ที่ประชุม ศบค. เห็นชอบต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 เดือน คงเวลา 'เคอร์ฟิว' 22.00-04.00 น.เหมือนเดิม ขณะเดียวกันเตรียมหารือกับภาคเอกชน ผ่อนปรนเปิดธุรกิจบางประเภท ลุ้นเปิดห้างสรรพสินค้า-อาหาร-ร้านเสริมสวย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในที่ประชุมว่า วันนี้จะมีการพิจารณาเรื่องของการ ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และจะการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ หลังจากได้รับฟังข้อสังเกตจากหลายหน่วยงานทีเกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีเวลาให้แต่ละฝ่ายเตรียมการพอสมควร
พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้กล่าวชื่นชมการทำงานร่วมกันของทุกาภคส่วน ทำให้ผลการดำเนินงานของไทยได้รับการยอมรับยกย่องจากทั่วโลก รวมทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) และขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องถือว่าเป็นผลจากความพยายามทุ่มเทจากทุกภาคส่วน รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลที่ได้ร่วมดำเนินการอย่างจริงจัง
ขณะที่ประชุมได้นำเสนอผลการดำเนินการที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงเวลาที่ผ่าน โดยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สรุปสถานการณ์และเสนอให้ ศบค. ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน แต่ให้คงไว้ซึ่งมาตรการที่สำคัญและจำเป็น ดังนี้
1.ควบคุมการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ขยายการห้ามอากาศยานบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวออกไปอีก 1 เดือน หรือ ระหว่างวันที่ 1-31 พ.ค. 2563
2.งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด โดยไม่มีเหตุจำเป็น
3.ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน หรือ เคอร์ฟิว ระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. โดยให้ทุกจังหวัดปรับเวลาให้ตรงกันทั้งหมด
4.งดการดำเนินกิจกรรมที่มีผู้คนเข้าร่วมจำนวนมาก ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่ หรือสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมาก งดการทำกิจกรรมร่วมกัน หรือประกอบกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นการชั่วคราว
ทั้งนี้ สมช.ได้เสนอแนวทางการผ่อนปรนบางมาตรการ โดยให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. มีอำนาจในการกำหนดการผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ และผู้ว่าราชการทุกจังหวัด กำหนดรายละเอียดการดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ตามสภาพปัญหา ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ โดยคำนึงถึงเรื่องปัจจัยด้านการสาธารณสุข และวิธีดำเนินการแต่ละประเภทกิจกรรม ที่ต้องบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด อาทิ เว้นระยะห่างทางสังคม, ตรวจวัดอุณหภูมิ, จุดบริการแอลกอฮอล์, จำกัดคนให้เหมาะสมต่อกิจกรรม และจัดเจ้าหน้าที่ หรือใช้เทคโนโลยีตรวจสอบการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า อยากให้ทุกจังหวัดเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากที่สุดที่สามารถปฏิบัติได้ เพื่อให้ประชาชนกลับมามีรายได้ แต่หากส่วนไหนที่ยังไม่พร้อมอาจจะพิจารณาเป็นกรณี ส่วนมาตรการ Work From Home ให้กำหนดเป็นมาตรการที่ยังดำเนินการต่อไป โดยเฉพาะในด้านการศึกษา ยังให้สถานศึกษาเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 เป็นวันที่ 1 ก.ค.ตามที่ ครม.ได้มีมติไปก่อนหน้านี้ เพื่อไม่ให้สถานการณ์การแพร่ระบาดเกิดผลกระทบต่อการเรียนการสอนของเยาวชน
แหล่งจากที่ประชุม ศบค. เปิดเผยว่า ในช่วงบ่ายวันนี้คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน ที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธาน จะหารือกับนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้มีการเปิดสถานประกอบการบางประเภท โดยเปลี่ยนวิธีการจากการพิจารณาตามความเสี่ยงของแต่ละจังหวัด เป็นการพิจารณาตามความเสี่ยงของประเภทสถานประกอบการแทน
“วันนี้น่าจะมีความชัดเจนว่าในการเปิดสถานประกอบการบางประเภท เช่น ร้านอาหารขนาดเล็ก ตลาดสด ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า หรือร้านเสริมสวย โดยแต่ละประเภทจะมีข้อกำหนดออกมาด้วยว่าจะมีมาตรการกำกับดูแลอย่างไร ทั้งหมดจะประเมินสถานการณ์ทุก 14 วัน และจะเริ่มผ่อนปรนจากธุรกิจที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อน้อยที่สุดก่อน” แหล่งข่าวกล่าว
ด้าน นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบ ให้เลื่อนวันหยุดนักขัตฤกษ์ประจำเดือน พ.ค.ออกไปก่อน ประกอบด้วย 1 พ.ค. วันแรงงานแห่งชาติ , 4 พ.ค. วันฉัตรมงคล , 6 พ.ค. วันวิสาขบูชา และ 11 พ.ค. วันพืชมงคล โดยจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาวันพรุ่งนี้ โดยรัฐบาลจะพิจารณาชดเชยวันหยุดให้ในภายหลัง เช่นเดียวกับวันสงกรานต์ที่ได้เลื่อนออกไปก่อนหน้านี้
“กระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วงเรื่องการเดินทางของประชาชนในช่วงวันหยุด จึงได้เสนอให้เลื่อนวันหยุดราชการเหล่านี้ออกไปก่อน และจะมีการชดเชยให้ในภายหลัง ซึ่งคาดว่าจะน่าเลื่อนวันหยุดออกไปอยู่ในช่วงปลายปี” นายอิทธิพล กล่าว
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage