที่มีไม่ใช่นักเรียนทิพย์มีตัวตนจริง ๆ วันไหนที่เด็กไม่ไปเรียนจะอยู่ครบ ส่วนเด็กที่มีรายชื่อเรียนจริง ๆ ที่โรงเรียนตอนแรกเขาก็มาสมัครเรียนที่โรงเรียนอยู่ปกติ แต่มีช่วงหนึ่งที่ผู้ปกครองเขาต้องการให้ลูกได้เรียนศาสนาเยอะ เลยส่งไปเรียนคอร์สพิเศษ อยากให้สบายใจว่า โรงเรียนจะโปร่งใสทุกอย่าง หากบกพร่องส่วนไหนพร้อมยินดีแก้ไข ส่วนประเด็นโครงการอาหารกลางวัน ตรงนี้ปกติ ไม่ได้แก้ตัววันอื่นที่ไปดูมันมีพร้อมตามนั้น วันนี้ตนเองก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ชี้แจงตามหัวหน้าที่รับผิดชอบ แต่วันนี้ยอมรับว่าเมนูของอาหารไม่ตรงจริงๆ ทั้งนี้จะปรับปรุงแก้ไขและจะลงไปดูเอง พร้อมที่จะปรับปรุงตรงนี้" ว่าที่พันเอกหญิง ส้าหลี้เฝาะ กล่าว