ป.ป.ช. เผยแพร่ความคืบหน้าคดีกล่าวหา 'ปรีชา ผาสุขขี' อดีตศุลการักษ์ 4 ส่วนปราบปรามทางทะเล แสดงตนมีอำนาจนำรถยนต์ของกลางที่ตรวจยึดไว้ออกจำหน่ายด้วยวิธีพิเศษไม่ต้องผ่านการประมูลก่อนเรียกมัดจำออกใบเสร็จรับเงินปลอม ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบภาคกลาง พิพากษาลงโทษคุก9 กระทง 9 ปี ไม่รอลงอาญา
............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายปรีชา ผาสุขขี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งศุลการักษ์ 4 ส่วนปราบปรามทางทะเล สำนักสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากร แสดงตนว่ามีอำนาจนำรถยนต์ของกลางที่ตรวจยึดไว้ ออกจำห่นายด้วยวิธีพิเศษ โดยไม่ต้องผ่านการประมูลแล้วเรียกเงินมัดจำและออกใบเสร็จรับเงินปลอม
ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 , 266 (1) , 268 และ พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 123 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560
ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคกลาง มีคำพิพากษาว่า จำเลย มีความผิดตามมาตรา 266 (1) , 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 266 (1) พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 123 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ.มาตรา 91
จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมทุกกระทงความผิดตามมาตรา 268 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90
จำคุกกระทงละ 2 ปี
จำเลย ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามมาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง
คงจำคุก กระทงละ 1 ปี รวม 9 กระทง เป็นจำคุก 9 ปี
ทั้งนี้ คดียังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ลงมติเห็นชอบกรณีที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคกลาง
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ระบุว่า ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
มาตรา 268 ระบุว่า ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage