"...เอาจริง ๆ ที่ทำมันก็ไม่คุ้ม แต่ที่ขายก็เพราะต้องเลี้ยงลูกน้อง เราก็ไม่อยากให้เขาสลับกันหยุด แล้วลดค่าแรงเหมือนช่วงระบาดระลอกแรก เราก็พยายามสู้ไปก่อน เอาแค่จ่ายเงินเดือนลูกน้อง จ่ายค่าแรง แล้วก็เอาเงินมาหมุนใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก่อน นายวุฒิพงศ์ กล่าว..."
.....................................................
ตลาดเยาวราช นับเป็นแหล่ง ‘สตรีทฟู้ด’ ยามค่ำคืนที่คนใน กทม. มักจะเดินทางมาท่องเที่ยวและนั่งพักผ่อนรับประทานอาหารหลังเลิกงาน หรือในช่วงวันหยุด
แต่ภายหลังที่ประเทศเผชิญสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิดระลอกใหม่ ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 5 ม.ค.2564 คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งห้ามลูกค้านั่งรับประทานอาหารที่ร้านค้าตั้งแต่หลังเวลา 21.00 - 06.00 น. แต่ยังเปิดให้บริการสำหรับการซื้อกลับไปรับประทานที่อื่นได้
หลังจากที่มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในทางบวกและลบเกิดขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารที่แม้จะเข้าใจสถานการณ์โรค แต่ก็จะกระทบกับรายได้อย่างชัดเจน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศย่านเยาวราชรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการและประชาชน พบว่า ผู้ประกอบการต่างปฏิบัติตามมาตรการได้เป็นอย่างดี โดยจะแจ้งให้ลูกค้ารับทราบก่อนรับประทานอาหารด้วยว่า สามารถนั่งได้แบบจำกัดเวลา เพราะเมื่อถึง 21.00 น. ร้านจะเก็บโต๊ะและเก้าอี้ ส่วนลูกค้าที่เพิ่งมาถึงก็จะให้ซื้อใส่ถุง ใส่กล่อง กลับบ้านแทน
นายก่อเกียรติ เจียรจรัส เจ้าของร้านอาหารจีน 'เซี้ยไชน่าทาวน์' หรือ 'เซี้ยหูฉลาม' กล่าวว่า ปกติแล้วคนที่มาเดินตลาดเยาวราชจะเริ่มคึกคักกันในช่วงเวลาประมาณ 19.00 น. ทำให้พ่อค้า-แม่ค้าในพืน้ที่เหลือเวลาเปิดให้บริการนั่งในร้านได้เพียง 2-3 ชั่วโมง และจะต้องรีบเก็บร้านทันที
นอกจากนั้นยังได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น จากกรณีที่ภาครัฐไม่ได้สื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดคิดว่านั่งรับประทานที่ร้านได้แค่ 19.00 น. บ้าง หรือถึงเวลา 21.00 น.บ้าง โดยตั้งแต่ดำเนินมาตตรการดังกล่าวทำให้รายได้ของร้านลดลงไปไม่ต่ำกว่า 70%
สำหรับการรับมือ-ปรับตัวกับผลกระทบทางด้านรายได้ นายก่อเกียรติ เล่าว่า อาจมีการพิจารณาขยับเปิดร้านให้เร็วขึ้น แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีประชาชนเดินทางมาใช้บริการหรือไม่ นอกจากนั้นก็ยังมีแนวคิดที่จะทำเดลิเวอรี่ (Delivery) หรือให้บริการส่งอาหารเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งช่องทาง
"ผมว่าตอนนี้ ต้องทำให้เรารอดช่วงเวลานี้ให้ได้ก่อน แต่จะรอดหรือเปล่า ยังตอบไม่ได้ ก่อนหน้านี้ผมคิดว่าถ้าเพิ่มเวลาอีก 1 ชั่วโมงก็น่าจะพอ แต่พอดูช่วงหลายมาวันนี้ คิดว่าคงไม่รอด ถ้าให้ปรับเปลี่ยนเวลา ก็น่าจะขอเพิ่มอีกอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ส่วนบางคนแนะนำให้เพิ่มเวลาขายไปช่วงกลางวัน เราก็อยากให้มาดูเยาวราชตอนกลางวัน ซึ่งเงียบกว่านี้ จะสังเกตได้ว่าร้านอาหารบางแห่ง เปิดให้บริการ 11.00-14.00 น. และก็กลับมาเปิดอีกที 17.00 น. เพราะขายตามช่วงเวลาที่คนรับประทาน ถ้าจะให้เราเปิดขายทั้งวัน แต่ไม่มีลูกค้า เปิดไปก็ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย" นายก่อเกียรติ กล่าว
อย่างไรก็ดี นายก่อเกียรติ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวเข้าใจถึงการเพิ่มมาตรการคุมเข้ม เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด ซึ่งตนเองก็ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำสั่งของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครเป็นอย่างดี แต่ก็อยากให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือฝั่งผู้ประกอบการด้วย
