เผยมติ ป.ป.ช.เสียงแตกตีตกคดีกล่าวหา 'ไพรัตน์ ทองคำใส' อดีตนายกเทศมนตรีตำบลสองพี่น้อง สุพรรณบุรี-พวก มีส่วนได้เสียอนุญาตให้เช่าโครงเหล็กติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ตัวเอง หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่ามีเจตนากระทำความผิด ไม่มีมูล กรรมการเสียงข้างน้อย เห็นว่ามีความผิด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหา นางไพรัตน์ ทองคำใส เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และพวก กระทำการมีส่วนได้เสียโดยอาศัยอำนาจหน้าที่นายกเทศมนตรีตำบลสองพี่น้อง อนุญาตให้เช่าและกำหนดอัตราค่าเช่าโครงเหล็กของเทศบาลตำบลสองพี่น้อง ซึ่งตนเองเป็นผู้ขอเช่าโครงเหล็กดังกล่าว เพื่อใช้ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ ในลักษณะเป็นการหาเสียงให้กับตนอันถือเป็นการได้ประโยชน์
หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่ามีเจตนากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อเท็จจริงไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป ขณะที่กรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างน้อย 1 เสียง เห็นว่ามีความผิด
สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุ พฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2551 ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลสองพี่น้อง ได้ทำหนังสือในนามหัวหน้ากลุ่มรักษ์บ้านเกิด ขอเช่าโครงเหล็กนั่งร้านของเทศบาลตำบลสองพี่น้อง เพื่อใช้ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ของกลุ่มรักษ์บ้านเกิด บริเวณวงเวียนหอนาฬิกา บรรหาร - แจ่มใส ซึ่งนาย พ. ผู้อำนวยการกองคลัง สังกัดเทศบาลเมืองสองพี่น้อง ได้เขียนข้อความลงความเห็นในหนังสือขอเช่านั่งร้านของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มรักษ์บ้านเกิด ว่า "เนื่องจากไม่มีระเบียบการเช่านั่งร้านไว้ถือปฏิบัติ หากจะพิจารณาอนุญาตให้เช่าในอัตราเท่าไร โปรดกำหนดเพื่อจะได้ดำเนินการต่อไป" และลงลายมือชื่อ ซึ่งในขณะนั้น นางสาว ว. ปลัดเทศบาลเมืองสองพี่น้องได้ลงลายมือชื่อต่อท้ายความเห็น และผู้ถูกกล่าวหาได้เกษียณสั่งการในนามนายกเทศมนตรีตำบลสองพี่น้อง
ในหนังสือดังกล่าวมีข้อความว่า "อนุญาตให้เช่าได้ เนื่องจากเทศบาลได้ประโยชน์จากการจัดเก็บรายได้เป็นสมควรให้เช่าในราคา 3,000 บาท/เดือน เศษจำนวนวันให้ติดเป็นเดือน พร้อมกับลงลายมือชื่อ" และมีการจ่ายเงินจำนวน 3,000 บาท เป็นค่าเช่าสถานที่โครงเหล็กติดตั้งป้ายประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ตามใบเสร็จรับเงิน เล่มที่ 29 เลขที่ 8 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาในฐานะเป็นหัวหน้ากลุ่มรักษ์บ้านเกิด ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ขอยกเลิกการเช่านั่งร้าน ซึ่งนาง ว. เจ้าพนักงานจัดเก็บรายได้ 4 ได้มีบันทึกในหนังสือดังกล่าวสรุปความได้ว่า กลุ่มรักษ์บ้านเกิดได้ชำระค่าเช่าให้กับเทศบาลและขอยกเลิกการเช่านั่งร้าน โดยเสนอผ่านนาย พ. ผู้อำนวยการกองคลัง ไปยังนางสาว ว. ปลัดเทศบาลเมืองสองพี่น้องและนายกเทศมนตรีเมืองสองพี่น้อง ซึ่งขณะนั้นนางสาว ว. ปลัดเทศบาลเมืองสองพี่น้อง ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีฯ อีกหน้าที่หนึ่งได้มีความเห็น "ทราบ" เมื่อนางสาว ว. มีความเห็นดังกล่าว นายไพศาล อุณหพิพัฒพงศ์ ผู้อำนวยการกองคลัง จึงลงลายมือชื่อส่งหนังสือไปให้งานจัดเก็บรายได้ในวันที่ 3 มีนาคม 2551
ทั้งนี้ ป้ายประชาสัมพันธ์ของผู้ถูกกล่าวหา ติดตั้งอยู่กับโครงเหล็กบริเวณวงเวียนหอนาฬิกา บรรหาร - แจ่มใส เมื่อปี พ.ศ. 2551 ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปของผู้ถูกกล่าวหา ผู้แทนกลุ่มรักษ์บ้านเกิด กำลังยืนพนมมือไหว้ขอบคุณประชาชนในท้องที่เทศบาลเมืองสองพี่น้อง เป็นโลโก้ (พรีเซ็นเตอร์) และมีข้อความว่า "อาศัยแผ่นดินนี้เป็นถิ่นเกิด ต้องตอบแทนถิ่นกำเนิดให้เกิดผล"
