"...ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าบุคลิกของ ‘อุ๊งอิ๊ง’ ค่อนข้างรับฟัง ‘คนใกล้ตัว-ใกล้ชิด’ ก่อนตัดสินใจทำเรื่องสำคัญ นั่นจึงทำให้การประชุม ครม.นัดแรกอย่างเป็นทางการเมื่อ 17 ก.ย. 2567 ‘อุ๊งอิ๊ง’ เลือกที่จะไม่เซ็นตั้งข้าราชการการเมือง ที่มีการเสนอเป็นวาระจรมา แต่เลือกลงนามแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาของนายกฯขึ้นมาก่อน เพื่อคอยให้ข้อเสนอ-ชี้แนะแนวทางการทำงาน นัยหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการ ‘วางยา’ จากพรรคร่วมรัฐบาล เพราะพรรคเพื่อไทยมิได้จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว อีกนัยหนึ่งด้วยประสบการณ์ทำงานทางการเมืองที่ยังน้อยอยู่ ต้องอาศัยคนมี ‘คุณวุฒิทางการเมือง’ คอยช่วยเหลือ..."
ไม่เกินความคาดหมาย!
พลันที่ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 เซ็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 317/2567 แต่งตั้งคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ล้วนเป็นเครือข่าย ‘ชินวัตร’ และบุคคลที่ ‘ทักษิณ’ ไว้วางใจเป็นอย่างมาก
นำโดย พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นประธานที่ปรึกษา ‘หมอเลี้ยบ’ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษา ศุภวุฒิ สายเชื้อ ธงทอง จันทรางศุ และพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นกรรมการ
คณะที่ปรึกษานโยบายดังกล่าว มีบทบาทหน้าที่ ให้คำปรึกษาพิจารณาเสนอความเห็นข้อเสนอแนะต่าง ๆ ตามที่นายกฯ มอบหมายที่เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านนโยบายของรัฐบาล แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ เป็นต้น
คล้ายคลึงกับคณะที่ปรึกษานโยบายนายกฯยุค ‘ทักษิณ ชินวัตร-พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ’ เมื่อ 20-30 ปีก่อนไม่มีผิดเพี้ยน
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าบุคลิกของ ‘อุ๊งอิ๊ง’ ค่อนข้างรับฟัง ‘คนใกล้ตัว-ใกล้ชิด’ ก่อนตัดสินใจทำเรื่องสำคัญ นั่นจึงทำให้การประชุม ครม.นัดแรกอย่างเป็นทางการเมื่อ 17 ก.ย. 2567 ‘อุ๊งอิ๊ง’ เลือกที่จะไม่เซ็นตั้งข้าราชการการเมือง ที่มีการเสนอเป็นวาระจรมา แต่เลือกลงนามแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาของนายกฯขึ้นมาก่อน เพื่อคอยให้ข้อเสนอ-ชี้แนะแนวทางการทำงาน
นัยหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการ ‘วางยา’ จากพรรคร่วมรัฐบาล เพราะพรรคเพื่อไทยมิได้จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว อีกนัยหนึ่งด้วยประสบการณ์ทำงานทางการเมืองที่ยังน้อยอยู่ ต้องอาศัยคนมี ‘คุณวุฒิทางการเมือง’ คอยช่วยเหลือ
@ พันศักดิ์ วิญญรัตน์
ขณะที่คณะที่ปรึกษานโยบายนายกฯชุดนี้ ถูกมองว่าเป็นการ ‘ปัดฝุ่นรื้อฟื้น’ ตำนาน ‘ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก’ ขึ้นมาใหม่
โดยเฉพาะชื่อของ ‘พันศักดิ์’ ที่ผ่านการเป็น ‘กุนซือสมองเพชร’ เคยเป็นที่ปรึกษานายกฯมาแล้วถึง 4 คนด้วยกัน ได้แก่สมัย ‘น้าชาติ’ พล.อ.ชาติชาย ‘ทักษิณ’ นายกฯ 2 สมัย ‘สมัคร สุนทรเวช’ และ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’
ประวัติของ ‘พันศักดิ์’ เคยเป็นอดีตนักหนังสือพิมพ์ในยุคก่อน 14 ตุลาฯ 2516 ทำหนังสือพิมพ์จัตุรัสรายเดือน และรายสัปดาห์ โดยถูกมองว่าเป็นหนังสือพิมพ์ ‘ฝ่ายซ้าย’ ทำให้ต้องปิดกิจการและเปิดใหม่ในชื่อเดิมหลายครั้ง กระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ต้องปิดตัวลง
ส่วน ‘พันศักดิ์’ ถูกจับกุมจำคุกในข้อหาภัยสังคม ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา เนื่องจากทางการได้รับการร้องขอจากสหรัฐอเมริกาโดยตรง หลังจากนั้นเขาได้อพยพลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่สหรัฐฯ 2 ปี ก่อนจะกลับมาเปิดกิจการหนังสือพิมพ์จัตุรัสอีกครั้งในปี 2524 โดยเน้นเนื้อหาทางเศรษฐกิจ แต่ประสบปัญหาด้านเงินทุนจึงเลิกกิจการไปในปี 2527
ต่อมาเขาเดินเส้นทางธุรกิจที่ปรึกษาด้านคอมพิวเตอร์ที่กำลังเติบโตในไทย และให้คำปรึกษาด้านกฎหมายลิขสิทธิ์ ระหว่างปี 2528-2531 กระทั่งถูกเชิญให้เข้าร่วมคณะที่ปรึกษานายกฯ ‘พล.อ.ชาติชาย’ หรือที่สื่อเรียกกันว่า ‘บ้านพิษณุโลก’ หลังจากนั้นชีวิตก็ถูกขีดเส้นให้เดินบนเส้นทาง ‘ที่ปรึกษานายกฯ’ มาโดยตลอด
ย้อนกลับไป 3 ทศวรรษที่แล้ว เมื่อ ‘พรรคชาติไทย’ (ชื่อพรรคขณะนั้น) จัดตั้งรัฐบาลผสมสำเร็จ เหมือนรัฐบาลเพื่อไทยในยุคนี้ มี ‘พล.อ.ชาติชาย’ ขึ้นเป็นนายกฯคนที่ 17 ได้แต่งตั้งทีมที่ปรึกษานโยบายทันที นำโดย ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ บุตรชายเป็น ‘คีย์แมน’ ที่เหลือประกอบด้วย พันศักดิ์ วิญญูรัตน์ เป็นประธานที่ปรึกษาฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร บวรศักดิ์ อุวรรณโณ มือกฎหมายคนรุ่นใหม่ (ขณะนั้น) สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ณรงค์ชัย อัครเศรณี และชวนชัย อัชนันท์ โดยต้องการให้ทีมที่ปรึกษาชุดนี้ คือบ่อเกิดของปัญญาชน-นักวิชาการรุ่นใหม่
@ ชาติชาย ชุณหะวัณ
สำหรับผลงานมาสเตอร์พีซของ ‘ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก’ เมื่อ 36 ปีก่อนคือหนีไม่พ้นมันสมองจาก ‘พันศักดิ์’ นั่นคือนโยบาย ‘เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ ยุติความขัดแย้งทางชายแดน พัฒนาเศรษฐกิจในไทยและอาเซียน จนเรียกความนิยมจากประชาชนได้เป็นจำนวนมาก ก่อนจะเกิดรัฐประหารเมื่อปี 2534 และ ‘พันศักดิ์’ ต้องหลบหน้าทางการเมืองไประยะหนึ่ง
หลังจากนั้นเมื่อปี 2544 พลันที่ ‘ไทยรักไทย’ จัดตั้งรัฐบาล ‘ทักษิณ’ เถลิงนั่งนายกฯสมัยแรก ได้ทาบทาม ‘พันศักดิ์’ มาเป็นประธานที่ปรึกษาด้านนโยบายของพรรคไทยรักไทย คอยคิดแผนงานพีอาร์-เศรษฐกิจให้แก่พรรค ปิดทองหลังพระจน ‘ไทยรักไทย’ ชนะการเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จเมื่อปี 2548 ก่อนถูกรัฐประหารเมื่อปี 2549
หลังจากนั้น ‘พันศักดิ์’ เก็บตัวเงียบ กระทั่งปี 2551 พรรคพลังประชาชน ร่างทรงของ ‘ไทยรักไทย’ คว้าชัยชนะเลือกตั้งสำเร็จ ‘สมัคร สุนทรเวช’ นายกฯขณะนั้น ซึ่งยอมรับตัวเองคือ ‘นอมินี’ ของ ‘ทักษิณ’ ได้เชิญ ‘พันศักดิ์’ กลับทำเนียบทีมที่ปรึกษานโยบายรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ดีหลังจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จเมื่อปี 2551 และปี 2554 ‘เพื่อไทย’ คัมแบ็กชนะการเลือกตั้ง กลับมาจัดตั้งรัฐบาลได้อีกครั้ง ‘พันศักดิ์’ ก็ถูก ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ทาบทามมาเป็นทีมที่ปรึกษานโยบายอีกคำรบ จนเกิดรัฐประหารปี 2557 เขาได้เก็บตัวโลว์โพรไฟล์ทางการเมืองไปเกือบ 10 ปี
กระทั่ง ‘พรรคเพื่อไทย’ รวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จเมื่อปี 2566 ยุค ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เป็นนายกฯ มิได้ทาบทามเขามาเป็นทีมที่ปรึกษาแต่อย่างใด เพราะคณะที่ปรึกษานายกฯมี ‘กิตติรัตน์ ณ ระนอง’ เป็นประธาน แต่ ‘พันศักดิ์’ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ แทน ซึ่งบอร์ดชุดนี้มี ‘แพทองธาร’ นั่งรองประธานกรรมการ และ ‘หมอเลี้ยบ’ เป็นเลขานุการอยู่
@ ทักษิณ ชินวัตร-แพทองธาร
สุดท้ายเมื่อเลือดเนื้อเชื้อไข ‘ชินวัตร’ ถูกผลักดันก้าวมาเป็นนายกฯคนที่ 31 ได้สำเร็จ จึงไม่แปลกที่จะมีชื่อของ ‘พันศักดิ์’ หวนคืนสู่คีย์แมนคณะที่ปรึกษานโยบายนายกฯอีกครั้ง เท่ากับว่าช่วงเวลา 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ‘พันศักดิ์’ เป็นที่ปรึกษาให้นายกฯมาแล้วอย่างน้อย 5 คนด้วยกัน (พล.อ.ชาติชาย, ทักษิณ, สมัคร, ยิ่งลักษณ์, แพทองธาร)
แต่คราวนี้เขาจะสร้างผลงานได้เกรียงไกร เหมือนยุค ‘น้าชาติ’ ได้อีกหรือไม่ เป็นเรื่องต้องติดตามกันต่อไป