ครม.เห็นชอบในหลักการจัดการเลือกตั้ง อบจ. 'บิ๊กตู่' คาดจัดได้ช่วง ธ.ค.นี้ รอ กกต.เคาะวันอย่างเป็นทางการ 'จรุงวิทย์' ระบุต้องเพิ่มหน่วยเลือกตั้ง เพราะทำตามมาตรการควบคุมโรค ส่งผลให้ต้องใช้งบเพิ่ม ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ส่อยืดถึงปลายปี 2564
-----------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมวกลาโหม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าชี้แจงความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งนี้มีเหตุผลความจำเป็นเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด และงบประมาณที่มีอยู่ ซึ่งรัฐบาลเตรียมการไว้แล้วระดับหนึ่ง โดยวันนี้ ครม.ได้มีมติเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ภายใน 60 วันหรือจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ธ.ค.นี้ ส่วนการกำหนดวันเวลาที่ชัดเจนเป็นเรื่องที่ กกต.จะไปกำหนดเอง ส่วนเหตุผลที่เลือก อบจ.ก่อน เพราะเขามีความพร้อมมากกว่าอย่างอื่นในขณะนี้ ส่วนการเลือกตั้งอื่นจะทยอยดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ต้องเตรียมการเรื่องงบประมาณดังกล่าวในปีงบประมาณ 2564 ด้วย
“ผมอยากให้การเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งโปร่งใสเป็นธรรม ไม่ทุจริต และได้คนดีมาทำงานท้องถิ่น งานท้องถิ่นมี 5 ประเภท เดี๋ยวไปดูว่าที่เหลืออยู่จะทำอย่างไรต่อไปในปีหน้า ก็ขอให้ได้คนดี คนซื่อสัตย์ สุจริตโปร่งใส ตรวจสอบได้ อย่าให้เกิดเหตุขึ้นอีก หลายอย่างเป็นประสบการณ์อยู่แล้ว ทุกคนก็จะต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ด้าน พ.ต.อ.จรงุวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวภายหลังเข้าชี้แจงกับ ครม. เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ว่า ก่อนหน้านี้ไดมีการประกาศแบ่งเขตการเลือกตั้งของ อบจ.ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ขณะเดียวกัน กกต.ได้ฝึกจัดอบรมเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดและอำเภอ ซึ่งหากให้มีการจัดการเลือกตั้ง อบจ.เป็นประเภทแรกจะต้องมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ประมาณ 1 แสนคน เพื่อรองรับสำหรับหน่วยเลือกตั้งที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องปฏิบัติตามให้เป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุข ซึ่ง กกต. กับกรมควบคุมโรคได้หารือกันในรายละเอียดอยู่ตลอด
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับงบประมาณในการเลือกตั้ง จะใช้งบประมาณของท้องถิ่นนั้นๆ ในการดำเนินการการเลือกตั้ง โดยกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้ให้รายละเอียดในเรื่องนี้ เพราะแต่ละท้องถิ่นใช้ไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตามการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้อาจใช้งบประมาณมากขึ้น เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและเพิ่มหน่วยเลือกตั้งจากเดิมที่รองรับประมาณ 1,000 คนต่อหน่วยเลือกตั้ง ลดลงเหลือ 600 คนต่อหน่วยเลือกตั้ง
เมื่อถามว่า ที่ประชุมครม. ได้ให้ข้อสังเกตอะไรกับ กกต.หรือไม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ครม. ได้ให้ข้อสังเกตถึงเรื่องการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังคงมีการแพร่ระบาดของโควิด-19
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ได้นำเอกสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 5 ประเภท ได้แก่ อบจ. อบต. เทศบาล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานครพร้อมระบุว่า กกต.มีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งทุกประเภทแล้ว ขณะที่ได้ ครม.ได้เห็นชอบให้จัดการเลือกตั้ง อบจ.ก่อน เพราะมีความพร้อมในเรื่องของงบประมาณ ที่จะใช้จำนวน 3,200 ล้านบาท และการเลือกตั้งที่คาดว่า จะเป็นลำดับถัดไปคือ เทศบาล และเมืองพัทยา ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะให้ทั้งสองประเภทนี้จัดพร้อมกันหรือไม่ จากนั้นจะมีการจัดการเลือกตั้ง อบต. และปิดท้ายด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ยังมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการมีอยู่สมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร (ส.ข.) เนื่องจากการเลือกตั้งแต่ละประเภทต้องทิ้งระยะห่างกัน 45-60 วัน ทำให้การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เร็วที่สุดอาจจะอยู่ช่วงปลายปี 2564 นอกจากนี้ ในที่ประชุมนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเห็นว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และการทำประชามติ จะส่งผลกระทบให้การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องเลื่อนออกไปด้วย รวมถึงจะทำให้รัฐบาลมีภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/