"...จากการตรวจสอบพบข้อสังเกตที่น่าสนใจ 2 ประการ ตรงตามที่นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.ก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตไว้ คือ 1. การประกวดราคาในช่วงปี 60 จนถึง กลางปี 2563 วิธีประกวดราคาที่ใช้ส่วนใหญ่ คือ วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) แต่ในช่วงตั้งแต่เดือน พ.ค.2563 มีการเปลี่ยนวิธีการประกวดราคาใหม่ ในการจัดซื้อ 3 สัญญาล่าสุด เป็น วิธีเฉพาะเจาะจงแทน 2. การจัดซื้อหลายสัญญา โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 ราคาวงเงินงบประมาณ ราคากลาง และราคาที่ชนะการประมูล จะเท่ากันทั้งหมด...."
....................................
การจัดซื้อยุทธภัณฑ์ ซึ่งเกี่ยวกับการจัดซื้อกล้องตรวจการณ์กลางคืน แบบตาเดียวหรือ Night Vision Scope ของกองทัพบก
กำลังถูกจับตามอง!
เมื่อในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ช่วงกลางดึกของวันที่ 16 ก.พ.2564 ที่ผ่านมา นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.ก้าวไกล ได้หยิบยกข้อมูลการจัดซื้อกล้องตรวจการณ์กลางคืน แบบตาเดียวหรือ Night Vision Scope ขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่โปร่งใส นอกเหนือจากข้อมูลโครงการจัดซื้อรถบัสโดยสารของกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) 7 สัญญา 2.2 พันล. ซึ่งเป็นโครงการที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ดำเนินการตรวจสอบมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : ส.ส.ก้าวไกลใช้ข้อมูล'อิศรา'ซักฟอก'บิ๊กตู่'ปม ขส.ทบ.จัดซื้อรถ 7 สัญญา 2.2 พันล.)
โดยกรณี การจัดซื้อกล้องตรวจการณ์กลางคืน แบบตาเดียวหรือ Night Vision Scope นั้น นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายกลางสภาฯ ว่า เป็นโครงการที่จัดซื้อมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561-2563 โดยมีผู้ชนะรายเดียวมาตลอด ที่ชนะการประมูลเท่ากับราคากลางพอดี ไม่พลาดแม้แต่บาท และเป็นการดำเนินการตลอด 3 ปีงบประมาณ แม้ว่าค่าเงินบาทต่อเงินดอลลาร์สหรัฐจะเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2561 – 2563 ใช้วิธีประกวดราคาทั้งหมด กระทั่งปี 2563 มีการจัดซื้อครั้งที่ 2 เปลี่ยนเป็นจัดซื้อเฉพาะเจาะจง โครงการดังกล่าวดำเนินการเมื่อ 6 ก.พ.2563 และเปิดให้มีการวิจารณ์ทีโออาร์ ปรากฏว่ามีเอกชนรายใหม่เข้าร่วมแข่งขัน และได้วิจารณ์ทีโออาร์ไปเกี่ยวกับปัญหาการแสดงตัวอย่างภายใน 5 วัน เนื่องจากเป็นยุทธภัณฑ์ต้องนำเข้าและขอใบอนุญาต และได้มีการทักท้วงไปที่หน่วยงาน ว่า หากจะยืนยันขั้นตอนการดำเนินการเช่นนี้ จะเข้าข่ายการปิดกั้นการแข่งขัน และผิดตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ทำให้หน่วยงานไม่ดำเนินโครงการนี้ต่อ กระทั่งวันที่ 11 มี.ค. มีการประกาศจัดซื้อจัดจ้าง แต่ให้ทำแบบเฉพาะเจาะจง และเลือกยี่ห้อนี้เท่านั้น
สำหรับโครงการดังกล่าว เมื่อสืบราคาสเป็คตรงตามที่กองทัพไทยต้องการ ราคากล้อง อุปกรณ์ติดตั้งบนหมวก และกระเป๋าเก็บ รวมกับอุปกรณ์เสริมต่างๆที่ระบุในเอกสารสเป็คของกองทัพ รวมค่าขนส่ง ประกันภัย และภาษีแล้ว คิดเป็นเงินไทย 261,000 บาท เท่ากับว่า ราคากลางที่กำหนด 495,000 บาท กองทัพซื้อแพงกว่า 47% หรือคิดเป็นเงินสูงถึง 78 ล้านบาท
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นฐานจัดซื้อข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวกับจัดซื้อกล้องตรวจการณ์กลางคืน แบบตาเดียวหรือ Night Vision Scope ของกองทัพ พบว่า ในช่วงปี 2560 - 2563 กองทัพบก โดยหน่วยงานย่อย คือ กรมการทหารช่าง ราชบุรี ได้จัดซื้อจัดจ้างโครงการกล้องตรวจการณ์กลางคืน, บุคคล (แบบตาเดียว) จำนวน 9 สัญญา วงเงินกว่า 198 ล้าน (เท่าที่ตรวจสอบพบ) จากเอกชน 2 ราย คือ
1. บริษัท วิริยะกิจ (1995) จำกัด ปรากฎชือเป็นคู่สัญญา ในช่วงปี 2560 - ต้นปี 2562 จำนวน 4 สัญญา วงเงิน 83,917,600 บาท
2. จากนั้นในช่วงปลายปี 2562 - ปลายปี 2563 บริษัท ซิลเวอร์บริดจ์ ดีเฟนซ์ กรุ๊ป จำกัด ปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญามาโดยตลอด จำนวน 5 สัญญา วงเงิน 114,345,000 บาท
จากการตรวจสอบพบข้อสังเกตที่น่าสนใจ 2 ประการ ตรงตามที่นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.ก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตไว้ คือ
1. การประกวดราคาในช่วงปี 60 จนถึง กลางปี 2563 วิธีประกวดราคาที่ใช้ส่วนใหญ่ คือ วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) แต่ในช่วงตั้งแต่เดือน พ.ค.2563 มีการเปลี่ยนวิธีการประกวดราคาใหม่ ในการจัดซื้อ 3 สัญญาล่าสุด เป็น วิธีเฉพาะเจาะจงแทน
2. การจัดซื้อหลายสัญญา โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 ราคาวงเงินงบประมาณ ราคากลาง และราคาที่ชนะการประมูล จะเท่ากันทั้งหมด (ดูรายละเอียดในตารางท้ายเรื่อง)
อย่างไรก็ดี การจัดซื้อจัดจ้างโครงการฯ นี้ ที่ผ่านมา ยังไม่ปรากฎข้อมูลว่าเคยถูกร้องเรียนปัญหาจัดซื้อจัดจ้างต่อหน่วยงานตรวจสอบแห่งใด
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ สำนักข่าวอิศรา จะทยอยนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage