"...ในส่วนของสนามมวยลุมพินี ซึ่งสังกัดอยู่กับกรมสวัสดิการทหารบก (ผ่านการดูแลสิทธิประโยชน์ของบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) และบริษัท เวิลด์ สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด) หนึ่งในธุรกิจของกองทัพบก ถูก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) สั่งให้เจ้ากรมกำลังพลทหารบก ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวแล้ว พร้อมกับสั่ง พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ในฐานะนายสนามมวยลุมพินี และนายทหารที่เกี่ยวข้อง ไปช่วยราชการที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ..คำถามที่น่าสนใจคือ ในส่วนสนามมวย ที่บริหารงานโดยบริษัทเอกชน คือ สนามมวยราชดำเนิน สนามมวยเวทีสยามอ้อมน้อย ใครจะเป็นผู้มีอำนาจสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง เหมือนกรณี สนามมวยลุมพินี ?..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ออกมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันสถานการณ์โควิด-19 ต่อมา เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2563 คณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ทำหนังสือแจ้งขอความร่วมมือมาตรการเร่งด่วนแก้ไขเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยอ้างมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวซึ่งมีสถานะเป็นกฎหมาย ให้หลีกเลี่ยง หรือเลื่อนการจัดกิจกรรม เช่น การจัดแข่งขันกีฬา แก่สนามมวย
แต่ปรากฏข้อเท็จจริงในขณะนี้ ว่ามีสนามมวยอย่างน้อย 3 ไม่ได้ปฏิบัติตามหนังสือของคณะกรรมการกีฬามวย กกท. ยังคงจัดแข่งขันมวยต่อไป ได้แก่ สนามมวยลุมพินี สนามมวยราชดำเนิน สนามมวยเวทีสยามอ้อมน้อย (เท่าที่ตรวจสอบพบเอกสารยืนยันเป็นทางการในขณะนี้)
(อ่านประกอบ : เบื้องลึก! โควิดระบาดลุมพินี กกท.ใช้คำสั่ง'บิ๊กตู่' แจ้งเลื่อนชก-แต่ยังจัดบิ๊กแมตซ์ 6 มี.ค., ไม่ใช่แค่ลุมพินี! ราชดำเนิน โดน กกท. แจ้งเตือนโควิด 4 มี.ค.-แต่ยังจัดชก 6 รายการรวด, แห่งที่ 3! เวทีอ้อมน้อย 'ดวง อยู่บำรุง' กกท. แจ้งเตือนโควิด 4 มี.ค.-เดินหน้าจัดชกต่อ 7 มี.ค., โชว์อีก 2 ฉบับ หนังสือ กกท.แจ้งระงับจัดแข่งมวย 5 สนาม มีช่อง 7-เวทีนานาชาติรังสิตด้วย)
ทั้งนี้ ในส่วนของสนามมวยลุมพินี ซึ่งสังกัดอยู่กับกรมสวัสดิการทหารบก (ผ่านการดูแลสิทธิประโยชน์ของบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) และบริษัท เวิลด์ สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด) หนึ่งในธุรกิจของกองทัพบก ถูก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) สั่งให้เจ้ากรมกำลังพลทหารบก ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวแล้ว พร้อมกับสั่ง พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ในฐานะนายสนามมวยลุมพินี และนายทหารที่เกี่ยวข้อง ไปช่วยราชการที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : โยก'เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก' ช่วยราชการ บก.ทบ.เปิดช่องสอบปมสนามมวยลุมพินีจัดแข่งชก)
คำถามที่น่าสนใจคือ ในส่วนสนามมวย ที่บริหารงานโดยบริษัทเอกชน คือ สนามมวยราชดำเนิน สนามมวยเวทีสยามอ้อมน้อย ใครจะเป็นผู้มีอำนาจสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง เหมือนกรณี สนามมวยลุมพินี ? และถ้าผลการสอบสวนพบว่ามีความผิด ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ?
