ดีเอสไอร่วมกรมการปกครอง จ.เชียงราย สอบคดีคนต่างด้าวสวมสัญชาติไทยโดยมิชอบ ขยายผลพบปลัดอำเภอเวียงแก่น จ.เชียงราย ออกให้ 255 คน 15 รายนำไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท 19 แห่ง ทุนรวม 3,600 ล้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยแพร่ข่าว นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทน อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ พันตำรวจโท ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล ผู้อำนวยการกองคดีความมั่นคง และ นายธวัชชัย รัตนปรีชาชัย ผู้อำนวยการส่วนคดีความมั่นคง 2 บูรณาการร่วมกับ กรมการปกครอง โดย นายวีระชาติ ดาริชาติ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน, นายเอกอนันต์ ศรีอินทร์ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันและปราบปรามการทุจริตการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน, นายอุดม อยู่อินไกร นายอำเภอเวียงแก่น และตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ตรวจสอบกรณีคนต่างด้าวสวมสิทธิสัญชาติไทยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และได้ใช้สิทธิไปประกอบธุรกิจต้องห้าม อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542
สืบเนื่องจากกรมการกงสุลได้ส่งข้อมูลให้กองคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบกรณี นายแก้ว แซ่ลี ถือหนังสือเดินทาง 2 ฉบับ ทั้งสัญชาติไทย และสัญชาติจีน ซึ่งตรวจพบโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในประเทศจีน จากการตรวจสอบพบว่า นายแก้ว แซ่ลี เป็นคนต่างด้าว ได้สวมสิทธิสัญชาติไทยโดยใช้วิธีสวมชื่อบุคคลสัญชาติไทยที่ยังมีชีวิตอยู่โดยมิชอบ เหตุเกิดที่สำนักทะเบียนอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐ (อดีตปลัดอำเภอเวียงแก่น) ที่ทำหน้าที่ในฐานะผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอเวียงแก่น เป็นผู้ดำเนินการ
โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้กรมการปกครอง เพื่อเพิกถอนการรายการสิทธิสัญชาติไทยและดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำผิดทางอาญาที่เกี่ยวข้องแล้ว และดำเนินการสืบสวนขยายผลร่วมกับสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีการสวมสิทธิโดยมิชอบในช่วงเวลาที่ปลัดอำเภอเวียงแก่นซึ่งเป็นผู้กระทำผิด อีกจำนวน 255 รายชื่อ จึงเป็นที่มาของการบูรณาการร่วมกันใน 2 ด้าน ได้แก่
(1) ด้านความมั่นคงของประเทศ ซึ่งกรมการปกครองเป็นผู้รับผิดชอบ
และ (2) ด้านการประกอบธุรกิจต้องห้ามของคนต่างด้าว ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้รับผิดชอบ โดยได้รับกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องสืบสวนที่ 23/2563 และขณะนี้ได้นำรายชื่อบุคคลจำนวน 255 รายชื่อ ที่ปรากฏภาพลายนิ้วมือในขณะแจ้งถิ่นพำนัก ส่งไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ตรวจเปรียบเทียบกับลายพิมพ์นิ้วมือขณะทำบัตรประชาชน เพื่อพิสูจน์ตัวบุคคล
รวมทั้งได้นำรายชื่อทั้ง 255 ราย ตรวจสอบกับฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่ามีการไปจดทะเบียนประกอบธุรกิจต้องห้ามของคนต่างด้าวจำนวน 15 ราย ในลักษณะนิติบุคคลรวม 19 บริษัท โดย 1 ใน 15 ราย ซึ่งจดทะเบียน เป็นนิติบุคคล 3 บริษัท มีทุนจดทะเบียนรวมกันไม่น้อยกว่า 3,600 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีสินทรัพย์ของนิติบุคคลรวมเกิน 100 ล้านบาท อันเข้าข่ายลักษณะที่เป็นคดีพิเศษ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป
กรมสอบสวนคดีพิเศษมุ่งมั่นดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกรณีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 อย่างเด็ดขาดและครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อคุ้มครองธุรกิจที่คนไทยไม่พร้อมที่จะแข่งขันกับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งได้ใช้วิธีการให้คนต่างด้าวกลุ่มนี้เข้าสวมสิทธิเป็นคนไทยโดยมิชอบ แล้วเข้าไปถือหุ้นแทนในลักษณะนอมินีว่าเป็นธุรกิจของคนไทย รวมถึงการตรวจสอบที่มาของแหล่งเงินทุนของธุรกิจของคนต่างด้าวดังกล่าวว่าเข้าข่ายการกระทำผิดตามกฎหมายฟอกเงินด้วยหรือไม่
ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อมูลหรือเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำผิดดังกล่าว สามารถแจ้งมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ที่สายด่วน DSI Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเก็บรักษาข้อมูลผู้แจ้งเบาะแสไว้เป็นความลับ
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage