"...การมีวัคซีนคือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ตราบใดที่เรายังไม่สามารถฉีดวัคซีนในกับประชากรได้ในจำนวนที่มากพอ เราก็ยังอยู่ในอุโมงค์ที่มืดมิดอยู่ ประชาชนยังต้องใช้ชีวิตอยู่กับความกลัวอยู่ นักท่องเที่ยวจะไม่กลับเข้ามา ภาคธุรกิจไม่มีความแน่นอน การเจรจาการค้ากับต่างประเทศก็ชะงักชะงัน และที่สำคัญ เราจะเสียเปรียบทางการแข่งขันกับประเทศที่ฉีดวัคซีนเสร็จก่อนเรา..."
................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2564 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข โดยมีเนื้อหา ระบุว่า
ผมติดตามการทำงานของรัฐบาลในการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนไทยด้วยความเป็นห่วง ผมได้แถลงถึงข้อสงสัยของผมในสัปดาห์ที่แล้ว มีผู้แสดงความคิดเห็นต่อการแสดงออกของผมหลายคน มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งรวมถึงคุณอนุทินเองด้วย
ผมจึงอยากขอใช้โอกาสนี้ สื่อสารถึงคุณอนุทินและหวังว่าคุณอนุทินจะชี้แจงประเด็นเหล่านี้ให้สังคมหายสงสัย
ข้อแรก ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ จนถึงวันนี้เรามีวัคซีนที่เจรจาเสร็จ มีความชัดเจนในการส่งมอบ ครอบคลุมเพียงแค่ร้อยละ 21.5 ของจำนวนประชากรเท่านั้น ในจำนวนนี้ มาจากแอสตร้าเซนเนก้า 26 ล้านโดส หรือร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร และซิโนแวค 2 ล้านโดส หรือคิดเป็นร้อยละ 1.5 ของจำนวนประชากร
การจัดหาวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรเพียงร้อยละ 21.5 ต่ำกว่าและช้ากว่าหลายประเทศในโลก การฉีดวัคซีนเพียงร้อยละ 21.5 ของจำนวนประชากรสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมไม่ได้
ข้อสอง นอกจากการจัดหาวัคซีนจะครอบคลุมคนจำนวนน้อยแล้ว การฉีดวัคซีนยังล่าช้ากว่าช่วงเวลาที่ควรจะเป็น
ตามกรอบเวลาที่เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขได้อธิบายกับกรรมาธิการสาธารณสุขของสภาฯ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาระบุว่า รัฐบาลวางแผนจะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกร 11 ล้านคนในปี 2564 , อีก 11 ล้านคนในปี 2565 และอีก 10.5 ล้านคนในปี 2566 (ผมแนบสไลด์ที่ใช้ในการนำเสนอในชั้นกรรมาธิการเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มาให้ประชาชนดูในที่นี้ด้วย)
รวมกันเท่ากับ 32.5 ล้านคน หรือกล่าวได้ว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรจะได้รับวัคซีนแล้วเสร็จในปี 2566
นั่นหมายความว่า หากผมไม่ออกมาตั้งคำถาม รัฐบาลเดินหน้าตามแผนนี้ ประชาชนจะต้องอดทนกับสถานการณ์กึ่งปิดกึ่งเปิดอย่างนี้ต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ปี และอีกสามปีนี้อาจจะมีความเสี่ยงแพร่ระบาดครั้งที่สามครั้งที่สี่ต่อไปได้ คนที่ต้องแบกรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่หนักที่สุดคือคนหาเช้ากินค่ำ คือแรงงานนอกระบบ คือคนที่ชีวิตมีความเปราะบาง ไม่มีสวัสดิการใดๆ รองรับ คนเหล่านี้ต้องอยู่กับความกลัวและความไม่แน่นอนในชีวิตไปอีกสามปี
ประชาชนต้องการ์ดอย่าตกไปอีกสามปี ขณะที่รัฐบาลไม่ได้แสดงให้เห็นเลยว่าเข้าใจประชาชน และพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อหาวัคซีนให้กับประชาชนอย่างครอบคลุมและฉับไว
ข้อสาม การมีวัคซีนคือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ตราบใดที่เรายังไม่สามารถฉีดวัคซีนในกับประชากรได้ในจำนวนที่มากพอ เราก็ยังอยู่ในอุโมงค์ที่มืดมิดอยู่ ประชาชนยังต้องใช้ชีวิตอยู่กับความกลัวอยู่ นักท่องเที่ยวจะไม่กลับเข้ามา ภาคธุรกิจไม่มีความแน่นอน การเจรจาการค้ากับต่างประเทศก็ชะงักชะงัน และที่สำคัญ เราจะเสียเปรียบทางการแข่งขันกับประเทศที่ฉีดวัคซีนเสร็จก่อนเรา
วันนี้ผ่านมาหนึ่งสัปดาห์น่าจะพอพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าประเทศอื่นกำลังดำเนินการเช่นไร อิสราเอลประกาศจะฉีดวัคซีนให้กับผู้ใหญ่ทุกคนภายในไตรมาสแรกของปีนี้ อินโดนีเซียเริ่มฉีดวัคซีนแล้วในต้นเดือนมกราคม ประเทศที่ทำสัญญาที่ผูกพันทางกฎหมายกับ COVAX จะได้วัคซีนในเดือนกุมภาพันธ์
การไม่พยายามจัดหาวัคซีนนี้ อาจเกิดจากรัฐบาลประมาท คิดว่าสามารถรับมือกับโควิดได้ จึงไม่รีบจัดหาวัคซีน ซึ่งการแพร่ระบาดรอบสองปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่ารัฐบาลจัดการการแพร่ระบาดไม่ได้อย่างเบ็ดเสร็จตามที่คาดไว้
ถึงแม้ว่าจะมีการแถลงภายหลังว่าภายในปีนี้รัฐบาลจะฉีดวัคซีนให้ครอบจำนวนร้อยละ 50 ของประชากร แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดว่าจะเอาวัคซีนมาจากไหน และจะฉีดอย่างไร
แผนนี้ออกมาแถลงเมื่อไม่นานมานี้ และดูแล้วไม่น่ามีความเป็นไปได้ ดังนั้นจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ทราบว่าแผนจริงๆ ของรัฐบาลเป็นอย่างไร เพราะข้อมูลขัดแย้งกันเอง
ข้อสี่ การจัดหาวัคซีนไม่ครบนี้ อาจมาจากการฝากความหวังไว้ที่บริษัทบริษัทเดียว ผมจำเป็นต้องย้ำในที่นี้อีกครั้งว่าผมเห็นด้วยและสนับสนุนให้เกิดการผลิตวัคซีนในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ และผมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกคนที่พยายามทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ
แต่สิ่งที่ผมกำลังตั้งคำถามคือกระบวนการคัดเลือกบริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่งมาทำภารกิจนี้ ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีการเปรียบเทียบคุณสมบัติกับรายอื่นๆ อย่างเป็นระบบ เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่
หลายฝ่ายพยายามลดความน่าเชื่อถือของผม โดยพยายามพูดให้สังคมคล้อยตามว่าผมไม่รู้จริงหรือทำการบ้านมาไม่ดีพอ ผมยืนยันในที่นี้อีกครั้งว่าจากเอกสารของหลายหน่วยงานและการให้สัมภาษณ์หลายครั้ง ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ สัญญาซื้อวัคซีนระหว่างรัฐบาลกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า , สัญญาจ้างผลิตระหว่างบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า กับ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ และสัญญาการสนับสนุนงบประมาณระหว่างรัฐบาลและบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เจรจาในเวลาพร้อมๆ กัน มีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกันไปมา ไม่ได้เจรจาเป็นเอกเทศ เป็นอิสระจากกันและกัน และไม่ปรากฏว่ามีตั้งคณะกรรมการเฟ้นหาผู้ที่เหมาะสมในการผลิตหรือกำหนดคุณสมบัติการคัดเลือกอย่างเป็นระบบ
ข้อห้า ในเมื่อรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนทั้งงบประมาณและการเจรจาให้เกิดสัญญาต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมา อย่าอ้างว่าเป็นสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชน ประชาชนย่อมมีความชอบธรรมที่จะขอเปิดเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเจรจาทั้งหมดของทุกหน่วยงานและเอกสารสัญญาเหล่านี้
ผมตั้งคำถามเหล่านี้ด้วยความปรารถนาดีต่อประชาชนไทย ด้วยหวังว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ในการจัดหาวัคซีน ปรับเปลี่ยนแผนเดิมและมุ่งมั่นจัดหาและฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกับจำนวนประชากรมากที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ปราศจากความกลัว เศรษฐกิจไทยกลับมาเดินหน้าอย่างมีพลัง ลดความไม่แน่นอนให้กับผู้ประกอบการ ลดงบประมาณที่จะต้องใช้จ่ายเพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่อนาคตไม่ชัดเจน
ด้วยความหวังว่าคนไทยจะได้วัคซีนอย่างทั่วถึง เป็นธรรมโดยเร็ว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/