เผยมติ ป.ป.ช.เสียงเอกฉันท์ ตีตกคดี 'ทักษิณ ชินวัตร-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ' เอื้อประโยชน์ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ช่วงถือหุ้นไทยแอร์เอเชีย ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ 3 ครั้ง - ละเว้นตรวจสอบปมขาดคุณสมบัติเป็นผู้จดทะเบียนอากาศยาน หลังพิจารณาสำนวนการไต่สวนคดีเบื้องต้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีเจตนากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ไม่มีมูล ให้ตกไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตีตกคดีกล่าวหา นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 3 ครั้ง อันเป็นการเอื้อประโยชน์ ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการไม่ตรวจสอบ หรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด กรณีนำอากาศยานมาจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางอากาศ กระทรวงคมนาคม ทั้งที่ในระหว่างวันที่ 22 กันยายน 2547 จนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ขาดคุณสมบัติของการเป็นผู้จดทะเบียนอากาศยาน เนื่องจากมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 มาตรา 31 (3) (ง) และกรณีแก้ไขข้อบังคับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยว่าด้วยค่าภาระค่าใช้ท่าอากาศยาน (ค่าบริการการใช้สะพานเทียบเครื่องบิน) ตามที่บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ร้องขอ เป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด
หลังพิจารณาสำนวนการไต่สวนคดีเบื้องต้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะฟังได้ว่านายทักษิณ ชินวัตร และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ มีเจตนาในการกระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุปดังนี้
1. กรณีกล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการส่งเสริมการลงทุน ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีปรากฏข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม. 14/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 1/2553 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 และคดีหมายเลขดำที่ อม. 9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2551 วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ว่านายทักษิณ ชินวัตร คุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นเจ้าของหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในระหว่างที่นายทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งสองวาระ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 3 ครั้ง อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น
2. กรณีกล่าวหานายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ไม่ตรวจสอบหรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด กรณีนำอากาศยานมาจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางอากาศ กระทรวงคมนาคม ทั้งที่ในระหว่างวันที่ 22 กันยายน 2547 จนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ขาดคุณสมบัติของการเป็นผู้จดทะเบียนอากาศยาน เนื่องจากมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 มาตรา 31 (3) (ง) และกรณีแก้ไขข้อบังคับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยว่าด้วยค่าภาระค่าใช้ท่าอากาศยาน (ค่าบริการการใช้สะพานเทียบเครื่องบิน) ตามที่บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ร้องขอ เป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีดังนี้
สรุปข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวน
ข้อกล่าวหาที่ 1
ในระหว่างปี พ.ศ. 2545 - 2549 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้มีคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ ในคณะกรรมการส่งเสริมแทนนายกรัฐมนตรี โดยในระหว่างปี พ.ศ. 2547 - พ.ศ. 2549 การพิจารณาให้การส่งเสริมการลงทุนกิจการขนส่งทางอากาศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ใช้หลักเกณฑ์และขั้นตอนตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 1/2543 เรื่อง นโยบายและหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนลงวันที่ 1 สิงหาคม 2543 ในการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้กับทุกประเภทกิจการ ซึ่งผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนต้องยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน โดยสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับขึ้นอยู่กับประเภทของกิจการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน ส่วนประเภท ขนาด และเงื่อนไขของกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนจะเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 2/2543 เรื่อง ประเภท ขนาด และเงื่อนไขของกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2543 กิจการขนส่งทางอากาศ ถูกกำหนดให้เป็นกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนและเป็นกิจการที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ประเภทที่ 7.2.3 ตามบัญชีท้ายประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 2/2543 เรื่อง ประเภท ขนาด และเงื่อนไขของกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2543 ในระหว่างปี พ.ศ. 2547 - พ.ศ. 2549 บริษัท แอร์เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด) ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 3 ครั้ง คือ บัตรส่งเสริมเลขที่ 1195 (2)/2547 มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2547 บัตรส่งเสริมเลขที่ 2072 (2)/2547 มีผลตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2547 และบัตรส่งเสริมเลขที่ 1854 (2)/2548 มีผลตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2548 โดยไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเข้าร่วมประชุมพิจารณาให้การส่งเสริมการลงทุน การพิจารณาให้สิทธิและประโยชน์ดังกล่าวเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนข้างต้น โดยกิจการขนส่งทางอากาศที่ได้รับสิทธิและประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนเช่นเดียวกับบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด คือ บริษัท โอเรียนท์ไทย แอร์ไลน์ จำกัด และบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด
สำหรับการพิจารณาสัดส่วนผู้ถือหุ้นของผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการขนส่งทางอากาศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พิจารณาจากเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการอนุญาตให้ประกอบกิจการขนส่งทางอากาศของกรมการขนส่งทางอากาศ และเอกสารการจดทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่ผู้ขอรับการส่งเสริมฯ ยื่นประกอบคำขอรับการ ส่งเสริมฯ โดยพิจารณาชั้นเดียวว่าผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนมีสัญชาติไทยเท่านั้น กล่าวคือ มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เท่านั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ให้ต้องตรวจสอบลงไปอีกว่าผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลหรือไม่ มีสัดส่วนการถือหุ้นเท่าใด ซึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ยังใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ฉะนั้น เมื่อบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด มีสัญชาติไทยและมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า ร้อยละ 51 จึงสามารถพิจารณาให้การส่งเสริมการลงทุนได้ ประกอบกับในระหว่างที่มีการพิจารณาให้การส่งเสริมการลงทุนไม่ปรากฏว่ามีร้องเรียนหรือมีเหตุผลอื่นใด ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ต้องตรวจสอบ
ประกอบกับในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท แอร์เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (หรือบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด) ในช่วงเดือนกันยายน 2546 เป็นการดำเนินการของนายทัศพล แบเลเว็ลด์ ที่เป็นผู้ว่าจ้างนายนิทัศน์ วัฒนกุล ทนายความ ให้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท แอร์เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด รวมทั้งในการบริหารจัดการบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด มีนายทัศพล แบเลเว็ลด์ และนายอารักษ์ ชลธารนนท์ ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารกิจการ ส่วนในการบริหารจัดการบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็มีนายบุญคลี ปลั่งศิริ เป็นผู้บริหารกิจการในฐานะประธานกรรมการบริษัท โดยเรื่องนี้ไม่ปรากฏพฤติการณ์และพยานหลักฐานว่า นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เข้ามาเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการธุรกิจดังกล่าว
ข้อกล่าวหาที่ 2
1) อำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนอากาศยานเป็นของอธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ ซึ่งอธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ ได้มีการมอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาดำเนินการจดทะเบียนอากาศยาน และเป็นผู้ลงนามในใบสำคัญการจดทะเบียน ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนอากาศยาน สำหรับการจดทะเบียนอากาศยานให้บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด จำนวน 9 ลำ ในระหว่างวันที่ 22 กันยายน 2547 ซึ่งเป็นวันที่บริษัทฯ นำอากาศยานลำแรกมาจดทะเบียน จนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 นั้น เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบอำนาจจากอธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารหลักฐานและสภาพอากาศยานตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว และเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบอำนาจได้ใช้วิธีการดังกล่าวข้างต้นกับทุกสายการบิน ส่วนเมื่อบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ขายหุ้นให้บริษัท ซีดาห์ โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้ง จำกัด และเกิดปัญหาเกี่ยวกับสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยของบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้ดำเนินการตรวจสอบจนกระทั่งได้แจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด แล้ว
ประกอบกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นสรุปได้ว่า การที่กรมการขนส่งทางอากาศพิจารณาหลักเกณฑ์การนับสัดส่วนหุ้นต่างด้าวของผู้ขอจดทะเบียนอากาศยานและผู้ขออนุญาตประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ โดยพิจารณาจากการถือหุ้นและทุนในนิติบุคคลนั้นๆ โดยไม่พิจารณาถึงทุนของคนต่างด้าวในนิติบุคคลอื่นๆ ที่เข้ามาร่วมลงทุนในนิติบุคคลนั้น จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศกรมการขนส่งทางอากาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาคำอนุญาตผู้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ ลงวันที่ 29 มีนาคม 2547 และมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 รายละเอียดปรากฏตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 202/2551
2) อำนาจหน้าที่ในการออกระเบียบ ทอท. หรือข้อบังคับ ทอท. หรือแก้ไขข้อบังคับ ทอท. เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ทอท. ตามข้อบังคับของ ทอท. ฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2545 ข้อ 36 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไม่มีอำนาจหน้าที่ในกรณีดังกล่าว และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในแต่ละขั้นตอนพิจารณาแก้ไขข้อบังคับ ทอท. ดังกล่าวข้างต้น โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด และอัตราค่าภาระที่มีการแก้ไขดังกล่าวมีผลใช้บังคับกับทุกสายการบิน จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ข้อกล่าวหาที่ 1 มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง เห็นว่าจากการไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะฟังได้ว่านายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีเจตนาในการกระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ข้อกล่าวหาที่ 2 มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง เห็นว่าจากการไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะฟังได้ว่านายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีเจตนาในการกระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
กล่าวสำหรับคดีความของนายทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่ในชั้นตรวจสอบของ ป.ป.ช. ที่ผ่านมา มีหลายคดีที่ถูกตีตกข้อกล่าวหา นอกจากคดีกล่าวหาการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 3 ครั้ง อันเป็นการเอื้อประโยชน์ ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น ยังเหลือคดีถูกร้องเรียนกล่าวหาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามแร่เถื่อน โดยถูกร้องเรียนกล่าวหาพร้อมกับพวก กรณีลงพื้นที่ตรวจสอบลักลอบการทำเหมืองแร่ดีบุก จ.พังงา ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ยังไม่มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน
- ขุดคดีค้าง 'ทักษิณ' ขี่มอไซค์ไม่สวมหมวก-หมิ่นสถาบันฯเพียบ อสส.สั่งฟ้อง ม.112 แล้ว 1 คดี
- เปิดกรุคดีค้าง ป.ป.ช.เสียงแตก 'ทักษิณ-พวก' รอดข้อกล่าวหาแก้ไขรายงานประชุมบอร์ด กทภ.