สอดคล้องกับ นายวุฒิพงศ์ เกษมพงศ์พาณิชย์ เจ้าของร้านขนมหวาน Sweettime ย่านเยาวราช เล่าให้ฟังว่า ได้รับผลกระทบตั้งแต่การระบาดระลอกสองเกิดขึ้นแล้ว และเมื่อมีคำสั่งงดนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน ก็ยิ่งได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น ลูกค้าและยอดขายก็ลดลงไปกว่า 50% เพราะลูกค้าบางคนก็เข้าใจผิดคิดว่าหลัง 21.00 น. จะไม่มีการขายอาหารแล้ว ขณะที่ทางร้านก็ปรับตัวมาเน้นขายสินค้าแบบเดลิเวอรี (Delivery) ตั้งแต่ช่วงแรกของระบาดแล้ว ทำให้เราก็มียอดขายในส่วนนี้มาช่วยเหลือมากขึ้น แต่ก็ได้รับผลกระทบต้องปิดร้านเร็วขึ้น จากเดิมที่เคยปิดตี 2 ก็ต้องเปลี่ยนมาปิดเที่ยงคืนแทน
"เอาจริง ๆ ที่ทำมันก็ไม่คุ้ม แต่ที่ขายก็เพราะต้องเลี้ยงลูกน้อง เราก็ไม่อยากให้เขาสลับกันหยุด แล้วลดค่าแรงเหมือนช่วงระบาดระลอกแรก เราก็พยายามสู้ไปก่อน เอาแค่จ่ายเงินเดือนลูกน้อง จ่ายค่าแรง แล้วก็เอาเงินมาหมุนใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก่อน" นายวุฒิพงศ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามนายวุฒิพงศ์ ให้ความเห็นว่า ไม่ว่าผู้ประกอบการจะเห็นด้วยหรือไม่ กับมาตรการของรัฐ แต่ทุกคนก็จะทำตาม หากจะให้รับประทานอาหารหลังเวลา 21.00 น. เชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นคงไม่ต่างกัน และอยากให้ภาครัฐ ช่วยส่งเสริมการรักษาระยะห่างกับความสะอาดมากกว่า รวมถึงการสื่อสารที่ควรไปในทิศทางเดียวกันด้วย
ขณะที่ นางบุญญานุช ทองแฉล่ม เจ้าของร้านผัดไทย ย่านเยาวราช เปิดใจว่า ผัดไทย 1 ห่อจะใช้ไข่ไก่ 1 ฟอง จากปกติที่เคยมียอดไข่มากกว่าไข่ไก่ 2 แผง ตอนนี้แม้แต่แผงเดียวก็ยังขายไม่ได้ โดยปกติลูกค้าที่มาเดินเยาวราชจะเป็นคนวัยทำงานที่มาหลังเลิกงาน ซึ่งกว่าจะเดินทางมาถึงก็ประมาณเวลา 20.00 - 21.00 น. หลังจากมีมาตรการนี้ ลูกค้านั่งในร้านไม่ได้ ก็ตัดสินใจไม่เดินทางกันมาเลย อย่างไรก็ดีก็พร้อมปฏิบัติตามข้อบังคับอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว แต่ก็อยากขอความเห็นใจให้ภาครัฐเพิ่มช่วงเวลานั่งรับประทานอาหารภายในร้านมาเป็นระยะเวลา 22.00 น. หรือ 23.00 น. แทน ขอแค่เพียงให้ลูกค้ามีเวลาเพียงพอนั่งรับประทานอาหารได้
ในส่วนของผู้บริโภค ผู้สื่อข่าว พบว่า ประชาชนบางคนยังมีความสับสนในช่วงเวลางดนั่งรับประทานอาหารภายในร้านระหว่าง 19.00 น. และ 21.00 น. และยังมีหลงเหลือคิดว่าร้านค้าจะปิดในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะที่ผู้บริโภควัยทำงานมีความเห็นว่า ช่วงเวลา 21.00 น. เป็นช่วงที่คนกำลังหาร้านรับประทานอาหาร ซึ่งต้องปรับตัวมาก เพราะเมื่อถึงเวลา 20.00 น. ก็ต้องรีบรับประทานด้วยความรวดเร็ว
“3 ทุ่มก็เก็บโต๊ะ แล้วใครจะซื้อกลับบ้านกิน เขานั่งอยู่บ้านสั่งในแอปพลิเคชันไม่ดีกว่าหรือ เร็วกว่าและเพิ่มเงินอีกไม่มาก ถ้าไม่ได้มานั่งกินที่ร้าน ระหว่างซื้อกลับไปกิน กลับสั่งแล้วนอนอยู่ที่บ้านก็มีค่าเท่ากัน แต่เราเดินทางมาก็เหมือนมาเที่ยว แถมกินในร้านก็ไม่ต้องกลับไปล้างชามอะไร เด็ก ๆ ลูก ๆ ผมก็บอกว่าสั่งในแอปฯดีกว่า ไม่ต้องออกไป เพราะเขาก็กลัวโควิด” ผู้บริโภครายหนึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าว
ทั้งหมดเป็นนานาทัศนะจากผู้ประกอบการ-ผู้บริโภค ที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางมาตรการควบคุมโควิดจากภาครัฐ ด้วยความหวังที่ว่า สถานการณ์โรคจะหมดไปในเร็ววัน เพราะไม่เช่นนั้น นอกจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ลำบากแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อรายได้ของทุกคนอีกด้วย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage