ป.ป.ช.ภาค 9 แถลงมติคณะกรรมการชุดใหญ่ ชี้มูลความผิด 'ปรีชา วงศ์ศิลารัตน์' อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลา-พวก จัดจ้างก่อสร้างปรับปรุงโรงอาหารเก่า -ศูนย์ตรวจสุขภาพ ไม่ถูกต้องตามระเบียบ พวกหลายรายรอด คดีอาญาส่งเรื่องอสส.ฟ้องร้องตามขั้นตอนทางกม. ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยร้ายแรง แจ้งชดใช้ค่าเสียหายด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภาค 9 ได้เผยแพร่ข่าวมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด นายปรีชา วงศ์ศิลารัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลา และพวก กรณีจัดจ้างก่อสร้างปรับปรุงโรงอาหารเก่า เป็นอาคารศูนย์สุขภาพต่าง ๆ เช่น ศูนย์ฟอกไต วงเงิน 2,810,000 บาท เมื่อปี งบประมาณ 2557 และกรณีจัดจ้างก่อสร้างศูนย์ตรวจสุขภาพ (โรงอาหารสวัสดิการเก่า) วงเงินจำนวน 4,760,281 บาท เมื่อปีงบประมาณ 2558 โดยไม่ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีการเบิกจ่ายเงินจากจากกองทุนพัฒนาห้องผ่าตัดโรงพยาบาลสงขลา
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่า นายปรีชา วงศ์ศิลารัตน์ มีมูลความผิดทางอาญา และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัย ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีและให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อเพื่อดำเนินการทางวินัยต่อไป ส่วนพวกที่เหลือมีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง พยานหลักฐานไม่เพียงพอฟังได้ว่ากระทำความผิดให้ข้อกล่าวหาต่อไป
สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 9 ระบุว่า คดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหา 8 รายคือ
1. นายปรีชา วงศ์ศิลารัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลา
2. นายสมยศ สิงห์สุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นักจัดการงานทั่วไป โรงพยาบาลสงขลา
3. นายดำรงค์ อินทร์ตรา ผู้รับจ้าง
4. นายไพฑูรย์ พัฒนานิจนิรันดร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลสงขลา
5. นางฐิติมา ปลื้มใจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลสงขลา
6. นายชาติชาย มิตรกูล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายแพทย์เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลสงขลา
7. นายวิระ รัตนะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายช่างเทคนิคชำนาญงาน โรงพยาบาลสงขลา
8. นายปิยะ ใหม่ละเอียด ตำแหน่ง นายช่างเทคนิคชำนาญงาน โรงพยาบาลสงขลา
ข้อกล่าวหา กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กรณีจัดจ้างก่อสร้างปรับปรุงโรงอาหารเก่า เป็นอาคารศูนย์สุขภาพต่าง ๆ เช่น ศูนย์ฟอกไต วงเงิน 2,810,000 บาท เมื่อปีงบประมาณ 2557 และกรณีจัดจ้างก่อสร้างศูนย์ตรวจสุขภาพ (โรงอาหารสวัสดิการเก่า) วงเงินจำนวน 4,760,281 บาท เมื่อปีงบประมาณ 2558 โดยไม่ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีการเบิกจ่ายเงินจากจากกองทุนพัฒนาห้องผ่าตัดโรงพยาบาลสงขลา
ระบุ พฤติการณ์ในการกระทำความผิด ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2554 นายปรีชา วงศ์ศิลารัตน์ ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลาได้เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งกองทุนพัฒนาห้องผ่าตัดโรงพยาบาลสงขลา โดยมีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการเงินกองทุนพัฒนาห้องผ่าตัดโรงพยาบาลสงขลา โดยคำสั่งโรงพยาบาลสงขลาที่ 413/2557 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2557 ระบุเหตุผลไว้ในคำสั่งว่า ด้วยกองทุนพัฒนาห้องผ่าตัดโรงพยาบาลสงขลามีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวหน้า เพื่อให้การบริหารรายได้กองทุนพัฒนาห้องผ่าตัดเป็นไปด้วยความถูกต้อง โปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร จึงแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว โดยมีนายปรีชา วงศ์ศิลารัตน์เป็นประธานกรรมการ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้คณะกรรมการมีบทบาทและหน้าที่ คือ
1) กำกับดูแลให้การจัดเก็บเงินบริจาคเข้ากองทุนพัฒนาห้องผ่าตัดโรงพยาบาลสงขลาถูกต้อง ครบถ้วน เป็นไปตามข้อกำหนดของการบริการผ่าตัดแต่ละประเภท
2) บริหารรายได้จากกองทุนสำหรับตอบแทนบุคลากรให้มีความโปร่งใส ถูกต้องตามลักษณะบริการผ่าตัด
3) พิจารณาการจ่ายเงินในกองทุนพัฒนางานบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัด และพัฒนาระบบบริการการรักษาพยาบาล ในภาพรวมของโรงพยาบาล
นอกจากนี้ตามคำสั่งดังกล่าวยังกำหนดวัตถุประสงค์ในการจ่ายเงินจากกองทุนพัฒนาห้องผ่าตัดอีก 5 ข้อด้วยกัน เช่น ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อตกลงที่กำหนด และที่สำคัญข้อ 3 ระบุว่า จัดซื้อจัดจ้างสำหรับการปรับปรุงโครงสร้างอาคาร วัสดุ อุปกรณ์ ที่จำเป็นในการให้บริการในกรณีเร่งด่วนหากจัดซื้อจัดจ้างตามปกติแล้วจะเกิดความเสียหายต่อการให้บริการผู้ป่วยหรือเสียหายต่อภาพลักษณ์และทรัพย์สินของโรงพยาบาล
ทั้งนี้ การจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับให้สามารถดำเนินการ และนายปรีชา วงศ์ศิลารัตน์ ยังได้ดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับกองทุนดังกล่าว และได้รับเงินจากผู้ป่วยหรือผู้มารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลสงขลาในรูปของเงินบริจาคจำนวนหลายราย ซึ่งเงินรายได้จากกองทุนดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินบำรุง ซึ่งถือเป็นเงินนอกงบประมาณ ซึ่งโรงพยาบาลสงขลาสามารถเก็บไว้ใช้จ่ายได้โดยถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเงินบํารุงของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขพ.ศ. 2536 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สําหรับการใช้จ่ายเงินบํารุงในการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเงินบํารุงของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2536 ข้อ 11 ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า การจัดจ้างก่อสร้างปรับปรุงโรงอาหารเก่า เป็นอาคารศูนย์สุขภาพต่าง ๆ เช่น ศูนย์ฟอกไต วงเงินจํานวน 2,810,000 บาท เมื่อปีงบประมาณ 2557 และการจัดจ้างก่อสร้างศูนย์ตรวจสุขภาพ (โรงอาหารสวัสดิการเก่า) วงเงินจำนวน 4,760,281 บาท เมื่อปีงบประมาณ 2558 มีการเบิกจ่ายเงินจากกองทุนพัฒนาห้องผ่าตัดโรงพยาบาลสงขลา
โดยนายปรีชา วงศ์ศิลารัตน์ ได้สั่งการให้นายสมยศ สิงห์สุวรรณ นักจัดการงานทั่วไปของโรงพยาบาลสงขลา จัดทำเอกสารเสนอขออนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง และทำเอกสารใบตรวจรับการจ้างหรือตรวจรับพัสดุ ไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ไม่ได้มีการดําเนินการครบถ้วนในทุกขั้นตอนและวิธีการของการจัดซื้อจัดจ้างตามที่กําหนดไว้ในระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เช่น วิธีตกลงราคา สอบราคา ประกวดราคา และวิธีประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกําหนด หรือระเบียบอื่นเกี่ยวกับการพัสดุ สำหรับวงเงินงบประมาณที่ใช้ในการจัดจ้างโครงการดังกล่าว นายปรีชา วงศ์ศิลารัตน์ ก็ได้เชิญนายดำรงค์ อินทร์ตรา ผู้รับจ้างเพียงรายเดียวเข้ามาเสนอราคาโดยตรง และทำการต่อรองราคาเอง โดยไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระเบียบกฎหมาย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุม ครั้งที่ 63/2567 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติดังนี้
นายปรีชา วงศ์ศิลารัตน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 82 (2) ประกอบมาตรา 85 (7) มาตรา 85 (1) และ (4)
นายสมยศ สิงห์สุวรรณ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 82 (2)
ส่วนนายดำรงค์ อินทร์ตรา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายไพฑูรย์ พัฒนานิจนิรันดร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นางฐิติมา ปลื้มใจ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 นายแพทย์ชาติชาย มิตรกูล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 นายวิระ รัตนะ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 และนายปิยะ ใหม่ละเอียด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 7 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัย ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับนายปรีชา วงศ์ศิลารัตน์ และให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยกับนายปรีชา วงศ์ศิลารัตน์ และนายสมยศ สิงห์สุวรรณ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1) และ (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป
ทั้งนี้ ให้โรงพยาบาลสงขลา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 82 วรรคสอง
อย่างไรก็ดี ทั้งนี้ การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุดผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด