ศาล รธน. มีคำสั่งไม่รับคำร้องที่ กกต. ยื่นเรื่องให้สอบสมาชิกภาพ 5 อดีต สนช. ปมถือหุ้นสัมปทานรัฐ ชี้ชงมาเมื่อ 13 ก.ย. 62 หลังเปิดประชุมรัฐสภานัดแรก 24 พ.ค. 62 ถือว่าพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 5 ราย สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 263 วรรคสอง ประกอบมาตรา 101 (7) และมาตรา 184 (2) และวรรคสาม หรือไม่
กรณีนี้เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2560 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ยื่นคำร้องขอให้ กกต. ดำเนินการตรวจสอบสมาชิกภาพ สนช. 5 ราย (ตำแหน่งขณะนั้น) ได้แก่ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข (ปัจจุบันเป็น ส.ว.) พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ (ปัจจุบันเป็น ส.ว.) พล.อ.ไตรรัตน์ รังคะรัตน นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง และนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ (ปัจจุบันเป็น ส.ว.) ถือครองหุ้นที่เป็นคู่สัมปทานกับภาครัฐ เช่น บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) บริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
โดย กกต.เห็นว่า การรับสัมปทานรัฐ หมายถึงการที่รัฐให้สิทธิเอกชนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติหรือจากสิทธิประโยชน์อันเป็นสาธารณะ สัมปทานจึงรวมถึงประทานบัตรที่รัฐออกให้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนหรือไม่ก็ตาม สำหรับการถือหุ้นในบริษัทที่แม้จะมิได้ประกอบกิจการอันเป็นการต้องห้ามโดยตรง แต่หากบริษัทนั้นถือหุ้นในบริษัทอื่นที่ประกอบกิจการอันเป็นการต้องห้ามในจำนวนมากพอที่จะทำให้มีการครอบงำกิจการของบริษัทที่ประกอบกิจการอันเป็นการต้องห้ามได้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยทางอ้อมด้วย
การที่ผู้ถูกร้องทั้ง 5 หรือคู่สมรส มีการเข้าถือครองหรือได้มาซึ่งหุ้นในบริษัทดังกล่าวข้างต้น ในช่วงระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลใช้บังคับ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เป็นการกระทำเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์อันเป็นการต้องห้ามและเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สนช. สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 263 วรรคสอง ประกอบมาตรา 101 (7) และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม
กกต. จึงมีคำวินิจฉัยที่ 70/2562 ลงวันที่ 13 พ.ค. 2562 (ภายหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 และภายหลังการแต่งตั้ง ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลไปแล้ว) ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยดังกล่าว
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การยื่นคำร้องดังกล่าวนั้น ความเป็นสมาชิกภาพของ สนช. ของผู้ถูกร้องจะต้องยังคงมีอยู่ เป็นไปตามแนวคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2553 และคำสั่งที่ 63/2555 ทั้งนี้รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 263 วรรคหนึ่งตอนท้าย บัญญัติให้ สนช. สิ้นสุดลงในวันก่อนเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้ โดยมี พ.ร.ฎ.เรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ.2562 ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2562 เป็นต้นไป และเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2562 จึงทำให้สมาชิกภาพของ สนช. ผู้ถูกร้องสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2562 ซึ่งสิ้นสุดลงก่อนที่ กกต. จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2562 ดังนั้นย่อมไม่มีวัตถุแห่งคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย กรณีจึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 101 (7) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาได้ อาศัยหลักเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/