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นนายกเทศมนตรีตำบลสองพี่น้องในขณะนั้น มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการของเทศบาลตำบลสองพี่น้องโดยตรง อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหายังเป็นหัวหน้ากลุ่มรักษ์บ้านเกิดอยู่ด้วย ขณะเกิดเหตุเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2551 ผู้ถูกกล่าวหาได้ทำหนังสือในนามหัวหน้ากลุ่มรักษ์บ้านเกิด ขอเช่าโครงเหล็กนั่งร้านของเทศบาลตำบลสองพี่น้อง เพื่อใช้ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ของกลุ่มรักษ์บ้านเกิด บริเวณวงเวียนหอนาฬิกา บรรหาร - แจ่มใส แต่นาย พ. ผู้อำนวยการกองคลัง ได้เขียนข้อความลงความเห็นทักท้วงในหนังสือขอเช่านั่งร้านของกลุ่มรักษ์บ้านเกิด ว่า "เนื่องจากไม่มีระเบียบการเช่านั่งร้านไว้ถือปฏิบัติ หากจะพิจารณาอนุญาตให้เช่าในอัตราเท่าไร โปรดกำหนดเพื่อจะได้ดำเนินการต่อไป" และลงลายมือชื่อ ซึ่งในขณะนั้น นางสาว ส. ปลัดเทศบาลเมืองสองพี่น้องได้ลงลายมือชื่อต่อท้ายความเห็น ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาได้เกษียณสั่งการในนามนายกเทศมนตรีตำบลสองพี่น้อง ในหนังสือดังกล่าวมีข้อความว่า "อนุญาตให้เช่าได้ เนื่องจากเทศบาลได้ประโยชน์จากการจัดเก็บรายได้เป็นสมควรให้เช่าในราคา 3,000 บาท/เดือน เศษจำนวนวันให้ติดเป็นเดือน พร้อมกับลงลายมือชื่อ" และมีการจ่ายเงินจำนวน 3,000 บาท เป็นค่าเช่าสถานที่โครงเหล็กติดตั้งป้ายประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ตามใบเสร็จรับเงิน เล่มที่ 29 เลขที่ 8 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 กลุ่มรักษ์บ้านเกิดได้ทำการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ กับโครงเหล็กบริเวณวงเวียนหอนาฬิกา บรรหาร - แจ่มใส เมื่อปี พ.ศ. 2551 ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปของผู้ถูกกล่าวหา ผู้แทนกลุ่มรักษ์บ้านเกิด กำลังยืนพนมมือไหว้ขอบคุณประชาชนในท้องที่เทศบาลเมืองสองพี่น้อง เป็นโลโก้ (พรีเซ็นเตอร์) และมีข้อความว่า "อาศัยแผ่นดินนี้เป็นถิ่นเกิด ต้องตอบแทนถิ่นกำเนิดให้เกิดผล"
ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาในฐานะเป็นหัวหน้ากลุ่มรักษ์บ้านเกิด ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ขอยกเลิกการเช่านั่งร้าน
ที่ประชุมพิจารณาแล้ว ลงคะแนนเสียง แยกเป็นสองฝ่ายดังนี้
ฝ่ายเสียงข้างมาก ประกอบด้วย กรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 6 เสียง เห็นว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า นางไพรัตน์ ทองคำใส ผู้ถูกกล่าวหา มีเจตนากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ฝ่ายเสียงข้างน้อย ประกอบด้วย กรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 1 เสียง เห็นว่า การที่นางไพรัตน์ ทองคำใส ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะหัวหน้ากลุ่มรักษ์บ้านเกิด ได้เข้าเป็นคู่สัญญากับเทศบาลตำบลสองพี่น้อง โดยขอเช่าโครงเหล็กนั่งร้านของเทศบาลตำบลสองพี่น้อง เพื่อใช้ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ ในลักษณะเป็นการหาเสียงให้กับตน อันถือเป็นการได้ประโยชน์ ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลสองพี่น้อง ก็ได้ใช้อำนาจอนุมัติให้เช่าได้ โดยการอนุมัติให้เช่ามิได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในทรัพย์สินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2543 อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต การกระทำดังกล่าวของนายไพรัตน์ ทองคำใส ผู้ถูกกล่าวหา จึงมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 152 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 73
ประธานฯ จึงสรุปว่า ผลการลงคะแนนเสียง เพื่อมีมติของที่ประชุมในเรื่องนี้ ต้องถือตามความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช. ฝ่ายเสียงข้างมาก จำนวน 6 เสียง ซึ่งเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ที่เห็นชอบตามความเห็นของของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้น ว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่านางไพรัตน์ ทองคำใส มีเจตนากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อเท็จจริงไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป