สธ.ประกาศให้ ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลี จีน ไต้หวัน ฝรั่งเศส สิงคโปร์ อิตาลี อิหร่าน เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย COVID-19 ผู้สงสัยเสี่ยงสูงให้เเยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต
วันที่ 3 มี.ค. 2563 กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease2019 :COVID-19) มีรายละเอียด ดังนี้
ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease2019 :COVID-19) ได้แพร่อย่างรวดเร็วและกว้างขวางไปหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก ประกอบกับเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2563 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดของโรคดังกล่าวเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease2019 :COVID-19)เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดต่อของโรคดังกล่าวที่มากับผู้เดินทางจากนอกราชอาณาจักร ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคที่อาจจะเข้ามาภายในราชอาณาจักรและเพื่อให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการด้านวิชาการ จึงเห็นสมควรประกาศกำหนดให้ท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease2019 :COVID-19)เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งหากสภาวการณ์ของโรคดังกล่าวสงบลงหรือมีเหตุอันสมควร จะได้มีการประกาศยกเลิกเขตติดโรคติดต่ออันตรายใหม่
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการด้านวิชาการ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease2019 :COVID-19)
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ท้องที่นอกราชอาณาจักรดังต่อไปนี้ เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease2019 :COVID-19)
1.ญี่ปุ่น
2.สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
3.สาธารณรัฐเกาหลี
4.สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงเขตบริหารพิเศษมาเก๊า และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง
5.ไต้หวัน
6.สาธารณรัฐฝรั่งเศส
7.สาธารณรัฐสิงคโปร์
8.สาธารณรัฐอิตาลี
9.สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรา 40 เมื่อรัฐมนตรีประกาศให้ท้องที่หรือเมืองท่าใดนอกราชอาณาจักรเป็นเขตติดโรค ตามมาตรา 8 ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจําด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ มีอํานาจ ดําเนินการเอง หรือออกคําสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะที่เข้ามาในราชอาณาจักร จากท้องที่หรือเมืองท่านั้น ดําเนินการดังต่อไปนี้
(1) กําจัดความติดโรค เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ของโรค
(2) จัดให้พาหนะจอดอยู่ ณ สถานที่ที่กําหนดให้จนกว่าเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจําด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศจะอนุญาตให้ไปได้
(3) ให้ผู้เดินทางซึ่งมากับพาหนะนั้นรับการตรวจในทางแพทย์ และอาจให้แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต หรือรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ณ สถานที่และระยะเวลาที่กําหนด
(4) ห้ามผู้ใดเข้าไปในหรือออกจากพาหนะนั้น หรือที่เอกเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ควบคุมโรคติดต่อประจําด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
(5) ห้ามผู้ใดนําวัตถุ สิ่งของ หรือเครื่องใช้ที่เป็นหรือมีเหตุสงสัยว่าเป็นสิ่งติดโรคเข้าไปใน หรือออกจากพาหนะนั้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจําด่านควบคุมโรคติดต่อ ระหว่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 หมวด 6 การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ มาตรา 34 บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ เมื่อเกิดโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาดหรือมีเหตุสงสัยว่าได้เกิดโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดในเขตพื้นที่ใด ให้เจ้าพนักงาน ควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่นั้นมีอํานาจที่จะดําเนินการเองหรือออกคําสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ใดดําเนินการ ดังตอไปนี้
(1) ให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด หรือผู้ที่เป็น ผู้สัมผัสโรคหรือเป็นพาหะ มารับการตรวจหรือรักษา หรือรับการชันสูตรทางการแพทย์ และเพื่อความปลอดภัย อาจดําเนินการโดยการแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต ณ สถานที่ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกําหนด จนกว่าจะได้รับการตรวจและการชันสูตรทางการแพทย์ว่าพ้นระยะติดต่อของโรคหรือสิ้นสุดเหตุอันควรสงสัย ทั้งนี้ หากเป็นสัตว์ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์เป็นผู้นําสัตว์มารับการตรวจหรือรักษา หรือรับการชันสูตร ทางการแพทย์
อ่านประกอบ:พระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ. 2558
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/