ไม่ใช่แค่คดีรถหลวง 'ปรัชวิญณ์ ไพโรจน์บวร' อดีต ผอ.โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พัทลุง ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีกล่าวหาทุจริตปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักอาคารเพิ่ม พร้อมพวกรวม 8 ราย พฤติการณ์เอื้อผู้รับเหมารับงาน ทำรัฐเสียหาย 130,723.85 บาท ส่งสำนวน อสส. ฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนกม.แล้ว-แจ้งให้ชดใช้ค่าเสียหายด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า นายปรัชวิญณ์ ไพโรจน์บวร อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พัทลุง ไม่ได้ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทางอาญาและวินัยร้ายแรง ในคดีกล่าวหานำรถยนต์ส่วนกลางของโรงเรียนไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน รวมทั้งนำไปใช้นำขบวนขันหมากงานแต่งงานของน้องภรรยา และร่วมเป็นเจ้าภาพสวดอภิธรรมศพ เท่านั้น
หากแต่นายปรัชวิญณ์ ไพโรจน์บวร ยังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดพร้อม พวก รวม 8 ราย ในคดีกล่าวหาทุจริตทำการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักและอาคารประกอบอีก 1 คดีด้วย
- ป.ป.ช.ชี้มูลอดีต ผอ.ร.ร.ศึกษาสงเคราะห์พัทลุง ใช้รถหลวงนำขบวนขันหมากแต่งน้องเมีย
- ใช้ 62 ครั้ง! พฤติการณ์อดีตผอ.ร.ร.สงเคราะห์พัทลุง คดีรถหลวง พาเด็กชกมวย-แต่งน้องเมีย-สวดศพ
แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพัทลุง เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า คดีกล่าวหาทุจริตทำการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักและอาคารดังกล่าว สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพัทลุง ได้รับเรื่องกล่าวหา นายปรัชวิญณ์ ไพโรจน์บวร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พัทลุงกับพวก รวม 8 คน ว่า ทำการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักและอาคารประกอบ ตามสัญญาจ้างเลขที่ 3/2558 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2557 งบประมาณ 568,400 บาท ไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย โดยดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ทั้งที่ไม่เข้าเงื่อนไขตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือให้นายสถิตย์ เพชรโชติ และห้างหุ้นส่วนศรีเพชรการไฟฟ้า ได้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม และดำเนินการโดยใช้ราคาที่ไม่ผ่านการคำนวณราคาของคณะกรรมการกำหนดราคากลาง โดยปรากฏว่าดำเนินการงานก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการ และไม่เป็นไปตามราคากลางของสำนักพาณิชย์จังหวัดพัทลุง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 130,723.85 บาท เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พัทลุง
ขณะที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสำนวนไต่สวนแล้ว มีมติดังนี้
1. นายปรัชวิญณ์ ไพโรจน์บวร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พัทลุง มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการบังคับบัญชาพนักงานครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา บริหารกิจการของสถานศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับฯ แต่กลับสั่งการให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และยังปรากฏพฤติการณ์ว่าเป็นผู้ส่งมอบปริมาณงานจ้างการกำหนดราคาจ้างก่อสร้างและจัดจ้างโดยวิธีพิเศษให้แก่นายสถิตย์ เพชรโชติ ผู้รับจ้าง เพื่อให้นายสถิตย์ เพชรโชติ นำปริมาณงานดังกล่าวไปคำนวณราคากลาง ก่อนที่จะมีการดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกฎหมาย โดยมีเจตนาที่จะให้ราคากลางในการจัดจ้าง ไม่ผ่านการคำนวณราคากลาง โดยคณะกรรมการกำหนดราคากลาง และไม่มีแบบรูปรายการ พฤติการณ์ในการส่งมอบปริมาณการดำเนินการจัดจ้างให้แก่นายสถิตย์ เพชรโชติ และการอนุมัติให้ดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ โดยไม่เข้าเงื่อนไขตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 จึงเป็นไปเพื่อช่วยเหลือให้นายสถิตย์ เพชรโชติ หุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจํากัดศรีเพชรการไฟฟ้า ได้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม อีกทั้งนายปรัชวิญณ์ฯ ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พัทลุง ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุด ไม่ได้ควบคุม ดูแลให้การดำเนินการซ่อมแซมฯ ดังกล่าว ดำเนินการไปโดยมีการควบคุมงานจากผู้ควบคุมงาน ไม่พบรายงานการควบคุมงาน และไม่มีกรรมการตรวจรับพัสดุโดยชอบและไม่เป็นไปตามสัญญาจ้างแต่ยังอนุมัติให้จ่ายเงินค่าจ้างเต็มจำนวนโดยที่รู้ว่างานจ้างไม่เป็นไปตามสัญญา เป็นเหตุให้ทางราชการเสียหาย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ ว่า การกระทำของนายปรัชวิญณ์ ไพโรจน์บวร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่ง โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น และฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคา รายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการและหน่วยงานการศึกษา มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 84 วรรคสาม และมาตรา 85 วรรคสอง
2. นางฉลอง ชูฉิม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ในฐานะเจ้าหน้าที่พัสดุมีหน้าที่รับผิดชอบให้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ ของโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พัทลุงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเป็นผู้จัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว จึงมีหน้าที่ในการแจ้งผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ควบคุมงาน คณะกรรมการกำหนดราคากลาง และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุทราบ พร้อมทั้งส่งมอบเอกสารสัญญา รายการปริมาณงานและแบบรูปรายการ แต่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบไม่แจ้งคำสั่งและส่งมอบเอกสารสัญญา รายการปริมาณงานและแบบรูปรายการ จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ ว่า การกระทำของนางฉลอง ชูฉิม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือ
ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการและหน่วยงานการศึกษามติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 84 วรรคสาม และมาตรา 85 วรรคสอง
3. นายภานุวัตร ขุนปราบ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายกัมปนาท เพชรเดชะ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และ นายจำลอง มีขาว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นว่า นายภานุวัตร ขุนปราบ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ในฐานะประธานกรรมการตรวจการจ้าง นายกัมปนาท เพชรเดชะ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และนายจำลอง มีขาว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ในฐานะกรรมการตรวจการจ้าง มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของงานจ้างให้เป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญา และทำการตรวจสอบรายงานการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างและเหตุการณ์แวดล้อมที่ผู้ควบคุมงานรายงาน
แม้จากการไต่สวนเบื้องต้นปรากฏข้อเท็จจริงว่านายภานุวัตร ขุนปราบผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายกัมปนาท เพชรเดชะ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และนายจำลอง มีขาว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ไม่ได้ลงนามรับทราบคำสั่งที่ได้แต่งตั้งผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามรายเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง แต่กลับปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามรายได้ลงลายมือชื่อตรวจรับงานจ้างทั้ง ๆ ที่ไม่มีรายงานการปฏิบัติงานของช่างผู้ควบคุมงานและการดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงอาคารฯ ไม่ครบถ้วนตามที่มีการตรวจรับ เพื่อใช้ประกอบในการเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้าง จึงเป็นการดำเนินการในฐานะคณะกรรมการตรวจการจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ทางราชการเสียหาย เป็นจำนวนเงิน 130,723.85 บาท จึงเห็นว่า การกระทำของนายภานุวัตร ขุนปราบ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายกัมปนาท เพชรเดชะ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และนายจำลอง มีขาว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการรับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ และรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้น มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) และ (4) ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172)
นอกจากนี้ นายภานุวัตร ขุนปราบ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายกัมปนาท เพชรเดชะ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบแบบแผนของทางราชการ และหน่วยงานการศึกษา มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 84 วรรคสาม และมาตรา 85 วรรคสอง และนายจำลอง มีขาว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2537 ข้อ 30 วรรคสาม ข้อ 33 วรรคสอง และข้อ 46 วรรคสอง
4. นายชาญชัย วงศ์สวัสดิ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นว่า นายชาญชัย วงศ์สวัสดิ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ในฐานะผู้ควบคุมงานมีอำนาจหน้าที่ตรวจและควบคุมงาน ณ สถานที่ที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือที่ตกลงให้ทำงานจ้างนั้น ๆ ทุกวัน ให้เป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียด และข้อกำหนดในสัญญาทุกประการ จดบันทึกสภาพการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างและเหตุการณ์แวดล้อมเป็นรายวันพร้อมทั้งผลการปฏิบัติงาน หรือการหยุดงานและสาเหตุที่มีการหยุดงานอย่างน้อย 2 ฉบับ เพื่อรายงานให้คณะกรรมการตรวจการจ้างทราบทุกสัปดาห์ และเก็บรักษาไว้เพื่อมอบให้แก่เจ้าหน้าที่พัสดุเมื่อเสร็จงานแต่ละงวด และในวันกำหนดลงมือทำการของผู้รับจ้างตามสัญญาและในวันถึงกำหนดส่งมอบงานแต่ละงวด โดยมีหน้าที่รายงานผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างว่าเป็นไปตามสัญญาหรือไม่ ให้คณะกรรมการตรวจการจ้างทราบภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันถึงกำหนดนั้น ๆ แม้จากการไต่สวนเบื้องต้นปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายชาญชัย วงศ์สวัสดิ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ไม่ได้ลงนามรับทราบคำสั่งที่ได้แต่งตั้งให้เป็นผู้ควบคุมงาน โดยปรากฏว่า นายชาญชัย วงศ์สวัสดิ์ ผู้ถูกกล่าวหา ที่ 6 ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ข้างต้น
แต่กลับลงลายมือชื่อในรายงานการควบคุมงาน เพื่อใช้ประกอบในการเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้าง จึงเป็นการดำเนินการในฐานะผู้ควบคุมงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ทางราชการเสียหาย เป็นจำนวนเงิน 130,723.85 บาท จึงเห็นว่าการกระทำของนายชาญชัย วงศ์สวัสดิ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการรับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ และรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้น มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) และ (4) ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการและหน่วยงานการศึกษา มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 84 วรรคสาม และมาตรา 85 วรรคสอง
5. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีเพชรการไฟฟ้า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 และนายสถิตย์ เพชรโชติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8
ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ว่า การกระทำของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีเพชรการไฟฟ้า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 และนายสถิตย์ เพชรโชติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า คดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัย ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับ นายปรัชวิญณ์ ไพโรจน์บวร นางฉลอง ชูฉิม นายภานุวัตร ขุนปราบ นายกัมปนาท เพชรเดชะ นายจำลอง มีขาว นายชาญชัย วงศ์สวัสดิ์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีเพชรการไฟฟ้า และนายสถิตย์ เพชรโชติ และให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยกับ นายปรัชวิญณ์ ไพโรจน์บวร นางฉลอง ชูฉิม นายภานุวัตร ขุนปราบ นายกัมปนาท เพชรเดชะ นายจำลอง มีขาว และนายชาญชัย วงศ์สวัสดิ์ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1) และ (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป
ทั้งนี้ ให้แจ้งโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พัทลุง อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 82 วรรคสอง ต่อไปด้วย
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด