ที่ประชุมคกก.วัตถุอันตราย มติเอกฉันท์ 24 เสียง ยืดเวลา 6 เดือน แบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” จำกัดการใช้ “ไกลโฟเซต” หวั่นส่งผลกระทบธุรกิจอาหารสัตว์ เครือข่ายแบนสารพิษร้ายแรง แถลงผิดหวัง เดินหน้าขับเคลื่อนต่อ ขณะที่เครือข่ายผู้หญิง มอบดอกไม้สีขาว ให้กำลังใจ “มนัญญา”
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 27 พ.ย. 2562 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ 27 คน ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย พ.ศ. 2562 โดยมีวาระการพิจารณาทบทวนมติเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562 เกี่ยวกับรายชื่อวัตถุอันตราย ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต และระยะเวลาในการบังคับใช้ ตามที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ภายหลังพบว่า หากประกาศให้มีผลบังคับใช้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จะไม่สามารถบริหารจัดการวัตถุอันตรายและมาตรการที่เหมาะสมรองรับได้
นายสุริยะ เปิดเผยว่า ในที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ 24 เสียง ให้ออกประกาศกำหนดวัตถุอันตราย 2 ชนิด ได้แก่ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ออกไปอีก 6 เดือน โดยให้กำหนดระยะเวลาใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563 และให้จำกัดการใช้สารไกลโฟเซตตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 เพราะหากมีการยกเลิกในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและภาคการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มพืชอาหารที่ยังคงมีการนำเข้าอยู่
ทั้งนี้ เหตุผลที่มีมติให้จำกัดการใช้สารไกลโฟเซต เนื่องจากพบว่า ยังมีการใช้ใน 160 ประเทศ ดังนั้นจึงยังอนุญาตให้ใช้ได้ พร้อมยอมรับว่า มติคราวก่อน ไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาหารสัตว์ ได้รับผลกระทบหลายแสนล้านบาท ดังนั้น หากประกาศห้ามใช้สารดังกล่าว จะทำให้ไม่สามารถนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลีจากสหรัฐฯ ได้
นอกจากนี้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการจัดทำมาตรการรองรับในการหาสารทดแทนหรือวิธีการที่เหมาะสมสำหรับวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส รวมถึงมาตรการในการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและให้นำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาภายในระยะเวลา 4 เดือน นับจากวันที่มีมติ
เมื่อถามย้ำว่า หลังจาก 1 มิ.ย. 2563 จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมติใช่หรือไม่ ประธาน คกก.วัตถุอันตราย กล่าวว่า ขณะนี้มติเป็นอย่างนั้น ส่วนปัจจัยที่อาจจะเปลี่ยนแปลงมติได้ อยากให้ดูวิธีการต่าง ๆ ที่สามารถรองรับการยกเลิก เชื่อว่ากรมวิชาการเกษตรกำลังดำเนินการ โดยกำหนดเวลา 4 เดือน
ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ระบุถึงเหตุผลความล่าช้าในการจัดหาสารทดแทนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ว่าได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ค. 2562 ที่ให้จำกัดการใช้แล้ว แต่ยอมรับว่า การค้นคว้าวิจัยไม่ง่าย เนื่องจากเป็นกระบวนการทางวิชาการจึงต้องใช้เวลา และเมื่อมีมติออกมาในระยะสั้น จึงต้องเพิ่มวิธีการที่เหมาะสมอย่างการใช้เครื่องจักรกลเข้าไปด้วย
