กกต.สรุปภาพรวมจัดเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศ เผยพอใจ ไม่มีรายงานจังหวัดมีปัญหา แต่มี 8 จังหวัดมีฉีกบัตรเลือกตั้ง ส่วนใหญ่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีร้องเรียนเบื้องต้น 140 เรื่อง-ถือว่าไม่เยอะถ้าเทียบครั้งก่อน - พีเน็ตอ้างพบทุจริตเลือกตั้ง 18 จว. ช่วงคืนหมาหอนมากสุด - เชียงใหม่ ‘อดีต ส.ว.ก๊อง-บุญเลิศ’สูสี-‘ตู่ นันทิดา-คำรณวิทย์’ทิ้งห่างคู่แข่งเยอะ นครปฐม จิรวัฒน์ นำหลายหน่วย
......................
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 เวลา 18.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงภาพรวมการจัดการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ ที่มีการปิดหีบลงคะแนนเลือกตั้งไปแล้วเมื่อวันที่ 17.00 น. และขณะนี้อยู่ระหว่างการนับคะแนนว่า ภาพรวมพอใจ โดยจากรายงานไม่มีจังหวัดใดที่มีปัญหา แต่ที่ จ.สุมทรสาคร พบว่า ผู้มาใช้สิทธิอาจจะเบาบางไปบ้างเท่านั้น ขณะนี้ทุกหน่วยเลือกตั้งอยู่ระหว่างการนับคะแนน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อหน่วยที่เหลือราว 600 คน เชื่อว่าไม่เกิน 20.00 น.การนับคะแนนจะเสร็จสิ้น และกรรมการประจำหน่วยสามารถติดประกาศผลคะแนนที่หน้าหน่วยเลือกตั้งได้ ก่อนที่จะมีการส่งผลคะแนนมารวมที่จังหวัด โดยจะมีการติดป้ายเพื่อประกาศผู้ได้รับคะแนนสูงสุดอย่างไม่เป็นทางการ คาดว่าทุกจังหวัดจะทราบผลได้ไม่เกิน 24.00 น.สำหรับผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่ กกต.ตั้งเป้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 คาดว่าจะทราบในวันพรุ่งนี้ว่าจะถึงหรือไม่
@พบมี 8 จังหวัดมีคนฉีกบัตรเลือกตั้ง ส่วนใหญ่รู้เท่าไม่ถึงการณ์
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวอีกว่า การประกาศรับรองผล ตามมาตรา 17 พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ กำหนดว่าหากการเลือก ตั้งเป็นไปโดยสุจริตไม่มีเรื่องร้องเรียน กกต.สามารถประกาศรับรองผลได้ภายใน 30 วันนับจากวันเลือกตั้ง แต่หากพบว่าการเลือกตั้งไม่สุจริต มีเรื่องร้องเรียนร้องคัดค้านก็ให้พิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็วรับรองผลภายในไม่เกิน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง อย่างไรก็ดีมีรายงานว่าพบการฉีกบัตรเลือกตั้งใน 8 จังหวัด คือ ปทุมธานี พัทลุง ราชบุรี สงขลา อุตรดิตถ์ บึงกาฬ อุดรธานี และอุบลราชธานี มีบางจังหวัดคาดว่าเป็นการกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18 ปี ที่เข้าใจว่าเมื่อกาบัตรแล้วต้องฉีกส่วนที่กาไปหย่อนในหีบบัตร
เมื่อถามว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิน้อยจะมีผลต่อการรับรองผลการเลือกตั้งหรือไม่ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ไม่น่าจะเกี่ยว จะมีผลในกรณีที่ต้องเป็นเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียวนั้น กฎหมายกำหนดให้ต้องได้คะแนนเกินร้อยละ 10 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
@มีเรื่องร้องเรียนเบื้องต้น 140 เรื่อง-ถือว่าไม่เยอะถ้าเทียบครั้งก่อน
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ กกต.ได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 140 เรื่อง มีทั้งที่รับเป็นคำร้องคัดค้านแล้วและที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ จำนวนเรื่องร้องเรียน 140 เรื่อง ถือว่าไม่เยอะเมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งที่ผ่านมา แต่อาจจะมีจำนวนเพิ่มเติมในภายหลังได้
@พีเน็ต อ้างตรวจสอบพบมีทุจริตเลือกตั้ง 18 จว.-มากสุดเกิดขึ้นช่วงคืนหมาหอน
วันเดียวกัน มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-NET) ออกแถลงการณ์ กรณีตรวจสอบพบการทุจริตเลือกตั้ง อบจ. ผ่านเครือข่ายทั่วประเทศที่อุทิศเป็นพลเมืองอาสา โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจาก กกต.แต่อย่างใด ทำให้เป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถตรวจสอบการเลือกตั้งได้อย่างเต็มพื้นที่ ด้วยข้อจำกัดในการตรวจสอบการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี พีเน็ต พบว่า มีการทุจริตในหลายพื้นที่ จากรายงานการรับแจ้งเหตุทางอีเล็กทรอนิกส์ เกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้ง ที่รายงานเข้ามาในช่วงวันที่ 18 -20 ธ.ค. 2563 พบว่า มีจำนวน 29 ราย จาก 18 จังหวัด ทั่วทุกภาค คือ สมุทรปราการ นครนายก นครราชสีมา พิษณุโลก กำแพงเพชร เชียงใหม่ นครปฐม นครสวรรค์ บุรีรัมย์ พระนครศรีอยุธยา พะเยา ระยอง สงขลา สระบุรี สระแก้ว สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ อุบลราชธานี
เหตุการณ์ส่วนใหญ่ เกิดขึ้นในวันที่ 19 ธ.ค. 2563 ในช่วงเวลา 16.00-19.00 น.ที่เป็นเรื่องการแจกเงินซื้อเสียง 28 ราย กำนันผู้ใหญ่บ้าน วางตัวไม่เป็นกลาง 7 ราย การสัญญาว่าจะให้ 4 ราย และ ข้าราชการวางตัวไม่เป็นกลาง 3 ราย จำนวนเงินที่ใช้ในการซื้อเสียง มีตั้งแต่ 50 บาท จนถึง 500 บาท โดย ร้อยละ 25.9 ระบุว่ามีการซื้อเสียง 500 บาท รองลงมา ร้อยละ 18.5 ระบุว่ามีเงินซื้อเสียง 100 และ 200 บาท และ ร้อยละ 17.9 ระบุว่ามีเงินซื้อเสียง 300 บาท
พฤติกรรมอื่นที่ระบุ เช่น มีการระบุว่ามีการแจกเงินทั้งหมู่บ้าน 1 ราย มีหัวคะแนน ควบคุม ข่มขู่ ผู้มาใช้สิทธิ 5 ราย มีการขนคนมาใช้สิทธิ 2 ราย กรรมการประจำหน่วยวางตัวไม่เป็นกลาง 1 ราย และให้ลงคะแนนโดยไม่ตรวจบัตรประชาชน 1 ราย มีการจัดเลี้ยงโต๊ะจีนและเลือกหัวคะแนนและเลือกบ้านไปทาน พร้อมขอให้เลือกหมายเลขของตน
ผู้แจ้งเหตุยังได้ส่งภาพหลักฐานและคลิปวีดิโอมาให้ และมีจำนวนหนึ่งพร้อมให้การเป็นพยานในกรณีที่ กกต.สามารถรับรองเรื่องการรักษาความลับและรับประกันความปลอดภัย
พีเน็ต ระบุด้วยว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ มีความสำคัญที่จะมีส่วนช่วยทำให้ท้องถิ่นใช้อำนาจตัดสินใจจัดการตนเองได้อย่างแท้จริง หากการเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริต เที่ยงธรรม แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า กกต.ไม่ให้ความสำคัญกับความพยายามที่จะทำให้การเลือกตั้งสุจริต เที่ยงธรรม ทั้งที่มีกลไก งบประมาณ อีกทั้ง ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่ไม่ทราบว่ามีผลงานจับผิดทุจริตอะไรบ้าง กกต. จึงไม่สามารถจัดการการทุจริต เอาผิดผู้ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
พีเน็ต ยังได้ร่วมกับภาคีไม่ว่าจะเป็น สภาองค์กรชุมชน สถาบันการศึกษา จัดกิจกรรมเพื่อช่วยผลักดันพัฒนาคุณภาพการเลือกตั้งท้องถิ่น ด้วยการขับเคลื่อนให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นโอกาสที่ชุมชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีพื้นที่นำเสนอนโยบายที่ต้องการต่อผู้สมัครด้วยหวังว่าจะเป็นส่วนช่วยให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไปใช้สิทธิ์ ใช้เสียงอย่างมีคุณค่า ก้าวพ้นอิทธิพลของการซื้อเสียง จากการใช้อำนาจหรือเงินตรา
สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมาถึง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง อบต. เทศบาล กรุงเทพฯ พัทยา มูลนิธิองค์กรกลาง ฯ ขอเรียกร้อง กกต. ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมขององค์การเอกชน ประชาสังคม สภาองค์กรชุมชนในการตรวจสอบการเลือกตั้งเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างมีคุณภาพ สุจริต เที่ยงธรรม และรณรงค์สร้างการเรียนรู้ให้การใช้สิทธิ์ใช้เสียงเป็นไปเพื่อคุณค่าในอธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริง
@เชียงใหม่ ‘อดีต ส.ว.ก๊อง-บุญเลิศ’สูสี-‘ตู่ นันทิดา-คำรณวิทย์’ทิ้งห่างคู่แข่งเยอะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการปิดหีบลงคะแนนรับสมัครเลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ.ทั่วประเทศ ขณะนี้ กกต.จังหวัดอยู่ระหว่างการนับคะแนน โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นการนับ และส่งผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการมาให้ กกต.ส่วนกลางรวบรวม และจะมีการเผยแพร่ผลคะแนนอีกครั้งในวันที่ 21 ธ.ค. 2563
ทั้งนี้ในส่วนจังหวัดใหญ่ ๆ ที่น่าสนใจ เช่น จ.นนทบุรี พ.ต.อ.ธงชัย เย็นประเสริฐ ผู้สมัครนายก อบจ. หมายเลข 3 กลุ่มผึ้งหลวง อดีตนายก อบจ.นนทบุรี 3 สมัย มีคะแนนนำนายไพบูลย์ กิจวรวุฒิ ผู้สมัครหมายเลข 1 จากคณะก้าวหน้าเล็กน้อย ขณะที่นายฉลอง เรี่ยวแรง หมายเลข 2 อดีต ส.ส.นนทบุรี ลงสมัครในนามกลุ่มพลังนนท์ ยังมีคะแนนตามมาเป็นลำดับที่ 3
ส่วน จ.เชียงใหม่ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรืออดีต ส.ว.ก๊อง ผู้สมัครนายก อบจ. หมายเลข 1 จากพรรคเพื่อไทย และนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ หลายสมัย หมายเลข 2 ในนามกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม คะแนนยังสูสี
ส่วน จ.สมุทรปราการ นางนันทิดา แก้วบัวสาย หรือตู่ อดีตภรรยานายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ผู้สมัครนายก อบจ. หมายเลข 1 ในนามกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า ยังมีคะแนนนำผู้สมัครรายอื่นเยอะ
เช่นเดียวกับที่ จ.ปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีต ผบช.น. ผู้สมัครนายก อบจ. หมายเลข 2 มีคะแนนนำผู้สมัครรายอื่นเยอะเหมือนกัน
จ.นครปฐม นายจิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ นักธุรกิจ ผู้สมัคร นายก อบจ. หมายเลข 2 มีคะแนนนำ นายพเยาว์ เนียะแก้ว อดีต นายก อบจ. และนายชัชวาล นันทะสาร คณะก้าวหน้า ในหลายหน่วยเลือกตั้ง
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ จาก https://www.naewna.com/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/