“...ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติดังกล่าวออกมา ส่งผลให้เจ้าหน้าที่และข้าราชการภายในสำนักงาน ป.ป.ช. เกิดความกังวลอย่างมากว่า คดีนี้อาจกลายเป็นเหมือนคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ที่มีการตัดทอนกระบวนการยุติธรรม และในอนาคตสำนักงาน ป.ป.ช. อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้…”
.......................
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติสำคัญในการดำเนินคดีสินบนข้ามชาติที่น่าสนใจคดีหนึ่ง
นั่นคือคดีสินบนโรงไฟฟ้าขนอม 20 ล้านบาท ที่ตอนชี้มูลความผิดมีการกล่าวหาอดีตเจ้าหน้าที่รัฐรวม 5 ราย และเอกชนรวม 3 ราย โดยมีชื่อของบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เอกชนก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของไทยด้วย
โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง ไม่สั่งฟ้องบริษัท ซิโน-ไทยฯ ในคดีดังกล่าว เนื่องจากการไต่สวนของ ป.ป.ช. ‘ไม่ตรงมาตรกฎหมาย’ มาตั้งแต่ต้น และเห็นควรฟ้องเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ 5 รายอย่างเดียว (อ่านประกอบ : มติ ป.ป.ช. 6 ต่อ 3 ไม่ฟ้อง‘ซิโน-ไทยฯ’คดีสินบนโรงไฟฟ้าขนอม-ฟ้องเฉพาะ จนท.รัฐ 5 ราย)
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปที่มาที่ไป ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายให้ทราบ ดังนี้
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2562 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด นาวาโทสาธิต ชินวรณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขานครศรีธรรมราช กับเจ้าหน้าที่รัฐรวม 4 ราย และเอกชนผู้สนับสนุน 3 ราย ได้แก่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิโน-ไทยฯ และนายราเกส กาเลีย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการส่วนงานปฏิบัติการบริษัท ซิโน-ไทยฯ กรณีถูกกล่าวหาว่าร่วมกันเรียกรับเงินสินบนจำนวน 20 ล้านบาท จากบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด หรือ MHPS เพื่อแลกกับการอนุญาตให้ใช้ท่าเทียบเรือชั่วคราวบริเวณโรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อลำเลียงขนถ่ายชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยมิชอบ
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณานั้น มีการตั้งคณะทำงานร่วมพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนระหว่างฝ่ายอัยการ และฝ่าย ป.ป.ช. ท้ายที่สุดไม่ได้ข้อยุติ โดยฝ่ายอัยการเห็นว่า พยานหลักฐานไม่เพียงพอในการฟ้องศาล
หลังจากนั้น ป.ป.ช. ดึงสำนวนดังกล่าวกลับมาพิจารณาเอง และส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการพิจารณาคดีสินบนข้ามชาติ พิจารณาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย โดยคณะอนุกรรมการฯชุดนี้มีคนนอกที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมด้วย ท้ายที่สุดคณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าว ส่งความเห็นมายังที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ตามสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ระบุตอนหนึ่งว่า บริษัท ซิโน-ไทยฯ ให้ความช่วยเหลือในการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐในการเรียกรับสินบนจากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น โดยมีการจัดทำสัญญาที่ไม่มีการจ้างงานจริง เพื่อให้บริษัท ซิโน-ไทยฯ จัดเตรียมสินบนเป็นเงินสด 20 ล้านบาท ต่อมามีการมอบเงินสินบนให้กับผู้แทนบริษัทญี่ปุ่นที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท ซิโน-ไทยฯ เพื่อให้ขนเงินไปยังพื้นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้ง 4 ราย ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าในช่วงเวลาเดียวกันเรือลำเลียงก็สามารถเทียบท่าและขนถ่ายชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ณ ท่าเทียบเรือชั่วคราวโรงไฟฟ้าขนอมได้ แม้ว่าจะไม่มีการแก้ไขเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือให้ถูกต้องตามระเบียบของกรมเจ้าท่าแต่อย่างใด
(หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา : บริษัท ซิโน-ไทยฯ ลงนามโดยนายภาคภูมิ มีหนังสือชี้แจงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยืนยันว่าไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ และมั่นใจว่าสามารถชี้แจงแสดงหลักฐานโต้แย้งการถูกกล่าวหาข้างต้นได้ และบริษัทฯขอยืนยันจะสู้จนถึงที่สุด (อ่านประกอบ : บ.ซิโน-ไทยฯแจงด่วน ตลท.! หลัง ป.ป.ช. ฟันคดีสินบน-ยันไม่เคยทุจริต จะสู้จนถึงที่สุด))
ต่อมาในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการหารือประเด็นนี้ โดยเบื้องต้นถกเถียงกันก่อนว่าสามารถฟ้องบริษัท ซิโน-ไทยฯ และเอกชนรวม 3 รายในคดีนี้ได้หรือไม่ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 77 โดยมีกรรมการ ป.ป.ช. 'บางราย' มีกรรมการ ป.ป.ช. บางราย ให้ความเห็นว่า คดีนี้ไม่สามารถฟ้องเอาผิดกับบริษัท ซิโน-ไทยฯ และเอกชนรวม 3 รายได้ เนื่องจากมีการแจ้งข้อกล่าวหาไม่ตรงตัวบทกฎหมายตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ในชั้นการไต่สวนไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหากลุ่มเอกชนตัวแทนจากญี่ปุ่นที่เป็นตัวการสำคัญในคดีนี้ด้วย แม้จะอ้างว่าทางการญี่ปุ่นดำเนินการลงโทษไปแล้วก็ตาม แต่การที่ ป.ป.ช. ไม่ดำเนินการใด ๆ กับเอกชนตัวแทนจากญี่ปุ่น อาจทำให้ข้อกล่าวหาเรื่องการรับสินบนมีน้ำหนักไม่เพียงพอได้ ท้ายที่สุดที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมากไม่ฟ้องกลุ่มเอกชน
หลังจากนั้นมีการหารือกันต่อว่าจะดำเนินการกับกลุ่มเอกชนอย่างไร โดยพิจารณาถึงประเด็นว่า กรณีนี้เข้าข่ายผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 จะดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาใหม่ได้หรือไม่ โดยฝ่ายเสียงข้างน้อยเห็นว่า สามารถดำเนินคดีต่อได้ โดยการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในสำนวนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144
อย่างไรก็ดี ฝ่ายเสียงข้างมากเห็นว่าไม่สามารถทำได้เนื่องจากมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีผลเป็นอันสิ้นสุดไปแล้ว หากจะดำเนินการต่อต้องมีการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น และตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนใหม่ นอกจากนี้ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 มีโทษนิดเดียว (จำคุกไม่เกิน 5 ปี) หากเทียบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 (จำคุก 5-20 ปี)
หลังจากนั้นมีการส่งความเห็นให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา โดยที่ประชุมมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในประเด็นหากมีการรื้อคดีแจ้งข้อกล่าวหาใหม่แก่บริษัท ซิโน-ไทยฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 นั้น ทำได้หรือไม่ โดยเสียงส่วนมากเห็นว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากมีการชี้มูลความผิดไปแล้ว หากจะเอาผิดบริษัท ซิโน-ไทยฯ ในประเด็นนี้ ต้องมีการสอบข้อเท็จจริงใหม่ และตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนใหม่ตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 มีโทษนิดเดียว (จำคุกไม่เกิน 5 ปี) หากเทียบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 (จำคุก 5-20 ปี)
ที่สำคัญคือ การที่ ป.ป.ช. ไม่ดำเนินการใด ๆ กับเอกชนตัวแทนจากญี่ปุ่น อาจทำให้น้ำหนักข้อกล่าวหาเรื่องรับสินบนมีน้อย
ท้ายที่สุดที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เห็นควรฟ้องคดีดังกล่าวเอง เฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐรวม 5 รายเช่นกัน โดยไม่ฟ้องบริษัท ซิโน-ไทยฯ และเอกชนอีก 3 ราย อย่างที่รายงานให้ทราบไปแล้ว (อ่านประกอบ : มติ ป.ป.ช. 6 ต่อ 3 ไม่ฟ้อง‘ซิโน-ไทยฯ’คดีสินบนโรงไฟฟ้าขนอม-ฟ้องเฉพาะ จนท.รัฐ 5 ราย)
ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติดังกล่าวออกมา ส่งผลให้เจ้าหน้าที่และข้าราชการภายในสำนักงาน ป.ป.ช. เกิดความกังวลอย่างมากว่า คดีนี้อาจกลายเป็นเหมือนคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ที่มีการตัดทอนกระบวนการยุติธรรม และในอนาคตสำนักงาน ป.ป.ช. อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้
ท้ายที่สุดเรื่องนี้จะมีบทสรุปเหมือนกรณีของ ‘วรยุทธ อยู่วิทยา’ อย่างที่บรรดาเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. กังวลหรือไม่
คงต้องติดตามกันต่อ แบบอย่ากระพริบตา!
อ่านประกอบ :
มติ ป.ป.ช. 6 ต่อ 3 ไม่ฟ้อง‘ซิโน-ไทยฯ’คดีสินบนโรงไฟฟ้าขนอม-ฟ้องเฉพาะ จนท.รัฐ 5 ราย
มีเวลาอยู่! สัปดาห์หน้า ป.ป.ช.ถกปม อสส.ไม่ฟ้อง‘ซิโน-ไทยฯ’คดีสินบนโรงไฟฟ้าขนอม
อัยการไม่ฟ้อง บ.ซิโน-ไทยฯ หลังถูกชี้มูลคดีสินบนโรงไฟฟ้าขนอม-ส่งกลับ ป.ป.ช.ฟ้องเอง
ป.ป.ช.ฟัน ผอ.เจ้าท่านครศรีฯ-2 ‘บิ๊ก’ ซิโน-ไทยฯ คดีจ่ายสินบน 20 ล.โรงไฟฟ้าขนอม
บ.ซิโน-ไทยฯแจงด่วน ตลท.! หลัง ป.ป.ช. ฟันคดีสินบน-ยันไม่เคยทุจริต จะสู้จนถึงที่สุด
จากญี่ปุ่น-ไทย! ย้อนข้อมูล'อิศรา' แกะรอยคดีสินบน 20 ล.ก่อน ป.ป.ช.ฟัน จนท.รัฐ-'บิ๊ก'ซิโนฯ
ป.ป.ช.ฟัน ผอ.เจ้าท่านครศรีฯ-2 ‘บิ๊ก’ ซิโน-ไทยฯ คดีจ่ายสินบน 20 ล.โรงไฟฟ้าขนอม
มีความผิดลงโทษก่อนป.ป.ช.ได้! อธิบดีเจ้าท่า ยันสอบสินบน20ล.ไม่นาน-ย้ายอดีตผอ.นครศรีฯจริง
ป.ป.ช.แจ้งข้อหาตัวแทน บ.ลูก MHPS ไทย สนับสนุนปมจ่ายสินบนสร้างโรงไฟฟ้า 20 ล.
เบื้องลึก! คดีสินบน20ล.กรมเจ้าท่าฯ สั่งย้ายอดีตผอ.นครศรีฯ เข้ากรุช่วยราชการแล้ว
ป.ป.ช.สอบสินบน บ.ญี่ปุ่น20 ล. คืบหน้า80% เผยจนท.พื้นที่เอี่ยว 4-5 ราย-มีกรมศุลฯด้วย
เอ็กซ์คลูซีฟ: เปิดประกาศ บ.ญี่ปุ่น แจงเหตุจ่ายสินบน20ล.แลกเปิดท่าเรือ-พนง.โชว์สปิริตคืนเงินด.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/