ระบบอย่างงี้ มันเกิดขึ้นแล้วมีอยู่แล้วเป็นช่องทางของการทุจริตคอรัปชั่น เพราะฉะนั้นวิธีที่จะป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นที่สําคัญก็คือการปิดกั้นโอกาส พ.ร.บ.อํานวยความสะดวกฉบับใหม่ที่ผมได้เรียนนั้นได้ปิดกั้นโอกาสหลายอย่าง อะไรที่ต้องขออนุญาตเขาบอกว่าถ้าหากส่งเงินค่าธรรมเนียมให้กระทรวงหรือให้กรมหรือให้หน่วยงานนั้นแล้วให้ถือว่าได้มีการต่ออายุใบอนุญาตโดยอัตโนมัติ
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จ.นนทบุรี ได้มีการจัดงานแถลงข่าวกิจกรรมสัมนาสาธารณะหัวข้อ " นวัตกรรมในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนไทยไม่โกงในยุค Digital Disruption " ซึ่งงานแถลงข่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 15
โดยงานดังกล่าวนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวบรรยายพิเศษบรรยายพิเศษเรื่องการป้องกันการทุจริตยุค "Digital Disruption" มีเนื้อหาดังนี้
*********
การทุจริต วันนี้เรามี ป.ป.ช.เราก็นึกถึงหน้าที่ ป.ป.ช. เรานึกถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เรานึกถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน คือสรุปเรานึกถึงคนอื่นทั้งนั้นว่ามีหน่วยงานมีหน้าที่ต้องจัดการบําบัดปัดป้อง การทุจริตและประพฤติมิชอบให้หมดไปจนเราลืมนึกได้ว่าเราซึ่งเป็นประชาชนนั้นเป็นองค์ประกอบสําคัญประการหนึ่งในเรื่องการป้องกันการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
เพราะว่าเวลาทุจริตมันมีการเสนอ ใครเป็นคนเสนอ ประชาชน เวลาทุจริตมีการให้ใครเป็นคนให้ ก็ประชาชนเวลาทุจริตประพฤติมิชอบใครเป็นคนปิดบังเก็บงําเรื่องนี้ไว้ไม่บอกให้ใครรู้ ก็ประชาชน เมื่อวานซืน คณะรัฐมนตรีเพิ่งผ่านกฎหมายเป็นฉบับหนึ่ง ซึ่งก็คงจะเข้าสภาในช้า เป็นกฎหมายของ ป.ป.ช.แก้ไขตามมาตรา มุ่งไปในเรื่องของการคุ้มครองพยานและมุ่งไปในเรื่องของการป้องกันการฟ้องปิดปาก
ในอดีตการที่มีการทุจริตเกิดขึ้นและไม่ค่อยจะรับรู้ออกมาก็เพราะเจ้าทุกข์คือประชาชนนั้น ไม่กล้าฟ้อง ไม่กล้าร้องเรียน และเมื่อฟ้องหรือร้องเรียนก็จะถูกฟ้องกลับ ที่เราเรียกกันเพื่อฟ้องปิดปาก สรุปเงียบเสียดีกว่า วันนี้ก็ได้แก้ไขกฎหมายคณะมนตรีได้อนุมัติไปเมื่ววานซืน และก็คงจะเข้ากฤษฎีกาตรวจประมาณปลายปีนี้ต่อไป
มีสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะเรียนให้ทราบว่า ในความหมายความเข้าใจของผมถือว่าเป็นนวัตกรรมจริงๆ คนที่เป็นข้าราชการคงจะเคยได้ยินชื่อกฎหมายฉบับหนึ่ง มีชื่อว่าพระราชบัญญัติการอํานวยความสะดวกในการอนุญาตอนุมัติของทางราชการ
พระราชบัญญัติดังกล่าวออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2558 หนึ่งปีหลังจากคณะรักษาความสงบแหงชาติ (คสช.) เข้ามา ความจริงกฎหมายฉบับนี้เขาทําเอาไว้นานแล้ว แต่ไม่สามารถเสนอสภาได้เพราะกระทรวงนั้นก็ค้าน กระทรวงนี้ก็ค้าน กระทรวงนั้นก็เถียงกระทรวงนี้ก็ไม่สบายใจ เพราะว่ากฎหมายนี้ถ้าออกมาใช้บังคับมันจะเพิ่มภาระให้แก่เจ้าหน้าที่แล้วก็ปิดช่องทางในการทุจริตหลายช่อง
การทุจริตซึ่งเราพบว่าส่วนใหญ่ที่ประชาชนยอมจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐก็เพราะต้องการซื้อความสะดวก ถ้าปล่อยให้ไปตามปกติมันก็สามเดือนหรือสามปี เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้มันสามวันหรือได้เร็วขึ้นก็จ่ายเงิน และนั่นก็คือช่องทางเพื่อการทุจริต
ด้วยเหตุนี้จึงมีความคิดมาร่วม 10 ปีล่ะว่ามันควรจะมีกฎหมายฉบับหนึ่งออกมาเพื่ออํานวยความสะดวกให้แก่ประชาชน อํานวยความสะดวกในการไปขออนุญาตอนุมัติอะไรก็ตามที่แล้วได้รับความสะดวกโดยอัตโนมัติ ถ้ามันเป็นอย่างงั้นประชาชนเขาไม่จ่ายเงินหรอกและเจ้าหน้าที่เขาไม่กล้าพอที่จะไปเรียกเพราะว่ามันเป็นระบบที่อัตโนมัติ จึงมีการคิดเรื่องกฎหมายนี้ขึ้น 10 กว่าปีมาแล้ว แต่ไม่สามารถเสนอสภาได้เพราะเวลาเข้าคณะรัฐมนตรีจะถูกกระทรวงคัดค้าน
เวลากระทรวงคัานเขาก็มีเหตุผลที่ดีกว่ายุ่งยาก เสียเงินมันต้องไปซื้อคอมพิวเตอร์ มันใช้ระบบดิจิทัล ทำไม่เป็นทําให้ถูกต้องไม่ได้ เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายประชาชนด้วย ยังไงมันก็โกงได้อยู่ดี สรุปกฎหมายนั้นทําเสร็จแล้วก็เก็บเอาไว้ 10 กว่าปีแล้ว จนกระทั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาเมื่อปี 2557 กฎหมายฉบับแรกที่ คสช. นำขึ้นมาแล้วเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติคือกฎหมายฉบับนี้ซึ่งผมขอเรียนให้ทราบแล้วว่าถ้าเป็นยามภาวะปกติ กฎหมายนี้ไม่มีวันออกมาได้
ตกลงกฎหมายนี้ก็ออกมาเมื่อปี 2558 หนึ่งปีหลังจากคสช.เข้ามา มีชื่อว่าพระราชบัญญัติการอํานวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตอนุมัติของทางราชการ ใจความสําคัญมันก็มีเพียงแค่ว่าเมื่อเวลาที่ประชาชนจะไปติดต่ออะไรก็ตามราชการ ราชการต้องให้ความสะดวก วิธีให้ความสะดวกมีดังต่อไปนี้
หนึ่ง ต้องจัดทําคู่มือขึ้นทุกกระทรวงทบวงกรม มหาวิทยาลัย อําเภอ ตําบล เทศบาล รัฐวิสาหกิจก็ไม่เว้นคือต้องทําคู่มือ ถ้าประชาชนเข้ามาติดต่อเรื่องใดคู่มือจะต้องบอกว่าไปติดต่อที่ตรงไหน เสียเงินเท่าไหร่ใช้เวลาเท่าไร คำว่าใช้เวลาเท่าไรนี้สำคัญ เพราะทุกวันนี้ที่โกง โกงกันก็เพราะว่า จะใช้เวลามากน้อยเท่าไหร่มันขึ้นอยู่กับดุลพินิจกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐบางทีสองคนมาติดต่อราชการเรื่องเดียวกันมาขออนุญาตตั้งโรงงานเหมือนกัน คนหนึ่ง ใช้เวลาในการพิจารณานานถึงสองปี อีกคนหนึ่งใช้เวลาพิจารณานานสองเดือน
คนที่ถูกใช้เวลานาน สองปีก็เสียค่าดอกเบี้ยไป ดีไม่ดีเตรียมตั้งโรงงาน จ้างคนเอาไว้รอแล้วจ่ายเงินเดือน แต่ใบอนุญาตไม่ออกเสียที ก็เกิดความเสียหายขึ้น กฎหมายอํานวยความสะดวกออกปี 58 ที่พูดนี่แก้ปัญหาด้วยการบอกว่าให้ใส่ในคู่มือ ว่าใช้เวลาเท่าไหร่ คุณจะใช้เวลาเท่าไหร่คุณบอกมา ไม่มีใครไปกําหนดให้ แต่ละกระทรวง ทบวง กรม กองแผนก กําหนดเองว่าใช้เวลาเท่าไหร่ แล้วเขียนไว้ในคู่มือ แล้วที่สําคัญคือมีมาตราเขียนว่าเมื่อประชาชนมาติดต่อกับทางราชการพบว่า คู่มือบอกว่าใช้เวลาเท่านี้หากปรากฏว่าไม่สามารถทําได้เสร็จ ทําไมกําหนดเวลานั้น ให้เจ้าหน้าที่รับผิดในส่วนนี้ประชาชนสามารถฟ้องร้องได้
เช่นสมมุติกําหนดว่าใช้เวลาเจ็ดวัน แต่พอมาติดต่อจริงๆเจ็ดวันก็ยังไม่ได้รับอนุญาตอนุมัติ เมื่อเป็นเช่นนี้เขาบอกว่าให้สามารถฟ้องได้หรือถ้ายังไม่อยากจะฟ้อง ร้องเรียนผู้บังคับบัญชาได้ซึ่งจะต้องตั้งกรรมการสอบวินัย กฎหมายที่มีอยู่แล้วและใช้มาแล้วตั้งแต่ปี 2558 ข้าราชการส่วนใหญ่จะรู้กันดีแต่ประชาชนนั้นไม่ค่อยจะทราบ
ประชาชนไม่รู้แม้กระทั่งว่ามีคู่มือ ศูนย์ราชการต่างๆ เขาทำคู่มือขึ้นหมดแล้ว ผมให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.).ไปสํารวจประเภทที่ยังไม่ทําคู่มือนั้นไม่มี แต่เรื่องเหลือเชื่อก็คือทําคู่มือแล้ว ทุกหน่วยงานหรือหลายหน่วยงานเก็บใส่ตู้ลั่นกุญแจไว้
คือไม่เอาออกมาเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ ประชาชนก็ไม่ทราบ ก็เวลาไปติดต่อราชการก็เสียเวลาอยู่ดี ความจริงกฎหมายมันมีอยู่แล้ว แล้วก็ที่น่าพอใจก็คือแต่ละหน่วยขันแข็งกันในการกําหนดเวลาให้มันน้อย ผมบอกแล้วว่าเวลาจะเท่าไหร่แล้วแต่กระทรวงกําหนดแต่เมื่อคุณกําหนดคุณต้องรักษาคําพูด ในหนังสือคู่มือของกรมการปกครองบอกว่าการทําบัตรประจําตัวประชาชนใช้เวลาสามชั่วโมง จากเดิมที่เคยใช้เวลากันเจ็ดวันหรืออะไรต้องออกใบเหลืองใบแทน คู่มือบอกว่าใช้เวลาเจ็ดวัน แล้วต่อมาก็ลดลงใช้เวลาสามชั่วโมง
ตอนผมเป็นรองนายกฯครั้งหนึ่งนั่งทํางานอยู่มีคนโทรศัพท์มาบอกท่านรองนายกฯ ทีเป็นบรรยายที่ไหนว่าใช้เวลาทําไม่นาน ผมขอร้องเรียนว่าผมไปติดต่อทําบัตรประจําตัวประชาชนที่เขตนั้น ใช้เวลาประมาณหกชั่วโมง ก็ขอร้องเรียน ผมก็ตกใจโทรศัพท์ไปถามทางเจ้าหน้าที่เขตว่าของคุณเนี่ยบอกว่าใช้เวลาสามชั่วโมงแต่ชาวบ้านเขาร้องเรียนว่าใช้เวลา 6-7 ชั่วโมงมันเป็นเพราะอะไร
เขาก็บอกว่าคนมาทำเยอะพร้อมกันเขาต้องรอกันตามคิวหน่อย สามชั่วโมงจริงๆผมทําสามนาทีด้วยซ้ำ แต่มันนับเมื่อมายืนอยู่ตรงหน้าโต๊ะเจ้าหน้าที่ไม่นับเวลาที่นั่งรอเพราะนั่งรอก็รอไปตามบัตรคิวตอนนั้น 6-7 ชั่วโมงจริงแต่พอมาถึงโต๊ะปั๊บ เซ็นชื่อกรอกแบบปลอมถ่ายรูปเรียบร้อยสามนาทีก็ได้ มันก็ยังมีการยักเย้อยักย้ายแบบนี้อยู่เหมือนกัน
ที่เล่าตอนนี้เพราะต้องการจะบอกว่าบัดนี้กําลังจะเกิดนวัตกรรมใหม่ขึ้นอีกอัน รัฐบาลได้รับหลักการร่างกฎหมายสําคัญฉบับหนึ่งมีชื่อว่า ร่างพระราชบัญญัติการอํานวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการประชาชน ฟังแล้วคล้ายกับเมื่อกี้ที่ผมพูด แต่ที่ผมพูดเมื่อกี้เป็นฉบับปี2558 แล้วท่านสังเกตได้ดีว่าเค้าไม่พูดเรื่องการบริการประชาชน พูดเรื่องการอนุญาต
บัดนี้เก้าปีผ่านไปยกระดับมันขึ้นมา โดยการยกเลิกฉีกกฎหมายอํานวยความสะดวกปี 2558 ทิ้งและออกกฎหมายฉบับใหม่ปี 2568 เพราะว่ามันจะขยายไปถึงการให้ความสะดวกในการบริการด้วยเช่นเข้าติดตั้งประปา ขอติดตั้งไฟฟ้าอะไรก็ตามที่ไม่ใช่ขออนุญาตแต่เป็นการขอบริการ ขอเงินสวัสดิการ ขอเงินค่าเบี้ยเลี้ยงแต่ละวันเราได้ยินอยู่เสมอ ส่วนราชการนั้นส่วนราชการนี้เม้มค่าเบี้ยเลี้ยง หรือว่าจ่ายช้า ต่อไปนี้จะมาเจออภินิหารของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นกฎหมายสําคัญถ้าหากว่าเจ้าหน้าที่คนใดฝ่าฝืนจะต้องมีความผิดทางวินัยหรือวินัยร้ายแรง
กฎหมายฉบับใหม่กําลังตรวจอยู่ที่กฤษฎีกาขณะนี้ มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานตรวจ กรรมการมีผม มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มีนายธงทอง จันทรางศุ มีนายนรชิต สิงหเสนี มีหลายคน ร่วมกันตรวจอยู่ขณะนี้และตรวจไปได้แล้วเสร็จเมื่อไหร่เสนอสภาเมื่อนั้น ก็น่าจะออกมาใช้ได้ต้นปี 2568 ก็คือต้นปีหน้าและถ้าหากว่ามันออกมาใช้บังคับแล้วข้าราชการจะต้องระมัดระวังมากขึ้นเพราะว่า โทษมันรุนแรงมากขึ้นและขณะเดียวกันก็จะกําหนดละเอียดถี่ยิบมากขึ้นเช่นกําหนดว่าคู่มือจะต้องทําและปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ
ขณะเดียวกันจะต้องอํานวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ถ้าหากประชาชนต้องการขออนุญาตอนุมัติยื่นคําขอ บางครั้งกิจการบางอย่างมันต้องขอใบอนุญาตทั้ง 7-15 ใบ อาทิเช่นการตั้งโรงแรมที่ต้องขอใบอนุญาต 15 ใบ ใบอนุญาตจัดตั้งโรงแรม ใบขอก่อสร้างอาคาร ใบอนุญาตตั้งร้านอาหาร ใบอนุญาตขายของเก่าในโรงแรม ใบอนุญาตภัตตาคารสารพัดชนิดสําหรับโรงแรม
พอมีกฎหมายนี้กําหนดว่าให้ยื่นที่หน่วยงานหลักหน่วยเดียวแล้วหน่วยงานหลักนั้นจะเป็นคนไปดําเนินการให้เองโดยเราไม่ต้องไปวิ่งถึงเจ็ดกระทรวงเพื่อขอใบอนุญาตเจ็ดใบ
เรื่องนี้มันมีตำนานมาตั้งแต่สมัยก่อน ตอนพลเอกชาติชาย ขุณหะวรรณเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านเชิญคนญี่ปุ่นคนหนึ่งเข้าไปในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อชี้แจง คือท่านมาฟังมาแล้วแต่ก็อยากให้ ครม.ได้ยินด้วย คนญี่ปุ่นเล่าว่ามาจัดตั้งโรงงานขึ้นในประเทศไทย เพื่อทําเนื้อเสียบไม้ย่างซอสซีอิ๊วแล้วก็ส่งขายเมืองนอกและแกชื่นชมเมืองไทยเพราะมีทรัพยากรธรรมชาติเยอะ ค่าแรงงานถูก
แต่วันนี้แกบอกแกขอปิดกิจการกลับบ้านแล้ว เพราะว่าที่แกจะทํา แกจะต้องขอใบอนุญาต ถ้าจะใช้หมูเห็ดเป็ดไก่ในการเสียบไม้ทําเป็นไก่ย่างเทอริยากิ แกต้องขออนุญาตกรมปศุสัตว์ ซอสซีอิ๊วต้องขอใบอนุญาตจากองค์การอาหารและยา (อย.) แล้วแกก็ต้องไปขอใบอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข ขอใบอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์สําหรับส่งออก
สรุปคือทําไม้ไก่ย่างเทอริยากิ แกต้องขออนุญาตมากมายหลายกระทรวง จนแกเอ่ยขึ้นว่าขาดอยู่กระทรวงเดียวที่ไม่ต้องไปยุ่ง คือกระทรวงกลาโหม นายกฯชาติชาย ก็เลยพูดขึ้นว่าไม่ได้นะอีกหน่อยก็อาจจะเพราะถือว่าเป็นยุทธปัจจัย แล้วก็ต้องขออนุญาตกระทรวงกลาโหม แต่บทเรียนจากเรื่องนี้จึงเป็นที่มาให้มีการทํากฎหมายอํานวยความสะดวก
ข้าราชการที่ชินกับกฎหมายอํานวยความสะดวกฉบับเก่าโปรดทราบว่าท่านกําลังจะต้องเปลี่ยนมาชินกับกฎหมายอํานวยความสะดวกฉบับใหม่ ซึ่งโทษเข้มข้นขึ้นและเขากําหนดรายละเอียดมากมาย กําหนดให้มีการตั้งศูนย์บริการร่วมคือวันสต็อปเซอร์วิสขึ้น คือคนจะติดต่ออะไรต่ออะไรก็ตามแบบติดต่อที่เดียวรับจบเรื่องคุณกลับไปนอนที่บ้าน
บางครั้งการขออนุญาตอะไรก็ตามต้องเสียใบอนุญาต เสียค่าใบอนุญาตแล้วก็ต้องมาต่ออายุทุกห้าปี ทุกสามปีทุกสองปี ต้องต่อไปเรื่อยบางครั้งครบสองปีแล้วลืมต่อ รุ่งขึ้นมีคนมาจับ
ผมยังจําได้อยู่วันนึงผมนั่งกินข้าวอยู่กับพรรคพวกหลายคนรวมไปถึงพลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ร้านอาหารญี่ปุ่นสักพักผู้จัดการร้านวิ่งมาบอกว่าขอให้ช่วยหน่อย ใครมีปัญญาบารมี ผมถูกข้าราชการ ถูกตํารวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) มาตรวจค้นร้าน เราก็บอกกว่าเขามาตรวจค้นร้าน ก็ให้ค้นไปสิแล้วคุณทําอะไรผิด สรุปเขามาตรวจค้นร้านในข้อหาว่ามีพนักงานลูกจ้างเป็นคนต่างด้าวทํางานโดยไม่ได้รับอนุญาต
ผมถามว่าแล้วไม่ได้รับอนุญาตจริงรึเปล่า เขาตอบว่าจริง แต่ว่าขอใบอนุญาตไปแล้วสามเดือนแล้วยังไม่ได้ใบอนุญาตกลับคืนมา ระหว่างนี้ผมปิดร้านไม่ได้ ผมก็ขายไปพลาง ผมก็ใช้พวกนี้ทำงานไปพลาง ระหว่างทำงาน ตํารวจก็มารออยู่เต็มข้างล่างเพื่อจะมาจับ ผมก็ลงไปเจอตํารวจ ตํารวจก็ไม่รู้จักผม ตํารวจก็อธิบายว่าที่นี่เราได้ข่าวว่ามีคนงานมาทํางานโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือใบอนุญาตหมดอายุซึ่งมีความผิด
ผมก็ถามเขาว่า ร้านเนี่ยมันมีตั้งหลายร้านในประเทศไทยคุณรู้ได้ยังไงว่าร้านนี้มีพนักงานที่ใบอนุญาตหมดอายุ ตำรวจบอกว่าติดต่อไปกระทรวงแรงงานไปขอบัญชีจากกระทรวงแรงงานว่ามีที่ไหนที่ขอใบอนุญาต แล้วยังไม่ได้ใบอนุญาตกําลังอยู่ระหว่างโพรเซสคืออยู่ระหว่างพิจารณา แล้วก็ไปจับไปตรวจไปค้นตามบัญชีนั่นแหละ ผมบอกว่าเท่านั้น ความผิดจริงๆมันอยู่ที่กระทรวงแรงงาน ใบอนุญาตอะไรใช้เวลารอ 2-3 เดือนแล้วยังไม่เสร็จในเมื่อเขาเคยมีใบอนุญาตมาก่อน