เมื่อถามว่า จะเป็นการซื้อเวลาหรือไม่ เพราะที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรจะอ้างว่า ยังไม่มีสารทดแทนตลอดเวลา ปลัด กษ. ระบุ หากมีการยกเลิกเวลานี้ จะเกิดการโกลาหลแน่นอน เพราะฉะนั้น การหาสารทดแทน ได้ดำเนินการมากว่า 1 ปีแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า สารพาราควอต ถูกใช้มาเหมือนยาสามัญประจำบ้าน ฉะนั้นวันนี้ต้องหาวิธีการควบคู่จัดการวัชพืชแบบผสมผสานด้วย เพราะการหาสารทดแทนที่มีประสิทธิภาพเหมือนสารพาราควอตเป็นเรื่องที่ยาก แต่ยังมีสารที่มีใกล้เคียงกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในครั้งนี้ มีผู้เข้าประชุม 24 คน จากทั้งหมด 29 คน เนื่องจากมีผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ที่ยังไม่หมดวาระ โดย 5 เสียง ที่ไม่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน และผู้แทนจากหน่วยงาน 2 คน แต่ไม่มีการเปิดเผยรายชื่อ
เอ็นจีโอผิดหวังมติ ยันขับเคลื่อนแบน ‘ไกลโฟเซต’
ด้านเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร ออกแถลงการณ์รู้สึกผิดหวังกับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่อนุญาตให้มีการใช้ไกลโฟเซตต่อไป และยืดเวลาการบังคับใช้การยกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสต่อไปอีก 6 เดือน
แถลงการณ์ระบุว่า การตัดสินใจ ซึ่งมาจากการผลักดันและสนับสนุนโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นการตัดสินใจที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทสารพิษกำจัดศัตรูพืช โดยผลักภาระความเสี่ยงแก่ประชาชนทั้งประเทศทั้งเกษตรและผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุญาตให้ใช้สารไกลโฟเซตซึ่งสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติระบุว่าเป็นสารน่าจะก่อมะเร็ง และศาลสหรัฐตัดสินให้บริษัทมอนซานโต้-ไบเออร์ต้องเยียวยาและชดใช้แก่เกษตรกรเป็นจำนวนเงินมหาศาล
การยืดเวลาการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสต่อไป เป็นการเอื้อเฟื้อบริษัทสารพิษให้ไม่ต้องรับผิดชอบสต็อคสินค้าทั้ง ๆที่ พวกเขานำเข้ามาเพื่อเก็งกำไรจำนวนมหาศาลก่อนหน้านี้ โดยปล่อยช่วงเวลาอีก 6 เดือนเพื่อจำหน่ายต่อเกษตรกรทั้งๆที่รู้ว่าเป็นสารที่มีผลต่อสุขภาพทั้งของเกษตรกร ผู้บริโภค และเด็ก ๆ ของเรา
รัฐมนตรี และพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจนี้ต้องเป็นผู้ชี้แจงเหตุผลการตัดสินใจนี้ และประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศที่สนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรงเป็นผู้ตัดสินใจอนาคตทางการเมืองของพวกเขา
ทั้งนี้ เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรงจะเดินหน้า ขับเคลื่อนให้มีการยกเลิกการใช้ไกลโฟเซต และสารพิษร้ายแรงอื่นๆ ต่อไป และจะแถลงมาตรการและแนวทางในการขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยเร็ว
เครือข่ายผู้หญิง ให้กำลังใจ ‘มนัญญา’ จุดยืนสู้แบน 3 สาร
ขณะที่ความเคลื่อนไหวช่วงเช้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสมโภช สง่าพล แกนนำชุมชนกทม. พร้อมด้วย นางสาวอังคณา อินทะสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และตัวแทนกลุ่มผู้หญิง ซึ่งเป็นคุณแม่ที่ทำอาหารเลี้ยงครอบครัว กว่า 30 คน เข้าพบน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) เพื่อให้กำลังใจในการเดินหน้ายกเลิก 3 สารเคมีทางการเกษตร ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย หลังจากมีข่าวความเคลื่อนไหวและถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากฝ่ายที่สนับสนุนสารเคมี กดดันให้ขยายเวลายกเลิกสารเคมีออกไปอีก 6 เดือน เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ ไม่สนใจสุขภาพของลูกหลานและประชาชน โดยเครือข่ายได้มอบดอกไม้สีขาวเพื่อเป็นสัญลักษณ์ ขอบคุณจุดยืนในฐานะแทนเพศแม่ ที่กล้าต่อสู้และทำทุกอย่างเพื่อปกป้องลูกๆหลานๆไทยให้ปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย
นางสมโภช กล่าวว่า เครือข่ายฯ ได้ติดตามความคืบหน้าและสนับสนุน การเดินหน้ายกเลิก 3 สารเคมีทางการเกษตร ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งโรคมะเร็ง เนื้อเน่า มีปัญหาต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก เสี่ยงออทิสติก ฯลฯ กระทั่งได้มีมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562 ยกเลิกสามสารเคมีดังกล่าวถือเป็นความกล้าหาญทางนโยบายที่ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของประเทศ ต่อมามีความพยายามของกลุ่มที่เสียประโยชน์จากการยกเลิกสารพิษ มีการเคลื่อนไหวกดดัน เพื่อให้ขยายเวลาออกไปอีก180วัน ด้วยข้ออ้างสารพัด มีท่าทีที่แข็งกร้าว เลยเถิดไปถึงขั้นข่มขู่ ปองร้ายกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย ที่ควรยกระดับความเห็นต่าง แก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี มิใช่การเผชิญหน้าท้าทาย
“ภายใต้การนำของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เครือข่ายฯ สัมผัสได้ถึงความเด็ดเดี่ยว ทำงานด้วยความหนักแน่นตามบทบาทหน้าที่อย่างสุดกำลัง การต่อสู้ด้วยจุดยืนในฐานะเพศแม่ ที่ต้องการปกป้องชีวิตและสุขภาพลูกหลาน ให้ปลอดภัยจากสารเคมีอันตรายทางการเกษตร เครือข่ายฯ เข้าใจว่าสิ่งที่ท่านต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดันต่างๆมีความหนักหน่วง รุนแรง และไม่ง่ายที่จะยืนหยัดต่อสู้ได้เช่นนี้” นางสมโภช กล่าว
ด้าน น.ส.อังคณา กล่าวว่า เครือข่ายฯ ขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และส่งผ่านไปถึงรัฐบาลดังต่อไปนี้
1.ในฐานะผู้หญิงซึ่งเป็นเพศแม่เหมือนกับท่าน เป็นทั้งผู้บริโภคและคนที่ต้องทำอาหารให้คนในครอบครัวได้บริโภค เราต้องการวัตถุดิบที่ปลอดภัยในการทำอาหาร ไม่ต้องการพืชผักที่อุดมไปด้วยสารพิษมาทำอาหาร เราขอสนับสนุนและให้กำลังใจเดินหน้ายกเลิก สามสารเคมีอันตรายนี้ โดยไม่ควรขยายเวลาออกไปอีกตามข้อเสนอของบางกลุ่ม
2.ในฐานะผู้หญิง เป็นผู้บริโภคตัวจริงกลุ่มหนึ่ง ขอส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลให้มีความหนักแน่นไม่นำสุขภาพและชีวิตของประชาชนกลับไปอยู่จุดเดิมอีก สุขภาพและชีวิตประชาชนไม่ควรถูกทำลายเพราะผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัทสารเคมี ที่ผ่านมาชีวิตประชาชนสูญเสียมามากพอแล้วจากสารพิษเหล่านี้ ท่านจะเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่ดีงามให้กับสังคมไทย
3.ขอเรียกร้องต่อกลุ่มที่สนับสนุนการใช้สารเคมีอันตรายด้วยความเคารพว่า ได้โปรดเห็นใจเราในฐานะคนที่ต้องกินต้องใช้พืชผักวัตถุดิบจากท่าน อย่าได้มอบสารพิษปนเปื้อนมาให้เราอีกเลย ควรมุ่งไปสู่ทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ไม่ทำร้ายกัน มุ่งสู่เกษตรกรรมยั่งยืนที่ทุกคนปลอดภัย .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/