ฝ่ายค้านรุมขย่มซักฟอก ‘บิ๊กตู่’ ปมถวายสัตย์ฯ 'วีระกร' ยกเหตุผลศาล รธน.แย้ง ‘ชวน หลีกภัย’ ยันไม่ได้มีคำวินิจฉัย แค่ให้ความเห็นที่ไม่รับคำร้อง ยันบรรจุญัตติถูกต้อง ลั่นพร้อมรับผิดชอบ ขอให้พูดในกรอบ กม. ห้ามพาดพิงสถาบันฯ 'สมพงษ์' ยันจงใจทำผิด รธน.อย่างชัดแจ้ง ประเทศเลยขาดความเชื่อมั่น 'ปิยบุตร'ตั้ง 4 คำถามหมัดตรง เขียนคำถวายสัตย์ฯใหม่เองหรือไม่-หากนายกฯคนใหม่พูดไม่ครบทำได้ไหม ตั้งสารพัดฉายาให้ รบ. จี้ไขก๊อกนายกฯ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภาใหม่ มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยผู้นำฝ่ายค้าน ได้แก่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ ส.ส.ฝ่ายค้านรวม 205 ราย เปิดอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณฯอาจไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ โดย พล.อ.ประยุทธ์ มาสภาด้วย
@'ปิยบุตร'ตั้ง 4 คำถามหมัดตรง 'บิ๊กตู่' เขียนคำถวายสัตย์ฯใหม่เองหรือไม่-ตั้งฉายา โรคไม่แยแส รธน.-โรคไม่รับผิดชอบ-บิดาแห่งการยกเว้น
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายประเด็นนี้โดยยกตัวอย่างถึงการร่างรัฐธรรมนูญปี 2492 ซึ่งเป็นต้นแบบการเขียนถ้อยคำถวายสัตย์ฯ โดยอ้างอิงผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว 2 ราย สรุปสาระสำคัญได้ 3 ข้อ คือ 1.ถ้าหากเขียนไม่ชัด คำถวายสัตย์ฯจะเปลี่ยนไปตามอารมณ์ของคณะรัฐมนตรี 2.รัฐธรรมนูญหลายประเทศมีการบัญญัติถ้อยคำถวายสัตย์ฯ 3.เพื่อให้คณะรัฐมนตรีทราบล่วงหน้าว่า ถ้าทำไม่ได้ตามคำกล่าวไม่ต้องมาเป็น ขณะเดียวกันได้ยกตัวอย่างว่า ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (1) มีการนำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์อย่างน้อย 5 ครั้ง และทุกครั้งกล่าวตามถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 และรัฐธรรมนูญปี 2560
นอกจากนี้นายปิยบุตร ยังอ้างถึงหนังสือตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญ และหนังสือหลังม่านการเมืองที่เขียนโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวกับประเด็นการถวายสัตย์ฯหลายครั้ง เพื่อยืนยันว่า การกล่าวคำถวายสัตย์ฯต้องกล่าวตามทีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทุกตัวอักษร ขณะเดียวกันได้ตั้งฉายาให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างน้อย 3 ชื่อ ได้แก่ โรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ โรคไม่รับผิดชอบ และบิดาแห่งการยกเว้น
นายปิยบุตร ยังตั้งคำถามถึง พล.อ.ประยุทธ์ 3 ข้อ คือ 1.กระดาษแข็งที่เสียบในกระเป๋าเสื้อด้านข้างเพื่อนำมาอ่านคำถวายสัตย์ฯดังกล่าว เตรียมมาเองใช่หรือไม่ และได้เขียนข้อความถวายสัตย์ใหม่ ไม่ตรงในรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ เหตุใดจึงไม่อ่านจากกระดาษแข็งที่เสียบในแฟ้มสีน้ำเงินที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเตรียมมาให้ 2.สมมติมีรัฐมนตรีคนใดลาออกแล้วตั้งคนใหม่มาเป็นแทน พล.อ.ประยุทธ์ ต้องนำรัฐมนตรีคนใหม่เข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯอีกครั้ง จะนำถวายสัตย์ฯด้วยถ้อยความอย่างไร จะอ่านถ้อยคำในมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรืออ่านตามแบบที่เคยถวายสัตย์ฯในวันที่ 16 ก.ค. 2562 อีก
3.ถามความเห็นจาก พล.อ.ประยุทธ์ และนายวิษณุว่า หากนายกรัฐมนตรีคนต่อ ๆ ไปที่ไม่ใช่คณะนี้ได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ จะกล่าวถ้อยคำที่ไม่ครบถ้วนแบบนี้ได้หรือไม่ และ 4.ถามความเห็นนายวิษณุ ในฐานะที่เคยเป็นรองเลขาธิการคณะรัฐมนมตรี 2 ปี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี 9 ปี เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรี 2 สมัยรวม 9 ปีเศษ ทำงานในทำเนียบรัฐบาลเกือบ 2 ทศวรรษ ผ่านนายกรัฐมนตรี 8 คน ด้วยสถานะนี้นายวิษณุเคยเข้าถวายสัตย์ฯหลายครั้งเคยเห็นนายกรัฐมนตรีคนใดถวายสัตย์ฯแบบ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่
นายปิยบุตร ยังเสนอทางออกแก่ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลว่า ตามธรรมเนียมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และลักษณะแบบนี้เมื่อเทียบเคียงกับประเทศต่าง ๆ รวมถึงในตำราวิชาการต่าง ๆ ด้วยความปรารถนาดี ทางออกคือให้นายกรัฐมนตรีขอพระบรมราชานุญาตถวายสัตย์ฯใหม่อีกครั้งให้ครบตามรัฐธรรมนูญ ส่วนมติคณะรัฐมนตรีต่าง ๆ ที่เคยออกไปแล้วนั้น ให้ออกมติคณะรัฐมนตรีใหม่มารองรับเพื่อชุบชีวิตของเดิมให้มีผลอยู่
“อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีไม่ยอมรับข้อเสนอของผมดังกล่าว พอเวลาผ่านมาเนิ่นนานจนถึงวันนี้ยืนยันชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวนำถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่แสดงความรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น จงใจละเมิดรัฐธรรมนูญ ข้อเรียกร้องต่อไปคือ ไม่ต้องการเห็น พล.อ.ประยุทธ์ คนเก่าหรือคนใหม่ แต่ไม่ต้องการเห็น พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป เพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองต่อการถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วน เพื่อรักษาและธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้ราชอาณาจักรไทยแห่งนี้ มีผู้นำประเทศที่สง่างาม ทัดเทียมนานาอารยะประเทศ สง่างามต่อประมุขแห่งรัฐ และต่อประชาชนคนไทยทั้งชาติ จึงเรียกร้องขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” นายปิยบุตร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกเหนือจากนายปิยบุตรแล้ว น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายและเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ รับผิดชอบด้วยการลาออกเช่นเดียวกัน
@ ฝ่ายค้านต้องเข้ามายุ่ง 'เสรีพิศุทธ์' ซัด 'บิ๊กตู่' ถวายสัตย์ไม่ครบ ทำหน้าที่ไม่ได้
ขณะที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวอยู่เสมอว่า คนไทยต้องยึดกฎหมายและกล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยสรุป “การบริหารราชการแผ่นดินนั้นมีทั้งออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย ตนเองคงต้องอิงกฎกติกาสากลไว้” ถามว่า นายกฯ จะปฏิบัติตามคำพูดของตนเองได้หรือไม่ ในเมื่อกล่าวถวายสัตย์ฯ ไม่ถูกต้องครบถ้วน ย่อมแถลงนโยบายและปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้
“ฝ่ายค้านต้องเข้ามายุ่ง เพราะทำหน้าที่ เมื่อนายกฯ ถวายสัตย์ไม่ถูกต้อง ครบถ้วน เข้ารับหน้าที่ไม่ได้ แล้วพวกเราฝ่ายค้านจะให้ท่านปฏิบัติหน้าที่อย่างไร หากปล่อยให้บริหารประเทศต่อไป ต่างชาติไม่เอาด้วย ประเทศจะเกิดความเสียหาย นายกฯ จะรับผิดชอบไหวหรือไม่”
หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ยังกล่าวว่า ฝ่ายค้านยืนยัน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องที่ต้องแนะนำนายกฯ ให้ทำถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ขณะนี้นายกฯ ฝืนบริหารราชการแผ่นดินไปมาก แต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ทหาร ข้าราชการ ทุกกระทรวง ทบวง กรม ดังนั้น หากใครถูกรังแก สามารถฟ้องได้เลย เพราะไม่มีมาตรา 44 ปิดปากแล้ว
@ วันนอร์ ยกมาตรฐานจริยธรรม อภิปรายปมถวายสัตย์ฯ
จากนั้น เวลา 12.30 น.นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการถวายสัตย์ฯ กับการทำผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม 2562 ซึ่งกำหนดว่า ให้มีคณะกรรมการบริหารประมวลจริยธรรม มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมกับตั้งคำถามว่า หากคนที่เป็นประธานไม่ปฏิบัติตามจริยธรรม ประเทศนี้อยู่ได้อย่างไร เพราะบังคับทั้งองค์กรกลาง ศาลรัฐธรรมนูญ สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และป.ป.ช. ฉะนั้นใช้บังคับทั่วประเทศและองค์กรกลาง หากประธานไม่ปฏิบัติตาม อาจนำมาเป็นข้ออ้างได้ในอนาคต
"มาตรฐานจริยธรรมสำคัญ กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ไม่ได้กำหนดไว้อย่างเข้มข้น " หัวหน้าพรรคประชาชาติ ระบุ
เวลา 13:10 น.นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายในญัตติของฝ่ายค้าน โดยแสดงความเป็นห่วง เพราะศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งเรื่องนี้ไว้แล้ว และเห็นว่า เป็นคำวินิจฉัยที่มีผลผูกพันกับองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ
"การถวายสัตย์ฯ เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ต้องกระทำต่อหน้าพระพักตร์องค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเขตพระราชอำนาจโดยเฉพาะ"นายไพบูลย์ กล่าว และว่า หลายเรื่องฝ่ายค้านทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ แต่ก็อยากเห็นการอภิปรายวันนี้เป็นไปในแนวทางที่ควรจะเป็นไม่มีการกระทำอาจจะสุ่มเสี่ยง
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้เเทนราษฎร ได้อธิบายถึงญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงนี้ พรรคฝ่ายค้านเสนอเดือนสิงหาคม คำสั่งศาลฯ ออกมาถัดจากนั้น 1 เดือน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งในเรื่องนี้ไม่รับเรื่องไว้ ไม่มีคำวินิจฉัยว่า ถูกผิด แต่มีข้อสังเกตอธิบายคำสั่ง และไม่มีผลผูกพัน แต่มีประโยชน์ต่อการอภิปราย ขอบเขตการอภิปรายว่าควรระมัดระวังแค่ไหน
(ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ตั้งคำถาม 4 ข้อถึง พล.อ.ประยุทธ์-นายวิษณุ เครืองาม กรณีถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วน)
@'วีระกร' ยกเหตุผลศาล รธน. ไม่รับคำร้อง ทำให้ไม่สามารถเปิดอภิปรายได้
โดยก่อนเริ่มเข้าวาระการประชุม นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ขอหารือว่าญัตตินี้ไม่ถูกต้องอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยอ้างอิงเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ยื่นเรื่องให้วินิจฉัยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ปฏิญาณฯ โดยระบุสาระสำคัญคือ การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมืองของคณะรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหาร ในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล ดังนั้นการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องดังกล่าว
(วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ)
@'ชวน'ยันญัตติบรรจุถูกต้อง ถ้าผิดพร้อมรับผิดชอบเอง ขอให้อย่าพูดพาดพิงสถาบันฯ
นายชวน หลีกภัย กล่าวว่า ญัตตินี้ ผู้นำฝ่ายค้านรวม ส.ส. จำนวน 205 คนเป็นผู้เสนอ โดยมาตรา 152 เป็นเรื่องใหม่ของสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญฉบับก่อนไม่ได้เขียนให้สิทธิหน้าที่ตามมาตรา 152 แต่กำหนดไว้ว่า ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ เข้าชื่อเสนอญัตติอภิปรายทั่วไปซักถามข้อเท็จจริงต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ บังเอิญญัตติเสนอเข้ามาก่อนออกข้อบังคับ ข้อบังคับออกทีหลังเขียนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ว่า การพิจารณาญัตตินี้ต้องทำอย่างไร ทำให้การพิจารณาเรื่องนี้เป็นไปโดยปกติ เรียนแม้ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ญัตติเสนอก่อนศาล สภาพิจารณาเรื่องนี้ หารือฝ่ายกฎหมาย และรองประธานสภาหารือร่วมกันว่า ญัตตินี้จะขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็เป็นเอกฉันท์โดยความเห็นร่วมคือ ญัตตินี้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นการเสนอญัตติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะผูกพันทุกองค์กรต่อเมื่อมีคำวินิจฉัย กรณีนี้เป็นคำสั่งไม่รับ และให้ความเห็นประกอบ ไม่ถือเป็นคำวินิจฉัยตามมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญ สภาเห็นควรว่าเรื่องนี้ต้องพิจารณาต่อไป ภายใต้กฎหมายมาตรา 152 และภายใต้ข้อบังคับ โดยสมาชิกที่อภิปรายมีสิทธิทำอะไรได้บ้าง ประเด็นเรื่องการกำหนดให้มีญัตตินี้ในการพิจารณา เป็นเรื่องที่จบในความเห็นของสภา
นายชวน กล่าวอีกว่า ปัญหาต่อไป เสนอญัตติแล้วทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ปัญหายุ่งยากจะไม่เกิดขึ้น ข้อบังคับกำหนดชัดเจน ผู้เสนอญัตติสอบถามข้อเท็จจริง เสนอแนะนำคำแนะนำ มิใช่อภิปรายไม่ไว้วางใจ คนละมาตรา สภามีความหมาย ทุกคนอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ข้อบังคับ สภาได้ดำเนินการปกติ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร 2 ฝ่ายต้องเคารพข้อบังคับ อย่างไรสภาอนุญาตให้บรรจุและอนุญาตให้มีญัตตินี้
“ประธานต้องรับผิดชอบถ้าทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญต้องรับผิดชอบ แต่การพิจารณาเรื่องนี้พิจารณาโดยรอบคอบโดยข้อกฎหมาย และนำ พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มาพิจารณาว่า คำสั่ง กับคำวินิจฉัยต่างกันอย่างไร ความเห็นที่นายวีระกรกล่าวเป็นประโยชน์ส่วนหนึ่งในความคิดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นข้อเตือนใจว่า สมาชิกอภิปรายขอให้ระมัดระวังให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม ไม่ก้าวล่วงไปสู่สถาบันฯ เป็นเหตุผลหนึ่ง แต่ถึงอย่างไร ก็ไม่ได้เป็นคำวินิจฉัย เป็นคำสั่ง ลักษณะคำวินิจฉัยเป็นอย่างไรต้องดูกฎหมายศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนี้ศาลมีคำสั่งไม่รับ แต่ให้เหตุผลประกอบ ไม่ได้เป็นคำวินิจฉัย ในความหมายมาตรา 211 วรรคท้ายของศาลรัฐธรรมนูญ” นายชวน กล่าว
(ซ้าย : สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้าน, ขวา : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม)
@'สมพงษ์'ซัด รบ.รับผิดชอบอย่างไรปมถวายสัตย์ฯไม่ครบ-ไม่แจ้งแหล่งที่มาเงินงบประมาณตอนแถลงนโยบาย
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้านในสภา อ่านญัตติอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ 2 กรณี คือ กรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์นั้น ไม่ได้มีการกล่าวถวายสัตย์ว่ารักษษไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ จึงถือว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ได้กระทำการอันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เคยนำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์มาแล้วก่อนหน้านี้ เหตุใดจึงขาดถ้อยคำอันเป็นสาระสำคัญ มีเจตนาไม่ใช้เอกสารของสำนักนายกรัฐมนตรี มีเจตนาไม่กล่าวถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ตนและ ส.ส.ฝ่ายค้านจะอภิปราย และแก้ไขปัญหาแก่คณะรัฐมนตรีต่อไป อีกกรณีคือ การแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไม่แจ้งที่มาของเงินงบประมาณ ถือเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง
"บทเรียนที่เกิดขึ้นครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำของประเทศ ได้แสดงถึงความไม่มีวุฒิภาวะ ไม่ยินยอมรับฟังข้อท้วงติงจากผู้หวังดีทุกฝ่าย ไม่ยอมรับรู้ว่าตนเองทำสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก และสมควรแก้ไขให้ถูกต้องอย่างไร ก่อให้เกิดเสียหายลูกโซ่ ทำให้ประเทศขาดความเชื่อมั่น จงใจกระทำผิดรัฐธรรมนูญที่เป็นหลักกฎหมายสำคัญของบ้านเมืองสม่ำเสมอ ความเชื่อมั่นไม่เกิด การยอมรับนับถือจึงไม่มี ประเทศที่ผู้นำและคณะรัฐมนตรีขาดการยอมรับนับถือ มีมลทิน ถูกตำหนิ และถูกนินทามาโดยตลอดเช่นนี้ จะนำพาสังคมที่กำลังวิกฤติให้อยู่รอดได้อย่างไร" นายสมพงษ์ กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/