คือระบบอย่างงี้ มันเกิดขึ้นแล้วมีอยู่แล้วเป็นช่องทางของการทุจริตคอรัปชั่น เพราะฉะนั้นวิธีที่จะป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นที่สําคัญก็คือการปิดกั้นโอกาส พ.ร.บ.อํานวยความสะดวกฉบับใหม่ที่ผมได้เรียนนั้นได้ปิดกั้นโอกาสหลายอย่าง อะไรที่ต้องขออนุญาตเขาบอกว่าถ้าหากส่งเงินค่าธรรมเนียมให้กระทรวงหรือให้กรมหรือให้หน่วยงานนั้นแล้วให้ถือว่าได้มีการต่ออายุใบอนุญาตโดยอัตโนมัติ ถ้าส่งค่าธรรมเนียม สมมติส่งเงิน 200 บาทไป แล้วกฎหมายอํานวยความสะดวกฉบับใหม่นี้ได้นําเอาระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้อะไรต่ออะไรจะเปลี่ยนมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด
หมายความว่าใช้โทรศัพท์เลขโทรศัพท์ใช้ไลน์หรือใช้วิธีติดต่อสื่อสารโดยตัวไม่ต้องไปปรากฏตัว ผมจําได้มีมาตราหนึ่งเขียนด้วยว่าห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่ากระทรวง ทบวง กรมใดเรียกขอดูบัตรประจําตัวประชาชนถ้าเขาเอาสําเนามาส่งให้หรือ ห้ามมิให้มีการถ่ายสําเนาบัตรประจําตัวประชาชน
สถานที่ราชการบางแห่งเราไปติดต่อขออนุญาตอะไรก็ตาม หรือไปดําเนินการอะไรก็ตาม หรือไปแจ้งความก็ตามที มันต้องโชว์บัตรประจําตัวประชาชน ต้องถ่ายสําเนาบัตรประชาชนเจ็ดใบ ต่อไปนี้เลิก เขาถือว่าบัตรประชาชนเป็นเอกสารของราชการราชการจึงต้องมีเอกสารนี้อยู่อย่างน้อยก็อยู่ที่กรมการปกครอง เพราะฉะนั้นเมื่อเราขึ้นอําเภอขึ้นเขตไปติดต่ออะไรเราก็โชว์บัตรของเราเขามีหน้าที่ไปถ่ายเอกสารเองเราไม่ต้องถ่าย
และเขามีปัญหาอะไรเขามีหน้าที่ลิงค์ไปที่วังไชยาซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยทําบัตรประชาชนของประเทศ หน่วยนั้นก็จะเป็นคนให้เอกสารให้ข้อมูลต่างๆสรุปคือประชาชนจะต้องเกิดความสะดวก ผมมานั่งดูกฎหมายนั้นแล้ว และกรรมการก็มานั่งคิดแล้ว และถ้าสภาไม่แก้เนื้อหากฎหมายนี้ ประชาชนเกือบจะไม่ต้องไปยังที่ว่าการอําเภอหรือที่ว่าการเขตเลยแม้ว่าจะทําอะไรก็ตามใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ติดต่อได้ทั้งสิ้น
เมื่อประชาชนไม่ต้องไปเผชิญหน้าข้าราชการ โอกาสที่จะถูกรีดไถเงินก็ไม่มี ถ้าข้าราชการหน่วงเวลาประชาชนก็สามารถที่จะร้องเรียนได้
อย่างคู่มือที่บอกกําหนดเจ็ดวันเสร็จ ถ้าหากว่าไม่เสร็จ เขาบอกว่าให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแจ้งให้ประชาชนทราบว่าขอประทานโทษไม่เสร็จขอต่อเวลาอีกเจ็ดวัน ถ้าเขาบอกอย่างนั้น เขาไม่ผิด แต่ต้องบอกไม่ใช่เงียบหาย แล้วประชาชนก็ต้องรอ ถ้าเอกสารอะไรที่ยื่นไม่ครบ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องบอกและขอโดยติดต่อทางระบบอิเล็กทรอนิกส์