(เพจ ศึกจ้าวมวยไทยเวทีมวยสยามอ้อมน้อย ยังโพสต์ข้อความ 7 มี.ค. จัดแข่งขันชกมวย)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสนามมวย พบข้อมูลดังต่อไปนี้
ตาม พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีการจัดตั้งคณะกรรมการกีฬามวยขึ้นมา โดยมี รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานกรรมการ ผู้ว่าการ กกท. ผู้แทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกระทรวงแรงงาน นายสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 7 คน เป็นกรรมการ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย เป็นกรรมการและเลขานุการ
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ตามมาตรา 9 มี 7 อนุมาตรา โดยสาระสำคัญอยู่ใน (2) วางแผนและกำหนดมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับกีฬามวย เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยและสวัสดิภาพของสนามมวย
มาตรา 11 ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าว มีอำนาจเรียกบุคคลในวงการกีฬามวยมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย คำแนะนำ หรือความเห็น หรือให้บุคคลดังกล่าวส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามที่เห็นสมควร
มาตรา 26 ห้ามมิให้ผู้ใดจัดการแข่งขันกีฬามวย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน (ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย) เว้นแต่ในกรณีการจัดการแข่งขันกีฬามวยบางประเภทตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้จัดการแข่งขันกีฬามวยสำหรับนักมวยที่มีอายุต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์จะกำหนดได้เฉพาะเมื่อมีอุปกรณ์ในการป้องกันความปลอดภัยในการแข่งขัน
ในการออกใบอนุญาต นอกจากต้องปฏิบัติตามวรรคสองแล้ว นายทะเบียนอาจกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ ได้เท่าที่จำเป็นเพื่อให้การจัดการแข่งขันกีฬามวยเป็นไปตามระเบียบและกติกาที่คณะกรรมการกำหนด
การจัดการแข่งขันกีฬามวยที่ไม่ต้องขออนุญาตตามวรรคหนึ่ง ต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบก่อนและต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดตามมาตรา 16
มาตรา 28 ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสนามมวย มีสิทธิที่จะจัดการแข่งขันกีฬามวยได้ทุกประเภท โดยไม่ต้องขออนุญาตจัดการแข่งขันกีฬามวยตามมาตรา 26
ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสนามมวย ดำเนินกิจการอื่นในสนามมวย เว้นแต่เป็นกิจการตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด หรือได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนเป็นการเฉพาะ
ส่วนบทลงโทษสำคัญ ๆ เช่น มาตรา 55 ผู้ใดจัดการแข่งขันกีฬามวยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 26 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 56 ผู้จัดรายการแข่งขันมวยหรือนายสนามมวยผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขในการอนุญาตที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา 26 วรรคสาม ซึ่งเป็นเงื่อนไขในสาระสำคัญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการฝ่าฝืนเงื่อนไขในการอนุญาตที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา 26 วรรคสามซึ่งไม่ใช่เงื่อนไขในสาระสำคัญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
หากพิจารณาจากข้อกฎหมายข้างต้น เห็นได้ว่า คณะกรรมการกีฬามวยฯ มีอำนาจหน้าที่อย่างชัดเจนในการวางแผนและกำหนดมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับกีฬามวย เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยและสวัสดิภาพของสนามมวย ดังนั้นในเมื่อเกิดโรคระบาด เช่น ไวรัสโควิด-19 ขึ้นมา จึงมีอำนาจเต็มที่ในการทำหนังสือถึงสนามมวยต่าง ๆ ให้หยุด หรือเลื่อนการชกมวยออกไปก่อน
ที่น่าสนใจในส่วนบทลงโทษกลับไม่มีการระบุถึงโทษของการฝ่าฝืนคำสั่งของคณะกรรมการกีฬามวยฯ แต่อย่างใด มีเพียงในส่วนของการขอใบอนุญาตสนามมวย และหลักเกณฑ์อื่น ๆ ในทางกีฬามวย เพียงเท่านั้น
(เพจ Rajadamnern Stadium ของสนามมวยราชดำเนิน พบระหว่างวันที่ 4-12 มี.ค. ยังจัดแข่งขันชกมวยอยู่)
ส่วน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 31 (4) กรณีที่มีโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หรือโรคระบาดเกิดขึ้น ให้เจ้าของ หรือผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานอื่นใด ในกรณีที่พบเห็นผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อดังกล่าวเกิดขึ้นในสถานที่นั้น แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
มาตรา 35 (1) ในกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. มีอำนาจสั่งปิดตลาด สถานที่ประกอบหรือจำหน่ายอาหาร สถานที่ผลิตหรือจำหน่ายเครื่องดื่ม โรงงาน สถานที่ชุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใดไว้เป็นการชั่วคราว
มาตรา 50 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งตามมาตรา 31 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
มาตรา 52 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 35 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ดีในส่วนของข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อนั้น ผู้ว่าฯ กทม. ประกาศภายหลังสนามมวยดังกล่าวจัดการชกไปแล้ว ?
นี่คือข้อกฎหมายเบื้องต้นของ พ.ร.บ.มวยฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการสนามมวย ท้ายที่สุดใครจะต้องรับผิดชอบจากกรณีนี้บ้าง ต้องรอดูกันต่อไป
อนึ่งก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานแล้วว่า สนามมวยราชดำเนิน อยู่ในการดูแลของ บริษัท เวทีมวยราชดำเนิน จำกัด โดยเช่าช่วงจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีนายเฉลิมพงษ์ เชี่ยวสกุล เป็นนายสนามมวย ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2563 พบว่า บริษัท เวทีมวยราชดำเนิน จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2496 ทุนปัจจุบัน 6,820,000 บาท สำนักงานตั้งอยู่ที่ 8 ถ.ราชดำเนินนอก แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. แจ้งประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ให้เช่าสถานที่และเครื่องปรับอากาศ
ปรากฏชื่อนายเฉลิมพงษ์ เชี่ยวสกุล พล.ต.ต.พาสน์ จักษุรักษ์ นายจอม เชี่ยวสกุล นายสุชาต เชี่ยวสกุล พล.ร.อ.อธิคม ฮุนตระกูล นายวิชา วรมาลี นายพศ อดิเรกสาร นายไพร ปัณยาลักษณ และนายจิต เชี่ยวสกุล เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 25,274,623 บาท รายจ่ายรวม 23,456,058 บาท เสียภาษีเงินได้ 695,624 บาท กำไรสุทธิ 1,122,939 บาท แจ้งงบสถานการเงินมีสินทรัพย์รวม 62,951,310 บาท หนี้สินรวม 28,489,539 บาท
ส่วนสนามมวยเวทีสยามอ้อมน้อย ดำเนินการโดย บริษัท บอสส์ บ๊อกซิ่ง 2000 จำกัด จดทะเบียน 24 สิงหาคม 2543 ทุน 7,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 74 หมู่ที่ 12 ถนนเพชรเกษม ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร แจ้งประกอบธุรกิจ สนามมวย
ปรากฎชื่อ นาย เถลิง อยู่บำรุง นาย ธีระยุทธ หอประเสริฐกิจ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ณ 30 เมษายน 2562 ร.ต.อ ดวง อยู่บำรุง ถือหุ้นใหญ่สุด ตามมาด้วย นาย ธีระยุทธ หอประเสริฐกิจ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 610,416.58 บาท รายจ่ายรวม 361,587.71 บาท กำไรสุทธิ 166,134.55 บาท
อ่านประกอบ :
1.4 หมื่นล.! ประมาณมูลค่าพนันวงการมวยไทย ก่อนเชื้อโรคโควิดระบาด
เจาะมวยไทย 7สี จัดชก 8 มี.ค. ก่อน กกท. ร่อนหนังสือแจ้งเตือน โควิด 13, 16 มี.ค.
โชว์อีก 2 ฉบับ หนังสือ กกท.แจ้งระงับจัดแข่งมวย 5 สนาม มีช่อง 7-เวทีนานาชาติรังสิตด้วย
ผ่าโครงสร้างบอร์ดบริหาร-เอกชนดูแลสนามมวยลุมพินี ก่อนบิ๊กแดงสั่งสอบจัดชก 6 มี.ค.
โยก'เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก' ช่วยราชการ บก.ทบ.เปิดช่องสอบปมสนามมวยลุมพินีจัดแข่งชก
'ศรีสุวรรณ' จี้ บิ๊กตู่ สอบจริยธรรมผู้บริหารส.ลุมพินี ฝ่าฝืนคำสั่งปล่อยจัดชกมวย 6 มี.ค.
ชัดๆ ลำดับเหตุการณ์-ผู้เกี่ยวข้อง จัดมวยลุมพินี 6 มี.ค.หลังโดนเตือนโควิด -‘บิ๊กแดง’สั่งสอบ
แห่งที่ 3! เวทีอ้อมน้อย 'ดวง อยู่บำรุง' กกท. แจ้งเตือนโควิด 4 มี.ค.-เดินหน้าจัดชกต่อ 7 มี.ค.
เบื้องลึก! โควิดระบาดลุมพินี กกท.ใช้คำสั่ง'บิ๊กตู่' แจ้งเลื่อนชก-แต่ยังจัดบิ๊กแมตซ์ 6 มี.ค.
ไม่ใช่แค่ลุมพินี! ราชดำเนิน โดน กกท. แจ้งเตือนโควิด 4 มี.ค.-แต่ยังจัดชก 6 รายการรวด
นวพร เรืองสกุล : ถึงเวลาต้องเชือด!
เจาะธุรกิจ 2 สนามมวย ‘ราชดำเนิน -ลุมพินี’ ก่อนถูกรัฐสั่งปิด แหล่งแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage